
วันที่ 13 กันยายน 2567 สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้จัดงานเสวนาเนื่องในโอกาสดำเนินงานขึ้นสู่ปีที่ 14 ในหัวข้อ “Big Heart Big Impact สร้างโอกาสคนตัวเล็ก…Power of Partnership จับมือไว้ ไปด้วยกัน” โดยมีการแสดงปาฐกถาพิเศษจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “ท้องถิ่นที่สากล: อนาคตประเทศไทย Globally Competitive Localism: Future of Thailand”, ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ในหัวข้อ “คนจนลดลง ภาพลวงตาของไทย ทางออกคือ? Move Forward, Just Do It”, ‘ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา’ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในหัวข้อ “สร้างเศรษฐกิจฐานรากอย่างมีส่วนร่วม…Big Heart Big Impact” พร้อมกับเสวนา “Power of Partnership จับมือไว้ ไปด้วยกัน” จากต้นแบบความสำเร็จการร่วมมือระหว่างองค์กรกับคนตัวเล็ก เพื่อพัฒนาต่อยอดและขับเคลื่อนพลังท้องถิ่น ให้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ต่อเศรษฐกิจฐานราก ให้เข้มแข็งและเติบโตอย่างมีศักยภาพ โดยคุณบวร วรรณศรี ผู้จัดการรัฐกิจชุมชนสัมพันธ์ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด, คุณชาญ อุทธิยะ ที่ปรึกษาสมาคมเพื่อการเรียนรู้ป่าชุมชนจังหวัดลำปาง, คุณชยานนท์ ทรัพยากร ผู้จัดการฝ่ายวางแผนองค์กร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, คุณอภิศักดิ์ แซ่หลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลัลณ์ลลิลไบโอเทค จำกัด, คุณสมชาย อาภรณ์พงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน สายงานพัฒนาธุรกิจผู้ประกอบการรายย่อย และ SMEs Startup คุณสุวภี อุ่มไกร (ดัมส์) รองประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนบัวโฮมสเตย์, คุณประเสริฐ ปิ่นนาค พนักงานพัฒนาลูกค้า 8 ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนล่าง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), คุณสิริกาญจน์ รุ่งแจ้ง วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง 459 บ้านเตาไหเหนือ, คุณมนัทพงศ์ เซ่งฮวด วิสาหกิจชุมชนกระจูดวรรณ และ รศ. ดร.พรพันธุ์ เขมคุณาศัย กลุ่มเลน้อยคราฟ
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวปาฐกถา ในหัวข้อ “สร้างเศรษฐกิจฐานรากอย่างมีส่วนร่วม…Big Heart Big Impact” ว่า ในปัจจุบันที่สถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกเกิดขึ้นจำนวนมาก การคิดแค่เรื่องของท้องถิ่นอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะท้องถิ่นต้องเชื่อมโยงกับโลกและพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะกลไกตลาดเสรี ที่ทำให้โครงสร้างสังคมเปลี่ยนแปลง และในโลกของการแข่งขันถ้าเชื่อมโยง global supply chain ไปสู่ global value chain ไม่ได้ ก็จะไม่สามารถทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งและแข่งขันได้จริง
“เวลาเราพูดถึงพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งมันมีวิกฤติการณ์ สถานการณ์การเปลี่ยนแปลง ทั้งเรื่องความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจ สงครามการค้า และสงครามที่เกิดขึ้นจริง รวมไปถึงการเข้ามาของเทคโนโลยี disruption ที่ในอนาคตจะทำให้คนตกงานจำนวนมากโดยคาดการณ์ว่าภายใน 10 ปี หรือในปี 2570 จะมีคนตกงานประมาณ 10 ล้านคนเพราะถูกเทคโนโลยีแทนที่” ดร.กิตติกล่าว
ไม่เพียงพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ยังมีเรื่องฉากทัศน์การเมืองของไทย ซึ่งคือปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสำคัญ ในการตัดสินใจวางนโยบาย การลงทุน ทั้งในด้านงบประมาณ เพราะไม่อย่างนั้นนโยบายของรัฐบาลก็ไปไม่ถึงคนตัวเล็กตัวน้อย
ต้องพัฒนาเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วม
ดร.กิตติ กล่าวว่า….
