
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) และประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงประเทศไทยขณะนี้ว่า หลังการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น ขณะที่สถานการณ์ก่อนโควิดก็ดูไม่ค่อยดี เพราะจีดีพีโตแค่ 3% แต่โตโดยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเยอะๆ นานๆ สะท้อนว่าเศรษฐกิจภายในอ่อนแอ กำลังซื้อในประเทศอ่อนแอ
“การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดหมายถึงการมีรายได้มากกว่าใช้จ่ายในประเทศ ทำให้มีการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิไปต่างประเทศ แต่ทำอย่างนั้นนานๆ ปัญหาก็คือประเทศมีดุลชำระเงินที่จะต้องสมดุลกัน เงินทุนไหลเข้ากับเงินทุนไหลออกต้องเท่ากัน ถ้าเงินไหลเข้าตลอดจากการที่ขายสินค้าและบริการจำนวนมาก คิดเป็นสัดส่วน 6%, 7%, 8% ไปจนกระทั่งถึง 10% ของจีดีพี ก็ต้องหาทางให้เงินทุนนั้นไหลออก”
โดยในช่วงก่อนโควิดประมาณปี 2015-2019 พบว่ามีเงินทุนไหลออกสุทธิจากการที่บริษัทคนรวยของไทยไปลงทุนในต่างประเทศเฉลี่ยเป็นหมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี รวมกันเป็นกว่าแสนล้านเหรียญสหรัฐ สะท้อนว่าเขาไปทำให้ประเทศอื่นเจริญ ไปสร้างงานที่อื่น ทำไมเราไม่สามารถที่จะสร้างโอกาสในประเทศไทย ให้เงินลงทุนนี้อยู่ในประเทศได้
อย่างไรก็ดี ในช่วงนั้นเงินไหลออกแล้ว แต่ดุลชำระเงินยังไม่พอ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงต้องเข้าไปแทรกแซงขายเงินบาทเพื่อซื้อเงินดอลลาร์เข้ามา ไม่อย่างนั้นปริมาณเงินบาทจะมีไม่พอ เงินบาทก็จะแข็งค่า ส่งผลให้ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมหาศาลทั้งในช่วงก่อนและหลังโควิด จากประมาณ 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ มาเป็น 2 แสนกว่าล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน
ประเด็นก็คือ ทุนสำรองมีไว้ก็ดี แต่มีเยอะเกินไปประชาชนไม่ได้ประโยชน์ เพราะไม่มีใครเข้าถึงทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ IMF เคยประเมินว่า ประเทศไทยมีทุนสำรองอย่างมากสัก 100,000 หรือ 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐก็เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้คงที่ มันปรับเปลี่ยนได้ ฉะนั้น ไม่ต้องมีทุนสำรองไปอุ้มอัตราแลกเปลี่ยนเยอะขนาดนั้น
และอย่างที่กล่าวข้างต้น ยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอีก จะต้องมีทุนสำรองเยอะเกินไปทำไม แต่การมีทุนสำรองดังกล่าว สะท้อนว่ากำลังซื้อในประเทศอ่อนแอมาก จึงต้องเข้าไปซื้อเงินดอลลาร์เข้ามา ทุนสำรองถึงเพิ่มขึ้น แล้วดุลชำระเงินมันถึงสมดุลกัน
ถูกตรึงด้วยแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี โลกเปลี่ยน เราไม่ได้ดูโลก ว่าจะหากินยังไง
“ประเด็นของผมคือ ตอนนี้คุณกำลังอยากฟื้นเศรษฐกิจ ส่งออกสินค้าดีขึ้น คุณดีใจ บริการท่องเที่ยวดีขึ้น ก็ดีใจ แต่ผมบอกว่าคุณจะกลับไปทำเหมือนเดิมก่อนโควิดทำไม เพราะว่าตอนนั้นมันไม่ได้ทำให้คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนระดับล่างและ SME เขาดีขึ้น”
