ThaiPublica > เกาะกระแส > ตลาดหลักทรัพย์ฯขับเคลื่อนศักยภาพธุรกิจครอบครัวสู่ความยั่งยืน หนุนเข้าตลาดทุน

ตลาดหลักทรัพย์ฯขับเคลื่อนศักยภาพธุรกิจครอบครัวสู่ความยั่งยืน หนุนเข้าตลาดทุน

1 สิงหาคม 2024


ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขับเคลื่อนศักยภาพธุรกิจครอบครัวไทย จัดงาน The 2 nd SET Annual Conference on Family Business: Family Business in the Globalized Asia

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
วันที่ 1-2 สิงหาคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดงาน The 2 nd SET Annual Conference on Family Business: Family Business in the Globalized Asia เดินหน้าขับเคลื่อนศักยภาพธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยต่อเนื่อง มุ่งเพิ่มขีดความสามารถและขยายโอกาสให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุน โดยมีผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาจากสถาบันชั้นนำระดับนานาชาติ พร้อมด้วยผู้ประกอบการไทยจากหลากหลายธุรกิจมาถ่ายทอดเรื่องราวเส้นทางการเติบโตของธุรกิจ รวมถึงกลยุทธ์การปรับตัวท่ามกลางปัจจัยความไม่แน่นอนจนประสบความสำเร็จสามารถส่งต่อธุรกิจและเติบโตได้อย่างมั่นคง

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญและสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบนิเวศเพื่อการพัฒนาธุรกิจครอบครัวไทย เนื่องจากธุรกิจครอบครัวนับเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจโดยตลาดหลักทรัพย์ฯมีแผนกลยุทธ์สำคัญที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งด้านองค์ความรู้ เครื่องมือและระบบงานต่าง ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถสร้างความเป็นมืออาชีพในการดำเนินธุรกิจและขยายโอกาสให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุน

ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนที่เป็นธุรกิจครอบครัวมีสัดส่วนถึง 67% ของจำนวนบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด โดยในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2559 บริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่ 76% เป็นธุรกิจที่เติบโตมาจากธุรกิจครอบครัว และมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

“ธุรกิจครอบครัวมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและตลาดทุนไทย โดย 2 ใน 3 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯหรือ 575 บริษัทจากทั้งหมด 852 บริษัท เป็นธุรกิจครอบครัว มีมูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap) รวมกัน 8 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 50% ของมูลค่าตามราคาตลาดทั้งหมด 16 ล้านล้านบาท” ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ กล่าว

นอกจากนี้ยังมีมีการจ้างงานรวมถึง 1.3 ล้านอัตราหรือคิดเป็น 74% ของการจ้างงานรวมของทุกบริษัทจดทะเบียน

บริษัทจดทะเบียนที่เป็นธุรกิจครอบครัว มีหลากหลายขนาดและเป็นองค์ประกอบของดัชนีต่าง ๆ โดย 159 บริษัทหรือ 28% จดทะเบียนใน ตลาด mai ส่วนอีก 72% หรือ 416 บริษัทอยู่ใน SET ซึ่งในกลุ่มหลังนี้ 10% อยู่ใน SET100 อยู่ใน sSET อีก 15% และอยู่ในSET ถึง 48%

บริษัทจดทะเบียนที่เป็นธุรกิจครอบครัวและดำเนินธุรกิจมาเกิน 100 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งมี 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท โอเอชทีแอล จำกัด (มหาชน) 148 ปี บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) 142 ปี บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) 133 ปีนับตั้งแต่ปีก่อตั้ง ภายใต้ชื่อเต็ก เฮง หยู ธนาคารไทยพาณิชย์ 120 ปี และ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) 111 ปี

มูลค่าสินทรัพย์รวมของบริษัทที่เป็นธุรกิจครอบครัว มีสินทรัพย์รวม คิดเป็น 45.7% ของตลาด มีรายได้รวมในสัดส่วน 45.7% ของตลาด และมีกำไรรวม 52.4% ของตลาดรวม

