ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > ธปท.ชี้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปัจจุบัน 1-3% ทำหน้าที่ได้ดี

ธปท.ชี้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปัจจุบัน 1-3% ทำหน้าที่ได้ดี

26 มิถุนายน 2024


Monetary Policy Forum ครั้งที่ 2/2567 ของธปท. โดย(จากซ้าย) นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงินและ เลขาคณะกรรมการนโยบายการเงิน และนายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน

วันที่ 26 มิถุนายน 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้จัดงาน Monetary Policy Forum ครั้งที่ 2/2567 โดย นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงินและ เลขาคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน และนางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยชี้ว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปัจจุบัน 1-3% ทำหน้าที่ได้ดี ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าปีก่อนแต่การฟื้นตัวไม่เท่าเทียม ทั้งในมิติสาขาเศรษฐกิจ มิติกลุ่มอาชีพ และกลุ่มผู้ประกอบการ

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงินและ เลขาคณะกรรมการนโยบายการเงิน กล่าวว่า เช้าวันนี้ธปท.ได้เผยแพร่รายงานการประชุมนโยบายการเงินฉบับย่อ ของการประชุมครั้งล่าสุด(วันที่ 12 มิถุนายน 2567 ) และ Monetary Policy Forum ครั้งนี้จะได้อธิบายสิ่งที่คณะกรรมการกนง.มองในการประชุมครั้งที่แล้วและที่ผ่านมา

นายปิติกล่าวว่า เศรษฐกิจที่คณะกรรมการมองมี 3 ช่วง ช่วงแรก คือ ช่วงตั้งต้นในปลายปีที่แล้วเป็นช่วงที่เศรษฐกิจขยายต่ำกว่าในอัตราที่คาด โดยมีสาเหตุหลายประการ ไม่ว่าด้านการคลัง การส่งออก ช่วงที่สอง คือ ช่วงในตอนนี้ที่เร่งสปีด กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัว ซึ่ง ณ จุดนี้ฟื้นตัวมาได้ระดับหนึ่ง ทั้งไตรมาสแรกและไรมาสที่สอง เป็นช่วงของเศรษฐกิจขยายตัวเร่งขึ้นจากฐานที่ต่ำ ช่วงที่สาม คือ ปลายปีนี้และต้นปีหน้า เป็นช่วงที่เศรษฐกิจจะโน้มเข้าสู่ระดับศักยภาพในหลายมิติ ไม่ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และภาวะการเงินโดยรวม

ในภาพรวมมีความแตกต่างค่อนข้างเยอะในมิติสาขาเศรษฐกิจ ในมิติกลุ่มอาชีพ และกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดใหญ่และขนาดเล็ก

“เศรษฐกิจที่ผ่านมาจุดตั้งต้นต่ำ เร่งตัวขึ้น และค่อยๆโน้มเข้าสู่ศักยกภาพ ในภาพรวมเราคิดว่าเศรษฐกิจไทยก็ถือว่าฟื้น แต่ไม่ได้มองว่า เศรษฐกิจดีในภาพใหญ่ ตัวที่เป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจที่เราเผชิญ ปัจจัยเชิงโครงสร้าง การกระจายรายได้ ก็เป็นประเด็นที่ต้องแก้ไขกันต่อไป เรามองภายใต้โครงสร้างข้อจำกัดที่เรามี” นายปิติกล่าว

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงินและ เลขาคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)

เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่เท่ากันทั้งมิติภาคอุตสาหกรรม-สาขาอาชีพ-ผู้ประกอบการ

นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าปีก่อน โดยคาดว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวได้ 2.6% และปีหน้าคาดการณ์ไว้ที่ 3% โดยหลักๆมีแรงสนับสนุนมาจากอุปสงค์ในประเทศ และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง และเริ่มเห็นสัญญานการฟื้นตัวในภาคผลิตและภาคส่งออกบางหมวด แต่ยังมีความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า ต้องติดตามพัฒนาการต่อไป

“ประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจคือ 2.6%ในปีนี้จาก 1.9% และ 3% ในปีหน้า โดยหลักมาจากภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นมาที่ 35.5 ล้านคนในปีนี้และ 39.5 ล้านคนในปีหน้า ซึ่งดีขึ้นทั้งจำนวนและค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปของนักท่องเที่ยว” นางปราณีกล่าว

อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ คือ การบริโภคภาคเอกชน ที่ดีขึ้นจากรายงานนโยบายการเงินครั้งก่อน จากข้อมูลจริงในไตรมาสแรกที่ดีกว่าคาด การบริโภคยังมากจากกลุ่มรายได้สูง และกระจุกตัวในภาคบริการ ขณะที่การใช้จ่ายสินค้าคงทน กลุ่มยานยนต์ไม่ได้ดีเท่าการบริโภคในภาคอื่นๆ

นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.

