เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ร่วมกับ Thairath Money จัดงานสัมมนา KKP Financial Talk: Money Master #เรื่องเงินอย่าปล่อยให้รู้งี้ เพื่อสร้างความรู้ให้ประชาชนมีความเข้าใจเรื่องการเงินมากขึ้นในทุกมิติ ทั้งการออม การใช้จ่าย และการลงทุน
นางสาวพัทนัย เหลืองตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสำนักสื่อสารองค์กรและการตลาด KKP กล่าวว่า ในยุคที่ความเสี่ยงและปัญหาทางการเงินมีมากขึ้นในสังคมไทย การมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการวางแผนจัดการเงิน รู้หา รู้เก็บ รู้ใช้ รู้ขยายดอกผล จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อให้ชีวิตแต่ละคนมีความมั่งคั่งและมีความสุขอย่างยั่งยืน
กลุ่ม KKP ตระหนักถึงบทบาทในสถานะของสถาบันการเงินที่อยู่คู่สังคมไทยมากว่า 5 ศตวรรษ มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญที่พร้อมแบ่งปันเพื่อสร้างทักษะการเงินให้แก่สังคม และได้มีโครงการเพื่อส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจ การสร้างวินัยการออม และการวางแผนจัดการการเงินมาตลอดอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดเกิดเป็นแคมเปญส่งเสริมความรู้ทางการเงิน #เรื่องเงินอย่าปล่อยให้รู้งี้ที่ KKP ร่วมมือกับ Thairath Money เพื่อมุ่งหวังให้คนไทยมีพื้นฐานทางการเงิน มีความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนการเงิน มีแรงบันดาลใจเพื่อเริ่มต้นเก็บออม ลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ รู้วิธีจัดการหนี้สินและแหล่งเงินทุนอย่างเป็นระบบ
ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นรากฐานต่อยอดไปสู่ความมั่งคั่ง รู้จักเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับเป้าหมายของตนเอง รู้จักใช้เครื่องมือการลงทุน การป้องกันความเสี่ยง การดูแลรักษาความมั่งคั่งของตนเอง ด้วยความมุ่งหวังให้ทุกคนมีความสุข มีอิสรภาพทางการเงิน และบรรลุเป้าหมายในชีวิต
นางสาวพัทนัยกล่าวด้วยว่า ในปัจจุบันยังมีคนที่ต้องเผชิญภาวะ Sandwich Generation หรือ “เดอะแบก” ในยุคที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังคงมีความท้าทาย ทำให้สังคมมีคนกลุ่มนี้มากขึ้นและเร็วขึ้น การเป็นเจอเนอเรชั่นเดอะแบกในยุคนี้จึงต้องเผชิญกับแรงกดดันมากขึ้นด้วย
“กลุ่ม KKP เชื่อมั่นว่าหากผู้ได้รับบทบาทเดอะแบกหรือผู้ที่กำลังจะเป็นเดอะแบกในอนาคต มีทักษะความรู้ทางการเงินการลงทุนที่ดี ย่อมเป็นตัวช่วยให้สามารถดูแลตัวเอง ครอบครัว และคนรอบข้างได้ดียิ่งขึ้น” นางสาวพัทนัยกล่าว
“Sandwich Generation” คือใคร ทำไมต้องแบก?
