ประสาท มีแต้ม
โดยไม่จำเป็นต้องอ้างอิงแหล่งข้อมูลหรือสถิติใดๆ ผมค่อนข้างมั่นใจว่า คนส่วนใหญ่ของไทยและของทั้งโลกด้วย ต่างก็มีความรู้สึกได้เหมือนกันว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 นี้ อุณหภูมิของอากาศที่เราสัมผัสอยู่นั้นน่าจะสูงที่สุดเท่าที่เราจำความได้ และหากเราเงี่ยหูฟัง “เสียงครวญของมวลประชา” เราก็จะรู้ว่าไม่เพียงแต่ผลผลิตของเกษตรกรเท่านั้นที่เสียหายเพราะภัยแล้งและน้ำท่วมรุนแรง แต่ตัวความร้อนเองยังทำให้คนที่ใช้ชีวิตกลางแดดต้องเสียชีวิตไปเป็นจำนวนไม่น้อย เฉพาะในไทยก็ 30 กว่าคนแล้ว
ข่าวล่าสุด (23 มิถุนายน 2567) พี่น้องมุสลิมผู้แสวงบุญที่นครเมกกะอย่างน้อย 1,300 คนได้เสียชีวิตเพราะได้รับแสงแดดแผดเผาในช่วงที่เกิดคลื่นความร้อน ซึ่งในอดีตเราเคยได้ยินแต่ข่าวการเหยียบกันตาย แต่วันนี้เป็นภัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมและจัดการของมนุษย์ไปแล้ว
เมื่อปี 2558 องค์การสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ทุกประเทศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งกว่า 70% ก็คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่นับถึงสิ้นปี 2566 ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมทั้งโลกก็ยังคงเพิ่มขึ้นเกือบทุกปี ยกเว้นเพียงปีเดียวคือปี 2563 หลังการระบาดของโรคโควิด-19 เท่านั้น และจากข้อมูลของ “สถาบันเพื่อการวิจัยพลังงาน(Institute for Energy Research-IER ก่อตั้งปี 1989 สหรัฐอเมริกา)” พบว่าในปี 2566 ชาวโลกใช้พลังงานฟอสซิล คือ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินรวมกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาวโลก
จึงไม่ต้องแปลกใจที่โลกของเรามีสภาพเป็นเช่นทุกวันนี้ และความรุนแรงนี้มันเพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อไม่นานแค่ 10-20 ปีมานี้เอง ในอนาคตจะรุนแรงกว่านี้มาก
เรื่องที่ผมจะนำมาเล่าในวันนี้มาจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วโลกรวม 77 ประเทศ โดยองค์การสหประชาชาติและภาควิชาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ซึ่งได้สำรวจในช่วงตุลาคม 2566 จนถึงกุมภาพันธ์ 2567 และรายงานผลนี้เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายนนี้เอง แม้ประเทศไทยเราไม่ได้ถูกสำรวจด้วย แต่มันสะท้อนความเห็นของคนทั้งโลกจำนวน 8 พันล้านคน ตามหลักการทางสถิติศาสตร์
ผมได้นำภาพปกของรายงานที่ชื่อว่า “Peoples’ Climate Vote 2024” พร้อมรายละเอียดและผลการวิจัยที่สำคัญมาแสดงในภาพด้านล่างด้วยครับ
ความเห็นสำคัญที่สรุปได้ก็คือ “80% หรือ 4 ใน 5 ของประชาชนโลกต้องการให้รัฐบาลของตนเองลงมือปฏิบัติการลดโลกร้อนให้มากขึ้นและโดยเร็ว” ซึ่งผมเห็นว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมาก นี่แสดงว่าประชาชนทั่วโลกได้ตื่นตัวต่อปัญหาที่ท้าทายมนุษยชาติมากที่สุดอยู่ในขณะนี้ แต่รัฐบาลของแต่ละประเทศซิที่ยังไม่ตื่นหรือไม่ให้ความสำคัญต่อปัญหาที่กำลังคุกคามชาวโลกอย่างรุนแรง
งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้สำรวจว่าทำไมรัฐบาลของตนจึงไม่ให้ความสำคัญ แต่ผมตีความเอาเองว่าผู้นำประเทศตามความคิดประชาชนไม่ทัน ล้าหลัง หรืออาจเป็นเพราะผลประโยชน์จำนวนมหาศาลที่กลุ่มทุนพลังงานฟอสซิลยื่นให้กับกลุ่มนักการเมือง
แบบสำรวจนี้มีทั้งหมด 15 ข้อ ผมจะนำเสนอเพียงบางข้อเท่านั้น
ข้อแรกถามว่า คุณคิดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบ่อยมากแค่ไหน ผลสำรวจพบว่า 32% ของประชากรคิดถึงปัญหานี้ทุกวัน และ 24% คิดถึงทุกสัปดาห์ รวมกันก็ 56% ที่คิดถึงบ่อยทุกสัปดาห์ มีเพียง 11% เท่านั้นที่ไม่เคยคิดถึงเลย กลุ่มประเทศที่คิดถึงเรื่องนี้ทุกวันมากที่สุดคือรัฐอาหรับมีสัดส่วน 47% เพราะได้รับผลกระทบมาก ในขณะที่กลุ่มอเมริกาเหนือคิดถึงน้อยที่สุด 22% เมื่อคิดเป็นรายประเทศที่คิดบ่อยที่สุดคือยูกันดา (62%) รัสเซียน้อยที่สุด (18%) หากจำแนกเป็นเพศ ผู้หญิงคิดกังวลถึงเรื่องนี้มากกว่าผู้ชายประมาณ 2% ในบางประเทศผู้หญิงคิดบ่อยกว่าผู้ชายถึง 17% ซึ่งเราพอจะเข้าใจได้
ข้อที่สอง ผลสำรวจพบว่า 53% ของประชาชนทั่วโลกรู้สึกกังวลต่อปัญหาโลกร้อนมากกว่าเมื่อปีที่แล้ว สามประเทศที่รู้สึกอย่างนี้มากที่สุดคือ ฟิจิ(80%) อัฟกานิสถาน (78%) และเมกซิโก (77%) ในขณะที่สองประเทศที่รู้สึกเช่นนี้น้อยที่สุด คือรัสเซีย (34%) และซาอุดิอาระเบีย (25%)
ข้อที่แปด ในประเทศของคุณ คุณคิดว่าใครสามารถจัดการกับปัญหาโลกร้อนได้มากที่สุด มีตัวเลือก 6 ตัว (ผมขอรายงานผลการสำรวจไว้ในวงเล็บ) คือ (ก) รัฐบาล (43%) (ข) องค์การสหประชาชาติ (13%) (ค) ธุรกิจขนาดใหญ่ (14%) (ง) นักกิจกรรมรณรงค์ (12%) (จ) ความศรัทธาต่อผู้นำชุมชน (6%) และ (ฉ) ไม่รู้ (11%) โดยในบรรดาผู้ที่ตอบว่ารัฐบาล นั้น ชาวอินโดนีเซียให้น้ำหนักสูงที่สุดถึง 75% ของจำนวนประชากร เรื่องนี้จึงเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลมากที่สุด
ข้อที่สิบ เร็วแค่ไหนที่ประเทศของคุณควรจะแทนถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติด้วยพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลมและแสงอาทิตย์ มีคำตอบให้เลือก 6 คือ (ก) เร็วมาก (ข) เร็ว (ค) อย่างช้าๆ (ง) ไม่จำเป็น (จ) ไม่รู้ และ (ฉ) ไม่ตอบ ผลสำรวจพบว่า ประเทศที่ตอบว่าเร็วมากและเร็วรวมกันเกิน 80% จำนวน 5 ประเทศ คือ ตุรกี ไนจีเรีย อิตาลีและไฮติ ตามลำดับ ในทำนองเดียวกัน 5 ประเทศที่ตอบว่าเร็วและเร็วมากน้อยที่สุด (น้อยกว่า 43%) คือ อิรัก(43%) ปาปัวนิวกินี (41%) มอรอคโค (38%) ลาว (33%) และ รัสเซีย (16%)
นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังสามารถวิเคราะห์ออกมาได้ว่า 85% ของประชากรโลกต้องการให้ประเทศของตนเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดโดยเร็ว
อนึ่งมีข้อมูลที่ส่าสังเกต 3 ประการ คือ
หนึ่ง ประชาชนของประเทศที่ผลิตถ่านหินมากที่สุด 6 อันดับแรกของโลกก็ยังสนับสนุนให้รัฐบาลของตนออกจากพลังงานฟอสซิล คือ (ตัวเลขในวงเล็บคือร้อยละที่สนับสนุนให้ออกจากฟอสซิล) จีน(80%) อินเดีย (76%) อินโดนีเซีย (55%) สหรัฐอเมริกา(54%) ออสเตรเลีย (69%) และ รัสเซีย (16%)