แรงส่งอีกด้านมาจากการใช้จ่ายภาครัฐ เนื่องจากมีการเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐหลังพ.ร.บ.งบประมาณผ่านความเห็นชอบ ซึ่งเปไปตามคาด อย่างไรก็ดีต้องติดตามการส่งออก การผลิต ที่ยังขยายตัวในระดับต่ำในปีนี้ ซึ่งปัจจัยหลักยังมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ความสามารถในการแข่งขันที่ทำให้คาดว่า การส่งออกจะทยอยดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปีจากความต้องการสินค้าโลกที่ปรับขึ้นและจากวัฏจักรอิเล็กทรอนิคส์ที่กลับมา แต่ไทยอาจได้ประโยชน์ไม่มากนัก เนื่องจากไทยไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเทคโนโลยีสูง อย่าง ชิป AI นอกจากนี้บางสินค้ายังเผชิญการแข่งขันจากจีนที่เพิ่มขึ้นด้วย

“ในครั้งนี้เราประเมินว่าสินค้ากลุ่มยานยนต์มีความกดดันจากความต้องการในต่างประเทศที่ชะลอลง โดยคาดว่าปีนี้ การส่งออกจะขยายตัว 1.8% ปีหน้าอยู่ที่ 2.6% มองไปข้างหน้า เครื่องยนต์ต่างๆของเศรษฐกิจจะสมดุลขึ้น การใช้จ่ยภาครัฐและการส่งออกสินค้า” นางปราณีกล่าว

หมวดสินค้าที่การส่งออกยังขยายตัวได้ คือ อิเล็กทรอนิคส์ที่ไม่รวม HDD การส่งออกเพิ่มขึ้นตามการส่งออกชิ้นส่วนโทรคมนาคม โดยมีการขยายการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และคาดว่าในช่วงปลายปีจะค่อยๆดีขึ้นตามวัฏจักรอิเล็กทรอนิคส์ของโลก สำหรับหมวดสินค้าที่การส่งออกยังขยายตัวแต่มีแรงกดดันเพิ่มเติม คือ หมวดยานยนต์และโซลาร์เซลล์ อุปสงค์ในตลาดส่งออกเริ่มชะลอตัวลง โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ซึ่งต้องจับตา นอกจากนี้โซลาร์เซลล์อาจจะได้รับแรงกดดันจากมาตรการตอบโต้ทางการค้า Anti-dumping หรือ Countervailing Duty

ส่วนหมวดที่ยังหดตัว ซึ่งเป็นกลุ่มที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างด้านความสามารถในการแข่งขัน ทั้ง เครื่องนุ่งห่ม ปิโตรเคมี ในกลุ่มเครื่องนุ่งห่มปัญหาก็คือ ไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนได้ และมีสินค้านำเข้าจากจีนมาแข่งขันเพิ่มเติม สอดคล้องกับการปิดโรงงาน ส่วนปิโตรเคมีได้รับผลกระทบจากความต้องการนำเข้าจากจีนลดลง และปริมาณการผลิตส่วนเกินของจีนยังถูกนำเข้ามาในไทย

สถานการณ์การส่งออกที่ติดลบในปีที่แล้ว และขยายตัวในระดับต่ำปีนี้ ทำให้มีปริมาณสินค้าคงเหลือในภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหลายหมวด ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมติดลบ 6 ไตรมาสติดต่อกัน แต่ก็เริ่มมีสัญญานว่าจะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว การฟื้นตัวระยะข้างหน้าก็ยังค่อยเป็นค่อยไป