ทั้งนี้ ภายในงานมีการเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่อง “Sandwich Generation : เดอะแบกต้องรอด” โดยดร.ณชา อนันต์โชติกุล หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ KKP Research ให้นิยาม Sandwich Generation หรือเดอะแบก คือกลุ่มคนตรงกลางระหว่างคนสองเจนที่แบกภาระหาเงินมาเลี้ยงดูลูกหลานและพ่อแม่ที่แก่ชรา
แต่ปัจจุบันพบว่า คนที่เป็นเดอะแบกยุคนี้จะเหนื่อยหนักกว่ายุคที่ผ่านมา เพราะมีแรงกดดันจากการต้องหารายได้มาให้พอกับรายจ่ายและค่าครองชีพที่สูงขึ้นในครอบครัว ทั้งค่ากิน ค่าอยู่ ค่าเดินทาง ค่าเทอมลูก และค่ารักษาพยาบาลพ่อแม่ จนแทบไม่มีเวลาดูแลตัวเอง เกิดเป็นความเครียดสะสม มีภาระหนี้สิน มีปัญหาทางจิตใจ
ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่เติบโตต่ำลง และมีโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้รัฐบาลมีภาระในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ขณะที่คนวัยทำงานลดลง จากประชากรที่ลดลง ภาระภาษีที่ตกอยู่กับคนวัยทำงานก็จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
ดังนั้นในภาวะเช่นนี้ คนจะไม่ได้เป็นเดอะแบกเฉพาะแค่ครอบครัวตัวเอง แต่ยังต้องแบกเศรษฐกิจไทยเอาไว้ด้วย จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงกังวล หากไม่มี active income เข้ามาในยามเกษียณ หรือไม่รู้จักวางแผนทางการเงินที่ดี
จะเป็น “เดอะแบก” ไปอีกนานแค่ไหน
ถามว่าจะเป็นเดอะแบกไปอีกนานแค่ไหน? ดร.ณชากล่าวว่า ขึ้นอยู่กับจะมีอะไรมาเป็นตัวเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับไปโตสูงขึ้น หรือมีการกระจายการเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพดีพอ ที่จะทำให้ประชาชนช่วยกันกระจายการแบกได้มากขึ้น
แต่ความเป็นจริงในปัจจุบันคือ จำนวนประชากรไทยมีประมาณ 70 ล้านคน อยู่ในระบบแรงงานประมาณ 30 กว่าล้านคน อยู่ในระบบภาษีประมาณ 10 ล้านคน แต่มีคนที่ต้องจ่ายภาษีจริงๆ แค่ 4 ล้านคน ถือเป็นกลุ่มคนที่ต้องแบกรับโครงสร้างเศรษฐกิจแบบนี้เอาไว้
“ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง คนที่ไม่ต้องแบกก็อาจจะมี แต่คนส่วนใหญ่กว่าครึ่งประเทศไม่ได้มีรายได้หรือโอกาสทางสังคมสูง ดังนั้นสิ่งที่ตามมาจากการที่เศรษฐกิจเติบโตค่อนข้างช้า ก็คือโอกาสที่คนหนึ่งคนจะสามารถเลื่อนฐานะทางสังคมขึ้นมาได้นั้นมีน้อยลง”
“หมายความว่าเกิดมายังไง ยากจนยังไง ก็อาจจะจนไปตลอดชีวิตก็เป็นได้ เพราะโอกาสทางเศรษฐกิจไม่ได้มีมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเตรียมตัวยังไง จะปรับตัวเอง หรือมีวิธีคิดยังไงที่จะทำให้ก้าวข้ามหรือหลุดพ้นจากวงจรนี้ไปได้ด้วยตัวเอง” ดร.ณชากล่าว
