ThaiPublica > ประเด็นร้อน > วิกฤติโครงสร้างประเทศไทย > “สุวิทย์ เมษินทรีย์” ชี้ประเทศไทยมี ‘โอกาส’ เสมอ แต่ถ้า “มักง่าย-ไม่คิดพลิกฟื้น” อาจจะง่อยถอยสู่โลกที่3

“สุวิทย์ เมษินทรีย์” ชี้ประเทศไทยมี ‘โอกาส’ เสมอ แต่ถ้า “มักง่าย-ไม่คิดพลิกฟื้น” อาจจะง่อยถอยสู่โลกที่3

5 สิงหาคม 2024


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานกรรมการแพลตฟอร์ม Youth in Charge อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ศักยภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน มีแนวโน้มถดถอยลงอย่างน่าใจหาย ทั้งจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหากำลังการผลิต ขีดความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง รวมถึงปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่รุมเร้าเศรษฐกิจต่อเนื่องนานนับ 20 ปี

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจหลายสำนักประเมินว่า ศักยภาพเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า อาจเติบโตเฉลี่ยต่ำกว่า 2% หากไม่มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง

ยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เคยอยู่ในระดับกำลังพัฒนาด้วยกัน ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะตามหลังห่างไกลออกไปทุกที ทั้งในแง่อัตราการเติบโต รายได้ต่อหัว และตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ด้านการแข่งขัน

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานกรรมการแพลตฟอร์ม Youth in Charge อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้สัมภาษณ์ไทยพับลิก้า โดยฉายภาพว่า เวลามองตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ คงจะต้องมองใน 2 มิติสำคัญ คือมิติทางด้านเศรษฐกิจ กับมิติทางด้านการเมืองควบคู่กัน

กล่าวคือ ถ้าเป็นเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ แล้วมีการเติบโตที่ค่อนข้างแข็งแรง มันก็โอเค การเมืองก็เช่นกัน ถ้าเป็นการเมืองที่มีเสถียรภาพ ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ประเด็นสำคัญก็คือ ถ้าเอาสองแกนนี้มาทาบกัน มันสามารถจำแนกประเทศออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือประเทศโลกที่สาม คือเศรษฐกิจไม่ดี ไม่มีเสถียรภาพ การเมืองก็ไม่ดี แล้วกลางๆ หน่อยก็เป็นประเทศโลกที่สอง ส่วนที่ดีขึ้นไป ก็คือประเทศโลกที่หนึ่ง

ปัจจุบัน ประเทศที่ใกล้ตัวเราในอาเซียนหรือเอเชีย อาทิเช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ขึ้นไปอยู่โลกที่หนึ่งหมดแล้ว คือการเมืองดี แข็งแรง เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เศรษฐกิจไม่ต้องพูดถึง แต่ยังมีอีก 2 ประเทศ คือจีนกับอินเดีย ที่แต่เดิมค่อนข้างยากจน มีประชากรเยอะ เมื่อก่อนอยู่โลกที่สอง วันนี้ก็หนีขึ้นไปโลกที่หนึ่งหมดแล้ว แม้แต่เวียดนามเอง ก็ทยานออกมาจากโลกที่ 3 สู่โลกที่ 2 และมีศักยภาพที่จะก้าวสู่โลกที่1 หากไม่มีอะไรสะดุด

ประเด็นก็คือว่า ประเทศไทยยังอยู่ที่เก่า ยังย่ำอยู่โลกที่สอง เราอาจจะหลุดจากโลกที่สามมาอยู่โลกที่สองได้ แต่ไม่สามารถขึ้นชั้นสู่โลกที่หนึ่ง เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นว่าห้วงเวลาที่ผ่านมา หลายประเทศก้าวขึ้นไปอยู่โลกที่หนึ่ง เรายังอยู่โลกที่สองอยู่เลย

ประเด็นสำคัญก็คือ ปัญหาของเรา เป็นปัญหาทั้งเศรษฐกิจด้วย ทั้งการเมืองด้วย เมื่อก่อนเราจะมองการเมืองมีปัญหา แต่เศรษฐกิจเราแข็งแรง แต่ตอนนี้มันเริ่มไม่ใช่ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ก่อให้เกิดความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ นี่คือตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ของไทย ณ เวลานี้

ดร.สุวิทย์มองว่า ประเทศไทยเปลี่ยนไปในทิศทางที่ถดถอยในห้วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ถอยกลับไปประมาณปี 1967-1996 หรือ 30 ปีย้อนหลัง เรามีค่าเฉลี่ยของการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ 7%-7.5% กว่า แต่หลังจากนั้นเราเจอกับวิกฤติต้มยำกุ้ง ค่าเฉลี่ยลดลงอยู่ที่ประมาณ 3-4%

แต่ที่น่ากลัวคือตอนนี้ ค่าเฉลี่ยเราอาจจะอยู่ต่ำกว่า 2% หรือเปล่า

เพราะฉะนั้นจากระดับ 7% แทนที่จะไต่เพดานขึ้น หรือรักษาระดับ มันไต่ลง มาเป็นระดับ 4% มาสู่ระดับ 2% อันนี้น่าคิดแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย ถ้ามองในเชิงโครงสร้าง เราพัฒนาจากประเทศโลกที่สามมาเป็นโลกที่สอง เพราะสามารถเปลี่ยนประเทศจากการขับเคลื่อนด้วยปัจจัยการผลิต มาสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพ

พูดง่ายๆ คือเปลี่ยนจากประเทศที่มีรายได้ต่ำ มาสู่รายได้ปานกลาง ที่เน้นเรื่องของประสิทธิภาพ แต่ตอนนี้ประสิทธิภาพโดยเปรียบเทียบเราตกลงไปเยอะ จริงๆ เราต้องก้าวข้ามจุดนี้ไปได้แล้ว ถ้าจะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง มันจะต้องปรับโครงสร้างไปสู่การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ประเด็นนี้เราพูดมานานแล้ว เพราะฉะนั้นภาพที่ฉายให้ดูจาก 7-8% ต่อปีโดยเฉลี่ย มาสู่ 4% มาสู่ 2%

