ThaiPublica > คนในข่าว > นพ.มูฮำหมาด ละใบจิ “หมอหมาด” ชูหลักชะรีอะฮ์ จากเด็กยากจนสุดขั้วสู่นักธุรกิจร้อยล้าน

นพ.มูฮำหมาด ละใบจิ “หมอหมาด” ชูหลักชะรีอะฮ์ จากเด็กยากจนสุดขั้วสู่นักธุรกิจร้อยล้าน

12 มีนาคม 2024


หลักชะรีอะฮ์ (Shariah Law) หรือกฎหมายอิสลาม หมายถึง กฎหมาย คำสั่ง ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ การกระทำ หรือเกณฑ์จริยธรรม และยังเป็นกรอบการปฏิบัติในด้านการเงินอีกด้วย

ตามที่ได้นำเสนอข่าว “ไอแบงก์” ชู “ชะรีอะฮ์” ราก Social Justice-Economic Fairness สร้างความยั่งยืนตาม SDGs “ไทยพับลิก้า” จึงนำเสนอมุมมองแนวคิดการธุรกิจในหลักชะรีอะฮ์ (Shariah Law) ในมุมของธุรกิจอื่นๆ ด้วย

เส้นทางชีวิต นพ.มูฮำหมาด ละใบจิ หรือ “หมอหมาด” บอกเรื่องราวหลายอย่าง ทั้งความยากจนสุดขีดของครอบครัวพี่น้องมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ทำให้แม้หมอหมาดจะสอบเข้าคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตได้ แต่แม่ก็ขอร้องให้ลูกชายทิ้งผลสอบเพราะไม่มีเงินส่งเรียน หมอหมาดจึงทำงานทุกอย่างส่งตัวเองจนเรียนจบแพทย์ นอกจากนี้ ยังบอกเรื่องราวการทำงาน การทำธุรกิจด้วยหลักชะรีอะฮ์ ที่หมอหมาดบอกว่า ฟังดูเหมือนยาก เหมือนห้ามค้าขาย แต่จริงๆ แล้วเป็นการห้ามค้าขายโดยเอากำไรเกินควร และธุรกิจที่หมอหมาดทำตามหลักชะรีอะฮ์ ก็ได้ผลสะท้อนกลับมาเป็นธุรกิจหลากหลาย มีพนักงานที่อยู่ในความดูแล 300-400 คน

สำนักข่าวไทยพับลิก้า ได้ทำความรู้จักและพูดคุยกับ นพ.มูฮำหมาด ละใบจิ ประธานบริษัทในเครือบารอกัตกรุ๊ป และบริษัทอินตันเอกซ์เพรส (ผู้ให้บริการฮัจย์และอุมเราะห์) และประธานชมรมนักธุรกิจชายแดนใต้ ถึงเส้นทางชีวิตและเส้นทางการทำธุรกิจด้วยหลักชะรีอะฮ์ ในโอกาสที่ “หมอหมาด” เดินทางเข้ากรุงเทพมหานครเพื่อร่วมงานเสวนา ‘Shariah and Business Customer’ Views and Insights เจาะลึกการดำเนินธุรกิจตามหลักชะรีอะฮ์ที่จัดขึ้นโดยธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

หลักชะรีอะฮ์คือความสมดุล ธุรกิจมีกำไรลูกค้าพอใจ ไม่มีการเอาเปรียบ

หมอหมาดเริ่มด้วยการอธิบายหลักชะรีอะฮ์เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องว่า พอมีคำว่าชะรีอะฮ์ก็ฟังดูยาก แต่จริงๆ แล้วคือการค้าขายที่มุ่งไปที่กำไร ความพึงพอใจของผู้ซื้อผู้ขายที่ไม่เอาดอกเบี้ย หลักมีแค่นี้ เพียงทุกการค้าขายที่เอาผลของกำไร แต่ไม่ใช่ค้าขายที่เอาผลของดอกเบี้ย หลักมีแค่นั้น ฉะนั้น ทุกการค้าขายที่ได้กำไร เข้าเกณฑ์หลักชะรีอะฮ์หมด แต่ถ้าเป็นกำไรจากดอกเบี้ย แม้จะได้น้อย ก็ไม่เข้าข่ายหลักชะรีอะฮ์ มีความพอใจ การซื้อขาย เอากำไร เอาที่พอใจทั้งของผู้ซื้อและผู้ขาย ส่วนคำว่าไม่ค้าขายเอากำไรเกินควร เป็นมิติในการขูดและรีดในขณะที่ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก เช่น สถานการณ์ข้าวยากหมากแพง สถานการณ์สงคราม สถานการณ์ลำบาก เช่น คุณเป็นเจ้าของไร่นา มีแต่ไร่นาคุณที่ปลูกได้ ขณะที่ไร่นาเพื่อนตายหมดจากสงคราม คำว่าค้าขายเอากำไรเกินควร จะอยู่ในภาวะวิกฤติที่พอได้จังหวะก็ฟันราคา นี่คือความหมายของการค้าขายเอากำไรเกินควร หลักชะรีอะฮ์ตั้งอยู่บนการไม่เอาเปรียบ