ดร.ณชากล่าวด้วยว่า ปัจจุบันคนไทยยังมีความรู้ทางการเงินค่อนข้างน้อย เห็นได้จากตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นถึง 90% โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า คนไทยเป็นหนี้ครัวเรือนเร็วขึ้นตั้งแต่อายุยังน้อย ซ้ำยังเป็นหนี้เกินตัว และเป็นหนี้นานจนแก่ ซึ่ง 1 ใน 4 ของคนที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ยังเป็นหนี้เฉลี่ยคนละ 4 แสนกว่าบาท โดยเฉพาะการเป็นหนี้นอกระบบที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
ขณะที่การสำรวจของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า 30% ของคนไทยไม่มีเงินออมเพื่อการเกษียณ ส่วนอีก 50 กว่า% คือมีเงินออม แต่ไม่ถึง 2 แสนบาทสำหรับการเกษียณ จึงเป็นสิ่งที่น่ากังวลทั้งสำหรับกลุ่มเดอะแบกที่มีลูกและไม่มีลูก
“จากภาวะเศรษฐกิจที่โตช้า บวกกับโครงสร้างประชากรไทยที่สูงอายุ การมีความรู้ทางการเงินจึงสำคัญมาก ไม่อย่างนั้นมันจะนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ปลายทางที่เห็นชัดคือ มีหนี้สินพอกพูนไปเรื่อยๆ เงินเก็บในบั้นปลายก็จะมีปัญหา ถ้าหากเราไม่วางแผนตั้งแต่ตอนนี้” ดร.ณชากล่าว
ยิ่งออมเร็ว ยิ่งดี
ดร.ณชาแนะนำว่า ความรู้ทางการเงินเป็นทักษะที่สำคัญมากสำหรับชีวิตทุกคน ไม่จำเป็นต้องเรียนสูง แต่ขอให้มีความขวนขวาย ใฝ่รู้ และตระหนักว่าเป็นเรื่องสำคัญในชีวิต โดยเฉพาะเรื่อง “การเก็บออม” แม้เราจะมีรายได้สูงขึ้น แต่ภาระรายจ่ายก็สูงขึ้นตาม หรือสูงว่ารายรับก็ได้
ดังนั้นอย่าไปรอที่จะออม ยิ่งออมเร็ว ยิ่งดี และอย่ามัวรีรอที่จะศึกษาหาความรู้เรื่องการลงทุนเพื่อการบริหารการเงินให้ชีวิตของเราดีขึ้น
“ความเสี่ยงที่น่ากลัวที่สุด ก็คือ การไม่เริ่มเก็บออม แต่ข่าวดีก็คือ การเก็บออมเป็นเรื่องที่เราควบคุมได้ การออมไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครจะมาหลอกลวงเรา แต่มันขึ้นอยู่กับเราเองว่ามีวินัยเพียงพอหรือไม่ แล้วเราตัดสินใจลงทุน เริ่มเก็บออมตั้งแต่วันนี้หรือเปล่า” ดร.ณชากล่าว
ถามตัวเองว่าแบกไหวมั้ย อย่าปล่อยให้รู้งี้
นายถนอม เกตุเอม หรือ TaxBugnoms เจ้าของเพจให้คำแนะนำการวางแผนภาษีจัดการภาษี เล่าว่า จากการทำเพจ influencer ด้านการเงินพบว่าคนไทยสนใจเรื่องเงินมากขึ้น แต่มี 2 ปัญหาใหญ่คือ คนพยายามหาวิธีการที่ง่ายและเร็ว ซึ่งไม่มี และอีกปัญหาคือคนไม่เข้าใจว่าตัวเองต้องการอะไรและมีเป้าหมายการเงินอย่างไร
ดังนั้นสำหรับคำแนะนำคือ เริ่มต้นจากการสร้างสภาพคล่องของตัวเองในแต่ละเดือนซึ่งเป็นพื้นฐานการเริ่มต้นที่ง่ายที่สุด เช็กตัวเองว่ามีเป้าหมายการเงินอย่างไร และจะต้องเตรียมเงินเท่าไหร่หรือเตรียมอย่างไร ตลอดจนการควบคุมสิ่งที่ควบคุมได้เช่น วินัยทางการเงิน การรักษาสภาพคล่อง การเก็บเงินตามเป้าหมาย