แต่พร้อมกันนั้น เราก็ไม่สามารถก้าวข้ามจากประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพ ด้วยการผลิต ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม มันเกิดขึ้นในเวลาพร้อมๆ กัน นี่คือปัญหาของประเทศไทยในเชิงโครงสร้างอย่างแท้จริง

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานกรรมการแพลตฟอร์ม Youth in Charge อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

เอนจอยอยู่กับเรื่องเก่าๆ ไม่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ

ดร.สุวิทย์อธิบายว่า สาเหตุที่ประสิทธิภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มตกลงเรื่อยๆ เกิดจาก หนึ่ง ภูมิทัศน์การแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป แต่เดิมเราเอนจอยในเรื่องของการเปลี่ยนนโยบาย จากการทดแทนการนำเข้า มาสู่เรื่องของการส่งเสริมการส่งออก จากนั้นเราก็เปลี่ยนมาสู่เรื่องของการลงทุนจากต่างประเทศ เรื่องของบีโอไอ ช่วงนั้นเป็นโอกาสทองของประเทศไทย แต่หลังจากนั้นภูมิทัศน์ของเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนเราไม่เคยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เราก็ยังเอนจอยอยู่กับโครงสร้างการผลิตแบบเดิมๆ

หากพิจารณาดูจากต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ของ value chain ต้นน้ำคือ R&D เรื่องของดีไซน์ กลางน้ำคือการผลิต ปลายน้ำคือแบรนด์ดิ้ง มาร์เก็ตติ้ง เรื่องของนวัตกรรม ประเทศไทยโฟกัสอยู่ที่กลางน้ำ เราไม่ไปเน้นต้นน้ำ คือเรื่องวิจัยพัฒนา หรือปลายน้ำ คือเรื่องของการตลาด เรื่องของนวัตกรรม เพราะว่าตรงกลางน้ำมันทำง่าย ขณะที่ต้นน้ำหรือปลายน้ำ มันเป็นสิ่งที่ต้องลงทุนทั้งทุนมนุษย์ การวิจัยพัฒา เทคโนโลยี และการสร้างแบรนด์

สอง ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ภูมิทัศน์ด้านเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไป มีผู้เล่นหน้าใหม่ โดยเฉพาะจีนเกิดขึ้น จากประเทศที่ทำ OEM รับจ้างการผลิต เป็นโรงงานของโลก ณ วันนี้แค่เขาเป็นโรงงานของโลก ก็กินเราหมดแล้ว จะไปสู้อะไรเขาได้ ในเมื่อเขาผลิตทีเป็นร้อย เป็นพันล้านชิ้น ขณะที่เราผลิตจำนวนชิ้นงานต่ำกว่าเขาเยอะ

แต่จีนฉลาด เขา OEM เหมือนเรา แต่เขา OEM ระดับโลก เสร็จแล้วก็พัฒนามาเป็นเรื่องของการออกแบบ เรื่องเทคโนโลยี เรื่องของแบรนด์ เนื่องจากว่าการเมืองนิ่ง แล้วเขามีวิสัยทัศน์ เขารู้ว่าจะไปไหน เมื่อไหร่ อย่างไร เพราะฉะนั้นจีนคือ key player คือคู่แข่งหน้าใหม่ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา โดยที่เราไม่รู้ร้อนรู้หนาวว่าจะกลายมาเป็นภัยคุกคามเรา

ฉะนั้นผู้เล่นหน้าใหม่อย่างจีนมา อินเดียก็มา หรือประเทศที่เราบอกว่าค่อยๆ ไต่จากโลกที่สองเป็นโลกที่หนึ่ง อย่างสิงคโปร์ อย่างเกาหลี ก็มา มันมีผู้เล่นหน้าใหม่เยอะมาก

ที่สำคัญคืออาเซียน เมื่อก่อนเราอาจจะมองเป็นโอกาสที่มาจากความไม่สงบ ความไม่นิ่ง ของประเทศเพื่อนบ้าน แต่ ณ วันนี้ไม่ใช่แล้ว มาเลเซีย อินโดนีเซีย น่ากลัว มีเวียดนามจี้ตามมาติดๆโดยเฉพาะอินโดนีเซียในช่วงหลัง ผมเชื่อว่าเขามีบทบาทนำในเวทีโลกด้วย ไม่ใช่แค่เวทีอาเซียน

“เพราะฉะนั้น เมื่อก่อนเราเอนจอยได้ เพราะประเทศเพื่อนบ้านเราวุ่นวายอยู่ ยังไม่นิ่ง ยังเป็นโลกที่สามอยู่ แต่ ณ วันนี้มันไม่ใช่แล้ว คำถามคือ ระหว่างที่มีผู้เล่นหน้าใหม่ มีการแข่งขันในเรื่องการดึงดูดการลงทุน มีอะไรเยอะแยะเลย เรากลับไม่เคยคิดจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ โครงสร้างอุตสาหกรรมเลย เรายังเอนจอยอยู่กับการเป็นผู้ผลิต OEM”

การเมืองไม่นิ่ง เศรษฐกิจไม่ปรับเปลี่ยน ไทยยังอยู่โลกที่สอง

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงและเรื้อรัง ตั้งแต่เสื้อเหลือง เสื้อแดง พัฒนามาสู่การทะเลาะกันระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ มาสู่การมีแนวคิดจัดตั้งนีโอคอนเซอร์เวทีฟ เพื่อจะมาต่อสู้กับเสรีประชาธิปไตย คือเราง่วนอยู่กับเรื่องตบตีกัน การเอาชนะคะคานกัน เรื่องของความขัดแย้งที่รุนแรง เป็นระยะเวลาที่นานเกินไปโดยไม่รู้จบ

