ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > SET Family Business: ถอดแนวคิดธุรกิจครอบครัว “บ้านปู”- “โตชิบา ไทยแลนด์”

SET Family Business: ถอดแนวคิดธุรกิจครอบครัว “บ้านปู”- “โตชิบา ไทยแลนด์”

24 สิงหาคม 2024


วันที่ 1-2 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) จัดงานสัมมนา The 2nd SET Annual Conference on Family Business ภายใต้แนวคิด Family Business in the Globalized Asia เพื่อสร้างองค์ความรู้และขยายโอกาสการลงทุนให้กับธุรกิจครอบครัวในประเทศไทย ผ่านประสบการณ์และกรณีศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาสถาบันชั้นนำระดับโลก

อีกหนึ่งไฮไลท์ของงาน คือ การเสวนาในหัวข้อ “Creating a Successful Family Business Constitution” โดยนายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการด้านพลังงานรายใหญ่ของประเทศ และนางกอบ กาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัทโตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์โตชิบา ร่วมเสวนา

ทุกวันคือ new chapter – เรียนรู้ที่จะรักในสิ่งที่ต้องทำ

กอบกาญจน์เล่าว่า เธอเป็นทายาทรุ่นที่ 2 มีพี่น้อง 4 คน มีลูก 2 คน และทุกวันนี้ธุรกิจกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่รุ่นที่ 3 อย่างไรก็ดี ตอนสมัยเริ่มต้นทำงาน คุณพ่อคุณแม่พูดเสมอว่า ถ้าจะเรียนหนังสือ เรียนอะไรก็ได้ แล้วไม่ต้องกลับมาทำธุรกิจที่บ้าน เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ลำบาก มีปัญหาทุกวัน เพราะฉะนั้นตอนเรียนจึงเลือกเรียนสถาปัตย์ เพราะคิดว่าตัวเองชอบทางด้านนั้น

หลังเรียนจบกลับมา ได้ไปทำงานที่มาบุญครอง ซึ่งกำลังเริ่มก่อสร้าง แต่วันหนึ่ง ประธานญี่ปุ่นโตชิบาก็เรียกเข้าไปถามว่าเราจะไม่กลับมาทำธุรกิจที่บ้านแน่นอนแล้วใช่ไหม ซึ่งจำได้ว่าใช้เวลาแป๊บเดียวตอบกลับไปว่า กลับมาทำก็ได้ กลายเป็นว่าคนที่ถาม ไม่ใช่พ่อแม่ แต่เป็นประธานญี่ปุ่น แต่โดยส่วนตัวคิดว่า คุณแม่มองเราออกว่าถ้าเกิดบังคับ อาจจะไม่มาทำ

อันที่สองคือ ตอนทำงานที่มาบุญครอง ก็ถามตัวเองว่าเราจะไปเป็นสถาปนิกจริงไหม ระหว่างนั้นก็มองเห็นว่า หลายอย่างที่คิดว่าเรารัก มันไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะฉะนั้น มีบางคนเลือกที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองรัก แต่อาจจะมีหลายคนเป็นแบบเรา คือ “เรียนรู้ที่จะรักในสิ่งที่ต้องทำ”

ถ้าวันนั้นตัดสินใจไปเป็นสถาปนิก ก็อาจจะไปเจอบางอย่างที่เราเสียใจก็ได้ เพราะมันอาจไม่ได้เป็นแบบที่เราตั้งใจเอาไว้ ซึ่งคุณแม่บอกเราว่า การศึกษาที่ดีคือเรียนอะไรก็ได้ แต่ขอให้เรียนให้เป็น เพราะอะไรก็ตามที่อยู่ในหนังสือ อยู่ในตำราเรียน พรุ่งนี้ก็ obsolete “เพราะฉะนั้นทุกวันคือ new chapter ต้องเรียนรู้ใหม่ได้เสมอ ดังนั้นจึงเรียนรู้ที่จะรักในสิ่งที่ตัวเองทำ เราปรับตัวเองได้ หาจุดที่เราจะรักกับมัน พอเริ่มรัก เราก็จะทุ่มเท”

