รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

เว็บไซต์ Asia.nikkei.com รายงานว่า อ่าวฮาลองทางตอนเหนือของเวียดนาม ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดกว่างนินห์ เป็นแหล่งมรดกโลกที่มีชื่อเสียง ในปี 2023 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือน 2.6 ล้านคน หรือ 21% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดของเวียดนาม
แต่กว่างนินห์มีโฉมหน้าอีกอย่างหนึ่งที่คนทั่วโลกไม่รู้จัก คือเป็นจังหวัดที่มีเงินลงทุนจากต่างประเทศสูงสุดในเวียดนาม มากกว่าฮานอยหรือนครโฮจิมินห์ เพราะนักลงทุนกระจายห่วงโซ่อุปทานโลกออกจากจีน ปี 2023 กว่างนินห์ได้รับเงินลงทุนต่างประเทศมูลค่า 3.1 พันล้านดอลลาร์ (108,500 ล้านบาท) ในปี 2024 คาดว่าเงินลงทุนต่างประเทศจะมากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ เป็นปีที่สองติดต่อกัน
“โมเดลเติบโต” แบบเก่า ไม่ได้ผลแล้ว
แต่เมื่อเร็วๆนี้ หนังสือพิมพ์ New York Times เสนอบทรายงานเรื่อง ประเทศยากจนกำลังเขียน “คู่มือใหม่” ของเส้นทางสู่ความร่ำรวย (Poor Nations Are Writing a New Handbook for Getting Rich) นับเป็นเวลากว่า 50 ปีมาแล้ว ที่หนังสือคู่มือสำหรับประเทศกำลังพัฒนาว่าจะเติบโตอย่างไรให้มั่งคั่งขึ้นมานั้นแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย คือการเคลื่อนย้ายชาวนาจากภาคการเกษตรมาสู่อุตสาหกรรมการผลิต แล้วส่งออกสินค้าที่ผลิตได้ขายในตลาดโลก
หนังสือคู่มือดังกล่าวที่ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน นำไปปรับปรุงให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจตัวเอง กลายเป็นจักรกลที่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ช่วยดึงประชาชนหลายร้อยล้านคน หลุดออกมาจากความยากจน สร้างงานมหาศาลขึ้นมา และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนจำนวนมาก
เสือเศรษฐกิจเอเชียและจีนประสบความสำเร็จ เพราะการรวมปัจจัยความสำเร็จหลายอย่างเข้าด้วยกัน เช่น มีปริมาณแรงงานที่ค่าแรงต่ำจำนวนมาก การเข้าถึงเทคโนโลยีเงินทุนต่างประเทศ และผู้ซื้อในตลาดต่างประเทศ ส่วนรัฐบาลทำหน้าที่ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการศึกษา วางกฎระเบียบที่เป็นมิตรต่อธุรกิจ พัฒนาหน่วยงานรัฐที่มีความสามารถ และสนับสนุนอุตสาหกรรม ที่เริ่มต้นขึ้นมา
บทรายงานของ New York Times กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น ห่วงโซ่อุปทานก็เปลี่ยนไป และวิกฤติความขัดแย้งของมหาอำนาจกลายเป็นปัจจัยที่กำหนดแบบแผนการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ ทำให้มีการตั้งข้อสงสัยเพิ่มมากขึ้นว่า การพัฒนาอุตสาหกรรม จะสร้างความมหัศจรรย์ด้านการเติบโตเศรษฐกิจ เหมือนในอดีตได้หรือไม่ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ มีความหมายสำคัญมากต่อประเทศกำลังพัฒนา
การพัฒนาอุตสาหกรรมอาจจะไม่ได้สร้างผลกระทบที่สำคัญต่อเศรษฐกิจเหมือนกับในอดีต โรงงานในปัจจุบันหันไปอาศัยเทคโนโลยีอัตโนมัติมากกว่าแรงงานไร้ฝีมือที่ไม่ได้รับการพัฒนาทักษะ Dani Rodrik นักเศรษฐศาสตร์การพัฒนาของฮาร์วาร์ด กล่าวว่า “คุณไม่มีทางที่จะสร้างงานได้มากพอ สำหรับแรงงานส่วนใหญ่จำนวนมาก ที่มีการศึกษาไม่มาก”
