วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์

1.รู้จัก “ปลาหมอคางดำ (blackchin tilapia)”
ปลาหมอคางดำ (blackchin tilapia) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sarotherodon melanotheron Rüppell) เป็นปลาในวงศ์ (Family) Cichlidae วงศ์เดียวกับ ปลาหมอเทศ ปลาหมอสี และปลานิล (ส่วนตัวผมคิดว่าน่าจะเรียกว่า “ปลานิลคางดำ” มากกว่า เพราะมาจากคำภาษาอังกฤษว่า “blackchin tilapia”) มีถิ่นกำเนิดในแอฟริกาตะวันตก แพร่กระจายอยู่ตลอดแนวชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทวีป ตั้งแต่มอริเตเนีย ถึงแคเมอรูน

ปลาชนิดนี้อาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม โดยสามารถทนต่อความเค็มสูง ในแอฟริกาตะวันตก ปลาชนิดนี้ถูกจำกัดอยู่เฉพาะในทะเลสาบน้ำกร่อยและปากแม่น้ำ พบมากในป่าชายเลน และมักรวมตัวกันเป็นฝูง เป็นปลานักล่า กินได้ทั้งแพลงตอน พืช สัตว์ และซากของสิ่งมีชีวิตเป็นอาหาร
การที่ปลาชนิดนี้มีลำไส้ยาวกว่าลำตัวถึง 4 เท่า และมีระบบการย่อยอาหารที่ดี จึงทำให้ต้องการอาหารอยู่ตลอดเวลา ซึ่งส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารและวงจรชีวิตของสัตว์น้ำประจำถิ่น ปลาหมอคางดำสามารถโตได้ยาวสูงสุด 28 เซนติเมตร (11 นิ้ว) แต่ปกติจะยาวประมาณ 17.5 เซนติเมตร (6.9 นิ้ว) สามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้ตลอดทั้งปี ปลาเพศเมีย 1 ตัว มีไข่ประมาณ 50-300 ฟอง หรือมากกว่านั้น ใช้เวลาตั้งท้องเพียง 22 วัน และใช้เวลาฟักตัวไข่ในปากเพศผู้ 4-6 วัน จากนั้นตัวอ่อนจะอยู่ในปากตัวผู้ไปอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ จึงทำให้มีอัตราการรอดสูงกว่าปกติ

ที่ผ่านมาพบว่ามีการนำเข้าปลาหมอคางดำไปเพาะเลี้ยงในหลายประเทศทั้งเอเชีย สหรัฐอเมริกา และยุโรป จนกลายเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นรุกรานในรัฐฟลอริดา และฮาวาย ของสหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย ข้อมูลทางวิชาการจากสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกา ระบุว่าพบปลาหมอคางดำระบาดอยู่ในแหล่งน้ำของรัฐฟลอริดา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 โดยคาดการณ์ว่า ว่าสัตว์ชนิดนี้หลุดรอดจากฟาร์มเพาะเลี้ยงผู้นำเข้า โดยไม่ตัดประเด็นการปล่อยปลาจากกลุ่มผู้เลี้ยงตู้ปลาสวยงาม ที่สงสัยว่าอาจมีการปล่อยปลาโดยเจตนา
จนถึงปัจจุบันพบว่ามีปลาหมอคางดำอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติของรัฐฟลอริดามากถึงร้อยละ 90 ของจำนวนสัตว์น้ำทั้งหมด ส่วนในรัฐฮาวาย ที่บางครั้งจะเรียกปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิลน้ำเค็ม” เนื่องจากมีความสามารถในการอยู่รอด และขยายพันธุ์ได้ในน้ำทะเล การระบาดของปลาหมอคางดำในฮาวายคาดว่าการน่าจะเริ่มจากการที่สำนักงานประมงพาณิชย์กลาง (Federal Bureau of Commercial Fisheries ปัจจุบันคือ the National Marine Fisheries Service) นำปลาหมอคางดำเข้ามาเพื่อทดลองใช้เป็นปลาเหยื่อสำหรับปลาทูน่า ในปี พ.ศ. 2505 และมีการหลุดรอดออกไปจากสถานีทดลองบนเกาะโออาฮู (Oahu) หรือปลาอาจถูกนำเข้ามาในอ่างเก็บน้ำ Wahiawi ในปี พ.ศ.2508 และถูกปล่อยไปโดยบังเอิญในช่วง ปี 2513 และมีการแพร่ระบาดในปีอีก 2 ปีต่อมา