เพราะฉะนั้นอะไรก็ตาม ณ วันนี้ที่เราต้องทำ หรือเราเลือกมาแล้ว สุดท้ายอาจจะไม่ชอบก็ได้ แต่อยากให้มองใหม่ เพราะสิ่งที่สำคัญมากกว่าคือ ทำยังไงให้มันมีคุณค่า ทำยังไงที่เราจะสามารถทุ่มเท แล้วสร้างธุรกิจมันขึ้นมา ในทางที่เราอยากให้เป็น

ขณะที่ชนินท์เล่าว่า ส่วนตัวเป็นลูกคนเล็กสุดจากพี่น้องทั้งหมด 7 คน หลังเรียนจบกลับมา ครอบครัวให้เลือกว่าจะเดินเส้นทางไหน เส้นทางเดิมหรือเส้นทางใหม่ ซึ่งมีสองสามทางเลือก โดยตอนนั้นยังเป็นคณะกรรมการในธุรกิจน้ำตาล ซึ่งทางเลือกหนึ่งคือ เรื่องการทำเหมืองถ่านหิน ก็ได้นำทางเลือกนี้เสนอกับครอบครัว สุดท้ายก็ได้รับการสนับสนุน

แต่ส่วนตัวก็รู้ว่ามันยาก เพราะเป็นความเสี่ยงที่ต่างออกไปจากธุรกิจเดิม แต่ด้วยขนาดของธุรกิจ ณ ขณะนั้น มันยังไม่ใหญ่เกินไป ทำให้การตัดสินใจไม่ยากมากนัก ทำให้ครอบครัวมีทางเดินไปอีกด้านหนึ่ง

“หลังจากผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ ทำให้พี่น้องหลายๆ คนมีมุมมองที่เปลี่ยนไป คือ มีความกล้าและมีความรู้มากขึ้น ในการที่จะตัดสินใจเลือกว่าจะเดินต่อไปยังไงในธุรกิจครอบครัว”

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด

ผสานธุรกิจเดิมให้เข้ากับธุรกิจใหม่

กอบกาญจน์กล่าวว่า ปัจจุบันทายาทธุรกิจแต่ละครอบครัว มีความเป็นตัวของตัวเอง ยกตัวอย่างที่บ้านมีเจน 3 หลายคน เขาเป็นคนบอกเองว่าไม่อยากกลับมาทำธุรกิจโดยตรง บางคนบอกว่าลองทำดูก่อนก็ได้ บางคนก็บอกว่าไม่อยากทำ หรือบางคนอย่างลูกสาวตัวเองบอกว่าไม่อยากเลย แต่อยากไปทำอีกแบบหนึ่ง แล้วรู้ด้วยว่าอยากทำอะไร

แต่ ณ วันนี้ ถ้าหันกลับไปคิดอีกด้านหนึ่ง ไม่ใช่เพียงแค่ว่าเขาอยากทำอะไร แต่การบริหารความเสี่ยงของครอบครัวเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะว่าวันนี้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วมาก ตลาดในการทำธุรกิจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป สมัยเราอาจจะเป็นตลาดในประเทศ หรืออย่างมากก็ตลาดอาเซียน แต่ทุกวันนี้ตลาดทั้งโลกเข้ามาอยู่ในประเทศไทย

เมื่อก่อนเรารู้สึกว่าธุรกิจจะยั่งยืนอยู่ตลอดไป แต่เอาเข้าจริงมันไม่มีอะไรยั่งยืน เพราะฉะนั้น ของเดิมที่เรามีอยู่ ทำยังไงให้มันดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกันมันน่าจะมีอะไรใหม่ ซึ่งสำหรับครอบครัวเรา ได้เริ่มทำสิ่งใหม่ขึ้นมา แต่ก็ยังเกี่ยวข้องกับของเดิมที่เรามีอยู่

ยกตัวอย่างเช่น เราเป็นอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่เรามีศูนย์อุตสาหกรรมเล็กๆ ของเรา เพราะฉะนั้นธุรกิจใหม่ของเรา มันก็จะไปเกี่ยวข้องกับสวนอุตสาหกรรมเรา กับโรงงานเรานิดหน่อย และอีกอันนึงที่เริ่มคุยกันในช่วงนี้ก็คือ เจน 3 ขอทำธุรกิจแบบใหม่ไปเลย ซึ่งเมื่อก่อนเราอาจจะไม่คิด ส่วนหนึ่งเขาคงอยากทำอะไรใหม่ๆ แต่อีกส่วนหนึ่งคือ โลกมันเปลี่ยนไป มัน about time เหมือนกัน ที่เราต้องมองอะไรใหม่ๆ ด้วย แล้วเรียนรู้ตั้งแต่ตอนนี้ว่ามันจะเป็นยังไง

