ThaiPublica > เกาะกระแส > Power of Partnership : ออมสิน “ใจชูใจ…สร้างงาน สร้างอาชีพ” ฟื้นวิสาหกิจชุมชนสวนบัวโฮมสเตย์

Power of Partnership : ออมสิน “ใจชูใจ…สร้างงาน สร้างอาชีพ” ฟื้นวิสาหกิจชุมชนสวนบัวโฮมสเตย์

21 กันยายน 2024


นางสาวสุวภี อุ่มไกร รองประธานกล่มวิสาหกิจชมชนสวนบัวโฮมสเตย์ และนายสมชาย อาภรณ์พงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน สายงานพัฒนาธุรกิจผู้ประกอบการรายย่อย และ SMEs Startup

วันที่ 13 กันยายน 2567 สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้จัดงานเสวนาเนื่องในโอกาสดำเนินงานขึ้นสู่ปีที่ 14 ในหัวข้อ “Big Heart Big Impact สร้างโอกาสคนตัวเล็ก…Power of Partnership จับมือไว้ ไปด้วยกัน” โดยมีการแสดงปาฐกถาพิเศษจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “ท้องถิ่นที่สากล: อนาคตประเทศไทย Globally Competitive Localism: Future of Thailand”, ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ในหัวข้อ “คนจนลดลง ภาพลวงตาของไทย ทางออกคือ? Move Forward, Just Do It”, ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในหัวข้อ “สร้างเศรษฐกิจฐานรากอย่างมีส่วนร่วม…Big Heart Big Impact” พร้อมกับเสวนา “Power of Partnership จับมือไว้ไปด้วยกัน” จากต้นแบบความสำเร็จการร่วมมือระหว่างองค์กรกับคนตัวเล็ก เพื่อพัฒนาต่อยอดและขับเคลื่อนพลังท้องถิ่น ให้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ต่อเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและเติบโตอย่างมีศักยภาพ โดยนายบวร วรรณศรีผู้จัดการรัฐกิจชุมชนสัมพันธ์ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด, นายชาญ อุทธิยะ ที่ปรึกษาสมาคมเพื่อการเรียนรู้ป่าชุมชนจังหวัดลำปาง, นายชยานนท์ ทรัพยากร ผู้จัดการฝ่ายวางแผนองค์กร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, นายอภิศักดิ์ แซ่หลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลัลณ์ลลิล โบโอเทค จำกัด, นายสมชาย อาภรณ์พงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน สายงานพัฒนาธุรกิจผู้ประกอบการรายย่อย และ SMEs Startup, นางสาวสุวภี อุ่มไกร รองประธานกล่มวิสาหกิจชมชนสวนบัวโฮมสเตย์, นายประเสริฐ ปิ่นนาค พนักงานพัฒนาลูกค้า 8 ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนล่าง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), นางสาวสิริกาญจน์ รุ่งแจ้ง วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง 459 บ้านเต่าไหเหนือ, นายมนัทพงศ์ เซ่งฮวด วิสาหกิจชุมชนกระจูดวรรณี และ รศ. ดร.พรพันธุ์ เขมคุณาศัย กลุ่มเลน้อยคราฟ

………….

เสวนา “Power of Partnership จับมือไว้ไปด้วยกัน” ในตอนเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรธนาคารออมสิน และคนตัวเล็ก โดยนายสมชาย อาภรณ์พงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน สายงานพัฒนาธุรกิจผู้ประกอบการรายย่อย และ SMEs Startup และนางสาวสุวภี อุ่มไกร รองประธานกล่มวิสาหกิจชมชนสวนบัวโฮมสเตย์

นายสมชาย อาภรณ์พงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานพัฒนาธุรกิจผู้ประกอบการรายย่อย และ SMEs Startup