ส่วนในฟิลิปปินส์นั้น ไม่พบหลักฐานการนำเข้าปลาหมอคางดำ การแพร่กระจายของปลาชนิดนี้ เกิดขึ้นเมื่อประมาณต้นปี พ.ศ. 2558 คาดการณ์ว่าอาจมาจากธุรกิจปลาตู้ และมีการลักลอบปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติใกล้จังหวัดบาตา (Bataan) และบูลากัน (Bulacan) ปลาชนิดนี้ถือเป็นภัยคุกคามทั้งต่อสัตว์น้ำธรรมชาติในอ่าวมนิลา และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เนื่องจากมีการแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการแย่งชิงอาหารและแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาชนิดอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งสำหรับเพาะพันธุ์ปลา bangus หรือปลานวลจันทร์ทะเล
ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลให้ข้อมูลกับสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ว่า จากรายงานการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตรุกราน และผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลก ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ทั้งจากพืชและสัตว์ที่มีมากกว่า 100 ชนิด ไม่ปรากฏชื่อของปลาหมอคางดำ การระบาดของปลาชนิดนี้จึงเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ ประมาณว่าเริ่มเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2553 โดยกรณีของประเทศไทยถือว่าเป็นกรณีที่มีความวิกฤติมากที่สุด
2.เส้นทาง “ปลาหมอคางดำ” จาก “กานา” สู่ “ไทย” จนกลายเป็น “สัตว์ต่างถิ่นรุกราน”
3.รู้จัก “คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพ”
เหตุการณ์การระบาดของปลาหมอคางดำ มีการกล่าวถึงคณะกรรมการ IBC ที่เป็นผู้อนุญาตให้บริษัทเอกชนนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อความเข้าใจในบริบทที่เกิดขึ้น ผมจึงชวนผู้อ่านให้มารู้จักกับคณะกรรมการ IBC ว่าเป็นใคร และมีหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างไร
คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ IBC (Institutional Biosafety Committee) เป็นคณะกรรมการที่สถาบัน/หน่วยงาน/องค์กรต่าง ๆ ที่มีภารกิจหน้าที่หรือปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ หรือ “สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม” (Genetically Modified Organisms) ที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “GMOs” แต่งตั้งขึ้นตาม “แนวทางการปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ 2559” (ไม่ใช่คณะกรรมการตามกฎหมาย) เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลงานด้านพันธุวิศวกรรมของสถาบัน/หน่วยงาน/องค์กร ได้แก่ การพิจารณาอนุมัติโครงการฯ การสั่งซื้อ การผลิต การเคลื่อนย้าย หรือการปลดปล่อย GMOs เข้าสู่สิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้คณะกรรมการประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ผู้มีประสบกาณ์ และบุคคลากรที่เกี่ยวข้องในด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพ โดยกำหนดว่าควรมีไม่น้อยกว่า 5 คน ประกอบด้วย (1) ผู้ที่มีความสามารถจะประเมินผลและติดตามตรวจสอบงานวิจัยได้ (2) เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางชีวภาพ (ถ้ามี) (3) วิศวกรที่มีประสบการณ์ในการตรวจเครื่องมือทางชีวภาพ (4) สมาชิกจากนอกสถาบันอย่างน้อยหนึ่งคน ซึ่งมีความรู้ ความสนใจ และพื้นฐานเทคนิควิชาการ ในส่วนของประธานคณะกรรมการ มีการระบุไว้ว่า ควรจะมีตำแหน่งที่สูงพอที่จะตัดสินใจ และพร้อมให้นักวิจัยเข้าพบเพื่อขอคำแนะนำได้โดยตรง