“แล้วตอนนี้สิ่งที่ต่างกันจากช่วงนั้นมาช่วงนี้ก็คือ หนี้ของชาวบ้าน หนี้ครัวเรือน หนี้ของ SME มันเยอะมาก ถ้าถามผมว่าตอนนี้ใครแย่กว่ากัน รัฐบาลกับประชาชน ดูตัวเลขมันก็ฟ้องว่ารัฐบาลหนี้สาธารณะต่อจีดีพี 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ แต่ประชาชน 90 เปอร์เซ็นต์”
“SME ไม่ต้องพูดถึง เขามีปัญหาว่าตอนนี้แบงก์ไม่ปล่อย แล้วก็จะรู้ว่าทั้งหนี้เสียและสัดส่วนของหนี้ใกล้จะเสีย บวกกันมัน 20% แสดงว่า 1 ใน 5 ของ SME มีปัญหาด้านการเงิน ฉะนั้น ตอนนี้สถานการณ์ที่แย่กว่าคือ SME กับชาวบ้าน ถ้าไปถามชาวบ้าน เขาก็จะสะท้อนมาแบบนั้น” ดร.ศุภวุฒิกล่าว
ประกอบกับก่อนหน้านั้น ประเทศไทยไม่ได้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ไม่ได้มองภาพว่าจะพาประเทศไปทางไหน หรือจะหากินยังไงในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 15-20 ปีที่ผ่านมา
เพราะมีความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ และมีความพยายามจะตรึงสถานการณ์การเมืองไม่ให้ขยับ ก็เท่ากับตรึงเศรษฐกิจไม่ให้ขยับไปด้วย
หรือสังเกตได้ว่า มัวแต่เน้นตรึงการเมืองภายใน แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ ปล่อยเลยตามเลย ซึ่งแต่ก่อนปล่อยเลยตามเลยยังพอไปไหว เพราะปัจจัยพื้นฐานมันสนับสนุน แต่ในช่วงหลังไม่ใช่ โลกมันเปลี่ยนไป แต่เราไม่ได้ดูโลก
ที่สำคัญคือ มีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าไม่ใช่แผน เพราะแผนไม่ได้แปลว่าจะต้องทำทุกอย่าง แต่จะต้องบอกว่าสามารถทำอะไรได้จริงๆ ให้ชัดเจน เพื่อจะได้รู้ว่าจะต้องเดินไปทางไหน โดยรู้ว่ามีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดอะไรบ้าง แล้วต้องสื่อสารกันให้เข้าใจง่ายภายใน 3-4 นาที ว่าประเทศจะเดินไปแบบไหน เพราะอะไร
“แต่วันนี้พูดตรงๆ ผมไม่แน่ใจใครอ่านแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีบ้าง แล้วมันยาวแค่ไหน ผมอ่านแล้วก็ยังเหนื่อยเลย คำถามคือประเทศจะเดินไปข้างหน้ายังไง”

3 ข้อจำกัดที่น่าห่วง ‘คุณภาพแรงงานหายไปเกือบ 4 ล้านคน’
ดร.ศุภวุฒิระบุว่า ข้อจำกัดของประเทศไทย มีทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ โดยปัจจัยภายในที่เห็นชัดๆ มีอย่างน้อย 3 ข้อ ได้แก่
1. จำนวนเด็กและคนวัยทำงานลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มลดลงมาตั้งแต่ปี 2015 ทำให้วัตถุดิบในการผลิตที่สำคัญคือ “แรงงาน” มีแต่จะลดลง หากคำนวณจากตัวเลขของสภาพัฒน์ฯ
พบว่าประชากรที่อยู่ในวัยทำงาน (20-64 ปี) จะหายไปประมาณ 3-4 ล้านคน ส่วนเด็กเกิดใหม่ (0-19 ปี) จะหายไปประมาณ 3.8 ล้านคน ภายในช่วง 20 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2583)
2. ประชากรผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) จะเพิ่มขึ้นจากประมาณ 8 ล้านคนเป็น 21 ล้านคนในปี 2583 ซึ่งเป็นส่วนที่เพิ่มขึ้นเยอะที่สุด เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ทำงาน ไม่เสียภาษี ดังนั้น ต้องทำให้ตัวเองสุขภาพดี อย่าสร้างภาระเกินจำเป็น แต่สามารถไปช่วยเลี้ยงหลาน หรือไปเป็นแรงงานแฝง ทำตัวให้เป็นประโยชน์กับสังคม จะได้ลดต้นทุนของคนที่อยู่ในวัยทำงาน