ในภาคการผลิตกลุ่มที่ยังขยายตัวได้ดี กลุ่มอาหารเครื่องดื่ม ปิโตรเลียม เครื่องปรับอากาศ ที่ทยอยดีขึ้นตามอุปสงค์ที่ดีขึ้น และสินค้าคงคลังทยอยลดลง กลุ่มยานยนต์มีแนวโน้มลดลง เป็นผลจากปัจจัยเชิงวัฏจักรและปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ต้องแข่งขันกับสินค้าจากจีนที่มีการผลิตส่วนเกิน โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า(EV)

ส่วนกลุ่มที่มีปัญหาเชิงโครงสร้างคือสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มและเหล็ก แม้ใีแนวโน้มจะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แต่การผลิตยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา

โดยภาพรวมการส่งออก การผลิตถือว่ามีสัญญานที่ดีขึ้น ดีกว่าปีก่อน แต่การฟื้นตัวของแต่ละหมวดไม่ได้เท่ากัน

แรงงาน 6.3 ล้านคนอยู่ในภาคการผลิตที่เผชิญปัจจัยเชิงวัฏจักรและเชิงโครงสร้าง

จากการฟื้นตัวของแต่ละภาคเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากัน ส่งผลต่อการฟื้นตัวของรายได้ของแรงงานในแต่ละ sector แตกต่างกัน โดยนางปราณีกล่าวว่า การจ้างงานโดยรวมยังดี นำโดยกลุ่มที่อยู่ในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยว ทั้งการค้า โรงแรม ร้านอาหาร กิจกรรมนันทนาการและอื่นๆ ขณะที่การจ้างงานในบางเซ็กเตอร์ต่ำลงอย่างชัดเจน มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ยากจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง หากผู้ประกอบการไม่ปรับตัว

“ที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบการหลายรายปรับตัวและปรับไลน์การผลิต มีการผลิตสินค้าที่มีคุณค่าสูง(high-value product) มากขึ้น เพื่อหนีตลาดที่ต้องแข่งขันที่ต้องแข่งกับจีน บางรายที่ปรับไลน์การผลิตไม่ได้ ก็มีความพยายามลดต้นทุนละนำเทคโนโลยีมาใช้ ก็หวังว่าจะเห็นการปรับตัวของทุกเซ็กเตอร์ที่เผชิญปัญหาโครงสร้างอยู่” นางปราณีกล่าว

สำหรับจำนวนคนที่อยู่ในกำลังแรงงาน ซึ่งพบว่าจาก 40 ล้านคนที่อยู่ในกำลังแรงงาน มีจำนวนถึง 6.3 ล้านคนอยู่ในภาคการผลิตที่กำลังเผชิญปัจจัยเชิงวัฏจักร และปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ผ่านมาอาจจะมีรายได้ที่แย่กว่ากลุ่มอื่นที่อยู่ในภาคบริการ ซึ่งบางส่วนที่อยู่ในภาคการผลิตที่มีปัจจัยเชิงวัฏจักรและปัญหาเชิงโครงสร้าง อาจจะส่งผลกระทบทางอ้อม spillover ไปสู่ภาคบริการบางส่วน โดยเฉพาะภาคการค้า เช่น ร้านค้าที่อยู่รอบโรงงานอาจจะซบเซาไปด้วย

“โดยรวมการจ้างงานยังดีขึ้นต่อเนื่องหลังจากช่วงโควิด โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากภาคบริการ ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการบริโภคในประเทศได้ แต่ในภาพย่อยในบางเซ็กเตอร์ ต้องติดตามพัฒนาการการปรับตัว การปรับโครงสร้างการผลิต

นอกจากนี้ การฟื้นตัวยังแตกต่างกันในเชิงกลุ่มอาชีพ พื้นที่ และกลุ่มรายได้ ซึ่งส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่และความเชื่อมั่น

นางปราณีกล่าวว่า ผู้ประกอบอาชีพอิสระในภาคอีสานฟื้นตัวช้ากว่าภาคอื่นๆ โดยเฉพาะที่อยู่ในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง สิ่งทอ รับเหมาก่อสร้าง และขนส่งผู้โดยสาร นอกจากนี้ความเชื่อมั่นกระจุกอยู่ใน กทม. และปริมณฑล / ภาคกลาง และผู้บริโภคกลุ่มรายได้ปานกลางถึงสูง โดยความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่เหนือระดับ 50