อันนึงให้เขาได้ทดลองความสามารถ แต่อีกอันนึงก็คือว่า เราก็อาจจะมองหลายๆ อย่าง เพราะเจน 1 เจน 2 อาจจะมองข้ามของพวกนี้ ยกตัวอย่างลูกชอบไปทางอาหาร ซึ่งสำหรับเราเมื่อก่อนรู้สึกเฉยๆ มากเลย แต่เดี๋ยวนี้อาหารมันก็ใหญ่ได้ เป็นอะไรที่สร้างสรรค์ มีอะไรที่ดีในแบบของเขา ดังนั้นธุรกิจครอบครัวเราก็จะเริ่มเกิดขึ้นเป็นสามทาง

บวกกับลักษณะของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ที่มีข้อมูลข่าวสารเยอะมาก รวมถึงความต้องการของชีวิต ที่เขาเห็นความสำคัญของการทำงานไม่ใช่ที่หนึ่ง แต่การทำงานมันต้องอยู่คู่กับความสุขส่วนตัว work life balance หรือการทำงานเพื่อโลกใบนี้ เป็นต้น ซึ่งเราต้องเข้าใจ รุ่นเราอาจจะคิด แต่ไม่ได้ขนาดนั้น แต่เขาก็สำคัญเหมือนกัน เพราะว่าเขาจะต้องเป็นคนที่อยู่และ carry on ธุรกิจต่อไป

เพราะฉะนั้น คงเหมือนสมัยแม่มองเรา เราคงบังคับไม่ได้ แต่ว่าก็พยายามบริหารจัดการ แต่ขออย่างน้อยว่า ของเดิมอย่าทิ้ง เพราะว่ามันมีอะไรบางอย่างที่สำคัญ แล้วโดยส่วนตัวคิดว่า ไม่มีอะไรที่ตกตลอด และไม่มีอะไรที่ขึ้นตลอด มันมีวันเวลาของมันอยู่เสมอ

ทุกธุรกิจมีsunset & sunrise ต้องมี “ข้อมูล-วิสัยทัศน์” เพื่อวิเคราะห์ไปข้างหน้า

กอบกาญจน์ยกตัวอย่างว่า ทุกวันนี้ ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นธุรกิจพระอาทิตย์ตก หลายคนบอกว่าเราต้องอยู่กับธุรกิจพระอาทิตย์ขึ้นเสมอ แต่ส่วนตัวเชื่อว่า อยู่ไปปั๊บๆ เดี๋ยวมันก็ตก แล้วสมัยนี้ทุกอย่างมันตกเร็ว แล้วเราจะหนีไปเรื่อยๆหรือ การที่จะต้องเปลี่ยนไปตลอดเวลา มันจะใช่รึเปล่า แต่มันอยู่ที่เราจะเอามันขึ้นรึเปล่า มันขึ้นได้ แต่เราต้องเป็นคนแรกที่มีศรัทธา แล้วเป็นคนที่จะนำให้มันเกิดการขึ้นใหม่ได้

ชนินท์เสริมว่า สถานการณ์ธุรกิจถ่านหินก็ไม่แตกต่างจากธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา มีทั้งวันเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก ซ้ำยังถูกมองว่าไปต่อในโลกยุคปัจจุบันได้หรือเปล่า แต่ทุกวันนี้ก็ยังผ่านมาได้

ประเด็นสำคัญคือ เรามีความเชื่อยังไงในแต่ละช่วงเวลา เชื่อว่ามันเปลี่ยนไปแล้ว หรือยังจะไปต่อ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป มันจะพิสูจน์เองว่า เราคิดถูกหรือคิดผิดจากเหตุการณ์ที่เป็นอยู่