“การพัฒนาที่ผ่านมาของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นแผนพัฒนาแบบไหน ต่างมุ่งเน้นการพัฒนาที่สร้างกลุ่มอุตสาหกรรมแล้วทำให้เกิดการสร้างงานทักษะสูง จึงเกิดการพัฒนาแบบที่เรียกว่า ป่องกลาง เกิดการเจริญเติบโต ในแบบ distribution of economic activities หรือเกิดการกระจายรายได้ต่ำ กระจุกตัว”
ดังนั้น เวลาเรามุ่งเน้นการพัฒนาที่ตอบโจทย์เรื่องเศรษฐกิจมหภาคอย่างเดียว เรากำลังเข้าสู่โมเดลกันพัฒนาของประเทศที่เข้าไปสู่โมเดลแบบฝรั่งที่เน้นการเติบโต GDP แต่ไม่ได้สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้น ในอนาคตข้างหน้าไม่ใช่แค่การพัฒนาชุมชน แต่คือการพัฒนาพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม คำว่าชุมชนจึงต้องหมายถึง “กลไกการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งไม่ได้หมายถึงการพัฒนาภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่ง”
“จำเป็นต้องทำกลไกความร่วมมือ และเราจะทำงานแบบพึ่งพา ซึ่งการทำแบบ function-based แบบเดิมมันเป็นไปไม่ได้เลย โดยเราต้องสร้างให้พื้นที่เข้มแข็ง ซึ่งพื้นที่จะเข้มแข็งได้ต้องมีกลไกความร่วมมือ ทุกคนต้องมาด้วยบริบทของพื้นที่ หรือเรียกว่า area-need และต้องยกระดับการพัฒนาพื้นที่ ไม่ใช่การพัฒนาแบบมุ่งเน้น social capital อย่างเดียว แต่ยกระดับการพัฒนาพื้นที่ โดยต้องมุ่งเน้นการใช้ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยี เพราะฉะนั้น การทำคลังข้อมูล ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยี แล้วนำมาประกอบร่างกับความต้องการในพื้นที่ ผ่านกลไกความร่วมมือจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก” ดร.กิตติกล่าว
การพัฒนาเชิงพื้นที่จะเข้ามาช่วยทำเรื่องที่สำคัญอย่างเรื่องเศรษฐกิจ ความยากจน ภัยธรรมชาติ ซึ่งเดิมต้องทำงานผ่านกระทรวงต่างๆ จำนวนมาก แต่เมื่อมีกลไกความร่วมมือที่ถือเป็น area development ที่สำคัญ คือ พื้นที่ในระดับจังหวัดและพื้นที่กลุ่มจังหวัด จะทำให้การทำงานชัดเจนมากขึ้น เพราะมีฐานประชากร ฐานทรัพยากร ฐานความรู้ ขณะที่มี 4 กลไกที่สำคัญ คือ ภาครัฐ ท้องที่ ท้องถิ่น กลไกภาคประชาชน กลไกภาคตลาด กลไกภาคเอกชน มาร่วมกัน
ดร.กิตติกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีกลไกที่สำคัญ คือกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งคือที่มาของการปฏิรูปกระทรวง โดยที่ผ่านมา รัฐมนตรีทั้ง 3 ท่าน ต่างเห็นตรงกันว่า กระทรวง อว. เป็นกระทรวง think tank หรือกระทรวงแห่งปัญญา เป็นกระทรวงในการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ไม่ใช่กระทรวงพัฒนาคนอย่างเดียว ซึ่งเมื่อมีการประกอบร่างความร่วมมือทั้งในพื้นที่ ประชาชน เอกชน จะเรียกว่า active government ที่มีวิธีคิดอย่างเป็นระบบ ใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ และเข้าใจพื้นที่ สร้างเป้าหมายร่วมกัน ใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน ระดมทรัพยากรร่วมกัน มีกิจกรรมร่วมกัน และสร้างรายได้ร่วมกัน
