ThaiPublica > คอลัมน์ > “จน เครียด ดูดพอต” ไลฟ์สไตล์วัยรุ่นไทยปัจจุบัน

“จน เครียด ดูดพอต” ไลฟ์สไตล์วัยรุ่นไทยปัจจุบัน

28 เมษายน 2024


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

ดูเหมือนว่า บุหรี่ไฟฟ้าจะกลายเป็นประเด็นขึ้นมาเป็นระยะ ตั้งแต่สถิตินักสูบหน้าใหม่ไปถึงข้อเสนอทางกฎหมายของพรรคการเมืองในรัฐสภา อย่างไรก็ตามบุหรี่ไฟฟ้าหรือ “พอต” เข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตวัยรุ่นจำนวนมาก พร้อมด้วยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ความสบายใจชั่วขณะกลายเป็นความกังวลของเงินในกระเป๋าระยะยาว บทความนี้ชวนผู้อ่านสำรวจไลฟ์สไตล์ใหม่ของวัยรุ่นไทยในยุคปัจจุบันที่เข้าสู่ภาวะจน เครียด ดูดพอต

“คนไม่ค่อยเชื่อว่า เราสูบบุหรี่ ตอนเด็ก ๆ พวกเด็กเฟี้ยว ๆ ชอบเอาบุหรี่มาฝาก คิดว่าฝากไว้กับเราจะปลอดภัย” ภาพลักษณ์เด็กสุภาพเรียบร้อยที่ผู้ให้สัมภาษณ์เคยเป็นในอดีต เล่าถึงความเป็นมาของตัวเองกับบุหรี่และพัฒนาการไปจนถึงบุหรี่ไฟฟ้า “เราเลิกดูดบุหรี่แบบตัว เลยมาดูดพอต หักดิบเอาเลย แต่บางคนก็ค่อย ๆ เฟดเอา” ผู้ให้สัมภาษณ์ใช้ชีวิตเคียงคู่กับอุปกรณ์สูบและพ่นควันมามากกว่าค่อนชีวิต แม้จะยังอยู่ในช่วงวัยรุ่น “บุหรี่แบบตัวดูดมา 13 ปี ตั้งแต่จบ ม.3 มีเพื่อนสูบบุหรี่ ตอนนั้นอายุ 15 เอาบุหรี่มาจากมือมันมาดูด จริงๆ ไม่ได้อยากสูบนะ ปัจจุบันเพื่อนคนนั้นก็เลิกสูบไปแล้ว” เช่นเดียวกันกับพฤติกรรมอื่น ๆ ในช่วงวัยรุ่น และเช่นเดียวกันกับวัยรุ่นรายอื่น ๆ ที่มีพฤติกรรมลองบุหรี่ครั้งแรก

“ความถี่มันไม่รู้ตัวนะ ช่วงวัยรุ่นต้องแอบสูบ ไม่ได้สูบต่อเนื่อง ยิ่งเสาร์อาทิตย์อยู่บ้านก็ไม่ได้สูบ แต่โรงเรียนแอบสูบได้ มันมีคอมมิวนิตี้ อยู่ในห้องน้ำกับเพื่อน แลกยี่ห้อกัน พออายุ 17 ปี ไปอยู่บ้านชาวแก๊งบีบอย สูบจัดเลยทีนี้” แม้จะเริ่มสูบตั้งแต่ช่วง ม.ต้น สำหรับผู้ให้สัมภาษณ์แล้ว ความพยายามเลิกบุหรี่ก็ปรากฏขึ้นหลังจากนั้นหลายปี “เชื่อว่า เป็นช่วงที่อยากเลิกบุหรี่ แต่รู้สึกว่า เลิกยาก เลยหาวิธีการ พอดีมีพี่เป็นเภสัช พี่ก็ให้ลูกอม พวกหมากฝรั่ง ลองดูแล้ว ไม่ช่วยเลย เลยหาวิธีอื่น ๆ จนไปเจอบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ได้ศึกษาอะไรมากนะ รู้แค่ว่า น่าจะช่วยทดแทนนิโคติน” สมมติฐานที่อาจไม่มีข้อสรุปทางการแพทย์กลายเป็นชิ้นส่วนสำคัญช่วยยืนยันให้วัยรุ่นจำนวนหนึ่งเลือกหันมาใช้ทางเลือกในการสูบ “ในจังหวัดมีช้อปให้ซื้อ เข้าถึงง่าย รับรู้ได้ทั่วไป ถึงจะผิดกฎหมาย Grab เลยไม่ค่อยส่ง”