“ที่สำคัญต้องอย่าป่วยแบบเรื้อรัง แต่ป่วยแบบ 2-3 วันแล้วเสียชีวิตดีที่สุด แก่ช้า ตายเร็ว จะดีที่สุด ซึ่งโดยส่วนตัวผมจะใช้เวลาที่เหลือของชีวิต รณรงค์เรื่องนี้ว่า healthy aging เป็นเรื่องสำคัญ แก่ตัวไป สุขภาพต้องดี จะได้ช่วงป่วยสั้นๆ แล้วเป็นภาระน้อยที่สุด”
3. ปัญหาปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะความมั่นคงด้านพลังงาน โดยเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีคำว่าโชติช่วงชัชวาล มีแก๊สราคาถูกจากอ่าวไทย แต่ตอนนี้มันใกล้หมด ต้องไปพึ่งแหล่งแก๊สธรรมชาติยาดานาจากพม่า ฉะนั้น เรื่องพลังงานซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของไทย จะทำยังไงกับปัจจัยการผลิตอันนี้ ต้องถามตัวเองจริงๆ ว่าอนาคตของพลังงานจะไปทางไหน
“นี่คือ 3 ประเด็นที่เป็นข้อจำกัดในประเทศ แต่ประเด็นสำคัญที่สุดคือเรื่อง ‘คุณภาพแรงงาน’ เพราะประชากรวัยเด็กจะหายไปเกือบ 4 ล้านคน จาก 15.5 ล้านคน ในปี 2563 เหลือเพียง 11.7 ล้านคน ในปี 2583 ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะโตไปเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต คำถามคือ เรามีการศึกษาที่ดีให้เขามาเป็นแรงงานที่มีคุณภาพหรือเปล่า และถ้าจะทำให้มีคุณภาพจริงๆ ต้องทำยังไง”

ต้องให้อาวุธเด็ก ให้โอกาสเขาทำ จะตรึงเขาทำไม เขารอด เรารอดด้วย
“ถ้าบอกว่าจะอบรมให้รู้ขนบธรรมเนียมประเพณี รักชาติ มันก็อย่างนึง แต่ถ้าบอกว่าต้องให้เด็กมี critical thinking อย่างที่พูดกันบ่อยๆ แล้วสามารถที่จะอยู่ในโลกของ AI โลกที่มีความเปลี่ยนแปลงได้ ก็อีกอย่างนึง”
“ซึ่งมีข้อสังเกตคำว่า critical thinking คือ กล้าคิด กล้าคิดต่าง แต่คุณจะแบ่งส่วนว่าให้คิดต่างเฉพาะเศรษฐกิจ อย่าไปคิดต่างทางการเมือง มันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น มันต้องสร้างเด็กที่เขากล้าคิด กล้าถาม กล้าทำ และต้องให้โอกาสเขาทำด้วย”
“แล้วก็ต้องถามตัวเองจะให้ประชาชนเป็นคนนำพาประเทศนี้หรือเปล่า จะให้คนรุ่นใหม่เขานำพาประเทศนี้หรือเปล่า ซึ่งคำตอบมันชัดเจน เดี๋ยวเราก็ตายแล้ว เขาก็ต้องเป็นคนนำพา” ดร.ศุภวุฒิกล่าว
“ฉะนั้น คุณจะให้อาวุธเขา ให้ศักยภาพเขาที่เพียงพอ เพื่อให้เขารอด แล้วเรารอดด้วย เพราะเราต้องพึ่งเขา หรือจะตรึงเขาไปเรื่อยๆ แล้วมันจะไปต่อยังไง”
ส่วนปัจจัยจากต่างประเทศก็มีไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นขีดความสามารถในการแข่งขัน การแข่งขันจากจีน รวมถึงผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics)
“ถามตัวเองจริงๆ ว่าประเทศไทยจะส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมอย่างที่ทำมาในอดีต แล้วแข่งขันได้ในโลกนี้จริงหรือ ผมถามตัวเองแล้วคิดว่า ไม่ได้ นึกไม่ออกว่าเราจะแข่งขันกับจีนยังไง เราไม่มีทางมีขนาดของตลาดที่จะแข่งได้”
“แล้วเราเห็นเลยว่าจีนเขาสามารถที่จะสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์เซลล์ ยางรถยนต์ รถอีวี ถ้าเขามีทั้งเทคโนโลยีและมีทั้ง economy of scale ถามจริงๆ เราแข่งได้หรือ?”