เมื่อการเมืองไม่นิ่ง เศรษฐกิจไม่ปรับเปลี่ยน แน่นอน เราก็ยังอยู่โลกที่สอง ในอนาคตก็ไม่รู้จะถอยไปอยู่โลกที่สามหรือเปล่า ไม่ต้องไปพูดถึงโลกที่หนึ่ง

“ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญที่มองว่าเรา “มักง่าย” เรานึกว่าได้เงินทุนได้ มาง่ายๆ ได้เทคโนโลยีการผลิต ญี่ปุ่นมาลงทุน ทุกคนอยากมาลงทุนที่ไทย ตอนนั้นเราเนื้อหอมเพราะว่านักลงทุนมีทางเลือกไม่มาก โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน แต่เราเอนจอยกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ โดยที่ไม่คิดว่าอะไรคือบทต่อไป หรือ new chapter ของโครงสร้างอุตสาหกรรม ของโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว”

พูดง่ายๆเราขาดวิสัยทัศน์ ซึ่งวิสัยทัศน์ส่วนหนึ่งมาจากผู้นำประเทศ เมื่อก่อนเราพอได้ยินได้ฟังผู้นำประเทศพูดอยู่ในแต่ละช่วง ก็มีชีวิตชีวาพอสมควร อย่างเช่น โชติช่วงชัชวาล ในสมัยของพลเอกเปรม (ติณสูลานนท์) มันเป็นการพลิกโฉมจริง เพราะว่าตอนนั้นมันมีวิกฤติเรื่องพลังงาน แล้วพอดีเราไปเจอก๊าซธรรมชาติ แล้วก็ไปพัฒนาพื้นที่มาบตาพุด พัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มันมีความหวัง

ยุคต่อมา เริ่มเห็นการเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสในอินโดจีน พลเอกชาติชาย (ชุณหะวัณ) ก็ใช้โอกาสนี้บอกว่าเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า อย่างนี้มันมีชีวิตชีวา อย่างน้อยเรามีฐานการผลิต หรือฐานการบริโภค หรือตลาดที่ขยายวงไปในระดับอาเซียนได้ ในอินโดจีนได้

มาสู่ยุคของพลเอกชวลิต (ยงใจยุทธ) เราก็พูดถึงเรื่องนิกส์ อยากจะเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชีย แต่ในที่สุดเราก็ไปไม่ถึง แม้กระทั่งในสมัยพันตำรวจโททักษิณ (ชินวัตร) เรายังพูดว่าจะเป็นผู้นำในอาเซียน สุดท้ายแม้กระทั่งพลเอกประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ซึ่งผมก็มีส่วนร่วมด้วย ก็คือไทยแลนด์ 4.0 เป็นต้น คือในแต่ละช่วงเราพอจะมีความหวัง พอจะสร้างความฮึกเหิม

“แต่คำถามคือ ช่วงนี้ทำไมรัฐบาลนี้ไม่มีอะไรออกมาใหม่เลย มันไม่มีอะไรที่มากกว่าดิจิทัลวอลเล็ต คือดิจิทัลวอลเล็ตอาจจะจำเป็นนะ แต่มันไม่ได้ตอบโจทย์ มันเป็นเพียงเครื่องมือหรือมาตรการระยะสั้นเพื่อกระตุ้นการบริโภค”

แต่ผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล ต้องรู้ร้อนรู้หนาว รู้ว่าประเทศไทยอ่อนแอถึงที่สุดแล้ว ผู้นำต้องมีความกล้าหาญทางการเมืองที่จะบอกประชาชนว่า “No Pain, No Gain” นะ กล้าพอที่จะผลักดันนโยบายฐานรากที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว มากกว่านโยบายประชานิยมที่ส่งผลระยะสั้น กล้าพอที่จะแลกนโยบายแบบ “Short-term gain,long-term loss” ด้วยนโยบายแบบ “Short-term loss,long-term gain”

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานกรรมการแพลตฟอร์ม Youth in Charge อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

เผชิญภาวะ “nutcracker” ภายใต้โลกหลายขั้ว

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเผชิญกับภาวะที่ถูกบีบบนบีบล่างที่เรียกว่า “nutcracker” นั่นคือ เราไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่ใช้แรงงานราคาถูก หรือใช้ทรัพยากรเยอะๆ ได้อีกแล้ว เราต้องไต่เพดานการแข่งขันไปสู้เรื่องดีไซน์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ทิศทางมันชี้ชัดอยู่แล้วว่าเราต้องไปที่ตรงนั้น

แต่ตอนนี้เรายังอยู่ตรงกลาง กึ่งสุขกึ่งดิบ ขึ้นข้างบนก็ไม่ได้ ลงข้างล่างก็ไม่ได้ นี่คือประเด็นปัญหาของประเทศไทย

“ซึ่งเป็นตัวสะท้อนปัญหาของกับดักประเทศรายได้ปานกลางอย่างแท้จริง พอเราไปไม่ได้ ถามว่าเรายังจะมีตลาดเหรอ ในตลาดโลก ถ้าเขาไม่เลือกของถูก ก็เลือกของดี โดยส่วนใหญ่เขาไม่เลือกของกลางๆ นี่คือประเด็นปัญหาที่แท้จริง ว่าเราปล่อยให้ตัวเองอยู่ในตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ที่สุ่มเสี่ยงได้อย่างไร”

“ดูง่ายๆ จากการส่งออก ทำไมต้องมานั่งลุ้นตัวเลขการส่งออกทุกเดือน ลุ้นตัวเลขเดี๋ยวลบ เดี๋ยวบวก แต่ถามว่าเรื่องของการส่งออกแบบนี้ ในตัวเลขแบบนี้ ในผลิตภัณฑ์ที่ยังเป็นสินค้าขั้นปฐมอย่างข้าว ยาง มัน ปาล์ม ผลไม้ ฯลฯ หรือเป็น OEM ที่ value added ต่ำๆ อยู่ทั้งนั้น พอใจกับสิ่งนี้เหรอ แล้วมันจะทนอยู่ได้อีกนานเท่าไหร่