“เราพูดถึงเศรษฐกิจฐานราก เราต้องเข้าใจกลไกการสร้างเศรษฐกิจในภาพรวม โดยในปัจจุบัน การพัฒนาเศรษฐกิจมหภาคจะมองกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งเป็น mass products ซึ่งส่วนใหญ่ของการผลิตจะเป็น contract farming เพื่อให้สามารถผลิตให้ได้จำนวนมากๆ แต่ขณะเดียวกันเรากำลังพูดถึงเศรษฐกิจฐานรากที่เป็น growth engine เราเรียกว่ากลไกใหม่ ที่คู่กับชุมชน โดยใช้ local products คู่กับชุมชน มันมีโอกาสที่จะกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน” ดร.กิตติกล่าว

สร้าง Content เพิ่ม Value Chain ให้ชุมชน
ดร.กิตติบอกว่า สิ่งที่ค้นพบคือสัดส่วน value chain ที่ควบคู่กับการเกษตรขนาดใหญ่ มีฐานรายได้ของผู้ผลิตเบื้องต้นอยู่ที่ 2% เพราะฉะนั้น ชาวนาปลูกพืชอย่างไรก็ไม่มีรายได้เพิ่มมากนัก แต่หากเพิ่ม local content สัดส่วนรายได้ value chain ทั้งหมดจะอยู่ที่ชาวบ้าน เพราะรายใหญ่ไม่เล่น และ local content มีความเฉพาะในแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ ยังสามารถเข้าไปสู่สำนึกท้องถิ่น ทำให้คนรักหวงแหนทรัพยากรของตัวเองได้ด้วย
“ประเทศไทยไม่ได้มีแค่ฐานทรัพยากร แต่มีฐานความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นฐานที่เราใช้ตลอดเวลา แต่เราไม่เคยตีความ เพราะฉะนั้น ถ้าเราเอาฐานเหล่านี้มาออกแบบสร้างมูลค่าใหม่ แล้วออกแบบประชาคม วัฒนธรรม จะส่งผลให้กลับไปรักษาคุณค่า อัตลักษณ์ ของพื้นที่ได้”
…ดร.กิตติ กล่าว

กลุ่มธุรกิจกิจชุมชนเชื่อมต่อเศรษฐกิจมหภาค
ดร.กิตติบอกว่า ถ้าพูดถึงเรื่องของเศรษฐกิจชุมชนและเศรษฐกิจมหภาคจะเห็นว่า ตัวต่อที่สำคัญคือ กลุ่มธุรกิจกิจชุมชนที่สามารถกระจายรายได้ และเกิดการจ้างงาน เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึง system structure คือ การสร้าง growth goal และ growth engine ในเมืองรอง ในการพัฒนาเมือง และการสร้าง digital infrastructure ในภาพใหญ่ ขณะเดียวกันต้องสร้างฐานเศรษฐกิจในระดับชุมชนให้เข็งแรง ซึ่งหมายถึงธุรกิจชุมชนที่กระจายรายได้ไปสู่ครัวเรือน แล้วถ้ารวบรวมเป็นเครือข่ายธุรกิจชุมชนเชื่อม global value chain ให้เกิดขึ้นด้วยกลไก fair trade
“เศรษฐกิจฐานรากต้องไม่มุ่งเน้นเศรษฐกิจมหภาคอย่างเดียว แต่สามารถทำให้เศรษฐกิจชุมชนหมุนได้ หรือเศรษฐกิจภายในชุมชนให้หมุนได้ แต่ไม่เคยมีใครขบคิดและตีความ เพราะเวลาเราคิดมักจะนึกถึงตลาดข้างนอกชุมชนหมดเลย แต่ไม่ได้มองความเข้มแข็งของตลาดข้างในชุมชน ซึ่งที่ตลาดชุมชนทำให้มีการใช้จ่ายและมีการหมุนของเศรษฐกิจได้” ดร.กิตติกล่าว

พัฒนาแพลตฟอร์ม “ข้อมูลล็อกเป้า-แม่นยำ”