ปัจจุบันสถาบัน/หน่วยงานราชการ/องค์กร ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพ และ GMOs ในประเทศไทยมีการจัดตั้งคณะกรรมการ IBC ขึ้นภายในหน่วยงาน ทั้งในส่วนราชการระดับกรม มหาวิทยาลัย และสถาบันระดับชาติ รวมทั้งสิ้น 36 แห่ง เช่น กรมประมง กรมวิชาการเกษตร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยบูรพา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นต้น
โดย IBC ของแต่ละ สถาบัน/หน่วยงาน/องค์กร มีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูล/รายชื่อคณะกรรมการ และการดำเนินงานต่าง ๆ (ตามที่กำหนด) ต่อคณะกรรมการเทคนิคด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ (Technical Biosafety Committee-TBC) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC)
ทั้งนี้ คณะกรรมการที่พิจารณาอนุญาตให้บริษัทเอกชนนำเข้าปลาหมอคางดำ ในปี พ.ศ. 2549 คือ คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพ ของกรมประมง ซึ่งมีองค์ประกอบของคณะกรรมการ และอำนาจหน้าที่ ดังนี้
องค์ประกอบของคณะกรรมการ
คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
1.นำเสนอนโยบาย และการดำเนินงานของกรมประมงให้สอดคล้องกับหลักการและวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ พิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ และอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์
2.พิจารณาและเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาอนุญาตนำเข้า ส่งออก นำผ่าน เพาะเลี้ยง หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำและพันธุ์ไม้น้ำมีชีวิต ตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 รวมถึงสัตว์น้ำและพรรณไม้น้ำที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม
3.ประสานความร่วมมือกับคณะกรรมการอนุรักษ์การใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุน เร่งรัด ติดตาม ประเมินผล และแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการตามแนวทางและนโยบาย มาตรการหรือแผนงานการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ
4.กำกับดูแลแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ด้านความปลอดภัยทางชีวภาพในการวิจัยของกรมประมงที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพและพันธุวิศวกรรมของสัตว์น้ำและพรรณไม้น้ำที่มีชีวิตที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม (Living Modified Organism หรือ LMO)
5.พิจารณาเสนอความเห็นต่อกรมประมงเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ พร้อมทั้งติดตามการดำเนินงานให้เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยทางชีวภาพ ตามบทบัญญัติในกรอบงานแห่งชาติว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ
6.ประสานงานกับหน่วยงานหรือผู้มีหน้าที่ควบคุมการนำเข้าสิ่งมีชีวิตในการติดตามตรวจสอบและให้คำแนะนำหรือแก้ไขปัญหาเมื่อมีการนำเข้าสัตว์น้ำและพันธุ์ไม้น้ำประเภทที่เป็นอันตรายหรือสงสัยว่าจะเป็นอันตราย
7.ให้คำแนะนำในการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม โดยกระบวนการเข้าถึงจะต้องอยู่ภายใต้ความเห็นชอบที่ได้แจ้งล่วงหน้า รวมทั้งการเข้าถึงต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้รับการตกลงร่วมกัน
8.แต่งตั้งอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อดำเนินการตามความเหมาะสม
9.ดำเนินการปฏิบัติงานอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ตามที่กรมประมงมอบหมายและรายงานผลการดำเนินการเสนอต่อกรมประมง
4.ข้อสังเกตเกี่ยวกับเหตุการณ์การระบาดปลาหมอคางดำในประเทศไทย
4.1 จากการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ “ปลาหมอคางดำ” ในต่างประเทศ พบว่า มีการรายงานเกี่ยวกับการแพร่ระบาดและอันตรายของ “ปลาหมอคางดำ” ในต่างประเทศประเทศที่เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว (รัฐฟลอริดา ในปี พ.ศ.2502 รัฐฮาวาย ในปี พ.ศ.2515 และฟิลิปปินส์ ในปี พ.ศ.2525) เหตุใด IBC กรมประมงจึงยังอนุญาตให้มีการนำ “ปลาหมอคางดำ” เข้ามาทดลองเพาะเลี้ยงในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2549
ในช่วงปี พ.ศ. 2556-2559 ที่ปรากฏข้อมูลของกรมประมงว่ามีการส่งออก “ปลาหมอคางดำ” ไปยังต่างประเทศ รวมกว่า 320,000 ตัว โดยมีที่มาจาก 2 แหล่ง คือจาก “แหล่งธรรมชาติ” และจาก “การเพาะเลี้ยง” นั้น กรมประมง “ยินยอม” หรือ “ปล่อยปละละเลย” ให้มี “การเพาะเลี้ยง” ได้อย่างไร หน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ และหน่วยงานใดเป็นผู้อนุญาต รวมทั้งกรมประมงได้ตรวจสอบย้อนกลับหรือไม่ว่าแท้จริงแล้ว “ปลาหมอสีคางดำ” ที่มีการส่งออกนั้นเป็นชนิดพันธุ์เดียวกับ “ปลาหมอคางดำ” ที่กำลังระบาดอยู่หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล กล่าวไว้ในรายการข่าวเจาะย่อโลก สถานีโทรทัศน์ Thai PBS ว่า การนำปลาหมอคางดำเข้ามาเลี้ยงเพื่อความสวยงามนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ แม้จะอยู่ในวงศ์ปลาหมอสี แต่ก็มีลักษณะและสีไม่สวยงาม การนำปลาหมอคางดำเข้ามาส่วนใหญ่ก็เพื่อพัฒนาสายพันธุ์สำหรับใช้เป็นอาหาร
4.2 แม้จะปรากฏข้อมูลว่า มีการส่งออกปลาหมอคางดำ โดยผู้ประกอบการรายอื่นรวม 11 ราย ในช่วงปี พ.ศ. 2556-2559 แต่การพบการระบาดของปลาชนิดนี้ครั้งแรก ที่จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งศูนย์วิจัยและปรับปรุงพันธุ์ปลา เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ก่อนที่จะมีการการส่งออก รวมทั้งในการส่งออกนั้น หน่วยงาน/เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการส่งออก ได้ตรวจสอบชนิด/สายพันธุ์สัตว์น้ำเหล่านั้นก่อนการอนุญาตให้ส่งออกหรือไม่ว่าเป็นปลาหมอคางดำ สายพันธุ์รุกรานที่กำลังมีปัญหาการระบาด ในทางตรงข้าม ประเทศปลายทางผู้นำเข้า ก็มีกลไกการตรวจสอบก่อนที่จะอนุญาตให้นำเข้า หากเป็นปลาสายพันธุ์รุนราน ประเทศปลายทางผู้นำเข้าน่าจะไม่อนุญาตให้นำเข้า
4.3 นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ที่ประชาชนพบการแพร่ระบาดของ “ปลาหมอคางดำ” ครั้งแรก ในแหล่งน้ำเขตพื้นที่เดียวกับที่ตั้งศูนย์วิจัยปรับปรุงพันธุ์ปลา ของบริษัทผู้นำเข้า ซึ่งกรมประมงก็รับทราบปัญหาการระบาดดังกล่าว เหตุใดกรมประมงจึงไม่ดำเนินการอะไร และปล่อยให้มีการขยายพันธุ์/ขยายจำนวน/ขยายพื้นที่ จนการระบาดแพร่เข้าสู่แหล่งน้ำในจังหวัดอื่น ๆ (กว่า 16 จังหวัดทั่วไประเทศ ในปัจจุบัน)
แม้ว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะเสนอรายงานการพิจารณาและข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่เกิดขึ้นจากการปล่อยให้มีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ต่อกรมประมง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 แต่กรมประมง และกระทรวงเกษตรฯ ก็มิได้มีการดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าวของ กสม.อย่างเป็นรูปธรรม
