ThaiPublica > คอลัมน์ > อ่าน ‘สุมาอี้’ จากเลนส์ The 48 Laws of Power ของ Robert Greene

อ่าน ‘สุมาอี้’ จากเลนส์ The 48 Laws of Power ของ Robert Greene

13 สิงหาคม 2024


Hesse004

ที่มาภาพ : สุมาอี้ (Sima Yi) จากวิกิพีเดีย

โลกศตวรรษที่ 21 เป็นโลกที่ผสมผสาน เรียนรู้ภูมิปัญญาตะวันออกและภูมิปัญญาตะวันตกเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน

ผู้เขียนเพิ่งอ่านหนังสือThe 48 Laws of Power ของ Robert Greene จบลงไม่นานนี้ นอกจากประทับใจจนนำมาเขียนรีวิวแล้ว ยังอยากเขียนบทวิเคราะห์ “สุมาอี้” ตัวละครประวัติศาสตร์ในสามก๊ก

The 48 Laws of Power ของ Robert Greene นับเป็นหนังสือขึ้นหิ้งคลาสสิคร่วมสมัย

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1998 …สำหรับผู้เขียนแล้ว The 48 Laws of Power จัดเป็น “คู่มือ” ที่ครอบคลุมวิถีของอำนาจตั้งแต่ การสร้างอำนาจ ( Making power), การควบคุมอำนาจ (Control power), และการป้องกันตัวจากอำนาจของผู้อื่น (Defense from power)

Greene ได้แรงบันดาลใจการเขียนหนังสือเล่มนี้จากการศึกษาประวัติศาสตร์นักคิด นักการทหารที่ข้องแวะกับผู้มีอำนาจมากมายในอดีต เช่น นิโคโล มาเคียเวลลี (Niccolò Machiavelli) เจ้าของหนังสือคลาสสิคอย่าง The Prince , ซุนวู หรือ ซุนจื่อ (Sun Tzu) นักยุทธวิธีการทหารอันโด่งดังของจีน, และบัลตาซาร์ กราซีอัน (Baltasar Gracián) นักปรัชญาชาวสเปนที่แต่งหนังสือเรื่อง The Art of Worldly Wisdom

หนังสือของ Greene สำรวจว่าบุคคลเหล่านี้ใช้กลยุทธ์และหลักปรัชญาในการครองอำนาจอย่างไร

Greene มองว่าอำนาจเป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกสังคมและเป็นสิ่งที่มนุษย์ต่างปรารถนา

…อำนาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกกำหนดโดยสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่สามารถสร้างและควบคุมได้

ดังนั้น การใช้อำนาจอย่างมีสติ ภายใต้กลยุทธ์ที่เหมาะสม คือ ปัจจัยสู่ความสำเร็จในสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน

กฎ 48 ข้อแห่งอำนาจ

Greene ได้รวบรวมกฎ 48 ข้อแห่งอำนาจ ซึ่งแต่ละข้อช่วยให้ผู้คนเข้าใจวิธีการสร้างอำนาจ, การควบคุมอำนาจ, และการรักษาอำนาจได้

ตัวอย่างของกฎที่สำคัญ ได้แก่

1. อย่าบดบังรัศมีเจ้านาย (Never Outshine the Master)…การทำตัวเก่งกว่าเจ้านายจะสร้างความไม่พอใจและอาจนำไปสู่ความล้มเหลว
2. จงปกปิดความตั้งใจของคุณ (Conceal Your Intentions)…การเปิดเผยเจตนาแท้จริงอาจทำให้ผู้อื่นสามารถป้องกันหรือขัดขวางได้
3. ทำให้ตัวเองสำคัญและพึ่งพิงได้ (Make Others Dependent on You)…การทำให้ผู้อื่นต้องพึ่งพิงคุณคือ วิธีการควบคุมและรักษาอำนาจ
4. ทำลายศัตรูให้หมดสิ้น (Crush Your Enemy Totally)…การปล่อยให้ศัตรูมีชีวิตอยู่หมายถึงการเปิดโอกาสให้เกิดปัญหาในอนาคต

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว…ผู้เขียนนึกถึงตัวละครประวัติศาสตร์คนหนึ่งในยุคสามก๊ก…คน ๆ นี้มีชีวิตจริงในประวัติศาตร์ และมีส่วนสำคัญที่วางรากฐานให้ตระกูลของเขารวมแผ่นดินสามก๊กและสถาปนาราชวงศ์จิ้นในที่สุด