เพราะฉะนั้นนี่คือสภาวะประเทศไทยที่ “มักง่าย” คือรอลุ้นว่าโลกจะเปลี่ยนเหมือนกับสมัยที่ญี่ปุ่นมาลงทุนในไทย แต่ ณ วันนี้มันหมดไปแล้ว ทุกประเทศมีตัวเลือก

แล้ว ณ วันนี้ ภายใต้โลกหลายขั้ว เรียกว่า multipolar world เขาเอาประเทศเขาก่อน นี่คือปัญหาของประเทศไทยอีกประเด็น คือเรื่องของ deglobalization หรือการทวนกระแสโลกาภิวัตน์ ที่เมื่อก่อนเราพูดถึงกระแสโลกาภิวัตน์ ไม่ขายในประเทศ ก็ไปขายที่ไหนก็ได้ในโลก

แต่วันนี้โลกมันหลายขั้ว มีโอกาสที่คุณอาจถูกบังคับให้ต้องเลือกข้าง ตรงนี้คือสภาพความเป็นจริง นักลงทุนมีตัวเลือก เขาจะต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุด แล้วยังต้องเลือกข้าง เลือกขั้วด้วย

“ถามว่าผู้บริหารระดับสูงของเรา นักการเมืองเรา มีวิสัยทัศน์ที่มองภาพนี้กันหรือไม่ เอกชนเราเหมือนกัน แทนที่จะบ่น มีโอกาสที่จะสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันกับภาครัฐหรือไม่ พูดง่ายๆ ประเทศก็เหมือนคน มันต้องฮึกเหิม ต้องมีความหวัง แต่ตอนนี้ประเทศเราความหวังก็ไม่มี มีแต่ความกลัว มีแต่ความกังวล มีแต่เรื่องไม่เป็นเรื่อง แล้วจะอยู่อย่างไร”

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานกรรมการแพลตฟอร์ม Youth in Charge อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

เลิกทะเลาะกัน สร้างความโปร่งใส มีนิติรัฐ นิติธรรม อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ดี ดร.สุวิทย์เห็นว่า ประเทศไทยยังมีศักยภาพ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้พัฒนาต่อยอดศักยภาพให้เข้มข้นหรือแหลมคมขึ้น เพราะมัวแต่ทะเลาะกัน เอากันถึงตาย ทะเลาะแม้กระทั่งกับเด็กและเยาวชน เพราะฉะนั้นเมื่อถึงวันนึง ศักยภาพก็จะหายไป ในขณะที่ประเทศอื่นเขาไม่มี แต่เขาสร้างขึ้นมา

ดูง่ายๆ อย่างเกาหลี อยู่ท่ามกลางญี่ปุ่นกับจีน ซึ่งใหญ่ทั้งคู่ แต่เขาแหวกวงล้อมนี้มาได้ เพราะเขาสร้างขึ้นมา จริงๆ เกาหลีเป็นประเทศที่มีทรัพยากรน้อยมาก หรืออย่างอิสราเอล ต้องสู้รบปรบมือยู่ท่ามกลางสงครามตลอดเวลา เขาถึงต้องสร้างขีดความสามารถขึ้นมาจนเห็นเป็นที่ประจักษ์

ประเทศเราอาจจะอยู่กันสบายจนเกินไป ไม่ได้โดนอะไรหนักๆ ถึงที่สุด แต่ก็คงไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น เราชอบภูมิใจว่าเราไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของคนอื่น

แต่ถามจริงๆ ณ วันนี้ เราอาจจะเป็นอาณานิคมของใครโดยไม่รู้ตัวก็ได้ ดูง่ายๆ จีนเทาเต็มบ้านเต็มเมือง มาเฟียต่างชาติเต็มพัทยา เต็มภูเก็ตไปหมด เศรษฐกิจเริ่มถูกรุกล้ำ ถูกช่วงชิงโดยชาวต่างชาติ ความอ่อนแอนี้น่ากลัว เป็นความอ่อนแอที่ถูกปล่อยปละละเลย ทำให้ศักยภาพเราหายไป

“เพราะฉะนั้นเมื่อศักยภาพหายไป บวกกับไม่มียุทธศาสตร์ชัดเจนที่เป็นความหวัง เราก็จะไม่มีอำนาจต่อรอง นี่คือปัญหาของประเทศไทย วันนี้สะเปะสะปะไปหมด คิดอะไรไม่ออกก็ไปเอาเรื่องบ่อนถูกกฎหมายดีมั้ย ให้ต่างชาติเช่าดีที่ดิน 99 ปีดีมั้ย คือคิดแต่ละเรื่องมันควรจะเป็นคำถามท้ายๆ แต่คำถามแรกคือ ทำอย่างไรให้ประเทศไทยแข็งแรงก่อน ต้องเริ่มจากการเลิกตบตีกันให้ได้ก่อนรึเปล่า”

“ผมมีความเชื่ออยู่ 3 เรื่อง หนึ่ง คือเลิกทะเลาะกัน สอง มีกฎเกณฑ์ มีนิติรัฐ นิติธรรม อย่างแท้จริง สามคือเรื่องคอร์รัปชัน สามเรื่องนี้ถ้าทำได้ นักลงทุนดีๆ ก็เข้ามาแล้ว”

“ถามว่า ถ้าผมเป็นนักลงทุนต่างประเทศที่ดีๆ ผมมีความมั่นใจในประเทศไทยรึเปล่า ผมไม่มีความมั่นใจ ผู้นำประเทศไทย ณ วันนี้ ไม่ได้สร้างความมั่นใจให้กับประชาคมโลก ให้กับประชาชนไทย จะไปขายของ ไปดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ไปสร้างความมั่นใจบนสิ่งที่มีหลักประกันที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้รึเปล่า”