เมื่อแยกความเชื่อมั่นผู้บริโภคแยกตามกลุ่มรายได้ ผู้บริโภคกลุ่มรายได้ปานกลางถึงสูง ยังความเชื่อมั่นอยู่เหนือระดับ 50 แต่ความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือนนั้นลดลง “จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในปีนี้ชะลอตัวลง กลุ่มผู้บริโภคหลักยังเป็นกลุ่มรายได้ปานกลางถึงสูง”นางปราณีกล่าว

นางปราณีกล่าวว่า โดยสรุปภาพเศรษฐกิจ ในภาพใหญ่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าปีก่อน โดยปีนี้อยู่ที่ 2.6% ปีหน้า 3% แต่การฟื้นตัวแตกต่างกันในหลายมิติ ทั้งภาคการผลิตอุตสาหกรรมเทียบกับภาคบริการ หรือมิติการจ้างงานในเชิงพื้นที่ ดังนั้นต้องติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด

กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปัจจุบันที่ 1-3% ทำหน้าที่ได้ดี แม้ในช่วงที่เงินเฟ้อสูง

นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยรายได้ไตรมาสมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบป้าหมายในไตรมาสสี่ของปีนี้ แต่เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือนมีการปรับขึ้นปรับลง เดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 1.5% เดือนมิถุนายนก็คาดว่าจะลดต่ำลงเล็กน้อยในระดับ 1% ต้นๆ หลังจากนั้นอาจจะต่ำกว่า 1% เล็กน้อยเป็นผลจากเดือนพฤษภาคม 2566 ที่มีมาตรการช่วยเหลือค่าไฟมากเป็นพิเศษ

ในระยะต่อในไตรมาสที่สี่ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไปเงินเฟ้อจะกลับสูงกว่า 1% ทิศทางเงินเฟ้อในระยะต่อไปมีแนวโน้มที่จะเป็นไปตามคาด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย โดยจะเห็นได้ว่า แม้ในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อสูง เช่น เดือนสิงหาคม 2565 ที่เงินเฟ้อทั่วไปแตะระดับสูงสุดที่ 8% หลังจากนั้นใช้เวลาไม่ถึง 7 เดือนเงินเฟ้อก็กลับมาอยู่ในกรอบได้ “ส่วนหนึ่งมาจากกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปัจจุบันทำหน้าที่ได้ค่อนข้างดี ถ้าดูจากงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลาง ค่อนข้างจะทรงตัวที่ 2% เป็นสัญญานว่าในแง่การดำเนินนโยบายการเงินและเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางค่อนข้างดี”

สำหรับภาวะการเงินและเสถียรภาพระบบการเงิน นายสุรัชกล่าวว่า ในแง่ปริมาณกลไกสินเชื่อทำงานได้ปกติในภาพรวม สินเชื่อธุรกิจโดยรวมไตรมาสหนึ่งขยายตัว 0.4% จากเดิมไตรมาสสี่ที่ -1.7% ขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวชะลอลงซึ่งต้องติดตามต่อไป สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสแรกขยายตัวประมาณ 1% ขณะที่ไตรมาสสี่ขยายตัวประมาณ 2%

ในแง่คุณภาพกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ (debt deleveraging) ดำเนินการต่อเนื่อง คุณภาพสินเชื่อด้อยลงบ้างตามที่ประเมินไว้ NPL ปรับขึ้นบ้างทั้งนี้ ต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนรายได้น้อยและธุรกิจ SMEs บางกลุ่ม

นายสุรัชให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สินเชื่อธุรกิจปล่อยใหม่สำหรับวงเงินที่มากกว่า 500 ล้านบาทในไตรมาสแรกปีนี้ดีขึ้น แต่สินเชื่อธุรกิจที่มีวงเงินน้อยกว่าหรือเท่ากับ 500 ล้านบาทค่อนข้างที่จะทรงตัว ส่วนคุณภาพสินเชื่อโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ปรับแย่ลงบ้าง โดยสินเชื่อจัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention : SM)และNPLของสินเชื่อธุรกิจเพิ่มขึ้นบ้าง

