ThaiPublica > เกาะกระแส > ธปท. ยกระดับมาตรการจัดการบัญชีม้า ตรวจลึกบัญชีเดิม-เข้มเปิดบัญชีใหม่ ระงับรายบุคคล

ธปท. ยกระดับมาตรการจัดการบัญชีม้า ตรวจลึกบัญชีเดิม-เข้มเปิดบัญชีใหม่ ระงับรายบุคคล

13 มิถุนายน 2024


วันที่ 13 มิถุนายน 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จัดงานแถลงข่าว ยกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน โดยนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน นางสาวดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน และนางสาวอโรรา อุนนะนันทน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงปัญหาภัยทุจริตทางการเงินว่า ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในการดำเนินการสำคัญ ได้แก่ การออกพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 โดยมีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งเพื่อจัดการบัญชีม้าที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรับเงินและถ่ายโอนเงินจากการกระทำผิด และแลกเปลี่ยนเส้นทางเงินเพื่อสนับสนุนการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ อีกทั้ง พรก. ยังได้กำหนดโทษเอาผิดกับบัญชีม้าให้ชัดเจนขึ้น

“ในการจัดการเรื่องนี้ ธปท.ได้พยายามในรูปแบบครบวงจร ไม่ว่าเป็นการป้องกันโดยการตรวจจับ และในการรับมือ ในการป้องกันมิจฉาชีพ ตัวอย่างก็คือ การงดส่งลิ้งค์เว็บของสถาบันการเงินผ่าน SMS หรือ อีเมล เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเจาะข้อมูลผ่านขบวนการที่ทำให้เกิดการทุจริตได้ มีการให้ยืนยันตัวตน ผ่านไบโอเมตริกซ์ มีการจำกัด 1 บัญชีต่อ 1 โมบายแบงกิ้งในแต่ละธนาคารในหนึ่งอุปกรณ์ เป็นต้น” นายรณดลกล่าว

ส่วนการตรวจจับได้ทำให้รวดเร็ว ตรวจสอบบัญชีธุรกรรมต้องสงสัยให้มีการรายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร็วและทันการณ์ที่สุด และยังมีการตอบสนองให้ทันท่วงที หาช่องทางให้มีการติดต่อ ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นมาตรการที่นำมาใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566

นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกับธนาคารที่เกี่ยวข้อง ทั้งการพัฒนาโมบายแบงกิ้งให้ทันสมัย ป้องกันแอปดูดเงินรูปแบบใหม่ ๆ ส่งผลให้จำนวนผู้เสียหายลดลงบ้าง ส่วนความร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น google แจ้งเตือนเมื่อลงแอปนอก store ที่หมิ่นเหม่ว่าจะหลอกลวง

ที่สำคัญที่สุด การร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะการดำเนินการตาม พรก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ซึ่งหนึ่งในเรื่องนี้คือ การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC สายด่วน1441) รับแจ้งเหตุและระงับธุรกรรมต้องสงสัย มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเส้นทางการเงินผ่านระบบ Central Fraud Registry (CFR) เพื่อสนับสนุนการทำงานของตำรวจในการสืบสวนสอบสวนและอายัดบัญชีผู้ต้องสงสัย

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดบทลงโทษบัญชีม้าให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยการเปิด/ขาย/ให้เช่า/ให้ยืม มีโทษจำคุก 3 ปี หรือปรับ 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สวนการเป็นธุระจัดหา/โฆษณา จำคุก 2-5 ปี หรือปรับ 200,000-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นโทษที่รุนแรงขึ้น

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา การจัดการกับบัญชีม้ายังมีข้อจำกัด จากการหลอกลวงที่มีรูปแบบหลากหลายขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีใหม่มากขึ้น ความเท่าทันในเรื่องต้องมีความสำคัญมากขึ้น ความเสียหายในรูปแบบต่างๆยังสูง