ดร.กิตติระบุว่า เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง ทำให้ในปี 2563 ได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วน คิดแพลตฟอร์มที่เรียกว่า การขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัด ซึ่งเวลาเราพูดถึงเศรษฐกิจฐานรากในระดับครัวเรือน เราจะพูดถึงครัวเรือนที่ยากจน เปราะบาง เนื่องจากหากเจอวิกฤติการณ์ เช่น ภัยพิบัติ ครัวเรือนเปราะบางกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบก่อน
แต่ปัญหาคือ เราไม่รู้ว่าครัวเรือนเปราะบาง ยากจนเหล่านี้อยู่ที่ไหน และยากจนด้วยสาเหตุอะไร แล้วจะบูรณาการความช่วยเหลือให้เขาลุกขึ้นมาด้วยตัวเองได้อย่างไร จึงเป็นที่มาของการสร้างกลไกความร่วมมือ และสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน และสร้างการจัดการความสัมพันธ์ใหม่ร่วมกัน
ส่วนที่สองคือต้องทำระบบชี้เป้า เพื่อการเข้าถึงครัวเรือนเปราะบางและเข้าใจให้มากที่สุดว่า ครัวเรือนเปราะบางแบบนี้ มี social capital แบบไหน มีฐานทุนอย่างไร เพราะเวลาบูรณาการความช่วยเหลือสามารถไปเป็นแพ็กเกจได้ จากการรวบรวมทรัพยากรทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าไปร่วมกัน
“ผมคิดว่าส่วนที่สองคือ พอเรามีข้อมูลมุ่งเป้าแล้ว เราสามารถส่งต่อความช่วยเหลือแบบเร่งด่วนได้ตรงแม่นยำ และคิดต่อไปได้ว่าจะออกแบบให้สร้างเศรษฐกิจระดับครัวเรือนได้อย่างไร บนฐานข้อมูลดังกล่าว ที่จะเชื่อมโยงเศรษฐกิจ ระดับชุมชน เศรษฐกิจระดับพื้นที่ เศรษฐกิจระดับมหาภาคได้อย่างไร” ดร.กิตติกล่าว
ดร.กิตติบอกว่า หลังจากมีข้อมูลล็อกเป้า แม่นยำแล้วจะทำอย่างไร ให้สร้างเศรษฐกิจฐานรากในกลุ่มเปราะบางได้ ซึ่งอย่างแรกต้องเข้าถึงก่อน โดยการเข้าถึงคือการบูรณาการความร่วมมือ โดยใช้ระบบข้อมูลที่มีเป้าหมายเดียวกัน เพราะที่ผ่านมาเมื่อไม่มีข้อมูลเดียวกันทำให้ไม่มีทางเข้าถึงข้อมูลระดับครัวเรือนได้ และจะเห็นว่าความช่วยเหลือที่เป็นลักษณะโครงการ ไม่มีโครงการไหนเข้าไปถึงระดับครัวเรือนได้เลย ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่เข้าไปสู่ระดับกลุ่ม อาชีพ สมาร์ทฟาร์เมอร์
“การที่เราจะสามารถเข้าถึงได้ อย่างแรกต้องสร้างกลไกความร่วมมือ โดยการขอให้มหาวิทยาลัยเป็นกลไกการหมุนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน แล้วใช้ข้อมูลจากทุกภาคส่วนมากางร่วมกัน ทำให้เกิดระบบข้อมูลการชี้เป้าที่เห็นฐานข้อมูลครัวเรือน ทั้งรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ จนพบครัวเรือนในระดับเล็กที่สุดของเศรษฐกิจอยู่ในพื้นที่ เพราะฉะนั้น ก่อนเข้าถึงต้องเข้าใจว่า ครัวเรือนเปราะบางมันอยู่ตรงไหนในพื้นที่” ดร.กิตติกล่าว