“ถ้าเราแข่งไม่ได้ ต้องถามตัวเองว่า ถ้าอย่างนั้นเราจะส่งออกอะไร เพราะว่าการส่งออกมันเป็นเซกเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจไทย ใหญ่กว่าการบริโภคของคนไทยด้วยซ้ำ เราจะพยายามปรับเล็กปรับน้อย อย่างเช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปเป็นโซลิดสเตตไดรฟ์ก็ไม่ว่ากัน แต่ถามจริงๆ มันจะเป็นตัวขับเคลื่อนเหมือนกับสมัย 30-40 ปีที่แล้ว เป็นไปได้หรือ มันไม่ได้”
“ฉะนั้นต้องยอมรับว่า ในระยะยาว การส่งออกอุตสาหกรรมจะต้องกลายเป็น niche คุณต้องรู้ว่าจะเจาะตลาดเฉพาะเจาะจงตรงไหน แล้วก็ทำตรงนั้นให้ดี แต่จะทำแบบปูพรมเหมือนที่ผ่านมาคงไม่ได้ ฉะนั้นต้องไปเน้นถามตัวเองว่า niche อยู่ตรงไหน”
“คำถามคือ ถ้าอย่างนั้น เราจะส่งออกอะไร ที่มีศักยภาพในการแข่งขันกับจีน เอาตรงๆ เลย เขาสู้อะไรเราไม่ได้ คำตอบก็คืออาหาร” ดร.ศุภวุฒิกล่าว

ฉีกการพัฒนาเศรษฐกิจ ให้ต่างจาก 40 ปีที่ผ่านมา
ดร.ศุภวุฒิกล่าวต่อว่า ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่นำเข้าสินค้าเกษตรมากที่สุดในโลก ที่ผ่านมาเขาพยายามที่จะไม่พึ่งพาต่างประเทศ แต่ยังทำไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้น ดีไม่ดียังไง จีนก็ต้องพึ่งพาสินค้าเกษตร
ในทางตรงกันข้าม ประเทศไทยจะไม่สนใจภาคเกษตรอย่างไร ก็ยังส่งออกสินค้าเกษตรมาได้ตลอดเวลา จากการที่มีน้ำดี ดินดี แดดดี แล้วก็มีปุ๋ยเยอะ ยกตัวอย่างเช่น ข้าว อาหารกระป๋อง ไก่ ฯลฯ ส่งออกได้เยอะมาก
แต่ประเด็นก็คือว่า จะทำยังไงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะปัจจุบันเราใช้คนประมาณ 30% ใช้พื้นที่ประมาณ 40% เพื่อผลิตแค่ 6% ของจีดีพี
“ประเด็นคือแค่นี้เลย คุณใช้แรงงาน 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ ใช้พื้นที่ประมาณ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ เพื่อผลิต 6% ของจีดีพี ฉะนั้น 6% ของจีดีพีเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ได้ ภาคอุตสาหกรรมมัน 30% ของจีดีพี ถ้าคุณจะเอา 6% มาแทน 30% ในส่วน 6% ต้องโตเร็วมาก และต้องใหญ่ขึ้นมาเยอะๆ”
“ฉะนั้น สงสัยว่าทางหนึ่งก็คือขายอาหาร ทำให้มันมีมูลค่าสูง ก็อาจจะต้องทำเป็นออร์แกนิกมากขึ้น ที่แน่ๆ เลยคือ ต้องใช้คนรุ่นใหม่และใช้เทคโนโลยีเยอะแยะเลย แต่มันก็ต้องทำ เราต้องไปสนับสนุนสิ่งพวกนั้นมากกว่า”
“ยกตัวอย่างเช่น ดิน ถ้าจะให้เขาไปทำอาหารออร์แกนิก ก็ต้องบอกให้เปลี่ยนดินเป็นออร์แกนิก คุณช่วยเขายังไง ให้เปลี่ยนมาทำดินออร์แกนิกทั้งประเทศ สมมติรัฐบาลจะช่วยปรับคุณภาพดินโดยการลดใช้ปุ๋ยเคมี ต้องทำยังไง จะทำรึเปล่า ทำไหวรึเปล่า ทำได้แค่ไหน คุ้มรึเปล่า”
“ซึ่งมันจะต่อเนื่องมาถึงอีกเรื่องหนึ่ง ที่เราแข่งกับจีนได้คือท่องเที่ยวและการบริการ ถ้าขายอาหารออร์แกนิกได้ อาหารไทยอร่อยอยู่แล้ว คนก็จะได้มาเมืองไทยเยอะๆ เพราะเรื่องอื่นมันค่อนข้างจะดีอยู่แล้ว เราเป็นประเทศที่ทุกคนคิดว่ามาแล้วอยู่สนุก สบายๆ มาเมืองไทยเขารู้สึกผ่อนคลาย ฉะนั้น เราได้เปรียบตรงนี้อยู่แล้ว”