ภารกิจเชิงสังคมของธนาคารออมสิน

นายสมชาย อาภรณ์พงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน สายงานพัฒนาธุรกิจผู้ประกอบการรายย่อย และ SMEs Startup กล่าวว่า ธนาคารออมสินมีพันธกิจการขับเคลื่อนธนาคารเพื่อสังคมสู่การเป็น “ธนาคารเพื่อความยั่งยืน” และใช้แนวคิด “นำกำไรจากธุรกิจปกติ มาสนับสนุนภารกิจเชิงสังคม” ซึ่งเป็นแนวคิดของนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

บทบาทการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของธนาคารออมสิน ประกอบด้วย 3 มิติ คือ (1) Financial Inclusion การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ (2) แก้ปัญหาหนี้สิน ให้โอกาสกลับมาใช้สินเชื่อในระบบ และ (3) บทบาทการพัฒนา ทำให้มีรายได้เลี้ยงชีพอย่างยั่งยืน

นายสมชายยกตัวอย่างโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ซึ่งร่วมมือสถาบันอุดมศึกษา 67 แห่ง วิทยาลัยเทคนิค 57 แห่ง และวิทยาลัยสารพัดช่าง 88 แห่ง และพัฒนาหลักสูตรอาชีพจำนวน 403 หลักสูตร โดยสามารถช่วยเหลือคนได้มากกว่า 410,000 คน สร้างทางทางการขายทั้งออฟไลน์และออนไลน์แล้วมากกว่า 38,000 ร้านค้า

“ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่นมีการช่วยเหลือที่แตกต่างกันตามบริบทพื้นที่ ให้เลือกชุมชนที่ ‘5 ดี’ คือกินดี อยู่ดี สวยดี (เสื้อผ้า) รักดี (ท่องเที่ยว) และสุขภาพดี (สมุนไพรและสุขภาพ) ทั้งหมดต้องมีอาชีพ มีรายได้ และอยู่อย่างยั่งยืน”

จากแนวคิดข้างต้นนำไปสู่วิธีการ “สร้างงาน สร้างอาชีพ” และ “สร้างสังคม สร้างอนาคต สร้างเศรษฐกิจ” ผ่านโครงการต่างๆ โดยแบ่งออกเป็น 4 หมวดตามกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • กลุ่มองค์กรชุมชน
    • ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา 67 แห่ง
    • ออมสินอาชีวะสร้างอาชีพสู่ชุมชน ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) หรืออาชีวะ 54 แห่ง
    • การพัฒนาที่พัก โฮมสเตย์ ท่องเที่ยวชุมชน เข้าสู่มาตรฐานตามที่ธนาคารกำหนด ร่วมกับกรมการท่องเที่ยว อพท. และ Airbnb
    • สุดยอดนักพัฒนา คนออมสินหัวใจเพื่อชุมชน กิจกรรมการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นแบบองค์รวม ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น
  • ผู้ประกอบการรายย่อย
    • อบรม/พัฒนาผู้ประกอบการรายย่อย ร่วมกับสารพัดช่าง 88 แห่ง และกรมส่งเสริมการเรียนรู้ 18 แห่ง และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.)
    • ยกระดับผู้ประกอบการรายย่อย/ครัวชุมชนสำรับออมสิน ร่วมกับเชฟชุมพล แจ้งไพร
    • การสนับสนุนช่องทางการตลาด/ยกระดับสถานประกอบการ และจัดตลาดนัดออมสินสร้างงานสร้างอาชีพ
  • ผู้ประกอบการเริ่มต้นและ Startup
    • GSB Smart Start Idea ประกวดสินค้าและบริการต้นแบบ (prototype) ร่วมกับสถาบันการศึกษา 68 แห่ง
    • GSB Smart Startup Company สร้างผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ในระดับอุดมศึกษา ร่วมกับสถาบันการศึกษา 68 แห่ง
    • GSB Grooming Program สร้างทักษะความรู้ที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจให้กับผู้ประกอบการเริ่มต้น นักศึกษาและบุคคลทั่วไป ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ องค์การมหาชน (NIA)
  • ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
    • GSB Step & Boost Up Program อบรมให้ความรู้พัฒนาศักยภาพธุรกิจ ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
    • GSB Smart Franchise สร้างธุรกิจด้วยระบบแฟรนไชส์ ร่วมกับบริษัท จีโนซิส จำกัด
    • Step in Innovator Network สร้างเอสเอ็มอีด้วยฐานคิดนวัตกรรม ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ องค์การมหาชน (NIA)
    • สร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานพันธมิตร ร่วมกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และอื่นๆ
    สุวภี อุ่มไกร รองประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนบัวโฮมสเตย์