“บุหรี่ 20 ตัวซองละ 80-90 บาท ถ้าสูบปกติ ก็ 3 วัน ไม่ก็ 2 วันถ้าใช้เยอะหน่อย พอเป็นบุหรี่ไฟฟ้า บางร้านก็ 100-120 หนึ่งหัวก็สูบได้หนึ่งวัน มันแพงกว่า ยิ่งพอเทียบกันแบบนี้ เราว่ามันแพงขึ้นนะ วัยรุ่นก็ไม่ได้เข้าถึงง่ายขนาดนั้น เวลาไปซื้อก็เจอคนวัยทำงาน ไม่ค่อยเจอวัยรุ่น หรือเขาอาจจะไปซื้อที่อื่น” ผู้ให้สัมภาษณ์เองยอมรับว่า ตนเองก็ไม่ได้มีสถานะทางเศรษฐกิจที่เพียงพอต่อการตัดสินใจซื้อบุหรี่ไฟฟ้าโดยง่าย

“ต้องหาวิธีลด เราก็คิดแหละ แต่เวลาเราจะเลิกอะไรมันรวนกับการใช้ชีวิต เช่น ต้องมีเงินเก็บประมาณนึง มีรถขับออกไปหากิจกรรมทำทดแทน ถ้ามันอยู่งี้แล้วไม่มีบุหรี่ไฟฟ้า มันทำงานยาก หลุดโฟกัส เราใช้ให้มันโฟกัสมากกว่า เครียดก็เครียดแหละ” เมื่อสอบถามเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าในฐานะอุปกรณ์ช่วยเพิ่มโฟกัส ผู้ให้สัมภาษณ์ขยายความว่า “ไม่รู้นิโคตินมันช่วยการโฟกัสหรือเปล่าด้วยซ้ำ มันหายใจเข้าพุทธ หายใจออกโท เหมือนได้อยู่คนเดียว ได้โฟกัส บางทีแก้งาน คิดไม่ออก พอสูบตัวนึงแล้วปิ๊งคิดออกเลย แต่เราอาจจะไม่เคยฝึกให้มีการคิดแบบอื่น เช่น ปิดคอม หลับตา นั่งสมาธิ มันเป็นความเคยชิน เหมือนใช้เพื่อจัดการอะไรบางอย่าง หลังใช้ก็รู้สึกว่า อารมณ์ดีขึ้นบ้าง ทำงานได้โฟลว์ขึ้น”

นอกจากนี้ เราอาจมองบุหรี่ไฟฟ้ากับวัยรุ่นในฐานะ New Aesthetic หรือสุนทรียะใหม่ที่เข้ามาเป็นภาพแทนความเท่ เรื่อยไปจนถึงความใส่ใจสุขภาพ (เมื่อเทียบกับบุหรี่แบบปกติ) “มันไม่มีกลิ่นเผาไหม้ ระหว่างสูบ หลังสูบ กลับไปในออฟฟิศมันเคลียร์กว่า สบายใจกว่าว่ากลิ่นไม่ติด ส่วนความเท่ เราเลยความรู้สึกนั้นมาแล้ว พอถึงจุดนึง ตอนนี้คือเราไม่อยากดูดบุหรี่ให้ใครเห็น ถ้าเทียบกับสมัยก่อนคืออยากดูดโชว์”

“ยิ่งจน ก็ยิ่งเครียด ตามสโลแกนนั่นแหละ มันแพง มันเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย คือ 100 นึงวันละหัว แล้วถ้าคนไม่ค่อยมีตังค์ ยิ่งเครียด ยิ่งต้องสูบ ก็ไม่จบวันละหัว ก็ต้องสองหัว สองร้อยละทีนี้” เมื่อกลับมาที่เศรษฐานะก็ดูเหมือนว่าจะสวนทางกับไลฟ์สไตล์ และคนจำนวนมากกำลังประสบกับชะตากรรมเช่นผู้ให้สัมภาษณ์