ที่มาภาพ : https://www.amazon.sg/48-Laws-Power-Robert-Greene/dp/0140280197

ตัวละครที่กำลังจะพูดถึง คือ สุมาอี้ (Sima Yi) แห่งวุยก๊ก

สุมาอี้เป็นทั้งบัณฑิต นักกลยุทธ์และผู้นำทหารที่มีความสามารถสูง

น่าสนใจว่า เมื่อมองผ่านเลนส์ของ The 48 Laws of Power แล้ว เราพบว่า สุมาอี้เป็นคนที่เข้าใจกฎเหล่านี้และปฏิบัติตัวตามกฎแห่งอำนาจอย่างเคร่งครัด

ยกตัวอย่างที่ชัดที่สุดมีอยู่ห้าข้อ กล่าวคือ

กฎข้อแรก… อย่าบดบังรัศมีเจ้านาย (Never Outshine the Master) สุมาอี้ไม่แสดงความสามารถที่เหนือกว่าเจ้านายของเขาตั้งแต่สมัยโจโฉ โจผี โจยอย ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยให้เขารอดพ้นจากการถูกสงสัยหรือถูกโจมตี

กฎข้อที่ 3 ปกปิดความตั้งใจของคุณ ( Conceal Your Intentions) สุมาอี้เก่งในเรื่องเก็บงำเจตนาที่แท้จริงของเขาไว้ ทำให้ฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถคาดเดาได้

กฎข้อที่ 6 สร้างความสำคัญและพึ่งพิง (Make Others Dependent on You) สุมาอี้พัฒนาตัวเองให้เป็นที่คีย์แมนในวุยก๊ก เขามีบทบาทสำคัญที่พาวุยก๊กชนะสงครามหลายครั้ง และเป็นคู่ต่อกรที่สมน้ำสมเนื้อกับ “ขงเบ้ง” แห่งจ๊กก๊ก…ด้วยเหตุนี้หลังสิ้นยุคโจโฉแล้ว สุมาอี้จึงกลายเป็น “เสาหลัก” แห่งก๊กวุยที่ขาดไม่ได่

กฎข้อที่ 15 บดขยี้ทำลายศัตรูให้หมดสิ้น ( Crush Your Enemy Totally) สุมาอี้ทำลายศัตรูของเขาอย่างสมบูรณ์แบบ เลือดเย็น ไม่เปิดโอกาสให้ศัตรูกลับมาเป็นภัยอีก

“สุมาอี้”นับเป็นตัวอย่างคนที่เข้าใจกฎแห่งอำนาจอย่างลึกซึ้ง… ซึ่งหากวิเคราะห์ขั้นตอนการใช้อำนาจในห้าขั้นตอนตั้งแต่ (ก) การได้มา (ข) การชิง (ค) การรักษา (ง) การส่งต่อและ (จ) การลงจากอำนาจ… เรียกได้ว่าสุมาอี้เป็นผู้ชนะในเกมแห่งอำนาจอย่างแท้จริง กล่าวคือ

หนึ่ง…”การได้มาซึ่งอำนาจ” สุมาอี้เริ่มต้นจากการเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีความสามารถ เขาเป็นตัวอย่างคลาสสิคที่แสดงถึงจุดยืนในการรักษากฎข้อแรกของ Greene อย่างเคร่งครัด

สุมาอี้ไม่ทำให้ตัวเองโดดเด่นเกินไปมาตั้งแต่สมัยโจโฉ และรักษาระยะห่างในฐานะที่ปรึกษาของโจผี แม้ถูกมองเป็นคนสนิท… ก่อนจะพยายาม “ฉีกตัวเอง” จากราชสำนักยุคของโจยอย เนื่องจากถูกกลุ่มของโจซองเขม่นเล่นงาน

เขาเลือกที่จะออกจากราชสำนักมาเองโดยอ้างว่าแก่แล้วต้องการพักผ่อน…แต่แท้จริง สุมาอี้อดทนรอจนกว่าเขาจะสามารถขยับเข้าสู่ตำแหน่งที่มีอำนาจได้อีกครั้ง