นอกจากนี้บริษัทจดทะเบียนที่เป็นธุรกิจครอบครัว ยังมีความแข็งแกร่งในหลายด้าน โดย 295 บริษัทมีรายได้จากต่างประเทศ รวม 2,492 พันล้านบาท หรือ42% ของรายได้รวมจากต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ กล่าวว่า ธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยรวมโชวห่วยมีจำนวนกว่า 1.7 ล้านราย โดยที่มีการจัดตั้งเป็นบริษัท 3 แสนราย ซึ่งหากนำธุรกิจครอบครัวเหล่านี้มาสร้างความเข้มแข็ง แล้วเข้าจดทะเบียนในตลาดทุน ก็จะส่งผลดีในหลายด้าน เพราะบริษัทที่จะเข้าตลาดต้องมีความชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเสียภาษีอย่างครบถ้วน อีกทั้งยังถูกกำกับในด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลด้วยกฎเกณฑ์ของโลก

“ถ้าเรามีบริษัทดีๆในตลาดทุน ตลาดก็จะปรับตัวได้ แต่ถ้าเราเอาบริษัทไม่ดีเข้าตลาด ไม่ได้ให้ความรู้เขา ก็จะได้บริษัทที่ไม่ดีมา” ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ กล่าวและว่า ถ้าเป็นธุรกิจครอบครัวไม่ควรมีการทุจริตเพราะเป็นเงินของครอบครัวตัวเองในวิกฤติปี 2540 บริษัทที่เป็นธุรกิจครอบครัวไม่ได้ล้ม เพราะเจ้าของมีการตัดสินใจเอง แต่บริษัทที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัวล้มละลายจำนวนมาก เพราะการตัดสินใจมาจากผู้บริหารที่ไม่ใช่เจ้าของ ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องให้ความรู้ในเรื่องเหล่านี้ เพราะถ้ามีบริษัทธุรกิจครอบครัวดี มีความโปร่งใส มี ESG ทีดี ดูแลสิ่งแวดล้อมที่ดี มีการลดความเหลื่อมล้ำ มีการกำกับกิจการที่ดี บริษัทเหล่านี้ก็ยั่งยืนได้

ในบรรดาบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกและอยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ทั้งหมด 191 บริษัทนั้น เป็นธุรกิจครอบครัวถึง 119 บริษัทคิดเป็น 62% ของบริษัทที่มีรายชื่อใน SET ESG Ratings

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงให้ความสำคัญและสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบนิเวศเพื่อการพัฒนาธุรกิจครอบครัวไทยเนื่องจากธุรกิจครอบครัวนับเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจ โดยมีแผนกลยุทธ์สำคัญที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการทั้งด้านองค์ความรู้ เครื่องมือ และระบบงานต่าง ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ สร้างความเป็นมืออาชีพในการดำเนินธุรกิจ และขยายโอกาสให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุน

ขณะเดียวกันการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีช่องทางการระดมทุนในรูปแบบใหม่อย่างตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) เป็นอีกหนึ่งกลไกให้ธุรกิจครอบครัวขยายโอกาสสู่การเติบโตผ่านตลาดทุนได้เช่นกัน

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้น่าจะมีธุรกิจครอบครัวอย่างน้อย 100 ราย เตรียมการเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งอาจจะเป็นในช่วง 10-20 ปีข้างหน้า ไม่ใช่การเข้าจดทะเบียนในปีนี้ เนื่องจากภาวะตลาดหุ้นไทยไม่ดีนัก

ตั้งแต่ปี 2559 ถึง มิถุนายน 2567 มี 200 บริษัทจดทะเบียนที่เป็นธุรกิจครอบครัวและนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้สามารถนำหุ้นออกเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป(IPO)

การส่งเสริมศักยภาพของธุรกิจครอบครัวจากตลาดหลักทรัพย์ฯ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ แต่ละระยะใช้เวลา 3 ปี โดยระยะแรกเริ่มตั้งแต่ปีที่แล้วและจะสิ้นสุดในปีหน้า เป็นการสร้างความตระหนักรู้ในวงกว้างผ่านการจัดงานสัมมนาใหญ่ด้านธุรกิจครอบครัว ซึ่งปี 2566 เป็นครั้งแรกที่ตลาดหลักทรัพย์ฯได้จัดสัมมนาใหญ่ด้านธุรกิจครอบครัวขึ้นซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้ผ่าน E-Learning เป็นการปูพื้นฐานความรู้และสร้างความเข้าใจว่า การสร้างรากฐานธุรกิจให้เติบโตมีหลายองค์ประกอบ