    ยกระดับ “สวนบัวโฮมสเตย์”

    ด้านนางสาวสุวภี อุ่มไกร รองประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนบัวโฮมสเตย์ เล่าเรื่องราวของสวนบัวฯ ก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการกับธนาคารออมสินว่า สวนบัวโฮมสเตย์ตั้งอยู่ตำบลบางเลน อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ที่ตั้งอยู่ใกล้วัดสวนแก้ว ของพระพยอม (พระพยอม กัลยาโณ) โดยเกิดจากกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร โดยปลูกผลไม้ เช่น ทุเรียน ส้ม มังคุด เงาะ ฯลฯ และมีสวนบัว แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์อุทกภัยเมื่อปี 2554 ทำให้สวนบัวไปต่อไม่ได้

    “ปี 2554… หมดเลย แม้แต่ชีวิตเกือบไม่เหลือ กลุ่มของเราจับมือกันแก้ไขปัญหา สร้างผลผลิตใหม่ แต่ก็ไม่สำเร็จ เริ่มกลับมาได้ตอนโควิด-19 ซาลงในต้นปี 2564 มีการพูดคุยกันว่ายอมจะลงทุน สละพื้นที่ให้คนในชุมชนได้ทำกิจกรรมต่อ แต่พอโควิด-19 ปี 2564 มารอบสอง พับเสื่อแทบจะไปไม่รอด”

    นางสาวสุวภีกล่าวต่อว่า “เหมือนสายรุ้งมาคือธนาคารออมสินมาด้วยใจให้เรามีชีวิตกลับคืน เราฉีดยามาแล้ว 3 เข็ม แต่เข็มที่ 4 ได้วัคซีนจากธนาคารออมสินที่มาเติมเต็ม ออมสินมาให้ทั้งกำลังใจและทุกอย่าง อาจไม่ได้เป็นตัวเงิน แต่เปลี่ยนเป็นเงินได้”

    “ธนาคารมาซัพพอร์ต พอมาช่วยเรื่องฟื้นฟูด้านการตลาด เพราะเรามีร้านค้าในมือ 300 กว่ากลุ่มไม่มีที่ไปเลย พระพยอมให้พื้นที่วัดสวนแก้วโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนออมสินสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงเกษตร มอบจักรยานให้ 50 คัน ขี่จักรยานชมสวน ชิมผลไม้ฟรี”

    นางสุวภีกล่าวต่อว่า ต้นปี 2565 สวนบัวโฮมสเตย์เข้าร่วมโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ทำให้กลุ่มวิสาหกิจมีรายได้เนื่องจากธนาคารออมสินสนับสนุนการดำเนินงานต่างๆ โดยเฉพาะการสร้างและปรับปรุงโฮมสเตย์จำนวน 10 หลัง และทำให้มีมาตรฐานมากขึ้น

    นอกจากนี้ ธนาคารออมสินได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ เพื่อเข้ามาส่งมอบองค์ความรู้ต่างๆ จนทำให้ผลไม้ขึ้นชื่อประจำจังหวัดนนทบุรีอย่าง “มะม่วงยายกล่ำ” สามารถขายได้ 80 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมที่ขายไม่ได้เพราะผลผลิตล้นตลาด

    “ทุกวันนี้เรามีความเอื้ออาทร เป็นสุขใจ ใจฟู เพราะ หนึ่ง ได้รับการสนับสนุนจากออมสิน สอง ตื่นเช้ามาชุมชนยิ้มได้ เป็นสิ่งที่เราภูมิใจที่สุด”