“เพียงแต่ว่าเราต้องเสริมเข้าไปให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูง อย่างเช่น อาหารดีๆ ราคาแพงๆ ตั้งเป้าว่าประเทศไทยจะต้องมีมิชลินสตาร์ต่อประชากรสูงที่สุดในโลก เป็นต้น ฉะนั้น มันจะต่อยอดจากภาคเกษตรขึ้นมาถึงภาคบริการ ซึ่งดูเหมือนเรามีศักยภาพ มีความสามารถในการแข่งขันที่จะไปตรงนี้ แต่ว่าต้องทำให้เป็นมูลค่าสูง”
ดร.ศุภวุฒิยังมองว่า ประเทศไทยน่าสนใจเพียงพอที่ต่างประเทศจะเดินทางมาถ่ายภาพยนตร์ มิวสิกวิดีโอ ซึ่งเราไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ แต่ต้องตั้งใจทำ และคิดให้ชัดเจนว่าจะเดินไปยังไง รวมไปถึงการท่องเที่ยวซึ่งมีคุณภาพ จะต่อยอดไปยังไง เพื่อเชื่อมโยงมาถึงการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ที่ระบบสาธารณสุขของไทยค่อนข้างจะดี เมื่อเทียบกับทรัพยากรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จะขยายตรงนี้ได้ไหม ซึ่งก็ต้องมีการตัดสินใจที่ยากเหมือนกันว่าถ้าจะทำจริงๆ จะต้องเปิดตลาดนี้ให้หมอจากต่างประเทศมาใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์
“เราจะทำมั้ย เป็นคล้ายๆ กับ wellness center ของโลก หมายถึงทั้งอาหารที่อร่อย อยู่สบาย และมีคุณภาพทางด้านการเป็นอยู่โดยรวมที่ดีด้วย สมมติว่าสถาบันจอห์น ฮอปกินส์ มาตั้ง medical college ที่ประเทศไทย จะเปิดมั้ย แล้วหมอ ต้องเป็นหมอหลายๆ ประเทศมาอยู่ สมมติมีคุณหมอจากประเทศตะวันออกกลางมาอยู่ที่นี่ จะได้ช่วยลิงก์คนที่มาจากตะวันออกกลางด้วย มีคุณหมอจากญี่ปุ่นมา ก็ลิงก์จากญี่ปุ่นด้วย มีคุณหมอจากอเมริกามา จะทำอย่างนั้นมั้ย”
“เพราะมันจะสร้างผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ มันจะขยายไปหมดเลย ต่อไปก็จะต้องมีสร้างที่พักพิงของผู้สูงอายุ อะไรต่างๆ มันก็ตามมาหมดเลย เราก็จะเปลี่ยนจากประเทศที่ส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์แล้วมาทำพวกนี้แทน นี่คือทางไปทางหนึ่งที่ผมคิดว่ามันน่าจะไปได้ดี แต่คุณต้องกล้ามองไปยาวๆ แล้วกล้าฟันธงว่าจะไปทางนี้” ดร.ศุภวุฒิกล่าว
“แต่ถ้าไม่ทำอะไร หวังที่จะส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเหมือนเดิม ทำยังไงให้ขายรถได้มากขึ้น แล้วก็ท่องเที่ยวได้มากขึ้น เดี๋ยวก็จะกลายมาเป็นเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเหมือนเดิม เงินทุนไหลออกเหมือนเดิม แบงก์ชาติต้องเข้ามาแทรกแซง ทุนสำรองเพิ่มขึ้นเหมือนเดิม เพื่อไม่ให้บาทแข็งเหรอ ทำแบบเดิมก็ได้นะครับ แต่มันก็จะเป็นแบบเดิม แต่ที่ผมเสนอ มันฉีกไปอีกทางนึงว่าเราต้องฉีกทิศทางของการพัฒนาเศรษฐกิจให้แตกต่างจาก 40 ปีที่ผ่านมา” ดร.ศุภวุฒิอธิบาย

เทรนด์กลับขา “ประเทศพัฒนาปิดประเทศ”
ดร.ศุภวุฒิเล่าว่า หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์เมื่อ 40 ปีที่แล้ว เป็นช่วงเวลาที่โลกเปลี่ยน แล้วเข้าทางประเทศไทยใน 4 ปัจจัยหลักสำคัญ ได้แก่ 1. ปัจจัยการผลิต ไทยเจอแก๊สธรรมชาติ ซึ่งขณะนั้นพลังงานเป็นเรื่องสำคัญมากและราคาแพงมาก ฉะนั้น อยู่ๆ เรามีปัจจัยการผลิตที่ดีตัวหนึ่งแบบเต็มๆ