“หลักประกันของความมั่นใจคือ ถ้าผมจะมาลงทุนในไทยแบบเดียวกับสิงคโปร์ เข้ามาปุ๊บ ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีจริง ตรงไปตรงมา มีจริง เขาต้องการอยู่ไม่กี่เรื่อง คุณมีสิ่งที่เรียกว่า Ease of Doing Business รึเปล่า ถ้ามีสิ่งนี้เขาถึงจะมาพิจารณาว่า คุณมีคนที่เป็น knowledge worker มากพอรึเปล่า มีอินฟราสตรัคเจอร์รองรับพอรึเปล่า นี่เป็นคำถามที่สองที่สามตามมา”

“แต่คำถามแรกที่ต้องตอบให้ได้ ก็คือความตรงไปตรงมา ความโปร่งใส คือเรื่องคอร์รัปชัน เพราะเราไม่มีความโปร่งใส มีคอร์รัปชัน เราถึงได้จีนเทาเข้ามา ได้อะไรที่มันต่อรองใต้โต๊ะได้ บ้านเรานี่น่ากลัว ไม่มีใครสำรวจว่าจริงๆ เรามีขนาดเศรษฐกิจใต้ดินหรือธุรกรรมสีเทาใหญ่แค่ไหน”

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานกรรมการแพลตฟอร์ม Youth in Charge อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ทำลายวงจรอุบาทว์ทางการเมือง เรียกความมั่นใจประเทศกลับมา

สำหรับการเมืองไทยที่อ่อนแอลง ดร.สุวิทย์วิเคราะห์ว่า เพราะคนส่วนใหญ่ยังคิดถึงแต่ตัวเอง ไม่ได้คิดถึงประเทศชาติเป็นหลัก มีความเชื่อมั่นว่าความคิดหรืออุดมการณ์ฉันถูก อีกฝ่ายหนึ่งผิด กลายเป็น “สังคมสองขั้ว” ปัญหาคือเราปล่อยให้เกิดสังคมสองขั้วได้อย่างไร เอาเข้าจริง ถ้านักการเมืองรักชาติจริง จะไม่ทำอย่างนี้ นั่นคือเรื่องที่หนึ่ง

เรื่องที่สอง นักการเมืองไทยโดยส่วนใหญ่ติดอยู่ในกับดักของ เงิน อำนาจ และผลประโยชน์ เป็นวงจรอุบาทว์ แต่เขาไม่ได้มองเป็นวงจรอุบาทว์ เขามองเป็นวงจรของการทำมาหากินของเขา ขณะที่ประชาชนกลับติดอยู่ในอีกวงจรหนึ่ง คือ โง่ จน เจ็บ นี่คือปัญหาฐานรากของประเทศไทยที่แท้จริง

นอกจากนี้ รากเหง้าในอดีตเรามีเรื่องอุปถัมภ์นิยม อภิสิทธิ์ชน และอำนาจนิยม ยังติดค้างอยู่ในสังคมไทยมาตั้งแต่อดีต แล้วมันยังแทรกซึมอยู่ในระบบการเมืองไทย ค่านิยมเหล่านี้ไม่เคยถูกลดทอนลง มีแต่จะเพิ่มขึ้น

แต่อีกกับดักที่น่ากลัว เป็นกับดักของภาคประชาชน คือ วัตถุนิยม สุขนิยม และบริโภคนิยม ณ วันนี้ หนี้สินภาคประชาชนมันถึงเยอะ แล้วยิ่งถูกประชานิยมอัดเงินเข้าไป ยิ่งบริโภคกันใหญ่ แทนที่จะมองว่าต้องมานั่งลงทุนเรื่องทำมาหากิน การศึกษาให้ลูก ให้หลาน หรือเรื่องอะไรที่เป็นอนาคตของเขา

“เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะพูดถึงการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง มันมีอยู่ 2 ประเด็นปัญหาที่จะต้องมาช่วยกันขบคิด ประเด็นที่หนึ่งว่าด้วยเรื่องของอุปถัมภ์ อภิสิทธิ์ชน อำนาจนิยม จะแก้อย่างไร จะทำลายวงจรของเงิน อำนาจ และผลประโยชน์อย่างไร”

ประเด็นปัญหาที่สองว่าด้วยเรื่องบริโภคนิยม สุขนิยม วัตถุนิยม ถ้าไม่แก้ ประชาชนก็โง่ จน เจ็บ กันต่อไป ประเด็นดังกล่าวถูกทำให้หนักหน่วงมากขึ้นด้วยนโยบายประชานิยม คือหล่อเลี้ยงประชาชนไปเรื่อยๆ แต่ว่าจริงๆ เขาก็เป็นง่อยไปเรื่อยๆ เปลี้ยไปเรื่อยๆ ตรงนี้น่ากลัว

นี่คือสภาพของการยึดกุมทางการเมืองของเรา มันเอื้อประโยชน์ในลักษณะที่ปิดปากประชาชนด้วยประชานิยม แต่ไม่เอื้อให้เขามีสิทธิเสียงเรียกร้อง ให้เขายืนอยู่ได้ด้วยตนเอง

นี่คือสภาพของประเทศไทยที่ตั้งใจทำให้รัฐควบคุมสังคมแทนที่จะตั้งใจให้สังคมควบคุมรัฐ การแก้ไขจริงๆ ทำได้มั้ย ทำได้

วันนี้ต้องขออนุญาตเตือนสติรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยว่า สูตรความสำเร็จในอดีต ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะนำมาใช้กับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างได้ผล โลกมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว แต่ผมยังให้เกียรตินะ ถ้าเพื่อไทยยังเป็นพรรคนำ คุณต้อง “คิดใหม่ ทำใหม่ ปรับพฤติกรรมใหม่” จริงๆ ไม่ใช่มองว่าฉันกลับมาแล้ว เคยทำอย่างไรก็ทำอย่างนั้น

“คำถามคือ รัฐบาลชุดนี้ ยังพอแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาดอะไรได้บ้างรึเปล่า ตรงนี้ผมคิดว่าความเป็นผู้นำเป็นเรื่องสำคัญ ผมไม่ได้เชียร์เพื่อไทย แต่อย่างน้อยถ้าเพื่อไทยเปลี่ยนตามนี้ได้ คะแนนเขาถึงจะมา ไม่ใช่คิดว่าไปผสมกับฝั่งหนึ่งเป็นนีโอคอนเซอร์เวทีฟ เพื่อไปอัดกับอีกฝั่งหนึ่ง นั่นเป็นเกมการเมือง ไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรกับประเทศ”