สินเชื่อภาคครัวเรือนชะลอลง ส่วนหนึ่งสอดคล้องกับ กระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ (debt deleveraging) โดยสินเชื่อเช่าซื้อและบัตรเครดิตชะลอลงกว่าประเภทอื่น “ส่วนหนึ่งมาจาก credit risk ของผู้กู้สูงขึ้นและส่วนหนึ่งสอดคล้องกับการลดหนี้กำลังเกิดขึ้น” ขณะที่ NPL ของสินเชื่อเช่าซื้อทรงตัวในระดับค่อนข้างสูง “ซึ่งเป็นสัญญานว่าเริ่มทรงตัวไม่ได้ปรับสูง”

ด้านการดำเนินนโยบายการเงิน นายสุรัชกล่าวว่า โดยหลักแล้วการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินในภาพรวมต้องผสมผสานเครื่องมืออย่างเหมาะสม เนื่องจากธนาคารกลางมีหลายเปห้ามาย และต้องพิจารณาที่มาของปัญหาด้วย ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด อีกทั้งลดการพึ่งพาเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งมากเกินไปจนสร้างผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำเกินไป การก่อหนี้ก็เร่งขึ้น แม้ว่าจะช่วยการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นบ้าง แต่แน่นอนว่ามีผลข้างเคียงที่ต้องติดตาม และกันชนที่เราต้องใช้ในเวลาจำเป็นก็หมดไป”

“อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ ระดับปัจจุบัน ถือว่าสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มกลับสู่กรอบเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาสสี่ เป็นต้นไป และกระบวนการ debt deleveraging ก็เกิดขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเราประเมินว่า ณ ระดับดอกเบี้ยปัจจุบันน่าจะเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพในระยะยาว” นายสุรัชกล่าว

นายสุรัชกล่าวว่า เป้าหมายของนโยบายการเงินมี 3 ข้อด้วยกัน คือ การรักษาเสถียรภาพราคา เงินเฟ้อระยะปานกลาง การเติบโตของเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพการเงินลดความเสี่ยงเชิงระบบ

นโยบายการเงินเป็นเครื่องมือหลักที่จะรักษาสมดุลในระบบเศรษฐกิจมหภาค เช่น ตลาดเงินตราต่างประเทศมีความผันผวนไม่สอดคล้องกับพื้นฐาน ก็มีเครื่องมือที่จะนำไปใช้ได้ แต่อัตราดอกเบี้ยก็มีบทบาทสำคัญเหมือนกันในการที่สร้างบริบท ภาวะแวดล้อมที่จะทำให้การใช้เครื่องมือเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“โดยเฉพาะในช่วงปัจจุบันที่ส่วนต่างดอกเบี้ยอยูในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันเป็นส่วนเสริมสร้างเสถียรภาพและเสริมสร้างประสิทธิภาพในการใช้เครื่องมือด้วย” นายสุรัชกล่าว

นอกจากนี้คณะกรรมการฯ สนับสนุนมาตรการของ ธปท. ในการดำเนินมาตรการเฉพาะจุดผ่านสถาบันการเงิน โดยเฉพาะปัญหาหนี้ครัวเรือน จึงพยายามเน้นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด คือ ปรับโครงสร้างหนี้ และ ปิดจบหนี้เรื้อรังสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยการปรับโครงสร้างหนี้สะสมของระบบสถาบันการเงิน ไตรมาส 1 ปี 2567 มีจำนวนรวม รวม 3.7 ล้านบัญชี รวมมูลค่าภาระหนี้ 9.2 แสนล้านบาท

นายสุรัชกล่าวถึง กลยุทธ์การดำเนินนโยบายการเงิน ว่า ดอกเบี้ยนโยบายมีหน้าที่สำคัญ 2 ข้อ คือ ข้อแรก ดูแลให้เศรษฐกิจเศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน เงินเฟ้อระยะปานกลางอยู่ในกรอบเป้าหมาย ลดการสะสมความเสี่ยงในระบบการเงิน และ ข้อสอง สามารถรองรับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจกระทบแนวโน้มเศรษฐกิจ (robust policy) ไม่ว่าด้านบวกหรือด้านลบ เช่น การใช้จ่ายภาครัฐ นโยบายเศรษฐกิจการเงินของประเทศหลัก และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ “อัตราดอกเบี้ยที่ 2.5% ถือว่าค่อนข้างสมดุลรองรับความเสี่ยงด้านบวกและด้านลบ ช่วยลดความเสี่ยงในการที่จะ reverse policy ถ้ามีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น”

  • ธปท. ย้ำดอกเบี้ยระดับปัจจุบันเป็น “robust policy” รองรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้า
  • โดยสรุป คณะกรรมการฯ มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี และพร้อมที่จะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจและพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า

    นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท.