4.4 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ได้พิจารณาข้อเท็จจริงแล้ว พบว่าการที่ไม่ได้รายงานผลการทดลองและการตายของปลาหมอคางดำเป็นลายลักษณ์อักษร จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่น แม้จะยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า กรมประมงกระทำหรือละเลยการกระทำที่เป็นผลโดยตรงจากการแพร่ระบาด อันจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบในกรณีพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม ปรากฏว่า กรมประมงไม่สามารถควบคุมดูแลและตรวจสอบติดตามให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอย่างครบถ้วน กรมประมงในฐานะผู้อนุญาตได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องหรือไม่/อย่างไร และมีการสรุปบทเรียนหรือไม่/อย่างไร รวมทั้งมีผู้ต้องรับผิดชอบหรือไม่/อย่างไร
4.5 ปัจจุบัน กรมประมงมีมาตรการและแผนงานในการจำกัดการแพร่ระบาด/การแพร่การกระจายพันธุ์ของ “ปลาหมอคางดำ” ไปยังพื้นที่อื่น (จังหวัดอื่น) อย่างไร และจะกำจัด “ปลาหมอคางดำ” ให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทยได้หรือไม่/อย่างไร ถ้าได้จะต้องดำเนินการอย่างไร ใช้เวลานานเท่าใด และใช้งบประมาณเท่าใด (แผนระยะสั้น/ระยะยาว)
4.6 ปัจจุบัน มีสัตว์น้ำอีกมากกว่า 320 ชนิด ที่อยู่ในรายชื่อ “สัตว์น้ำอันตราย (Global Marine invasive species)” (https://marinespecies.org/introduced/online_sources.php#AqInv) กรมประมงมีมาตรการในการดำเนินการอย่างไรกับรายชื่อสัตว์น้ำเหล่านี้ เพื่อป้องกันมิให้มีการเกิดซ้ำรอยดังเช่นกรณี “ปลาหมอคางดำ” ขึ้นอีก (จำนวน 329 ชนิด)
5.ข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขและหยุดยั้งการแพร่ระบาดของ “ปลาหมอคางดำ”
5.1 ต้องกำหนดให้ประเด็นการแก้ไขปัญหา “ปลาหมอคางดำ” เป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องดำเนินกา>รแก้ไขโดยเร่งด่วยและต่อเนื่อง จนกว่าจะดำเนินการควบคุมและหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้อย่างเบ็ดเสร็จ พร้อมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจทั้งในระดดับชาติและระดับจังหวัด มีการจัดสรรงบประมาณและกำลังคนให้เพียงพอ เพื่อดูแลและสั่งการนารดำเนินการอย่างเป็นระบบ รวดเร็ว และเบ็ดเสร็จ
5.2 เร่งดำเนินการสำรวจพื้นที่ และแหล่งน้ำที่มีการระบาดของปลาหมอคางดำ รวมทั้งขนาดและจำนวน/ความหนาแน่นของปลาที่ระบาดในแต่พื้นที่ เพื่อกำหนดมาตรการ/แผนงานในการยุติการแพร่ระบาดอย่างเป็นระบบ ทั้งมาตรการเร่งด่วนในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง และในระยะยาวเพื่อกำจัดปลาชนิดนี้ออกจากระบบนิเวศของไทย โดยต้องกำหนดเงื่อนเวลาความสำเร็จ แนวทางการดำเนินงาน และการประสานความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมทั้งจัดตั้งศูนย์อำนวยการที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามแผนที่กำหนดไว้ในจังหวัดที่มีการระบาด
5.3 ต้องจำกัดพื้นที่ของการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ไม่ให้ออกนอกเขตที่มีการระบาดอยู่ในปัจจุบัน 16 จังหวัด ประกอบด้วย จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา นครศรีธรรมราช ตราด และชลบุรี โดยการกำหนดมาตรการและวิธีการที่เป็นรูปธรรมในการดำเนินการโดยเร็ว