“สิ่งที่จะต้องให้ประโยชน์กับประเทศ คือมาคุยกันให้รู้เรื่อง ไม่ว่าขั้วไหนก็ตาม แล้วยึดผลประโยชน์ของชาติ เอาเรื่องง่ายๆ หนึ่ง เลิกทะเลาะกัน สอง กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย องค์กรอิสระต้องเป็นอิสระ ไม่มีสองมาตรฐาน ต้องไม่มีใครชักใยอยู่เบื้องหลัง ทำแค่นี้ ก็จะเรียกความเชื่อมั่นกลับมาได้ ที่เหลืออยู่เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาคน เป็นเรื่องไม่ยาก

“พอความเชื่อมั่นกลับมา ต่อให้คุณยังไม่ทำอะไรเลย คนก็เชื่อ แต่คุณไม่ได้สร้างความมั่นใจ ยังไงคนก็ไม่เชื่อ ถามว่าวันนี้คุณเดินทางไปต่างประเทศ เขามาจริงรึเปล่า มาเป็นเรื่องเป็นราวรึเปล่า ความเชื่อมั่นมันไม่มีไง แล้วยิ่งไปเจอกับเดือนสิงหาคมที่จะมีการยุบพรรคไหน เอาใครออก ยิ่งไปกันใหญ่ ประเทศไทยสนุกกับเรื่องพวกนี้เหรอ เลอะเทอะ ไม่มีงานอื่นจะทำเหรอ มีแต่เรื่องอย่างนี้”

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานกรรมการแพลตฟอร์ม Youth in Charge อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

“โมเดล BCG” ความหวังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

ส่วนเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดร.สุวิทย์ชี้ว่า วันนี้อาจต้องกลับมามองการเติบโตในเชิงคุณภาพ คือการเติบโตของจีดีพีที่ครอบคลุมประชาชนส่วนใหญ่ ที่มาจากหลากหลายพื้นที่ หากทำได้สัก 3- 4% ก็แฮปปี้แล้ว ถ้ามันกระจายจริงๆ แต่ตรงนี้ต้องมานั่งนิยามใหม่ อย่าไปบ้าจี้ว่าจะทำอย่างไรจะขยับจาก 2-3 % เป็น 4% กลับมาเป็น 7% มันไม่ยั่งยืน

ณ วันนี้การพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ก็คือเรื่องของการเติบโตอย่างมีคุณภาพ หรือ growth with quality เพราะฉะนั้นจะต้องทำอย่างไรที่ growth engine หรือตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มันขับเคลื่อนโดยคนส่วนใหญ่ได้ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ผมพูดอยู่ตลอดก็คือโมเดลเศรษฐกิจ BCG

เพราะ BCG มันมี BCG เชิงพื้นที่ อาจดูไม่หวือหวา แต่เป็นโมเดลเศรษฐกิจที่กระจายอย่างถ้วนทั่ว นี่คือหนึ่งในตัวอย่างของโมเดลเศรษฐกิจที่ควรจะมี เพื่อตอบโจทย์การเติบโตอย่างมีคุณภาพ,การเติบโตที่มีการกระจายอย่างถ้วนทั่ว รวมถึงตอบโจทย์การเติบโตอย่างยั่งยืน

เพราะฉะนั้นอย่างน้อย growth engine เราไม่ได้คิดไม่เป็น หรือต้องไปบ้าจี้ดูว่าฝรั่งหรือต่างประเทศกำลังแข่งเรื่องอะไร แล้วเราจะเอากับเขาบ้าง ไม่มีทาง เอาสิ่งที่เป็นจุดแข็งเราก่อนดีกว่า

ดร.สุวิทย์เล่าว่า ก่อนหน้านี้ไปพูดที่สภาอุตสาหกรรม ว่าทำไมเรื่องของ BCG เรื่องของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จึงเป็นหนึ่งในความหวังของประเทศ เพราะเป็นเรื่องที่เรามีศักยภาพอย่างน้อย 80% แล้วลับให้มันคมด้วยนโยบาย ด้วยการบริหารจัดการ ด้วยการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐกับเอกชน เติมเพิ่มไปอีก 20% ก็สามารถไปแข่งกันในระดับโลกได้

เพราะฉะนั้นถามว่าในอนาคต ถ้าคิดจากโอกาส เราอยากให้ภาพจำของประเทศไทยอยู่ตรงไหนในเวทีโลก อาหารใช่มั้ย สุขภาพและการแพทย์ใช่มั้ย หรือการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มันต้องคิดจากจุดนั้นก่อน แล้วถอยกลับมา แต่จะต้องไม่เป็นจุดที่คนไม่กี่คนได้ หรือบริษัทใหญ่ๆ ไม่กี่บริษัทได้ แต่ต้องครบเครื่อง เป็นอะไรที่คนส่วนใหญ่ต้องได้ด้วย

ส่วนในแง่ของยุทธศาสตร์ ผมคิดว่ามีอยู่ 4-5 ประเด็นที่น่าสนใจ ยุทธศาสตร์ที่หนึ่ง เราต้องเอาจุดแข็งมาชูก่อนจุดอ่อน คืออะไรที่เรามี 80% แล้วเติมอีก 20% อย่าง BCG อย่างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ พวกนี้จริงๆ ก็คืออุตสาหกรรม s-curve เก่า มีโอกาสกระจายไปยังพื้นที่ได้ แต่อีกส่วนหนึ่งตามเขาไปดู คือเรามี 20% แต่ต้องเติมอีก 80% อย่างพวก deep tech, หุ่นยนต์, การบิน เป็นต้น เพื่อว่าเราจะสามารถพัฒนาต่อยอดในอนาคต

