
เลขาธิการ กบข. พร้อมขับเคลื่อนกองทุนให้มั่นคง หวังสร้างผลตอบแทนที่ดีให้สมาชิก เพื่อให้สมาชิกมี “Freedom for Living” เกษียณมีสุข ไร้ความกังวล ภารกิจแรกทบทวนความเพียงพอของเงินเกษียณ และศึกษาทางเลือกรับผลตอบแทน วางรากฐานการบริหารกองทุนให้มั่นคง
วันที่ 23 พฤษภาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)ได้จัดแถลงข่าว เผยวิสัยทัศน์ โดยนายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 สามารถบริหารเงินลงทุนได้ผลตอบแทนจากการลงทุนมากกว่า 3% เนื่องจากการลงทุนในต่างประเทศที่เต็มสัดส่วน 60% นั้นส่วนใหญ่ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง คือ ตราสารหนี้ และลงทุนในสินทรัพย์โภคภัณฑ์มากขึ้น คือ น้ำมัน และ ทองคำ ซึ่งช่วยรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนจากสถานการณ์ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ หรือสงครามได้ดี ขณะที่การลงทุนในประเทศ 40% ในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ก็ให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ นอกจากนี้กบข.ยังได้ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โดยโรงแรมในภูเก็ตบริษัทไทยที่อยู่นอกตลาด และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIT ยังให้ผลตอบแทนที่ดี
สำหรับผลการดำเนินงานปี 2566 กบข. สามารถสร้างผลตอบแทนแผนหลักได้ 1.46% (หลังหักค่าใช้จ่าย) โดยได้รับผลดีจากการลงทุนทั้งในและต่างประเทศในตราสารหลากหลายประเภท และการจัดการติดตามการลงทุนอย่างใกล้ชิด
“ผลตอบแทนในปีนี้น่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา และไม่น่าจะต่ำกว่า 1.46% แต่ก็ไม่ได้ขยายตัวสูงมาก เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงอีก 2-3 เรื่องที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ปีนี้ไปจนถึงปี 2569 เพื่อปรับกลยุทธ์การลงทุนในระยะสั้นได้ทันการณ์ ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งผลจากการเลือกตั้งใหญ่ของสหรัฐต่อการค้า อัตราดอกเบี้ย และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” นายทรงพลกล่าว
กบข. ได้กำหนดแผนงานวางรากฐานการบริหารกองทุน ในการขับเคลื่อน กบข. ให้เป็นกองทุนที่มีความมั่นคง สร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีในระยะยาว มากกว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 ปี บวก 2% ต่อปี และเพิ่มระดับความไว้วางใจของสมาชิกที่มีต่อ กบข. เพื่อให้สมาชิกมุ่งสู่การมี “Freedom for Living เกษียณมีสุข”
“การสร้างอัตราผลตอบแทนบนจากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 ปี บวก 2% ต่อปี เป็นอัตราอ้างอิง(benchmark) เพื่อให้สมาชิกกบข.มีเงินเพียงพอในการใช้จ่ายยามเกษียณ แต่จะเป็นเม็ดเงินเท่าไรขึ้นอยู่กับแผนลงทุนของสมาชิกแต่ละราย รวมทั้งไลฟ์สไตล์”
โดยภารกิจแรกที่จะดำเนินงาน คือ การทบทวนความเพียงพอของเงิน ณ วันเกษียณ โดยเพิ่มตัวแปรหนี้สิน การมีอายุยืนยาวของคนไทย และระดับความเพียงพอของสมาชิกแต่ละกลุ่มอาชีพเข้ามาศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้ระดับความเพียงพอมีค่าเป็นปัจจุบันมากที่สุด และนำผลศึกษามาปรับปรุงแผนการจัดสรรการลงทุนของ กบข.