5.4 ต้องเร่งดำเนินการกำจัด และหยุดยั้งการแพร่ระบาด ด้วยการประสานทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระดมชาวประมงและเครื่องมือประมงในทุกท้องถิ่นให้เข้ามาช่วยดำเนินการภายใต้การดูแลและสั่งการของคณะกรรมการเฉาะกิจในระดับจังหวัด ด้วยการสนับสนุนงบประมาณ เครื่องมือ เครื่องใช้ และกำลังคน เพื่อให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเงื่อนเวลาที่กำหนด
5.5 ต้องเร่งศึกษาข้อมูลในการจำกัดหรือควบคุมวงจรการขยายพันธุ์ เป็นที่ทราบกันดีว่า “ปลาหมอคางดำ” ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ในทุกสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว กรมประมงมีองค์ความรู้เกี่ยวกับสัตว์น้ำชนิดนี้ เพียงพอหรือไม่ มีการประสานขอข้อมูลความรู้จากประเทศต้นทาง (กานา แอฟริกา) หรือประเทศที่เคยประสบปัญหาการระบาด และแก้ไขแล้ว (อเมริกา ฟิลิปปินส์) หรือไม่/อย่างไร เพื่อจำกัดการขยายพันธุ์ของ “ปลาหมอคางดำ” นี้
5.6 ต้องให้ความรู้ประชาชนเป็นการทั่วไป เพื่อขอความร่วมมือ โดยเฉพาะกับชาวประมงและผู้คนที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ ให้ช่วยสังเกต หากพบการระบาดให้รีบแจ้งหน่วยงานผู้รับผิดชอบ โดยมีการตั้งศูนย์รับแจ้งแบบ Single window รวมทั้งควรให้ความรู้ประชาชนทั่วไปในเรื่องการกำจัด/ทำลายไข่ปลาที่อมไว้ในปาก ในกระบวนการล้างทำความสะอาดปลาก่อนนำไปประกอบอาหาร
5.7 สร้างความร่วมมือกับหน่วยงาน/สถาบันการศึกษา และบริษัทผู้ผลิตอาหารแปรรูป เพื่อศึกษาวิจัยนำเนื้อปลาหมอคางดำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต (เฉพาะหน้าในระหว่างการผยแพร่ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์และผลกระทบในด้านงบประมาณ) โดยจากการสืบค้นข้อมูลพบว่า ประเทศฟิลิปปินส์ ที่เคยประสบปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำ มีการศึกษาวิจัยเพื่อนำเนื้อปลาหมอคางดำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตซูริมิ (Quality attributes of Black-Chin Tilapia (Sarotherodon melanotheron) surimis treated with different cryoprotectants ที่มา :
https://www.researchgate.net/publication/366552931_Quality_attributes_of_Black-Chin_Tilapia_Sarotherodon_melanotheron_surimis_treated_with_different_cryoprotectants และ https://www.youtube.com/watch?v=E-_22DHlFOo)
5.8 ควรมีการตรวจสอบ/สอบสวนเพื่อหาจุดบกพร่องที่เป็นสาเหตุของการแพร่ระบาด และผู้รับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งพิจารณาศึกษาถึงมาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ทั้งในการควบคุม การป้องกัน และบทลงโทษในกรณีดังกล่าวว่า โดยการจัดตั้งคณะกรรมการ/ทำงานอิสระขึ้นเพื่อทำหน้าที่พิจารณา เนื่องจากกรณีดังกล่าวก่อให้เกิดผลเสียหายในวงกว้างและกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อมของประเทศ
5.9 ต้องเร่งให้มีการศึกษาและประกาศรายชื่อ “สัตว์น้ำอันตราย (Global Marine invasive species)” ที่ห้ามนำเข้า ครอบครอง หรือเพาะเลี้ยงในประเทศไทย โดยเด็ดขาด/โดยเร็ว เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยในอนาคต
5.10 ควรพิจารณาช่วยเหลือและชดเชยเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหรือชาวประมงชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบจากแพร่ระบาดของ “ปลาหมอคางดำ” นี้ ตามความจำเป็นและเหมาะสม
ที่มาข้อมูล :