ถึงวันนึงที่ s-curve เก่าเราแข็งแรง มีเงินทุนพอ พัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีได้ระดับนึง เราก็ค่อยมาใส่ใจ s-curve ใหม่ว่าจะทำด้วยตัวเองได้อย่างไร นี่คือยุทธศาสตร์ที่หนึ่ง เป็นความสมดุลระหว่างอุตสาหกรรมสองกลุ่ม เป็น two-pronged strategy เอาสิ่งที่มีจุดแข็ง 80/20 แล้วก็เอาสิ่งที่ตามเขาไปดู 20/80

ยุทธศาสตร์ที่สองคือ เรื่องเทคโนโลยี เป็นยุทธศาสตร์สองขา(two-pronged strategy)เช่นเดียวกัน ขาหนึ่งคือการซื้อเทคโนโลยีแบบยุทธศาสตร์จีนแล้วก็เอามาแกะให้ SME ใช้ ให้ประชาชนใช้ อย่างเช่น 5G บล็อกเชน หรือ augmented reality ถ้าผมเป็นรัฐบาล ผมจะทำให้เทคโนโลยีเป็นสาธารณูปโภค(Technology as Utility) แบบเดียวกับไฟฟ้า น้ำประปา ที่ทุกคนต้องได้ใช้ แล้วสอนให้เขาใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด

ส่วนขาที่สองคือการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อยกขีดความสามารถในการแข่งขัน(Technology as Competency) โดยการพัฒนาเทคโนโลยีที่ประเทศไทยมีศักยภาพ อย่างเทคโนโลยีการเกษตร อาหาร การแพทย์ โดยต้องโฟกัส เก่งไม่กี่เรื่อง แต่เก่งแล้วต้องเก่งจริง

ยุทธศาสตร์ที่สามคือ คน ถ้าต้องการให้ประเทศไทยเปลี่ยนประเทศด้วยการขับเคลื่อนนวัตกรรม ในระยะสั้น ต้องไปจีบคนที่เก่งที่สุดของโลกมา ก็คือเอา foreign knowledge worker เอา talent เขามา

แต่พร้อมกันนั้น อีกขานึงเราต้องพัฒนาคนด้วยไปพร้อมๆกัน นโยบายและงบประมาณพัฒนาคนต้องไม่มีการประนีประนอม ไม่ว่าสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นอย่างไร

เพราะการสร้างคนมันใช้เวลา คุณจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่ตลอดเวลาไม่ได้ การสร้างคนมันเป็นเมล็ดพันธุ์ ถ้ามันเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ถูกต้อง มันใช้เวลาสุกงอม 5 ปี 10 ปี แต่ถึงตอนนั้นคุ้ม แต่ระหว่างรอ คุณไปเอา talent ดีๆ จากข้างนอกมาก่อน อย่างนี้เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่สี่คือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาเชิงพื้นที่ เราพูดถึง EEC แต่พอรัฐบาลเปลี่ยน เป็นง่อยไปเลย จริงๆ เป็น two-pronged strategy เหมือนกัน EEC ยังไงมันก็โดดเด่น เพราะว่ามันไม่ได้เริ่มจากศูนย์ มันมาจากมาบตาพุด มาจากอีสเทิร์นซีบอร์ด เราจะชู EEC อย่างไรในระดับโลก แต่อีกขานึงคือ North-eastern, Southern, Northern corridor จะเล่นอย่างไรเพื่อกระจายโอกาส กระจายความมั่งคั่ง ไม่งั้นเราจะมีแต่ EEC

“EEC ไม่เป็นไรให้เป็น spearhead ระดับโลก แต่ต้องทำอีกขานึงว่า corridor ภาคเหนือ,corridor ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, corridor ภาคใต้ จะเล่นอย่างไร จริงๆ ตรงนี้เรามีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล่นได้อีกเยอะ อยู่ที่ว่าจะเล่นจริงรึเปล่า จะเอายุทธศาสตร์ภาคมาบูรณาการร่วมกับยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดอย่างไร”

ส่วนยุทธศาสตร์ที่ห้า ประเทศไทยไม่เคยมียุทธศาสตร์หลัก หรือ grand strategy ของการบูรณาการนโยบายการต่างประเทศ นโยบายการค้าและการลงทุน และนโยบายเศรษฐกิจมหภาคเข้าไว้ด้วยกัน จริงๆ ตรงนี้สำคัญ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา คุณต้องมีนโยบายเดียว เพราะเรื่องของการทูตกับเรื่องการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจมหภาคต้องเป็นเรื่องที่สอดประสานเป็นหนึ่งเดียว

แต่ ณ วันนี้ ทุกอย่างเป็น Silo คุณไปมองเรื่องการค้า เป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์ การลงทุนไปอยู่กับนายกรัฐมนตรี เศรษฐกิจมหภาคไปอยู่กระทรวงการคลัง กับแบงก์ชาติยังไปด้วยกันไม่ได้เลย แต่ถ้าผูก 4-5 นโยบายนี้เข้าด้วยกัน เราจะเห็นภาพใหญ่ของประเทศ จะได้เลิกทะเลาะกัน คือมันมีมากกว่าที่จะมานั่งเถียงกันว่า ดอกเบี้ยควรขึ้นหรือลง เพราะมันดูภาพใหญ่ ที่มองผลประโยชน์ประเทศในบริบทโลกเป็นตัวตั้ง

“แต่ทั้งหมดนี้เป็นไปไม่ได้ ถ้ายังขาดคำ 2 คำคือ การสร้างความเชื่อมั่น (confidence) และการสร้างความน่าสนใจ( attractiveness)”

“เพราะฉะนั้นที่เหลืออยู่ 2 คำนี้ ประเทศไทยสร้างสีสันได้อยู่แล้ว เรื่อง attractiveness ไม่ได้ยาก แต่ attractiveness และ confidence จะมาจากไหนล่ะ การเมืองต้องนิ่ง มีเสถียรภาพ แล้วเศรษฐกิจก็จะมีเสถียรภาพ นิ่งในที่นี้คือเลิกทะเลาะ จับเอาคนที่สุดโต่งทั้งสองข้างออกให้อยู่ห่างๆ เชิญเอาคนกลางๆ มานั่งคุยกัน ที่เหลือคือเรื่องของนิติรัฐ นิติธรรม แค่นั้นเอง ทำให้ได้จริง”