สอง…”การชิงอำนาจ” สุมาอี้ใช้กลยุทธ์ปกปิดเจตนาชิงอำนาจจากผู้ที่ขัดขวางเขา สุมาอี้อดทนรอใช้วิธี “แสร้งบ้า ทำบอ แกล้งป่วยแบบเนียน ๆ ” เขาเลือกเวลาที่เหมาะสมในการแสดงความทะเยอทะยานของตนเองและยึดอำนาจอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน กฎข้อที่ 6 Make Others Dependent on You นับเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้สุมาอี้สามารถค่อย ๆ เพิ่มอิทธิพลและเอาชนะฝ่ายตรงข้ามได้

สุมาอี้ใช้วิธี “แทรกซึม” ด้วยการเป็น “ราชครู” มีลูกศิษย์ลูกหาเต็มราชสำนักวุย แม้ไม่มีอำนาจแต่มี “บารมี”…พลันที่เขา “เป่านกหวีด” ก่อการล้มอำนาจของโจซอง ทีมสุมาอี้เดินเกมได้อย่างรวดเร็วในการชิงอำนาจ

สาม…”การรักษาอำนาจ”…เมื่อสุมาอี้ได้อำนาจแล้ว เขายังคงรักษาอำนาจของตนอย่างระมัดระวังและวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกท้าทายจากศัตรู

นอกจากนี้เขายังใช้กฎที่ 15 (Crush Your Enemy Totally) เพื่อทำลายศัตรูอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งทำให้เขาไม่ต้องกังวลเรื่องการถูกโค่นล้มในภายหลัง

…ตัวอย่างชัดเจนเมื่อรัฐประหารโค่นล้มโจซองแล้ว เขากำจัดครอบครัวและบริวารโจซองอย่างราบคาบ

สี่…การส่งต่ออำนาจ…สุมาอี้วางแผนส่งต่ออำนาจให้กับลูกชายของเขาอย่างชาญฉลาด

เขาเตรียม “ผู้สืบทอด” ให้มีความพร้อมทั้งทางการทหารและการเมือง การพา “สุมาสู” และ “สุมาเจียว” ลูกชายหัวแก้ว หัวแหวน สองคนออกสนามรบทุกครั้ง ทำให้ลูกสูและลูกเจียว เห็นวิธีการทำงานของสุมาอี้ ผู้พ่อ

น่าสนใจว่า การส่งต่ออำนาจในลักษณะนี้ เราเห็นจากตระกูลการเมืองหลายกลุ่มที่พ่อแม่พยายามให้ลูกชาย ลูกสาวเดินตามรอยเท้าตัวเองบนฐานที่ตัวเองสร้างไว้

…ที่เห็นชัดและประสบความสำเร็จ คือ การส่งต่ออำนาจนำในสิงคโปร์ของ “ลี กวน ยิว” มาถึง “ลี เซียน ลุง” โดยมี “โก จ๊กตง” เป็นพี่เลี้ยงหลายปีในช่วงเปลี่ยนผ่าน

การส่งต่ออำนาจนี้ทำให้ตระกูลสุมายังคงครองอำนาจในวุยก๊กต่อไป และในที่สุด “สุมาเอี๋ยน” หลานปู่สุมาอี้ได้สถาปนาราชวงศ์จิ้น รวมแผ่นดินสามก๊กสำเร็จ

การเตรียมตัวนี้แสดงถึงความสามารถในการวางแผนระยะยาวของสุมาอี้ ซึ่งเขาเข้าใจเรื่องการรักษามรดกแห่งอำนาจ

ห้า…การลงจากอำนาจ…สุมาอี้เตรียมตัวล่วงหน้าและวางแผนส่งต่ออำนาจอย่างรอบคอบ เขาส่งต่ออำนาจให้สุมาเจียวอย่างราบรื่นและเมื่อสุมาเจียวสิ้นบุญแบบกะทันหัน ทายาทของตระกูลสุมา คือ “สุมาเอี๋ยน” มีความพร้อมแล้วที่จะขึ้นครองอำนาจต่อไปได้อย่างมั่นคง

อำนาจเป็นสิ่งหอมหวาน…ใครที่ได้ลิ้มรสสัมผัสแล้ว มักติดอยู่กับมันจนถอนตัวไม่ขึ้น การทำความเข้าใจกฎแห่งอำนาจ อย่างน้อยที่สุดทำให้เรารู้จักตัวเองว่าเราควรจัดการกับตัวเองอย่างไรในวันที่มีอำนาจ

Cr. ภาพสุมาอี้ (Sima Yi) จากวิกิพีเดีย