ในครั้งนี้ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงร่วมกันยกระดับการจัดการบัญชีม้าให้เข้มงวดขึ้น เพื่อให้ธนาคารป้องกันความเสี่ยงและแก้ไขปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ที่เกิดกับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะดูแลให้กระทบประชาชนผู้สุจริตน้อยที่สุด

นางสาวดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ชี้แจงเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ยังรุนแรงต่อเนื่อง เกิดการหลอกลวงรายใหม่เข้ามาเรื่อยๆ โดยจำนวนคดีหลอกลวงสะสมในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสูงถึง 540,000 คดี โดย 40% เป็นการหลอกลวงเรื่องการซื้อของ แต่การหลอกโอนเงิน หลอกให้กู้เงิน หลอกลงทุนหรือแอปดูดเงินประมาณ 60% หรือประมาณ 300,000 คดี

ความเสียหายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีจำนวนกว่า 63,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นความเสียหายจากการหลอกลงทุน

ในช่วง 1 ปี (มี.ค.66 –เม.ย.67)การตรวจจับบัญชีม้าสามารถตรวจจับและอายัดบัญชีได้เกือบ 200,000 บัญชี และกว่า 30% เป็นบัญชีเปิดใหม่ เพื่อใช้ในการหลอกลวงโดยเฉพาะ ซึ่งการตรวจจับทำได้ค่อนข้างยาก เพราะบัญชีหนึ่งมีการส่งต่อกันมา 5 ทอด

นับตั้งแต่มีการใช้พรก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 สถาบันการเงินและธนาคารได้มีการปฏิบัติตามพรก. แต่มีประเด็นข้อกังวลทางกฎหมายบางด้านที่ทำให้การใช้ข้อมูล การแลกเปลี่ยน ไม่สามารถใช้ไปในการตรวจจับได้ ในเชิงการป้องกัน และหากชัดเจนแล้วว่าเป็นบัญชีม้าก็ระงับได้เพียง 3-7 วันตามพรก.ฯ ประกอบการการปฏิบัติของแต่ละธนาคารก็แตกต่างกันส่งผลให้เกิดการเวียนบัญชี แม้บัญชีถูกระงับจากธนาคารหนึ่งแล้วก็สามารถไปเปิดบัญชีกับธนาคารอื่นได้

“จึงเป็นที่มาว่าการจัดการบัญชีม้าต้องกระชับมากขึ้น ป้องกันไม่ให้หมุนวนเวียนไปเปิดบัญชีกับธนาคารอื่น โดยเฉพาะบัญชีม้าที่ถูกระบุชัดเจนแล้ว” นางสาวดารณีกล่าว

การยกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน ประกอบด้วยมาตรการ 2 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1: การยกระดับการจัดการบัญชีม้า โดยปรับจากการดำเนินการระดับ “บัญชี” เป็นระดับ “บุคคล” รวมถึงการจัดการบัญชีต้องสงสัยได้เร็วขึ้น และดำเนินการเข้มข้นขึ้นทั้งบัญชีในปัจจุบันและการเปิดบัญชีใหม่ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1) การกวาดล้างบัญชีม้าในระบบ ด้วยการจัดการทุกบัญชีในทุกธนาคารของเจ้าของบัญชีต้องสงสัย โดยธนาคารจะใช้ข้อมูลจาก 3 แหล่ง ได้แก่ (1) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) (2) ระบบข้อมูล Central Fraud Registry (CFR) และ (3) ข้อมูลบัญชีที่ธนาคารตรวจสอบว่ามีพฤติกรรมต้องสงสัย เช่น บัญชีที่โอนเงินเข้า-ออกมูลค่าน้อยในเวลาสั้น ๆ หลายครั้งก่อนมีเงินโอนเข้า-ออกมูลค่าสูง เพื่อจัดระดับความเสี่ยงในการดำเนินการกับบัญชีเหล่านั้น ซึ่งทุกธนาคารจะมีมาตรฐานเดียวกัน เช่น การระงับการใช้บัญชีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทันที พิสูจน์ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามระดับความเสี่ยง ซึ่งจะทำให้การกวาดล้างบัญชีม้าทำได้ครอบคลุมและรวดเร็วขึ้น