ทั้งนี้ประมาณการค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตหลังเกษียณที่ได้จากการสำรวจในปี 2565 จากสมาชิกกบข. ที่เกษียณอายุ 60-70 ปีพบว่า ค่าใช้จ่ายรายเดือนหลังเกษียณในระดับพอเพียงอยู่ที่ 17,815-22,615 บาท
ภารกิจที่สอง คือ การศึกษาเพิ่มทางเลือกในการรับผลตอบแทนรูปแบบอื่นให้กับสมาชิก โดยทางเลือกในการรับผลตอบแทนรูปแบบอื่นออกแบบสำหรับส่วนเพิ่มเงินออมที่สมาชิกเพิ่มเติมจากภาคบังคับ เนื่องจากความต้องการของสมาชิกในการออมเพิ่มนั้นอาจมีลักษณะผลตอบแทน อาทิ ต้องการรับเงินปันผลระหว่างทาง ต้องการทางเลือกในการออมเพิ่มเติม และอาจรวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น สิทธิ์ในการใช้บริการ Retirement Home & Care เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ และอาจต้องมีการปรับปรุงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ นอกจากนี้ เนื่องด้วยการเพิ่มขึ้นของกลุ่มประชากรสูงวัย (Aging Society) จะมีส่วนในการปรับปรุงการลงทุนในอนาคตด้วย
ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2567 กบข.มีสมาชิกจำนวน 1.2 ล้านคนและบริหารเงินลงทุนรวม 1.35 ล้านบาท รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน 3% เท่ากับสมาชิกที่ออมในอัตรา 3% ส่วนสมาชิกที่ออมเพิ่มด้วยตัวเองยังมีน้อย
นายทรงพล กล่าวว่า กบข.จะมองหาโอกาสในการสร้างผลตอบแทนเพื่อตอบโจทย์สมาชิกและสังคมสูงวัย เช่น การสร้างที่อยู่อาศัยรองรับข้าราชการวัยเกษียณ (Retirement Complex) ซึ่งกบข.เองได้ลงทุนในอาคารสำนักงาน และโรงแรมอยู่แล้ว คาดว่าในปีนี้จะสามารถสรุปแผนลงทุนที่ได้ลงนามร่วมลงทุนกับองค์กรการลงทุนเพื่อบริหารทุนสำรองของบรูไนดรุสซาลาม (Brunei Investment Agency : BIA)ไปแล้ว รวมไปถึงการลงทุนในภาคเกษตรอุตสาหกรรม ธุรกิจเพื่อสุขภาพ ธุรกิจพลังงานสีเขียว และ ธุรกิจดาวน์สตรีมปิโตรเคมี และยังเปิดรับนักลงทุนรายใหม่ๆ เพิ่มเติม
อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดวงเงิน Retirement Complex เนื่องจากอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบและแนวทางการลงทุน” แต่อาจจะเป็นทางเลือกใหม่ให้สมาชิกกบข.ร่วมลงทุนแบบสมัครใจ เช่น ลงทุนคนละ 500 บาทต่อเดือน ถ้ามีคนสนใจ 1 ล้านคน 1 ปีก็จะเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท และเปิดรับนักลงทุนที่สนใจด้วย
นายทรงพล กล่าวว่า ปีนี้จะมีการทบทวนพอร์ตการลงทุนใหม่ในไตรมาส 3 ของปีนี้ ซึ่งเป็นการทบทวนตามรอบการลงทุนด้วยกลยุทธ์แบบ SAA (Strategic Asset Allocation)ทุก 3 ปี ซึ่งใีปนี้จะครบกำหนดในช่วงปลายปี เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะต้องขออนุมัติจากกระทรวงการคลัง นอกจากนี้จะศึกษาหาแนวทางในการเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่ายให้กับสมาชิก ควบคู่กับการเพิ่มทางเลือกการลงทุนใหม่ๆ ให้สมาชิกมากขึ้น
กบข. หรือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 เพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ ส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก และจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิก กบข. มีสถานะเป็นองค์กรของรัฐจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะไม่มีสถานะเป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีคณะกรรมการ กบข. เป็นผู้กำหนดนโยบาย