ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ > กลุ่มบริษัทบางจาก รายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2567 ขับเคลื่อนการเติบโตตามแผนควบรวมธรุกิจ

กลุ่มบริษัทบางจาก รายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2567 ขับเคลื่อนการเติบโตตามแผนควบรวมธรุกิจ

10 พฤษภาคม 2024


ข่าวประชาสัมพันธ์

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก

กลุ่มบริษัทบางจากรายงานผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2567 มีรายได้จากการขายและให้บริการ 135,382 ล้านบาท EBITDA 15,308 ล้านบาท มีกำไรสำหรับงวดส่วนของบริษัทใหญ่ 2,437 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.68 บาท กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมันสร้างสถิติใหม่ด้วยกำลังการกลั่นของ 2 โรงกลั่นมาตรฐานระดับโลกกว่า 271,700 บาร์เรลต่อวัน กลุ่มธุรกิจการตลาดมีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันรวมทุกช่องทางสูงถึง 3,541 ล้านลิตร ส่วนแบ่งการตลาดผ่านสถานีบริการเพิ่มขึ้น ในขณะที่กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ โดย OKEA ASA สร้างสถิติรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์จากปริมาณการผลิตและปริมาณการขายปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการรับรู้ผลการดำเนินงานของแหล่งผลิต Statfjord และแหล่งผลิต Hasselmus

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ของปี 2567 ว่า ได้รับประโยชน์จากการ synergy ระหว่างกันภายในกลุ่มบริษัทบางจากและการขับเคลื่อนการเติบโตตามแผนธุรกิจและเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมีรายได้จากการขายและการให้บริการ 135,382 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 68 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 คิดเป็น EBITDA รวม 15,308 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 48 จากไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 จากช่วงเดียวกันของปี 2566 และมีกำไรสำหรับงวดส่วนของบริษัทใหญ่ 2,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 จากไตรมาสก่อน คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.68 บาท

โดยในไตรมาส 1 ปี 2567 กลุ่มบริษัทบางจากได้เริ่มรับรู้ Synergy  จากผลการดำเนินงานแล้วประมาณ 1,500 ล้านบาท (ธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน ธุรกิจการตลาด โลจิสติกส์ และผลประโยชน์ร่วมกันผ่านการสนับสนุนด้านการบริหารงาน) โดยมุ่งมั่นที่จะผลักดันการทำ Synergy เพื่อบรรลุเป้าหมาย EBITDA Synergy (ก่อนหักภาษี) ไม่น้อยกว่า 2,500 ล้านบาทในปีนี้และไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปีในปีต่อๆ ไป คาดว่าจะสามารถทำ Single Linear Program (LP) ได้ภายในครึ่งปีหลังของปีนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการกลั่นได้ดียิ่งขึ้นอีก และปรับเปลี่ยนป้ายในสถานีบริการได้ทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ เมื่อช่วงต้นปี 2567 ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างหน่วยผลิต SAF แห่งแรกในประเทศไทยซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มผลิต SAF ได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2568 โดยได้มีการดำเนินการจัดหาวัตถุดิบหลักในการผลิตผ่านโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” การรับซื้อน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว และร่วมมือกับซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ในการจัดหาน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วมาสู่การผลิตและจำหน่าย (UCO-to-SAF)   ขณะที่ได้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับคอสโม ออยล์ และซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ในด้านการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ SAF

สำหรับไตรมาส 2 ของปี 2567 มีหลายประเด็นที่ต้องคอยจับตามอง ได้แก่ค่าการกลั่นที่ลดลงจากการชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อทั่วโลก การปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นพระโขนง และอุปสงค์ที่ลดลงตามฤดูกาล ซึ่งบริษัทฯ จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ควบคู่กับการบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและการทำงาน และจะเดินหน้าสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องสู่ทศวรรษที่ 5 ในปี 2567 ตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ โดยยึดมั่นในจุดยืนในการรักษาสมดุลในการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด “Greenovate to Regenerate สมดุลธรรมชาติ สรรค์พลังไม่สิ้นสุด” และร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions อย่างยั่งยืน