ดร.กิตติได้ยกตัวอย่างการหาข้อมูลครัวเรือนยากจน ซึ่งพบว่าข้อมูลจาก TPMAP ของรัฐมี 3.4 แสนคน แต่หลังจากการทำงานร่วมกันในพื้นที่ พบจริงมีจำนวน 1.3 ล้านคน แสดงว่ามีคนจนที่ยังตกหล่นและเข้าไม่ถึงระบบจำนวนมาก ดังนั้น การทำความเข้าใจข้อมูลและยอมรับร่วมกัน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจการลงทุนของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการแบบไหนก็แล้วแต่จะตรงเป้าหมายมากขึ้น

ดังนั้น ความคาดหวังที่จะโยนเงินสดลงไปแล้วทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมันไม่จริง เพราะว่าการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนพวกนี้เข้าไปสู่ทุนใหญ่หมดเลย การทำระบบข้อมูลแบบชี้เป้าซึ่งต้องให้พื้นที่มีส่วนร่วม และยอมรับข้อมูลและตัดสินใจด้วยตัวเอง จะช่วยให้เกิดการตัดสินใจลงนโยบายที่จะไปสู่ระดับครัวเรือนได้เลย เพราะฉะนั้น ต้องเข้าไปดูชีวิตและความเป็นอยู่ในระดับพื้นที่เพื่อทำให้เกิดการล็อกเป้าได้อย่างแม่นยำ ทำให้บูรณาการความช่วยเหลือได้มากขึ้น
“ต้องเข้าใจด้วยว่า ฐานทุนครัวเรือนและความยากจนคืออะไร เราทำการสำรวจข้อมูลตามหลักวิชาการเพื่อหา social capital ที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ใน 20 จังหวัด ทำให้เราเห็นภาพรวมของจังหวัด ทั้งเรื่องการออม โครงสร้างสังคม เรื่องที่อยู่อาศัย จนทำให้เราสามารถบูรณาการความช่วยเหลือและระบบส่งต่อความช่วยเหลือได้ตรงเป้าหมายให้ทุกคนมาช่วยกัน และผลลัพธ์กลับเข้ามาใครช่วยเหลืออะไรจะเห็นในระบบ ทำให้เกิดการบูรณาการความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบมากขึ้น” ดร.กิตติกล่าว
นอกจากนี้ การทำงานอย่างเป็นระบบทำให้ความช่วยเหลือมีระบบติดตาม และเกิดการตัดสินใจได้ทันการณ์ และสามารถพัฒนาไปเป็นระบบข้อมูลเพื่อการตัดสินใจต่อยอดในนโยบายต่างๆ ได้
ข้อมูลล็อกเป้า ต่อยอดเศรษฐกิจฐานราก
ดร.กิตติยกตัวอย่างการสร้างเศรษฐกิจฐานรากจากข้อมูลล็อกเป้า เช่น จากเดิมรัฐลงทุนครัวเรือนละหมื่นบาท ถ้าเอาเงินสดไปแจกหรือแจกของเดียวก็หมดไม่สร้างรายได้เพิ่ม แต่ถ้ารู้และเข้าใจเติมทรัพยากรและความรู้เข้าไปช่วยครัวเรือนเปราะบาง เช่น โมเดลการเพาะเห็ดแก้จน ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จ.ยะลาลงไปช่วยชาวบ้าน ลงทุนสร้างโรงเพาะเห็ด 1,200 บาท สามารถสร้างรายได้ 2,400 บาทต่อเดือน และถ้ามี 2 โรงสามารถสร้างรายได้ 5,000 บาทต่อเดือน แล้วยังใช้ตลาดชุมชน สร้างการหมุนเวียนในเศรษฐกิจชุมชนได้
และอีกตัวอย่างคือ รถพุ่มพวงแก้จน ซึ่งเป็นโมเดลการสร้างศูนย์การกระจายสินค้าชุมชน โดยให้ชาวบ้านมีศูนย์รับซื้อสินค้าในชุมชนแล้วให้รถพุ่มพวงเอาไปขาย ทำให้ชาวบ้านสามารถนำกล้วย เก็บผึ้ง ผัก เอามารวบรวมกันขายได้วันละ 100 บาท หรือ บางครัวเรือนประมาณ 200-300 บาท