“พวกสื่อรณรงค์ เราว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ค่อยเห็น หรือเราไม่ได้อยากเลิกจริง ๆ เลยไม่ได้หาข้อมูลก็ไม่รู้ แต่นั่นแหละ โดยสรุปทั่วไป คือ ไม่เห็น แต่สื่อเลิกบุหรี่แบบตัว เราว่ามีผลนะ กับตัวเอง กับคนรอบ ๆ สื่อมันตอกย้ำกับสถานการณ์ที่เราเจอ เช่น สื่อพูดถึงผู้สูบมือสอง แล้วก็ flash back ว่าคนข้าง ๆ เราจะเป็นมะเร็งมั้ยอะไรยังไง ส่วนการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสำหรับเราก็เป็นเรื่องสุขภาพ”

“อย่างเวลาไปเที่ยวกับคนรอบข้าง หาที่สูบยากมาก ถ้าเป็นบุหรี่ตัว บางประเทศทิ้งขี้บุหรี่ ก็คิดอยู่ว่า จะติดคุกมั้ย แต่บุหรี่ไฟฟ้ามันแอบดูดในโรงแรมได้ ข้อแตกต่างอย่างหนึ่งคือ พอเปลี่ยนมาดูดไฟฟ้า แล้วไปโซนดูดบุหรี่ มันเหม็นบุหรี่นะ เราว่า กลิ่นเผาไหม้เราหายจากมันได้แล้ว” ปีเศษ ๆ แล้วที่ผู้ให้สัมภาษณ์สูบพอต เขากล่าวว่า พอครบปีนึงก็เหมือนเราเอาชนะบางอย่าง เหมือนเลิกกัญชาได้ การนับวันครบรอบ สำหรับเขาแล้ว คือการตั้งเป้าหมายสำคัญ

“ตอนนี้ก็ยังเอนจอยกับบุหรี่ไฟฟ้านะ บางฟีลลิ่งก็เอาความสุขนะ ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ความเป็นกลิ่นผลไม้ ชอบไอติมสตอเบอรี่ เหมือนป็อกกี้สตอเบอรี่ นอกนั้นก็โซน ๆ ผลไม้ พีช ลิ้นจี่ สดชื่นหน่อย ซึ่งบุหรี่ตัวค่อนข้างแตกต่างในทางความรู้สึก บุหรี่ตัวเหมือนเราขาดน้ำตาล แล้วได้กินน้ำตาลทั้งก้อน แล้วพบว่า เอ้ยมาแล้ว กลับมาแล้วชีวิต แต่บุหรี่ไฟฟ้ามันค่อย ๆ ชิล ๆ ให้ความรู้สึกต่างกัน แต่มันก็ทำให้สูบบ่อยขึ้น เพราะอย่างบุหรี่ตัวสูบแล้วมันปึ้ก ปึ้กเดียวแล้วจบเลย พอไม่มีกลิ่นเหม็น ก็เลยสูบบ่อยขึ้น เราว่ามันน่าจะทำให้คนติดมากกว่า เพราะสูบได้เรื่อย ๆ จนรู้สึกว่าถลำลึก”

ผู้ให้สัมภาษณ์ยังคงมีความพยายามเลิกบุหรี่ไฟฟ้า แม้จะเป็นครั้งที่เท่าไรแล้วก็ไม่สำคัญเท่าการมีเป้าหมาย “พยายามเลิกบ่อยนะ ไม่รู้กี่ครั้งแล้วหรอก แต่อยากเลิก ครั้งใหญ่คือได้เลิกบุหรี่ตัว ถ้าเรามองเป็นอันเดียวกันก็คือความต่อเนื่อง เราตั้งเป้าว่า ได้รถแล้วจะเลิก บนไว้ คิดไว้เล่น ๆ นะ”

ป้ายคำ :