นางสาวภัทร์ภูรี ชินกุลกิจนิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบัญชีและการเงิน รายงานผลการดำเนินงานที่สำคัญในไตรมาสแรกของปี 2567 ของแต่ละกลุ่มธุรกิจ ดังนี้

  • กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน (โรงกลั่นพระโขนงและโรงกลั่นศรีราชา) มี EBITDA 4,404 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 สร้างสถิติใหม่ด้วยกำลังการกลั่นของ 2 โรงกลั่นน้ำมันมาตรฐานระดับโลกรวมกว่า 271,700 บาร์เรลต่อวัน ปัจจัยหลักมาจากโรงกลั่นศรีราชาสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเฉลี่ยมาอยู่ที่ 150,300 บาร์เรลต่อวัน (จากระดับ 119,300 บาร์เรลต่อวัน) ถือเป็นกำลังการผลิตเฉลี่ยรายไตรมาสที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ของโรงกลั่นศรีราชา  ขณะที่โรงกลั่นพระโขนง ยังคงรักษากำลังการกลั่นที่ระดับสูง 121,400 บาร์เรลต่อวัน  ทั้งนี้ในไตรมาส 1 ค่าการกลั่นพื้นฐานปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (จาก  4.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลจากไตรมาส 4 ปี 2566 มาเป็น 6.08 เหรียญสหรัฐฯ) และการรับรู้ Inventory Loss ลดลง ธุรกิจการค้าน้ำมันโดยบริษัท BCPT เติบโตจากการจัดหาน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ให้กับโรงกลั่นน้ำมัน 2 แห่ง และการเพิ่มช่องทางซื้อขาย รวมถึงการขยายธุรกิจไปยังประเทศใหม่ๆ ทำให้มีธุรกรรมการซื้อขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 จาก
    ไตรมาสก่อนหน้า
  • กลุ่มธุรกิจการตลาด มี EBITDA 1,899 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ด้วยปริมาณการจำหน่ายน้ำมันรวมทุกช่องทางสูงถึง 3,541 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 จากไตรมาสแรกปี 2566  เติบโตจากเครือข่ายสถานีบริการที่ครอบคลุม 2,217 สถานีทั่วประเทศ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กลยุทธ์การตลาดที่ผสานรวมอย่างมีประสิทธิภาพ และยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากสถานีบริการภายใต้การดำเนินงานของบริษัท บางจาก ศรีราชา จำกัด (มหาชน) (BSRC) ซึ่ง ณ ไตรมาส 1 ปี 2567 สถานีบริการภายใต้การบริหารของ BSRC ได้เปลี่ยนเป็นแบรนด์บางจากแล้วเสร็จ 332 สถานี ส่งผลให้แบรนด์บางจากมีภาพลักษณ์ที่แข็งแกร่งและมีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น สะท้อนจากยอดขายและส่วนแบ่งการตลาดผ่านสถานีบริการที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 29.2 (จากร้อยละ 28.8 ณ สิ้นปี 2566)
  • กลุ่มธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาด โดยบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) มีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสแรกปี 2567 มี EBITDA 1,411 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 66 จากไตรมาสแรกปี 2566
  • กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ โดยบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) มี EBITDA 284 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 จากไตรมาสแรกปี 2566 ปัจจัยหลักจากยอดขายที่สูงขึ้นจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของ BSRC
  • กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ มี EBITDA รวม 7,404 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 37 จากไตรมาสแรกปี 2566 สร้างสถิติรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์จากปริมาณการผลิตและปริมาณการขายปรับเพิ่มขึ้นจากการรับรู้ผลการดำเนินงานเต็มไตรมาสของแหล่งผลิต Statfjord ที่ OKEA ASA ได้เข้าถือกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่29 ธันวาคม 2566  และแหล่งผลิต Hasselmus ที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนตุลาคม 2566 อย่างไรก็ตาม Statfjord มีปริมาณการผลิตในปี 2567 น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้เกิดการตั้งด้อยค่าจากการลงทุนสุทธิกับรายการกลับรายการด้อยค่าของ Yme คิดเป็นขาดทุนจากการด้อยค่าหลังหักภาษีตามสัดส่วนประมาณ 366 ล้านบาท