ศูนย์การกระจายสินค้าชุมชน สามารถกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนได้ จนเกิด pro poor value chain ซึ่งในประเทศจีนดำเนินการในลักษณะเดียวกัน โดยให้ทุนใหญ่มากาง value chain แล้วให้ครัวเรือนยากจนเข้าไปอยู่ใน chain นั้น แต่ในประเทศไทยทำไม่ได้ เพราะไม่สามารถสั่งได้ตลอดทั้ง chain จึงใช้ local business ที่มีกำลังเข้ามาช่วย แล้วไปวิเคราะห์ supply chain ก่อนจะให้เอาครัวเรือนที่ยากจนเข้าไปอยู่ใน value chain นั้น
“การเข้าไปอยู่ใน value chain ของครัวเรือนยากจน ถ้าสามารถสร้างกลุ่มของตัวเองเป็นกลุ่มธุรกิจได้ก็จะช่วยได้มากขึ้น เช่น ตัวอย่างที่โมเดลแก้จน อ.นิคมคำสร้อย ได้ใช้พื้นที่สาธารณะของนิคมจัดการตัวเองมาจัดสรรปันส่วนให้กับกลุ่มครัวเรือนยากจนไปใช้ แล้วมาใช้ value chain ทำให้ครัวเรือนเหล่านี้มีรายได้สม่ำเสมอในกลไกตลาดได้” ดร.กิตติกล่าว

เข้าใจกลุ่มธุรกิจชุมชนก่อนพัฒนาผลิตภัณฑ์
ดร.กิตติบอกด้วยว่า สิ่งที่สำคัญในเศรษฐกิจฐานรากไม่ใช่แค่ครัวเรือน แต่เป็นกลุ่มอาชีพ ซึ่งกลุ่มอาชีพที่เป็นธุรกิจชุมชนมีทั้งหมด 3 ฟอร์ม คือ วิสาหกิจชุมชน, local SME และ OTOP ซึ่งพบว่าที่ไม่ประสบความสำเร็จมาจากหลายสาเหตุ โดยเมื่อได้ไปวิเคราะห์ supply chain ปรากฏว่า ผู้ผลิตฐานรากได้แค่ 2% แต่รายได้ส่วนใหญ่ที่หลายคนเรียกว่ากลไกตลาดเสรี ไปอยู่ที่นักรวบรวม นักแปรรูป และนักเอาไปขาย
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ในบริบทของพื้นที่ มีกลุ่มพวกเศรษฐกิจฐานรากทั้งหมด 2.3 ล้านกลุ่ม และในจำนวนดังกล่าว 70% ใช้บัญชีธุรกิจและบัญชีครัวเรือนเป็นบัญชีเดียวกัน ทำให้นำรายได้ครัวเรือนเอาไปใช้ธุรกิจ และนำรายได้ธุรกิจเอาไปใช้ครัวเรือน จนทำให้หนี้ครัวเรือนเบ่งบาน เพราะฉะนั้น เมื่อไม่เข้าใจกลุ่มธุรกิจชุมชนเหล่านี้ และลงไปพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างเดียว อาจจะขายจนเจ๊งได้ เพราะขายดีแต่ไม่รู้โครงสร้างต้นทุน
“สิ่งที่ต้องทำคืออย่างแรกคือ การวิเคราะห์ value chain ของสินค้าธุรกิจชุมชนแล้วค่อยนำเอาความรู้ลงไป ซึ่งเราเรียกว่า คนของตลาด แต่การเข้าตลาดต้องมีแพลตฟอร์ม ต้องเข้าใจความสามารถศักยภาพของกลุ่มและขีดความสามารถ ซึ่งไม่ใช่แกนนำชุมชนจะทำได้เพราะมันเป็น business ต้องมีความเชี่ยวชาญอีกแบบหนึ่ง โดยเราสามารถสร้างขีดความสามารถใหม่ของท้องถิ่น ด้วยกลไกลความร่วมมือ” ดร.กิตติกล่าว

สร้างนวัตกรผู้ประกอบการชุมชน
ดร.กิตติกล่าวว่า เราต้องใช้ local business ที่เป็น growth engine โดย local business ต้องมี 3 อย่างคือ 1. การจ้างงาน ทำให้เกิดการสร้างงานจำนวนมากในพื้นที่ 2. ต้องเป็น local content ที่เลียนแบบไม่ได้ ไม่อย่างนั้นอาจจะโดนตลาดจีนโจมตี และ 3. มีการกระจายรายได้
หลังจากนั้นได้ใช้ 4 วิธีในการเข้าไปช่วยเหลือ คือ การเข้าถึงถึงทุน และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ การเข้าถึงตลาด การเข้าถึงความรู้หรือผู้รู้ โดยต้องมีโค้ชเพื่อทำการเรียนรู้ สร้างให้เกิดนวัตกรผู้ประกอบการที่ไม่ใช่แค่แกนนำชาวบ้าน แต่เป็นแกนนำชาวบ้านที่เข้มแข็งและมีทักษะการตลาด เข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม เทคโนโลยี