    การกำหนดเงินเฟ้อที่ไม่คำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานคือทำนโยบายที่ค้านปัจจัยพื้นฐาน

    ในช่วงถามตอบได้มีคำถามว่า เหตุการณ์หรือเงื่อนไขในลักษณะไหนที่เกิดขึ้นก่อนที่แบงก์ชาติจะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงเกินไปแล้วควรจะปรับลง

    นายปิติกล่าวว่า กนง.มองว่า ภาพเศรษฐกิจในไตรมาสสาม ไตรมาสสี่และต้นปีหน้า โน้มเข้าสู่ศักยภาพ ต้องดูว่าจุดยืนในขณะนี้เป็นจุดยืนที่ neutral การปักหมุดหมายที่เป็นกลางสอดคล้องกับสมมติฐานศักยภาพของเศรษฐกิจในระดับหนึ่งอยู่ สิ่งที่คณะกรรมการจะพิจารณาคือว่า เมื่อภาพชัดขึ้น ศักยภาพที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆนั้น ว่า ศักยภาพที่คิดไว้กับที่เป็นเปลี่ยนไปหรือไม่

    ตอนนี้ไม่ใช่ว่านโยบายการเงินจะมาเสริมหรือกระตุ้นเศรษฐกิจหรือฉุดรั้งเศรษฐกิจ แต่ในช่วงที่สมดุลนโยบายการเงินก็เป็นกลาง ถ้ามี shocks อีก การที่จะปรับหรือไม่ปรับดอกเบี้ย ขึ้นอยู่กับภาพตรงนั้น ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจว่าจะไปกับดอกเบี้ยเท่าไร แต่ถ้ามี shocks อะไรเข้ามาไม่ว่าเศรษฐกิจเร่งขึ้น จากการใช้จ่ายที่สูงขึ้นมากหรือด้านลบที่ส่งออกแย่มาก ก็ประเมินใหม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเกิดอะไรขึ้น

    คำถามต่อมากรอบเงินเฟ้อของไทยเทียบกับประเทศอื่น ของไทยต่ำกว่ากลุ่มประเทศ Emerging Market และกรอบด้านล่างของไทยแทบจะต่ำที่สุดในโลก และเงินเฟ้อระดับกลางที่ 2% ก็จะเท่ากับประเทศเศรษฐกิจพัฒนา เหตุผลที่กรอบเงินเฟ้อของไทยไม่ใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศเดียวกัน

    คำถามติดกัน เงินเฟ้อของไทยย้อนหลังสิบปีค่อนข้างต่ำมากทำให้มีเีสียงวิจารณ์ว่านโยบายการเงินของไทยเข้มงวดเกินไปหรือไม่ ทำให้เงินเฟ้อต่ำ และอาจฉุดรั้งเป้าหมายการเติบโตที่ต้องการให้สูงขึ้น ขอให้ธปท.อธิบาย

    นายปิติตอบว่า เงินเฟ้อในดุลยภาพจะเป็นเท่าไรจะไม่ค่อยเกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจนัก เศรษฐกิจจะโต 2% 5% 7% สามารถรองรับเงินเฟ้อทีเท่าไรก็ได้ 1% หรือ 2% ก็ได้ ในภาพใหญ่เงินเฟ้อเป็นตัวรองไม่ได้เป็นตัวกำหนดปัจจัยพื้นฐานการแข่งขันทางศักยภาพของเศรษฐกิจ แต่ระดับเงินเฟ้อที่แต่ละธนาคารกลางกำหนดไว้ เพื่อให้ระดับเงินเฟ้อเอื้อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามศักยภาพ ไม่เป็นอุปสรรค และเมื่อเงินเฟ้อสูง พอสูงเกินไปก็จะมาพร้อมกับความแกว่ง ความผันผวนค่อนขางเยอะโดยธรรมชาติ ทำให้การวางแผนของทุกคนยากขึ้นด้วย “นี่คือหลักๆข้อแรกที่ไม่อยากให้เงินเฟ้อสูงเกินไป ถ้าสูงเกินไปความผันผวนมาเยอะด้วย ข้อที่สอง การโอนย้ายความมั่งคั่งระหว่างคนหลายอย่างในระบบเศรษฐกิจยึดโยงกับระดับราคาที่ไม่ได้คำนึงถึงเงินเฟ้อ”