“ถามว่ายากเหรอ เป็นเรื่องที่ง่ายที่สุด หนึ่ง เลิกทะเลาะ ถ้าเอากันจริงๆ มันไม่ได้ใช้เวลาเป็นปีๆ ไม่เหมือนกับการพัฒนาคนหรือเทคโนโลยี่ อาจจะต้องใช้เวลา แต่การเลิกทะเลาะ มันเป็นเรื่องของการเอาจริงหรือเปล่า หรือเรื่องนิติรัฐ นิติธรรม มันเป็นเรื่องของการเอาจริงหรือเปล่า แค่นั้นเอง”

ประเทศไทยมีโอกาสเสมอ แต่ถ้าไม่คิดพลิกฟื้น ก็จะเป็นง่อย

ดร.สุวิทย์สรุปว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพ แต่เราทำลายศักยภาพ เมื่อเราสูญเสียศักยภาพ บ้านเมืองก็อ่อนแอลง เราก็มีขีดความสามารถในการช่วงชิงโอกาสที่มาจากข้างนอกต่ำลง โอกาสมันไม่รอคอย มันลดระดับลงไปเรื่อยๆตามเวลา เรากำลังอยู่ที่จุดนั้นต่างหาก

คำถามคือ โอกาสมีมาเสมอ แต่ศักยภาพเรามาถึงจุดนึง ถ้าไม่คิดที่จะพลิกฟื้น เราก็จะเป็นง่อย ถึงจุดนั้นอาจจะลำบากแล้ว เพราะว่าศักยภาพมันเตี้ยติดดินไปแล้ว

แต่ตอนนี้เรายังพอมีหน่อเนื้อเชื้อไขของศักยภาพอยู่ไม่น้อย อย่างเรื่องความเป็นคนไทย หรือ Thainess ทางศศินทร์เคยร่วมกับทาง Kellogg (Kellogg School of Management, Northwestern University) สำรวจผู้บริหาร executive ทั่วโลก 500 คน พบว่าความเป็นไทยมีจุดเด่นอยู่ 4-5 ประการ

คือ friendly มีความเป็นมิตร, flexible มีความยืดหยุ่น, favoring มีสีสันของชีวิต, fun มีความสนุก, และ fulfilling ชอบเติมเต็มให้ทุกอย่างดูสมบูรณ์ขึ้น 4-5 องค์ประกอบนี้ คืออัตตลักษณ์ความเป็นไทย หรือ Thai DNA คือต้นน้ำของความหลากหลายไปสู่ซอฟต์พาวเวอร์ได้อย่างสบาย เพราะฉะนั้นจริงๆ เรายังเป็นประเทศที่มีสีสัน มีลูกเล่นอีกเยอะ

ณ วันนี้ เราไม่ได้มีแค่ความหลากหลายเชิงชีวภาพ กับความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม เรามีความหลากหลายของเพศ เรื่องของ gender diversity ดูอย่าง pride month หรือเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียม ถ้ารู้จักผสมผสานความหลากหลายเชิงชีวภาพ ความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม และความหลากหลายทางเพศเข้าด้วยกัน สร้างอะไรได้ อีกเยอะ กินไม่หมด ปรากฎการณ์ที่เราเห็นในเชิงประจักษ์แล้วคืองานเทศกาลสงกรานต์ จริงๆ เรายังทำอะไรได้อีกเยอะแยะ

“เพราะฉะนั้นความหวังมี แต่เรายังอยู่กับความมั่วซั่ว ความเลอะเทอะ ความมักง่าย พูดง่ายๆ เราทำได้ดีกว่านี้ แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย เราจะเลวร้ายกว่านี้ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไม่มีโอกาสเงยหัวขึ้นนะ แต่ ณ วันนี้ถามว่ามันเป็นหน้าที่ของทุกคนมั้ย จริงๆ เป็นหน้าที่ของทุกคน”

“แต่ตอนนี้ใกล้ตัวที่สุด คือขอให้ฝ่ายการเมือง ซึ่งเขายังมีอำนาจอยู่ ลองไตร่ตรองดูว่า เขาจะพลิกประเทศไทยได้อย่างไร มากกว่าที่ไปอยู่ในกับดักของตัวเอง ถ้าใช้ความกล้าหาญทางการเมือง แล้วคิดจะเอาชนะ คุณต้องเอาชนะด้วยสิ่งนี้ ไม่ใช่เอาชนะด้วยสองรุมหนึ่ง สามรุมหนึ่ง ไม่ใช่ผู้ชนะด้วยการใช้ “บ้านใหญ่” ไม่มีทาง ถ้าคุณอยากเป็นรัฐบุรุษ คุณต้องชนะใจประชาชน ต้องพลิกโฉมประเทศไทยให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมใน 2-3 ปีข้างหน้า เพื่อจะได้อยู่ต่ออีก 4 ปี เพื่อจะได้ทำสิ่งใหญ่ๆ สิ่งใหม่ๆให้กับประเทศ”

“แต่เรามักง่าย คิดแต่แก้สมการทางการเมือง เอาพรรคนี้บวกพรรคนี้ ไปรุมพรรคนู้น หาเรื่องไปยุบพรรคนี้ โอกาสอยู่ในมือคุณแล้ว แต่คุณไม่ทำ คุณมัวแต่ทำเรื่องเล็กๆ ทำเรื่องโปรยเงิน เรื่องประชานิยม ไม่ใช่ไม่จำเป็น แต่มันไม่พอ คุณต้องคิดการใหญ่ ทำเรื่องใหญ่ ทำให้ประเทศกลับมาอยู่ในจอเรดาร์ของเวทีโลก” ดร.สุวิทย์ กล่าว