“เหตุการณ์หลายครั้งมันก็ไม่เป็นอย่างที่เราคิด บางทีเราคิดว่าธุรกิจมันจะเปลี่ยนไป มันก็ไม่เปลี่ยน หรือคิดว่าเราอยู่กับมันได้ มันก็ไม่เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเราจะต้องมี “ข้อมูล” และ “วิสัยทัศน์” ที่ดีพอเพื่อจะวิเคราะห์ไปข้างหน้า แล้วสามารถอยู่กับสิ่งเหล่านั้นได้”

ในการที่เราจะคิดทำอะไร คงไม่ได้คิดว่าเราทำสั้นๆ แต่มันจะต้องคิดยาวพอที่เราจะสามารถอยู่กับมันได้ เพราะเหตุการณ์อย่างที่กล่าวมานี้ เกิดขึ้นได้กับทุกคน กับทุกอุตสาหกรรม

นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)

ออกจาก comfort zone อย่ามองเฉพาะตลาดในประเทศ

ชนินท์แนะนำว่า การที่ทายาทอยากจะนำเสนอความคิด ไอเดีย หรือโปรเจกต์ธุรกิจใหม่ๆ ให้ครอบครัวสนับสนุนหรือเห็นด้วย ขึ้นอยู่กับโครงสร้างของแต่ละครอบครัวว่ามีความคิดเห็นอย่างไร และตัวเรามีความกล้าพอที่จะเสนอเรื่องต่างๆ เข้าไปมากน้อยแค่ไหน

แต่สำหรับครอบครัวเรา จากพี่คนโตมาถึงผม เราคุยกันได้ แล้วเขารับฟังด้วยเหตุผล ดังนั้น ถ้าเรากล้าพอที่จะเสนอ แล้วมีโอกาสที่พี่น้องจะสนับสนุน ก็น่าจะลองเสนอเข้าไปดู เพราะมันเป็นโอกาสที่เราจะเปลี่ยนแปลงตัวเราและครอบครัวได้

กอบกาญจน์เห็นว่า สิ่งสำคัญสำหรับทายาทธุรกิจ คือต้องศึกษาข้อมูล และอาจจะต้องใช้ third party เข้ามาช่วยดู เพราะเมื่อเป็นธุรกิจที่ใหม่มาก บางทีเราอาจจะตามไม่ทัน อาจจะไม่เข้าใจร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่น จะไปแตะเรื่อง EV มั้ย บางคนก็บอกว่าแย่ บางคนก็บอกว่ามีโอกาส เป็นต้น

เพราะฉะนั้นครอบครัวเราเปิดกว้าง แต่ขอให้ศึกษามาให้ดี ศึกษาคนเดียวไม่ได้ ก็อาจจะต้องไปหา third party หรือมหาวิทยาลัยให้มาช่วยประเมินว่าธุรกิจใหม่เป็นยังไง ตลาดในวันนี้ ตลาดในอนาคตเป็นยังไง ตลาดในประเทศไทยเป็นยังไง ตลาดต่างประเทศเป็นยังไง

“โดยส่วนตัวคิดว่าต่อไปในอนาคต อย่ามองเฉพาะตลาดในประเทศไทย เราต้อง go out ซึ่งน่าจะเป็นการบ้านของประเทศไทยทั้งประเทศว่าเราต้องออกจาก comfort zone ของเรา ออกไปข้างนอกมากขึ้น หลายคนอาจจะคิดว่ามันไม่สะดวก ไว้ค่อยคิดทีหลัง แต่ ณ ตอนนี้ไม่ได้แล้ว เราต้องคิดแล้ว”

ความคาดหวังกับทายาทธุรกิจ

ชนินท์ยอมรับว่า เขามีความคาดหวังให้ลูกมาสืบทอดกิจการบ้านปู แต่เมื่อถึงจุดนั้นก็พบว่ามันไม่เป็นอย่างที่คิด ทำให้กลับมาคิดว่าถ้าเราไม่คาดหวังมากเกินไป แล้วปล่อยให้เขาคิดเอง โดยมีเราคอยดูอยู่ห่างๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่มีจังหวะ ก็ค่อยมาคุยกัน

ซึ่งเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นก็คือ ส่วนที่เราคาดหวังว่ามันจะเกิดขึ้น ก็ไม่ได้เกิดขึ้น แต่ส่วนที่ไม่ได้คาดหวังว่าจะเกิดขึ้น มันก็เกิดขึ้น เราก็สนับสนุนให้ทั้งสองอย่างเดินต่อไปได้ ก็คือมีทั้งผิดหวังและสมหวัง ไม่ได้ผิดหวังไปทั้งหมด