“เราได้ทำการรวบรวมข้อมูลเทคโนโลยีที่จะช่วยธุรกิจชุมชนว่าอยู่ที่ไหน ตอนนี้ในประเทศไทยมีความพร้อมเทคโนโลยีใช้งานได้ประมาณ 3,598 เทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีเครื่องกลั่นสมุนไพร เครื่องสับผลผลิตทางการเกษตร ที่สามารถสร้างประสิทธิภาพของการผลิตได้ โดยชุมชนสามารถปรับเปลี่ยนการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะกับตัวเองได้” ดร.กิตติกล่าว
นอกจากการเข้าถึงทั้ง 4 ประการแล้ว ดร.กิตติบอกว่า ต้องสร้าง literacy ให้กับชุมชน โดยได้พัฒนาแอป ชื่อ Super App ซึ่งขณะนี้มีในกลุ่มประมาณ 3,000 ธุรกิจอยู่ในแอป โดยวิเคราะห์สภาพคล่องให้กับธุรกิจทุกวัน โดยจะมีโค้ชช่วยเหลือ จนขณะนี้ธุรกิจชุมชนสามารถแยกกระเป๋าเงินธุรกิจกับกระเป๋าเงินครัวเรือนออกจากกันได้ ทำให้สภาพคล่องธุรกิจเป็นสีเขียวมีรายได้เพิ่ม เนื่องจากกลุ่มธุรกิจชุมชนเห็นสภาพที่แท้จจริงของตัวเอง ทำให้สร้างความการแข่งขันได้อย่างแท้จริง

“เราสร้างระบบการเรียนรู้ โดยการใช้ super coach เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ธุรกิจ โครงสร้างต้นทุน ของตัวเองได้ โดยขณะนี้สามารถช่วยธุรกิจ 300 รายมีกำไร เพิ่มการจ้างงานได้มากขึ้น 4,800 ราย โดยเราใช้เงินลงทุนแค่ 20,500 บาท ซึ่งนี้คือทางออกของ literacy ของชุมชน โดยต้องคิดทั้ง value chain เพราะไม่สามารถคิดเฉพาะจุดได้ ต้องสร้าง network value chain ซึ่งจะทำให้สินค้าชุมชนเห็นการกระจายรายได้และการจ้างงานได้และสร้าง growth engine ในระดับชุมชนที่แท้จริงได้” ดร.กิตติกล่าว
ดร.กิตติบอกว่า เมื่อสร้างความเข้มแข็งให้แล้ว ธุรกิจชุมชนสามารถมาร่วมกันเรียกว่าคลัสเตอร์ จนเกิดเป็น “ล้งชุมชน” ที่สามารถสร้างเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้และทำให้เกิด global value chain ยกตัวอย่าง เช่น การรวมธุรกิจชุมชนสวนทุเรียน 40 สวน แล้วทำตลาดร่วมกัน ทำกิจการร่วม ทำมาตรฐานราคาร่วม จนทำให้เกิดล้งชุมชน สามารถขายได้อยู่ที่ 500 กว่าล้าน
“ลองคิดดูครับว่า ถ้าเกิดคลัสเตอร์ ธุรกิจชุมชนเหล่านี้ประมาณ 3 พันกลุ่ม เราอาจจะมีเศรษฐกิจหมุนเวียนประมาณ 5 หมื่นกว่าล้านบาท แล้วกระจายรายได้หมุนเวียนได้สร้าง growth engine ชุมชนได้” ดร.กิตติกล่าว
ดร.กิตติบอกว่า
“สุดท้ายการสร้างธุรกิจชุมชน และการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วม คือทางรอดของประเทศไทย โดยเราต้องสร้างนักการเปลี่ยนแปลงที่ใช้ข้อมูลความรู้ในพื้นที่และสร้างกลไกความรู้ร่วมกัน ต้องสร้างนวัตกรระดับชุมชน สร้างผู้ประกอบการชุมชน สร้าง area manager ที่มาจากมหาวิทยาลัย ถ้าเราสามารถประกอบร่างแบบนี้ คือโอกาสประเทศไทย เพราะเราจะไม่ปล่อยให้พี่น้องประชาชนครัวเรือนเปราะบางยังอยู่กับความยากจนต่อไป”