2) การเพิ่มความเข้มงวดในการเปิดบัญชีใหม่ให้กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีพฤติกรรมผิดปกติ เพื่อป้องกันการเกิดบัญชีม้าใหม่ โดยธนาคารจะตรวจสอบความเสี่ยงของลูกค้าจากฐานข้อมูล 3 แหล่งข้างต้น หากพบลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูงมาเปิดบัญชี ทุกธนาคารต้องดำเนินการตามระดับความเสี่ยงด้วยมาตรฐานเดียวกัน เริ่มตั้งแต่ต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับเข้มข้น ไม่ให้เปิดบัญชีผ่านช่องทางออนไลน์ ให้เปิดบัญชีแบบมีเงื่อนไขไม่ให้ใช้บริการผ่านช่องทาง mobile banking ไปจนถึงการปฏิเสธไม่ให้เปิดบัญชีทุกช่องทาง ทั้งแบบออนไลน์และที่สาขา

ในการนี้ ธปท. ได้ออกหนังสือเวียน เรื่อง การเพิ่มความเข้มงวดในการจัดการบัญชีเงินฝากหรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ในกรณีลูกค้ามีความเสี่ยงสูงหรือใช้บัญชีที่มีลักษณะหรือพฤติกรรมผิดปกติ เพื่อให้ธนาคารนำข้อมูลรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงในระบบ CFR มาใช้ข้ามธนาคาร เพื่อดำเนินการกับบัญชีต้องสงสัยได้ครอบคลุมและรวดเร็ว รวมทั้งเป็นมาตรฐานเดียวกัน

“เดิมเมื่อรู้บัญชีของธนาคารไหนก็ระงับแค่ธนาคารนั้น ต่อไปนี้จะระงับเป็นรายชื่อบุคคลไม่ว่าจะเปิดบัญชีที่ธนาคารไหนก็ตาม ถ้าชัดเจนว่าอยู่ในเส้นทางการเงิน ทุกบัญชีของบุคคลนั้นจะถูกระงับ บัญชีม้าเดิมก็จะถูกกวาดล้าง บัญชีใหม่ก็จะเปิดยาก” นางสาวดารณีกล่าว

กลุ่มที่ 2: การมีผลิตภัณฑ์หรือบริการเพิ่มเติมเพื่อดูแลธุรกรรมของลูกค้าให้ปลอดภัยมากขึ้น

ธปท. กำหนดให้ธนาคารมีผลิตภัณฑ์หรือบริการเพิ่มเติมเพื่อดูแลให้ลูกค้าใช้บริการดิจิทัลได้ปลอดภัยขึ้น ได้แก่ การล็อควงเงินที่ห้ามทำธุรกรรมออนไลน์ โดยการปลดล็อควงเงินดังกล่าวให้ทำได้ยากขึ้น และ/หรือการปรับลดวงเงินต่อครั้งในการสแกนใบหน้าการทำธุรกรรมบน mobile banking ต่ำกว่า 50,000 บาท นอกจากนี้ ธนาคารแต่ละแห่งจะเสนอบริการเพื่อดูแลลูกค้าเพิ่มเติมได้ เช่น การโอนเงินที่อาศัยบุคคลอื่นช่วยอนุมัติ (double authorisation) การโอนเงินเฉพาะรายชื่อที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ซึ่งจะเริ่มเห็นการให้บริการตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2567

ธปท. มุ่งหวังว่ามาตรการครั้งนี้ จะช่วยจำกัดเส้นทางเดินเงินของกลุ่มมิจฉาชีพและดูแลให้ประชาชนใช้บริการทางการเงินได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะติดตามประเมินผลของมาตรการ รวมถึงพร้อมปรับเปลี่ยนมาตรการให้เท่าทันกับภัยรูปแบบใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบการเงินดิจิทัล ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่มั่นคงและยั่งยืนของประเทศต่อไป