“ในยุคที่ผมเป็นเด็ก ก็มีความคาดหวังค่อนข้างสูงเหมือนกัน แต่พอมาถึงรุ่นเรามองไปถึงรุ่นลูก ผมคิดว่าโลกมันเปลี่ยนไปเยอะ เพราะฉะนั้นถ้าเรายังตั้งมั่นอยู่อย่างเดิม มันไปไม่ได้”

ส่วนกอบกาญจน์บอกว่า ลึกๆ อดคาดหวังว่าไม่ได้ว่าลูกจะสืบทอดกิจการ และลูกคงอ่านเราออก แต่สุดท้ายกลายเป็นหลานที่เป็นคนเข้ามาอยู่ในธุรกิจโดยตรง ส่วนลูกชายตัวเองนั้น ไปอยู่ในธุรกิจที่เกี่ยวโยง ขณะที่ลูกสาวหลุดไปอีกธุรกิจหนึ่งเลย แต่สุดท้ายก็ต้องให้เขาเป็น

ณ วันนี้ให้เขาไปค้นพบทางของเขาเองจริงๆ ดีกว่า หรือพอถึงจุดหนึ่งเขาอาจจะค้นพบว่าอยากจะกลับมาก็ได้ แต่การทำสิ่งที่เขาเลือกให้มันเกิดผลมากที่สุด อาจจะเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า

“เมื่อก่อนเราคิดว่า family business หมายถึงเราต้องรันแบบเรา แต่ว่าวันนี้ และอาจจะต่อไป คำว่า family business อาจจะอยู่ต่อ แต่ว่ามันต้องเป็นมืออาชีพ เราต้องมีหน้าที่หาคนที่เป็น หาคนที่ใช่ เมื่อก่อนเราต้องรู้จักลูกค้าทุกคน แต่ต่อไปอาจจะไม่ใช่ก็ได้ เราดูอยู่ห่างๆ มืออาชีพเขาจะทำได้ดีกว่าเรา”

“ที่พูดอย่างนี้เพราะว่าในปัจจุบัน ตลาดอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ามันเปิด เพราะฉะนั้นในเชิงการแข่งขัน เราไม่เลือก เขาก็เข้ามา ดังนั้นเราต้องการคนที่จะสามารถทำให้อุตสาหกรรมมันไปต่อได้ ลำพังแต่เรามีใจอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องหาคนที่เป็นมืออาชีพจริงๆ ที่ไปกับเราได้ แล้วเรารักษาแนวทางเรื่องนำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต ให้ core value เรายังอยู่ และ purpose เรายังต้องอยู่ แต่ว่าเราก็ต้องเติบโตอย่างยั่งยืน บนความถูกต้อง”

มากกว่าธรรมนูญครอบครัว คือความรัก ความเข้าใจที่ยุติธรรม บนความแตกต่าง

สำหรับการทำธรรมนูญครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของการทำธุรกิจครอบครัว ชนินท์เล่าว่า ตระกูลว่องกุศลกิจ ทำธรรมนูญครอบครัวโดยเริมต้นจากการที่พี่ในตระกูลคนหนึ่ง ยกเรื่องนี้มาคุยกันในการประชุม โดยเริ่มทำความเข้าใจกันก่อนว่าธรรมนูญครอบครัวคืออะไร

ใหม่ๆ ก็ใช้เวลาคุยนานพอสมควรเหมือนกัน แต่พอทราบว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ทุกคนก็เริ่มเข้าใจและเห็นด้วยว่าควรจะทำ เพราะมันเป็นเรื่องจากเรา 7 คนพี่น้อง ลงไปสู่คนในตระกูลอีกเป็น 100 คน แต่ 7 คนแรกที่ทำก็ต้องรับผิดชอบเยอะหน่อย ในการที่ธรรมนูญครอบครัวจะมีผลกับคนรุ่นถัดๆ ไป