2. สร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมาได้ เพราะในช่วงนั้นปัจจัยการผลิตด้านพลังงานยังส่งผลให้ไทยสามารถสร้างอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ และต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น ดังนั้น เราจึงสร้างฐานอุตสาหกรรมขึ้นมาได้ เพียงแค่หาคนมาต่อท่อ สร้างท่าเรือ และสร้างนิคมอุตสาหกรรมขึ้นมา ซึ่งผู้ใหญ่สมัยนั้นก็ค่อนข้างเก่ง ที่สามารถดึงให้ประเทศญี่ปุ่นเชื่อในประเทศไทย แล้วย้ายฐานการผลิตมาลงทุนที่ไทย โดยส่วนหนึ่งเป็นปัจจัยมาผลจากการประชุมกลุ่ม G5 ที่เรียกว่า Plaza Accord ที่สหรัฐอเมริกาบีบญี่ปุ่นให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นมหาศาล
3. ปัจจัยจากสงครามเวียดนามที่เริ่มซาลงไปมาก ทำให้ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในประเทศลดลงอย่างมาก หลายประเทศจึงแห่กันมาประเทศไทย ตอนนั้นเรากลายเป็นตลาดเกิดใหม่ที่ดี เด่น ดัง มากที่สุด
4. ปัจจัยจากการเปิดระบบเศรษฐกิจและการเมืองโลก โดยตั้งแต่ปี 1984 เป็นต้นมา แนวโน้มของโลกเดินไปสู่การเปิดเศรษฐกิจที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ และมีส่วนของการยอมรับระบอบประชาธิปไตยที่ให้เปิดหลายอย่าง ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจออย่างเดียว แต่เปิดการเมืองด้วย โดยเฉพาะหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต
ฉะนั้น ช่วงเวลาดังกล่าว โลกไปในทิศทางที่ประเทศเล็กอย่างเราได้เปรียบ เพราะว่าถ้าโลกเขาเปิดให้เรา เราเข้าไปรวมกับเขาได้ง่าย
“แต่ตอนนี้มันกลับตรงกันข้าม ที่ฝรั่งเศสฝ่ายขวากำลังจะเข้ามา แล้วเขาก็จะปิดประเทศ ที่อเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ อาจจะชนะเลือกตั้ง ก็จะมาปิดประเทศ ดังนั้น ถ้าหากประเทศใหญ่ๆ ปิด ประเทศเล็กๆ ก็เรียบร้อย”
“สมัยผมอยู่กระทรวงการต่างประเทศ เขาเปิดระบบเศรษฐกิจ ก็เลยจะต้องมีองค์กรระหว่างประเทศที่มาดูแลกฎเกณฑ์ว่าประเทศต่างๆ จะประพฤติตัวอย่างไร ตอนนั้นเราเรียกว่า multilateralism หรือความสัมพันธ์ระดับพหุภาคีมันสำคัญมาก มันไม่ใช่ทวิภาคี”
“สมมติประเทศเล็กต้องคุยกับประเทศใหญ่ ทวิภาคีเรากับจีน เราก็โดนบี้เรียบร้อยหมดเลย แต่ในโลกพหุภาคีมันมีหนึ่งเสียงหนึ่งประเทศอย่างในยูเอ็น แต่ผมไม่ได้สนใจตรงยูเอ็น ผมสนใจองค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งเป็นคนที่ทำกฎเกณฑ์การค้าโลก แล้วสมัยก่อนการเปิดเสรีเราเปิดกันทั้งโลก ตอนนั้นมันเข้าทางประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเป็นประเทศเล็ก แล้วเรารวมตัวกัน อย่างเช่นเป็น Cairns Group แล้วมาขับเคลื่อนการเปิดเสรี ตลาดเราก็ได้เปรียบ”
แต่ถ้าโลกใหม่ออกมาว่า อเมริกาก็จะปิดประเทศ ยุโรปก็จะปิดประเทศ จีนก็จะแข่งกระจาย โดยไม่มีกฎเกณฑ์พหุภาคี ประเทศเล็กเรียบร้อยเลย
“ตอนนั้นเทรนด์มันไปทางประเทศกำลังพัฒนา เทรนด์ไปทางเปิดประเทศ เทรนด์ไปทางเปิดเศรษฐกิจ แต่พอมาศตวรรษนี้ เทรนด์มันกลับขา สิบปีแรกของศตวรรษยังเปิดอยู่ แต่หลังจากนั้นชัดเจนเลยว่าโลกเปลี่ยนไป เขาปิดมากขึ้น สังเกตว่าตอนหลังเราไม่เคยมีข่าวเรื่อง WTO มันกลายเป็นสูญพันธุ์ไปเลย ระบบการค้าพหุภาคีสูญพันธุ์ไปเลย ไม่เคยพูดถึง WTO กันมากี่ปีแล้ว” ดร.ศุภวุฒิกล่าว

ถ้าประเทศไทยไม่ทำอะไร โอกาสน้อยลงเรื่อยๆ จีดีพี 3% ก็ทำไม่ได้?