ส่วนกระแสโลกาภิวัตน์ก็กำลังเปลี่ยนไป จากเดิมเคยเป็นแรงผลักดันให้ธุรกิจตัดสินใจว่า จะผลิตที่ไหนก็ได้และขายที่ไหนก็ได้ แต่ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนกลับส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ว่าจะลงทุนที่ไหนและส่งออกไปที่ไหน ธุรกิจต้องการห่วงโซ่อุปทาน ทั้งที่มีความมั่นคงในการผลิตกับต้นทุนต่ำ และก็มองหาประเทศที่เป็นมิตรทางการเมือง เพื่อผลิตสิ่งเหล่านี้
Dani Rodrik กล่าวอีกว่า “ในยุคใหม่ โมเดลการพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งประเทศที่ร่ำรวยทุกประเทศ ล้วนเคยอาศัยโมเดลนี้กันมาแล้วทั้งสิ้น อาจจะไม่สามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่รวดเร็วและยั่งยืนอีกแล้ว” แต่โมเดลใหม่ที่จะมาแทนก็ยังไม่ชัดเจน
ผลกระทบต่อชาติยากจน
หากอุตสาหกรรมไม่สามารถสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจให้สูงและอย่างยั่งยืน จะมีผลกระทบต่ออนาคตของประเทศกำลังพัฒนา ที่จะก้าวไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูง การค้นหาหนทางไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เพราะการเติบโตเศรษฐกิจจะกำหนดชะตากรรมของประเทศกำลังพัฒนา ที่มีประชากร 85% ของโลก สิ่งนี้ทำให้คนยากจนสามารถยกฐานะตัวเอง ออกจากความยากไร้ ปรับปรุงมาตรฐานความเป็นอยู่ สุขภาพและการศึกษา
การเติบโตทางเศรษฐกิจจึงเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุด ในการลดความยากจน หากมองไปที่แผ่นที่โลก แล้วถามว่า พื้นที่ไหนของโลกที่มีความยากจน คำตอบง่ายที่สุดคือประเทศที่มีการเติบโตเศรษฐกิจน้อยที่สุด นอกจากนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจยังสามารถขจัดปัญหาความยากจนได้ภายในระยะเวลาที่ไม่นาน
การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนนับจากปี 1980 เป็นต้นมา ทำให้คนจีน 800 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจนที่รุนแรง คือคนที่เคยมีรายได้ต่ำกว่าวันละ 1 ดอลลาร์ แต่การเติบโตก็ไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด ทว่า จะช่วยให้สังคมสามารถปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคม รวมทั้งคนที่มีฐานะต่ำสุด

“โมเดลใหม่” ของการเติบโต
รายงานของ New York Times กล่าวว่า หากโมเดลการพัฒนาอุตสาหกรรมไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตรวดเร็วและยั่งยืนแล้ว ทางออกอาจจะอยู่ที่ภาคบริการ อย่างเช่นการเติบโตของเมืองเบนกาลูรู หรือบังกาลอร์เดิมของอินเดีย ปัจจุบันเป็นศูนย์กลางไฮเทค บริษัทยักษ์ใหญ่จำนวนมากเข้าไปตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการ” (operation hub) ที่ทำหน้าที่เรื่องระบบบัญชี การออกแบบผลิตภัณฑ์ การพัฒนาระบบความปลอดภัยไซเบอร์ และปัญญาประดิษฐ์
บริษัทที่ปรึกษา Deloitte คาดการณ์ว่า ใน 2-3 ปีข้างหน้า งานด้านศูนย์ปฏิบัติการต่างๆ จะจ้างงานถึง 5 แสนคน เดิมเบนกาลูรูเป็นที่ตั้งของบริษัทไฮเทคของอินเดีย เช่น Tata Consultant Service, Wipro และ Infosys บริษัทผู้ผลิตชิปอเมริกา AMD เพิ่งประกาศตั้งศูนย์ออกแบบตัวชิปที่ใหญ่สุดของโลกที่เมืองนี้
ทุกวันนี้ 2 ใน 3 ของผลผลิตในโลกมาจากภาคบริการ งานบริการมีตั้งแต่คนเตรียมอาหาร คนขับรถเก็บขยะ ไปจนถึงนักออกแบบตัวชิป นักออกแบบกราฟิก พยาบาล วิศวกร และนักบัญชี