เมื่อตอนเริ่มจะทำ ก็ใช้เวลาคุยกันอยู่หลายครั้ง กระทั่งเริ่มร่างออกมาดูกัน ช่วงแรกๆ ก็มีไม่กี่ข้อ โดยเป็นการทำความเข้าใจเรื่องการจัดการในครอบครัวว่าจะต้องทำยังไง เช่น การแบ่งสัดส่วนผลตอบแทนในแต่ละครอบครัว ซึ่งก็ไม่ได้ตรงกับข้อบังคับของบริษัทเสียทีเดียว

หลังจากนั้น เราก็นำไปสื่อสารกับสมาชิกครอบครัว และรับไปเป็นสิ่งที่จะถือปฏิบัติกัน จนกระทั่งทุกวันนี้เป็นเวลาเกือบยี่สิบปี มีการประชุมปีละ 4-5 ครั้ง แต่ส่วนตัวแนะนำว่า ครอบครัวไหนมีความคิดจะทำ ให้เริ่มทำไปได้เลย ไม่จำเป็นต้องมีความสมบูรณ์ เพราะว่าการเริ่มต้นมันค่อนข้างยาก

ด้านกอบกาญจน์บอกว่า เริ่มต้นทำธรรมนูญครอบครัวหลังจากเริ่มเข้าสู่เจน 3 แต่ในช่วงเจน 2 ความที่เรามาจากครอบครัวที่ไม่ใหญ่มาก คุณแม่จะบอกเสมอว่า พี่น้องต้องรักกัน อย่าทิ้งกัน เพราะฉะนั้นมีอะไรเราคุยกันได้ แต่พอมาสู่เจน 3 ต่อให้เรามีกันไม่กี่คน มันสามารถไม่เข้าใจกันก็ได้ เพราะฉะนั้นอย่ารอจนมีปัญหา

ทั้งนี้ ข้อดีอันดับแรกของธรรมนูญครอบครัวคือ มันทำให้เราได้สื่อสารกันจริงๆ เราอาจจะเจอกันทุกวันหรือทุกเดือน แต่ไม่ได้สื่อสารทั้งหมด มันมีอะไรหลายอย่างที่อยู่ในใจ สำหรับรุ่น 2 อาจจะในระดับนึง แต่รุ่น 3 อาจจะมากขึ้น แต่เขาก็ไม่กล้าถามว่าทำไมคุณลุง คุณน้า คุณป้า เป็นอย่างนี้ หรือลูกพี่ลูกน้อง ทำไมเป็นอย่างนั้น

การเก็บความคิดอะไรต่างๆ เหล่านั้นไว้ โดยไม่ได้รับการทำความเข้าใจนานๆ ย่อมไม่ดีแน่นอน ส่วนตัวเคยเห็นหลายธุรกิจที่ปิดไป ไม่ใช่เพราะธุรกิจมันเจ๊ง แต่เพราะเขาแตกสามัคคี ทะเลาะกัน ไม่ยอมกัน ดังนั้นครอบครัวเราเลยคิดว่า ควรจะเริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้

“ธรรมนูญครอบครัว ข้อดีสุดคือมันทำให้เราได้พูดกัน แล้วมันทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้น มันจะสร้างความเข้าใจว่ามันสามารถยุติธรรมบนความแตกต่างได้”

“แต่ธรรมนูญครอบครัวไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สุด ส่วนตัวคิดว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของ family business คือความรักในครอบครัว ถึงบอกว่ามันเป็นความยุติธรรมบนความแตกต่าง มันไม่มีทางให้เป็นเหมือนกันเป๊ะๆ ได้ เพราะฉะนั้นลักษณะการพูดคุย มันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แล้วมันจะเกิดขึ้นได้ เราต้องรักกัน”

“คำว่ารักกัน ไม่ได้หมายความว่าจะต้องคิดเหมือนกัน ทุกครอบครัวคิดไม่เหมือนกันเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเผื่อเรารักกัน ทำยังไงให้เราไปต่อได้ หรือให้รุ่น 3 ไปต่อได้ ตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ แน่นอนว่าควรทำธรรมนูญครอบครัว แต่ว่ามากกว่าธรรมนูญครอบครัว คือความรัก เวลาพูดขึ้นมา เราอาจไม่เห็นด้วย แต่เราคือพี่น้องกัน เราต้องไปต่อให้ได้ ต้องหาทางจบให้ได้”

  • SET Family Business: ทำอย่างไรให้ธุรกิจครอบครัว ไม่ล่มสลายในรุ่น 3