ดร.ศุภวุฒิสรุปว่า ถ้าประเทศไทยไม่ทำอะไร แล้วเดินไปแบบเดิม จากปัจจัยความเสื่อมถอยของทรัพยากรมนุษย์ การที่ประเทศพัฒนาแล้วปิดประเทศมากขึ้น ระบบพหุภาคีไม่ทำงาน กลายเป็นทวิภาคีไปหมด ประเทศเล็กอย่างไทยยิ่งมีโอกาสน้อยลงไปเรื่อยๆ จีดีพีก็จะโตช้าไปเรื่อยๆ ดีไม่ดี 3% ยังทำไม่ได้
ประเทศที่มีประชากรสูงอายุจำนวนมาก บวกกับมีนโยบายที่ไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจเพียงพออย่างญี่ปุ่นในช่วง 20 ปีก่อนหน้า ดำเนินโยบายการเงินที่ตึงเกินไป มีปัญหาเรื่องหนี้สิน จนเกิดภาวะเงินฝืดอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนตัวจึงเป็นห่วงในระดับหนึ่งว่าประเทศไทยเงินเฟ้อค่อนข้างต่ำ ซึ่งหากดูจากกรณีของญี่ปุ่น ก็ไม่อยากให้ประเทศไทยเสี่ยงที่จะเป็นอย่างนั้น
ถ้ากลับไปดูประเทศญี่ปุ่น จะเห็นว่าในช่วง 20 ปี ตั้งแต่ปี 1993 มาจนถึงปัจจุบัน จีดีพีเขาเป็นยูเอสดอลลาร์ไม่เปลี่ยนเลย โดยอยู่ประมาณ 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐมาต่อเนื่อง แต่เขาไม่เป็นไร เพราะว่าเขารวยแล้ว ปัญหาคือ ไทยไม่ได้รวยแล้ว โดยเฉพาะสถานการณ์ผู้สูงอายุที่มีเงินออมไม่พอ
จากการประเมินตัวเลขเท่าที่ผมเห็น ปรากฎว่าคนสูงอายุส่วนใหญ่ของไทยมีเงินฝากในธนาคารแค่ประมาณ 5 หมื่นบาทเท่านั้นเอง ซึ่งมันไม่พอ ผู้สูงอายุไม่ได้มีหนี้ แต่ก็ไม่ได้มีเงิน และความสามารถในการทำงานหาเงินค่อนข้างน้อย
ฉะนั้น จะเกิดปัญหามากว่าคนกลุ่มนี้จะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และมีความยากจนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“แล้วคนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ไปเลือกตั้งตลอดเวลา แล้วเราก็จะเรียกร้องให้รัฐบาลต้องมาช่วยอุ้ม รัฐบาลก็ต้องเก็บภาษีจากผู้ที่มีรายได้ ก็จะเกิดแรงกดดันรัฐบาล เพราะคนที่อยู่ในวัยทำงานเขาก็จะไม่พอใจ เพราะต้องไปอุ้มคนกลุ่มผู้สูงอายุเยอะมาก”
นอกจากนี้ยังมีการสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุพึ่งพารายได้จากลูกหลานลดลง แต่พึ่งพารัฐบาลเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ แนวโน้มเป็นอย่างนั้นมาสัก 10 ปีแล้ว ข้างหน้าจะหนักขึ้นไปอีก
“แต่ว่ารัฐบาลไทยไม่มีทางทำอันนี้ได้ เพราะประชากรผู้สูงอายุจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 12 ล้านคนในปัจจุบัน เป็น 20 ล้านคนในอีกไม่ถึง 20 ปี แล้วรัฐบาลเก็บภาษีได้ลดลงเรื่อยๆ เป็นสัดส่วนแค่ 14% ของจีดีพีเท่านั้นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานประชาชนที่เสียภาษี คือคนในวัยทำงาน ก็จะลดลงประมาณ 3-4 ล้านคนเหมือนกันในช่วง 20 ปีข้างหน้า”
“ดังนั้น คนน้อยลง เก็บภาษีได้เป็นเปอร์เซ็นต์ต่ำเท่าเดิม แล้วมีแต่คนที่ต้องมาเลี้ยงมากขึ้น ทำให้ยากที่จะคิดว่ารัฐบาลจะให้การดูแลได้อย่างทั่วถึง”