    นายปิติยกตัวอย่าง ภาษีที่รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท ก็จะจ่ายภาษีในอัตราหนึ่ง แต่หากรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 50,000 บาทก็จะจะจ่ายภาษีในอีกอัตราหนึ่ง กรอบนั้นยึดโยงกับระดับราคา แต่หากเงินเฟ้อสูงขึ้นไปเรื่อยๆ รายได้ 30,000 บาท อาจจะเป็น 30,000 บาท ก็ได้ แต่ในความเป็นจริงคือ 30,000 บาท เท่าเดิมแต่กรอบภาษีไม่ได้ปรับไปด้วย เงินเฟ้อที่สูงสร้างการบิดเบือนในบางมิติด้วย

    “เงินเฟ้อที่ต่ำมาของไทยในอดีต ไม่ได้แปลกประหลาด ในบริบทโลก 20 ปีที่ผ่านมาคล้ายกับปัจจุบัน ถามว่าทำไมเงินเฟ้อโลกต่ำ เงินเฟ้อไทยต่ำ หนึ่ง ก็คือจีนเข้ามาในระบบการค้าโลกเมื่อ 20 ปีก่อนและตอนนี้กำลังเกิดขึ้นอีกระลอกหนึ่ง จะเห็นชัดเจนว่ามีแรงกดดันสินค้าบางหมวดหมู่ให้อยู่ในระดับที่ต่ำทั้งสินค้าอุตสาหกรรม คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีที่ดีขึ้นด้วย ดังนั้นเงินเฟ้อโลกต่ำ อัตราเงินเฟ้อไทยก็ต่ำไปด้วย อัตราเงินเฟ้อประเทศเพื่อนบ้านก็ต่ำไปด้วย ประเทศเพื่อนบ้านที่เงินเฟ้อสูง เขามองว่าเป็นปัญหา เขาอยากให้ต่ำกว่านี้ แต่มีแรงกระแทกหรือ shocks ที่ทำให้เขาไม่สามารถปรับกรอบให้ต่ำลงได้” นายปิติกล่าว

    นายปิติกล่าวต่อว่า “ถ้าเรากำหนดเงินเฟ้อโดยที่ไม่คำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานที่กำลังผลักดันราคาในบางประเภท ก็ทำให้เรากำหนดนโยบายที่ค้านกับตัวปัจจัยพื้นฐาน” โดยยกตัวอย่างว่า ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ถ้าอยากจะให้เงินเฟ้อขึ้นไปสู่ 2-3% ในเมื่อสินค้าโลกลงค่อนข้างเยอะ ดอกเบี้ยต่ำมากๆ ก็ต้องปรับขึ้นราคาสินค้าหมวดหมู่อื่นเพื่อทดแทนหมวดหมู่ที่ลดลง ราคาอาหาร ราคาเฟอร์นิเจอร์สูงขึ้นเพื่อชดเชยราคาทีวีที่ลดลง ตัวอย่างนี้ก็จะสร้างปัญหาอีกแบบหนึ่ง ก็ต้องยึดโยงกับเทรนด์ที่เผชิญด้วย

    “ที่ผ่านมาดูว่า 1-3% และใน 20 ปีที่ผ่านมาเงินเฟ้อเฉลี่ย 2% ก็ค่อนข้างจะสอดคล้องกับสิ่งที่เหมาะสมกับประเทศไทย”นายปิติกล่าว

    นายสุรัชอธิบายเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่เงินเฟ้อแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ต้องดูว่าอะไรเป็นองค์ประกอบหลัก ตอนนี้ที่มีการพูดถึงกันเยอะคือ ค่าใช้จ่ายเรื่องบ้าน ค่าเช่า อย่างสหรัฐ ค่าเช่าค่อนข้างสูงประมาณ 4.5% เงินเฟ้อค่าเช่าของไทยอยู่ที่ 0.2% เท่านั้น ต่างกันมาก สาเหตุก็คือ ตลาดในประเทศก็ไม่เหมือนกัน ตลาดสหรัฐมีข้อจำกัด แต่ของไทยมีปริมาณในด้านการเช่าค่อนข้างมาก

    ในแง่ต้นทุนการก่อสร้างก็เช่นเดียวกัน ราคาวัสดุก่อสร้างตั้งแต่ปี 2553 เดิม เหล็ก ปูน ค่อนข้างสูง แต่ระยะหลังค่อนข้างทรงตัว ก็มองว่า น่าจะเป็นเรื่องของจีนหรือไม่ “เป็นเรื่อง input market ที่แต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อของไทยปรับลดลง disinflation ได้เร็วใน 7 เดือน ขณะที่ของสหรัฐมีลักษณะค่อนข้าง stickiness(ลดลงได้ค่อนข้างยาก) ค่อนข้างสูง “

    นายปิติกล่าวเสริมว่า นโยบายการเงินไม่ได้เป็นประเด็นที่ทำให้เงินเฟ้อต่ำ กนง.ไม่ได้กำหนดดอกเบี้ยเพื่อดึงให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ต่ำ เงินเฟ้อที่ต่ำมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างบ้าง และมาจากปัจจัยที่เป็น shocks ชั่วคราวบ้าง demand pull ที่เป็นเงินเฟ้อของไทยก็ไม่เปนประเด็นที่เห็นได้ชัดมากในช่วงที่ผ่านมา

    คำถามต่อมา ในกรณีที่ผู้ประกอบการยานยนต์ระบุว่า ธนาคารให้สินเชื่อน้อยลงจึงมีผลต่ออุตสาหกรรมซึ่งมีแรงงานและมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องจำนวนมาก ทำให้การผลิตและการจำหน่ายลดลงมาก

    นายปิติตอบว่า ภาคยานยนต์ปัจจุบันประสบความท้าทายที่หนักหน่วงในหลายปีที่ผ่านมา แต่ถามว่าต้นตอของปัญหาอยู่ที่ไหน สินเชื่อของยานยนต์ลดลง การปฏิเสธสินเชื่อมีมากขึ้น แต่ไม่ได้เกิดด้วยตัวมันเอง การอนุมัติสินเชื่ออาจจะเข้มขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต เท่าที่สอบถามผู้ประกอบการและการพูดคุยกับธนาคารพาณิชย์ “มาตรฐานสินเชื่อโดยรวมไม่ได้เปลี่ยน ที่เปลี่ยนคือคุณภาพของลูกหนี้ที่จะมาขอกู้แย่ลง ก็มีการปฏิเสธอาจจะมีมากขึ้น เป็น credit risk ที่สูงขึ้น”

    ประการที่สอง ราคารถ ภาคอุตสาหกรรมกำลังถูกกดดัน ราคารถมือสองค่อนข้างจะซบเซา ทำให้มี segment ที่เมื่อคนซื้อรถใหม่ก็ฌอารถเก่าไปเทิร์น เพื่อให้ได้เงินแล้วเอาส่วนนี้ไปซื้อรถ ราคารถมืองสองที่ตกต่ำทำให้ต้องใส่เงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อรถใหม่ได้ ทำให้ความสามารถในการซื้อรถใหม่น้อยลง ในขณะเดียวกันก็มีรถ EV เข้ามาดิสรัปตลาดค่อนข้างเยอะ ราคาถูกจึงสร้างความลำบาก นอกจากนี้ได้มีการเร่งปล่อยสินเชื่อรถไปพอสมควรก่อนหน้านี้

    นางปราณี การแข่งขันของรถ EV ได้มีการปรับลดราคาลดมาค่อนข้างมาก ทั้งในตัวรถและแบตเตอรี ผู้ที่มีกำลังซื้อก็อาจจะรอเพื่อดูว่า ราคารถจะลงอีกหรือไม่ หรือประเมินราคารถที่ซื้อวันนี้จะเป็นเท่าไรเมื่อขายออกในวันหน้า จึงเป็นช่วงที่ค่อนข้างท้าทายพอสมควรสำหรับอุตสาหกรรม