สอง ประชาชนของประเทศที่ผลิตก๊าซธรรมชาติมากที่สุด 6 อันดับแรกของโลกก็ยังสนับสนุนให้รัฐบาลของตนออกจากพลังงานฟอสซิล คือ สหรัฐอเมริกา(54%) รัสเซีย (16%) อิหร่าน (79%) จีน (80%) แคนาดา (65%) และ ออสเตรเลีย (69%)
สาม ประชาชนของประเทศที่ผลิตน้ำมันมากที่สุด 7 อันดับแรกของโลกก็ยังสนับสนุนให้รัฐบาลของตนออกจากพลังงานฟอสซิล คือ สหรัฐอเมริกา(54%) ซาอุดิอาระเบีย (75%) รัสเซีย (16%) แคนาดา (65%) อิรัก (34%) และจีน (80%)
จากข้อสังเกตดังกล่าว เราจะเห็นว่า ชาวรัสเซียซึ่งประเทศของตนมีทรัพยากรฟอสซิลทั้ง 3 อย่างติดอันดับต้นของโลก แต่สนับสนุนให้รัฐบาลของตนเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดเพียงร้อยละ 16 ของประชากรเท่านั้น
ผมรู้สึกว่ามีอะไรแปลกๆเกิดขึ้นกับประชาชนชาวรัสเซียที่ไม่รู้สึกแยแสกับปัญหาสำคัญร่วมกันของมนุษยชาติเอาเสียเลย น่าเสียดายที่งานวิจัยนี้ไม่ได้วิเคราะห์ไว้ด้วย
ผมยังมีข้อมูลอีก 2 ภาพที่จะนำเสนอในที่นี้ ภาพแรกเป็นของนักวิจัยที่นำเอา 20 ประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2566 มากที่สุดในโลก (อันดับ 1 คือ จีน ตามด้วยสหรัฐอเมริกา) จากนั้นก็มาดูว่า ประชากรของแต่ละประเทศเหล่านั้นมีสัดส่วนเท่าใดที่ต้องการให้รัฐบาลของตนให้คำมั่นสัญญาว่าจะลดโลกร้อนให้มากขึ้น
ผลการสำรวจพบว่า ชาวอิตาลี (ปล่อยก๊าซฯมากเป็นอันดับที่ 19 ของโลก) ต้องการให้รัฐบาลของตนลดปัญหาโลกร้อนให้มากขึ้นถึง 93% (ถือว่าน่ารัก) ในขณะที่ชาวรัสเซียและชาวแคนาดามีเพียง 66% ที่ต้องการเช่นนั้น
ผมเองไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเหมารวมยกประเทศว่า ประเทศนั้นประเทศนี้ปล่อยก๊าซฯเป็นอันดับที่เท่าใด เช่น จากตารางข้างต้น อินเดียปล่อยมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก แต่อย่าลืมว่า อินเดียมีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก
ดังนั้น การวิเคราะห์ที่ควรจะเป็นคือ การคิดการปล่อยต่อหัวประชากร มนุษย์เรามีความจำเป็นพื้นฐานที่ต้องปล่อยก๊าซฯในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน การเหมารวมทั้งประเทศจึงทำให้ประเทศที่มีประชากรมากถูกมองดูว่าเสียภาพลักษณ์
นอกจากประเด็นดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว ภาพถัดไปนี้ ผมได้นำเสนอปริมาณการปล่อยก๊าซฯต่อหัวประชากรในปี 2558 กับ 2565 ด้วย
เห็นไหมครับว่า ชาวอินเดียโดยเฉลี่ยปล่อยก๊าซคาร์บอนออกไซด์ต่อหัวประชากรน้อยมาก ไม่ถึงครึ่งของค่าเฉลี่ยของโลกเสียด้วยซ้ำ ในขณะที่เมื่อคิดรวมทั้งประเทศสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมอย่างแรง
ภาพสุดท้ายนี้เป็นการยืนยันว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นับจากข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2558 กับปี 2565 นั้นไม่ได้ลดลงเลย (อย่าลืมว่าจำนวนประชากรของโลกเพิ่มขึ้น)
สิ่งที่อยากจะชวนคิดสำหรับคนไทยทุกคนรวมถึงรัฐบาลไทยด้วยว่า โดยเฉลี่ยเราปล่อยก๊าซฯอยู่ในขณะนี้ 3.8 ตันต่อคนต่อปี ถ้าเราจะเป็นกลางทางคาร์บอนในปี พ.ศ.2593 นั้น เราจะทำอย่างไร ถ้าไม่ทิ้งพลังงานฟอสซิลแล้วหันไปหาพลังงานแสงอาทิตย์และลม ถามจริงๆนะครับ