“เพราะฉะนั้นแล้วอย่างที่ผมบอก ผู้สูงอายุต้องรู้ตัวว่าต้องทำงานจนอายุเยอะๆ แม้จะไม่ได้ทำงานมีเงินเดือนอย่างเป็นทางการ ก็คงต้องไปช่วยเลี้ยงหลาน ไปช่วยทำโน่นทำนี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้ตัวเองแข็งแรง เวลาป่วยก็ป่วยสั้นๆ แล้วตายเลย จะดีที่สุด เพราะเราไม่ต้องการจะทรมานตอนแก่นานๆ” ดร.ศุภวุฒิกล่าว

ทางออกหนี้ครัวเรือน ไม่ใช่ลดหนี้ ประชาชนต้องมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่ม
ส่วนประเด็นที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวกลับมาได้ ดร.ศุภวุฒิอธิบายว่า เป็นเพราะเขาเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจมหภาค จากเดิมที่พยายามตรึงแล้วกลัวเงินเฟ้อ พอผ่านเงินฝืดมา 20 ปี เขาไม่กลัวแล้ว แล้วก็ทำ QE (quantitative easing) กระตุ้นเศรษฐกิจ ธนาคารกลางญี่ปุ่นพิมพ์เงินมาซื้อทั้งพันธบัตรรัฐบาล มาซื้อทั้งหุ้น
ฉะนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นจึงกล้าขาดดุลงบประมาณจำนวนมาก หนี้รัฐบาลต่อจีดีพีสูงถึง 260% แต่ที่ผ่านมายังไม่มีปัญหา เพราะว่าเขาเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเล็กน้อย เพราะเขาขายพันธบัตรให้ประชาชนญี่ปุ่นซื้อขายกันเอง ก็ทำได้
“เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า หลายประเทศ หนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่ได้มีกฎตายตัวว่าต้องแค่ 60% มันแล้วแต่สถานการณ์ แต่ผมไม่ได้บอกว่าอยากให้ประเทศไทยไปเป็นหนี้ตั้ง 200% ต่อจีดีพี เพียงแต่ว่าต้องดูให้รู้ว่าจริงๆ แล้วตัวที่จะทำให้เกิดปัญหามันคืออะไร ซึ่งส่วนใหญ่คือ ถ้าคุณขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเยอะๆ ต้องพึ่งพาเงินจากต่างประเทศมาซื้อพันธบัตรของคุณ แล้วไม่ได้มีทิศทางที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ก็จะมีปัญหาได้ อย่างกรณีของ Liz Truss ที่ประเทศอังกฤษ”
“แต่โดยรวมแล้วในหลายๆ ประเทศจะมีความแตกต่างกันอย่างมาก ยกตัวอย่างที่ยุโรป เขาตั้งกฎเอาไว้เป็นหนี้ 60% ของจีดีพี แต่ฝรั่งเศสตอนนี้มีหนี้ 100% ของจีดีพี เยอรมันประมาณ 80% อิตาลีประมาณ 130% ซึ่งน่าเป็นห่วงนะครับ แต่ก็ยังพออยู่กันมาได้ จัดการกันไปได้”
ผมไม่ได้อยากให้เป็นอย่างนั้น เพียงแต่ว่าถ้าคุณไปกดเศรษฐกิจมากๆ โดยรัฐบาลคิดว่าไม่ทำอะไร ดูแลแต่ตัวรัฐบาลเอง คนอื่นแย่
“อย่างที่ผมบอกไง ถามจริงเถอะ รัฐบาลมีหนี้ 60% ของจีดีพี กับประชาชนมีหนี้ 90% ของจีดีพี ใครเหนื่อยกว่ากัน ก็เห็นว่าประชาชนเหนื่อยกว่าเยอะ ดังนั้น ถ้าเราทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถพลิกฟื้น มีรายได้เพิ่มขึ้นได้ ก็จะช่วยประชาชนได้มาก”
“เพราะฉะนั้น การทำให้เศรษฐกิจมันดี ในเชิงที่ทำให้ประชาชนมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้น คือทางออกของการบริหารหนี้ของประชาชน ไม่ใช่จะมาให้ลดหนี้ เพราะว่ารัฐบาลเองยังทำไม่ได้เลย รัฐบาลไม่เคยลดหนี้สาธารณะ แต่ลดหนี้สาธารณะต่อจีดีพี โดยการทำให้จีดีพีโตเร็วกว่าหนี้สาธารณะ ฉันใดก็ฉันนั้น ประเทศไทย คนไทย ก็คงต้องทำอย่างนั้นเหมือนกัน” ดร.ศุภวุฒิกล่าวสรุป