รวมทั้งสื่อสารทำความเข้าใจสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้กับคนในครอบครัว เช่น ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บด้านสุขภาพ ซึ่งอาจบรรเทาได้ด้วยการป้องกันความเสี่ยงเช่นทำประกัน หรือเตรียมแผนสำรองไว้รองรับ worst case ที่อาจเกิดขึ้นให้ดีที่สุด
“ผมคิดว่าในสถานการณ์ sandwich generation เดอะแบกต้องรอด เราจะรอดกันไปได้ยังไง มีเรื่องให้คิดอยู่สองมุม มุมแรก คือ มุมที่เรามีเรื่องผิดพลาด ลงทุนผิด หรือเข้าใจเรื่องเงินตัวเองผิด เราควรจะต้องรู้ไว้
แต่อีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่องที่คุณไม่ไหว แล้วคุณกำลังแบกเขาอยู่ คุณควรจะสื่อสารให้ดี เพราะบางทีคุณอาจจะไม่รู้เลยว่าคนที่คุณแบกเขาอยู่ เขาอยากช่วยคุณมากๆ แต่ไม่รู้ว่าจะช่วยอย่างไร เพราะคุณไม่เคยบอกเขา
ฉะนั้นเรื่องหนึ่งที่ควรทำคือ อย่าให้คนที่คุณแบกอยู่พูดเหมือนกันว่าทำไมไม่บอกตั้งแต่แรก ทำไมปล่อยให้มาเป็นรู้งี้ เพราะบางทีเรื่องพวกนี้อาจจะดีขึ้นได้ ถ้าทุกครอบครัวสื่อสารเรื่องเงินกันตรงไปตรงมา ปราศจากอารมณ์ เพื่อจะได้หยุดวงจรเดอะแบกอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด” นายถนอมกล่าว
มุมมองเดอะแบกจาก “คน Gen Z”
นายปุริม รัตนเรืองวัฒนา หรือ ปลื้ม นักแสดง คนรุ่นใหม่ Gen Z ที่มีมุมมองการจัดการวางแผนการเงิน กล่าวว่า เดอะแบกในวัยของเขาน่าจะแบ่งได้ 4 ประเภท
ประเภทแรก คือ แบกตัวเอง แม้อายุ 20 ต้นๆ ยังไม่มีลูก แต่หางานทำยากขึ้น ลงทุนทำธุรกิจก็ยากขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตช้า
ประเภทที่ 2 คือ แบกภาระหนี้สินจากรุ่นพ่อแม่ ต้องบริหารจัดการเงิน กันรายได้ที่มีไปช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สินดังกล่าว
ประเภทที่ 3 คือ แบกรายจ่ายสุขภาพพ่อแม่ที่มีลูกช้า คนเป็นลูกจึงต้องมีเงินพอที่จะดูแลเรื่องสุขภาพของพ่อแม่
ประเภทที่ 4 คือ แบกญาติพี่น้องของรุ่นพ่อแม่ เช่น ลุง ป้า น้า อา ที่ไม่มีลูก เริ่มสูงอายุ และรายได้เริ่มหดหาย
“เดอะแบกในความหมายของผม คือการที่รายรับของคนๆ หนึ่งถูกแบ่งออกไปเป็นรายจ่ายของใครอีกหลายคน ซึ่งเราไม่ทันระวังวางแผน หรือไม่มีการจัดการการเงินที่ดีพอ เพราะต้องดูแลคนเต็มไปหมด แต่ลืมคิดไปว่าสุดท้ายใครดูแลเรา”
“เพราะปัญหาหลักของเดอะแบกคือ มีเงินจ่ายให้ทุกคน แต่ไม่มีจ่ายให้ตัวเอง เพราะเงินหมดไม่พอจ่าย เมื่อเป็นอย่างนี้ วัฏจักรนี้เดอะแบกก็จะไม่จบ เพราะเมื่อเวลามีลูก เขาก็ต้องมานั่งจ่ายให้เราต่อ ดังนั้น pay yourself first เพื่อในอนาคตลูกหลานจะได้ไม่ต้องมาแบกเราต่อ”
“วิธีแก้คือ ต้องคุยกันภายในครอบครัวว่าเราไหวแค่ไหน ที่สำคัญคือต้องดูแลสุขภาพการเงินของตัวเอง เหมือนกับการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง”
คือ มีเงินแล้วอย่าเพิ่งรีบลงทุนทันที อย่าพึ่งไปรีบรวยเร็ว แต่ค่อยๆ ตั้งเป้าหมาย หาความรู้ด้านการเงินลงทุน แล้วเริ่มลงมือทำสะสมไปเรื่อยๆ อย่างมีวินัย ไม่ท้อถอย” นายปุริมกล่าว