ในระยะที่สองมีแผนที่จะร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ผู้ร่วมทีมให้ความรู้ความเข้าใจผ่านการเรียนรู้จากตัวอย่างจริงทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว ซึ่งครบสองระยะ 6 ปีก็น่าจะมีบริษัทเข้าจดทะเบียนได้บ้าง

อย่างไรก็ตามศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ กล่าวว่า ตลาดทุนไม่ได้หมายถึง SET หรือ mai เท่านั้น แต่ยังมี venture capital มาลงทุนกับบริษัทที่ดี ธุรกิจครอบครัวจึงต้องปรับโครงสร้างตัวให้พร้อม ก็จะมี venture capital เข้ามาลงทุน อาจจะไม่เข้าตลาดก็ได้ หรือเข้ามาลงทุนขยายกิจการบ่มเพาะจนดีแล้วถึงเข้าตลาด

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาดัชนี “Family Business” ขึ้นเฉพาะ โดยได้มอบหมายงานให้ทีมบริหารไปทำการศึกษาแล้ว ขณะนี้ในตลาดหุ้นต่างประเทศยังไม่มีดัชนีลักษณะนี้

การสัมมนาใหญ่ด้านธุรกิจครอบครัวในปีนี้ “The 2 nd SET Annual Conference on Family Business” ภายใต้แนวคิด “Family Business in the Globalized Asia” สอดรับความต้องการของผู้ประกอบการไทยในยุคปัจจุบันที่เอเชียและทั่วโลกเชื่อมโยงกันทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน สังคม และภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจะเน้นแลกเปลี่ยนวิธีคิดและกลยุทธ์ที่ธุรกิจนำไปประยุกต์และปฏิบัติได้จริง

โดยมีผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาจากสถาบันชั้นนำระดับนานาชาติ อาทิ Martin Roll ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจครอบครัวและสำนักงานครอบครัวระดับโลก และ Professor Winnie Qian PENG นักวิชาการ ที่ปรึกษา และวิทยากรเวทีการประชุมธุรกิจครอบครัวระดับนานาชาติ จะมาถ่ายทอดกรณีศึกษาของธุรกิจครอบครัวที่เติบโต รวมถึงกลยุทธ์การสร้างและการปรับตัวของธุรกิจครอบครัวในเอเชียที่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ยังมีผู้บริหารระดับแนวหน้าจากหลากหลายธุรกิจ อาทิ กลุ่มเซ็นทรัล บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน บริษัท สุภารา กรุ๊ป แอนด์ จีคิว แอพพาเรล จำกัด บมจ. บ้านปู บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด บมจ. อาปิโก ไฮเทค และบมจ. ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ ทั้งผู้บริหารรุ่นก่อตั้งและทายาทรุ่นสองรุ่นสาม มาให้มุมมองการบริหารธุรกิจครอบครัวที่ต้องให้ความสำคัญทุกมิติเพื่อปรับตัวทันความเปลี่ยนแปลง สามารถส่งต่อธุรกิจและเติบโตได้อย่างมั่นคง

มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมฟังสัมมนาในครั้งนี้กว่า 280 ราย โดยที่กว่า 70% เป็นเจ้าของธุรกิจ ส่วนที่เหลืออีกราว 30% เป็นระดับผู้บริหารจ้าง ลูกจ้าง นักวิชาการ และที่ปรึกษาจากสถาบันชั้นนำระดับนานาชาติ ถือว่าการจัดงานในครั้งนี้ได้รับความสนใจจำนวนมาก เทียบกับปี 2566 ที่มีผู้เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 264 ราย

สัมมนาในปีนี้ยังมี session workshop ที่เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานได้เข้าร่วมตามหัวข้อที่สนใจและสอบถามวิทยากรได้อย่างใกล้ชิดด้วย