Richard Baldwin วิทยาลัยธุรกิจ IMD ของสวิสกล่าวว่า “เราต้องก้าวออกจากความคิดแบบเดิมเรื่องขั้นตอนการพัฒนา คือจากไร่นาสู่โรงงาน และจากโรงงานสู่สำนักงาน” เป็นไปได้ที่จะก้าวกระโดดมาสู่ภาคบริการ และส่งออกไปขายบริการแก่ธุรกิจทั่วโลก สิ่งนี้มีส่วนทำให้อินเดียเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 5 ของโลก
จาก “โมเดลบังกาลอร์” ประเทศอาจเน้นการพัฒนาไปที่เมือง มากกว่าอุตสาหกรรมใดหนึ่ง การเพิ่มขึ้นของคนชั้นกลางในเมือง จะดึงธุรกิจและแรงงานเข้าในเมืองมากขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาที่หลากหลาย
แต่หลายประเทศยังเน้นการสร้างอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก และเห็นว่ายังเป็นหนทางสู่การเป็นประเทศมั่งคั่ง ซึ่ง Justin Yifu Lin คณบดีสถาบัน New Structural Economวิทยาลัยปักกิ่ง และเคยเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารโลก มีความเห็นว่า ยังเป็นวิธีการที่ถูกต้อง ทัศนะที่มองในแง่ร้ายต่อโมเดลการพัฒนาแบบเดิม เพราะมีความเชื่อที่ผิดๆ ว่า กระบวนการเติบโตของเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแบบอัตโนมัติ เช่น ขจัดอุปสรรคการทำงานของกลไกตลาดได้แล้ว การเติบโตจะเกิดขึ้นมาเอง
ต้องกลับไปหา “พื้นฐาน”
ในหนังสือ Straight Talk on Trade Dani Rodrik เสนอไว้ว่า สำหรับประเทศกำลังพัฒนา ปัจจัยพื้นฐานที่เป็นกุญแจสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมี 3 อย่าง คือ (1) แรงงานมีทักษะและการศึกษา (2) สถาบันสังคมและธรรมาภิบาล มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (3) การเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากการผลิตที่มีผลิตภาพต่ำไปสู่ผลิตภาพสูง อย่างเช่นการผลิตด้านอุตสาหกรรม
ประเทศเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ที่มีการเติบโตสูง เพราะมีการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่ดำเนินมานานหลายสิบปี ความก้าวหน้าในเรื่องการศึกษาและสถาบันต่างๆ ของสังคม ช่วยสนับสนุนประเทศเหล่านี้ ให้พัฒนาไปสู่สังคม ที่ไม่แตกต่างจากสังคมที่ก้าวหน้าอื่นๆ
แต่ไม่ว่าจะใช้แนวทางการไหน ที่จะทำเศรษฐกิจเติบโตขึ้นมา คำถามสำคัญที่สุดยังอยู่ที่ว่า อุตสาหกรรมหรือบริการนั้น สามารถสร้างลักษณะการเติบโตทางเศรษฐกิจในแบบที่ประเทศกำลังพัฒนามีความต้องการเป็นอย่างมากได้หรือไม่ คือ การเติบโตที่มีลักษณะกระจายกว้างขวาง มีขนาดใหญ่ และมีความยั่งยืน
ในยามที่ปัจจัยทางภูมิศาสตร์และความขัดแย้งของมหาอำนาจ มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการค้าและการลงทุน ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องหันไปอาศัย “ปัจจัยพื้นฐาน” (fundamentals) ของการเติบโตมากขึ้น คือการศึกษาของแรงงาน และการสร้างสถาบันของสังคมให้มีคุณภาพ
Dani Rodrik กล่าวสรุปว่า ประเทศที่มีการพัฒนาสั่งสมเรื่องทักษะทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง และธรรมภิบาลมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น อาจจะไม่เติบโตสูง แต่จะเติบโตอย่างมั่นคง มีความเสี่ยงน้อยกว่าที่จะเกิดวิกฤติ และในที่สุด มีโอกาสมากที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศที่เจริญแล้ว
เอกสารประกอบ
Vietnam’s tourism hot spot becomes foreign investment hub, April 28, 202, asia.nikkei.com
Poor Nations Are Writing a New Handbook for Getting Rich, 2 April 2024, nytimes.com
Straight Talk on Trade, Dani Rodrik, Princeton University Press, 2018.