“ที่มองว่ายาก อาจจะเพราะมีคำว่าชะรีอะฮ์ เลยมองว่าจะต้องมีกฎมากมาย อย่างบางตัวต้องซัพพลายของมาจ่ายแพงหน่อย ไม่ต่อราคา ได้กำไรนิดหน่อย อันนั้นอาจจะเหมือนกับเทคนิคที่จะอยู่บนหลักการซื้อขายที่ได้กำไร หมายความว่า ถ้าซื้อมาเท่านี้ เอากำไรเท่านี้ เป็นสิทธิ์ของคุณ แต่หลักของชะรีอะฮ์ คือ อย่าเอาเปรียบผู้บริโภคเกินไป ซื้อมา 10 บาท ขาย 1,000 บาท แม้จะเป็นช่องในการทำกำไร ธุรกิจบางตัว ต้นทุน 10% แต่คูณกำไร 600% แต่ถ้าเดินด้วยหลักชะรีอะฮ์จะมีความรู้สึกว่า ลดลงมา 200-300% อย่างไรก็ตาม คำว่าเปอร์เซ็นต์ที่ขึ้นไป ตราบใดที่มีผู้ซื้อขายผู้ขายพอใจกัน ก็ยังถูกในหลักชะรีอะฮ์ แม้มาร์จินจะกว้างมากก็ตาม ยกตัวอย่าง ผมซื้อมา 10 บาท แล้วขาย 1 แสนบาท ถ้าลูกค้าชอบมาก ต้องการสินค้าตัวนี้มาก เพราะมีแค่อันเดียวในโลก หรือถ้าอยู่ในสถานการณ์ปกติ ผมอยากขายกาแฟแก้วหนึ่ง 3,000 บาท แต่มีห้องแอร์ มีแคดดี้ มีบุคคลส่วนตัวดูแล มีผู้เชี่ยวชาญมาคำนวณแคลอรี มีที่ปรึกษา นักจิตวิทยา นั่งคุย มี mindfulness ให้คุณ 1 ชั่วโมง แต่ผมขอขายกาแฟแก้วละ 3,000 บาท คุณโอเค ถ้ามองแค่ขายกาแฟ มันดูแพง แต่ว่ามันมีมูลค่าในนั้น อันนี้ไม่ผิดหลักชะรีอะฮ์” หมอหมาดขยายความ

หมอหมาดกล่าวว่า ถ้าย้อนมาที่ธุรกิจ ต้องมีการบริหารจัดการที่เป็นบวกก่อน ถ้าติดลบอยู่ จะมาดูแลคนอื่นก็ผิดหลักชะรีอะฮ์เหมือนกัน เช่น มีเงิน 10 บาท มีคนมาขอกู้ 100 บาท คุณต้องไปขอกู้ 90 บาทเพื่อมาให้คนนี้ ก็ผิดหลักชะรีอะฮ์ ฉะนั้น หลักชะรีอะฮ์เป็นความสมดุลของเรา และลูกค้าเรา แปลว่าเราต้องมีกำไร และลูกค้าเราซื้อได้ในความพึงพอใจของสินค้าที่ไม่ค้าขายเอากำไรเกินควร

อย่างไรก็ตาม จุดที่ยาก ถ้าพูดเรื่องของธนาคาร พอเดินด้วยหลักกำไรขาดทุนโดยไม่ใช้ระบบดอกเบี้ย มันมีต้นทุนการดำเนินธุรกิจที่มากกว่า เช่น ถ้ามีการคืนสินเชื่อกลับเข้ามา ถ้าเป็นธนาคารพาณิชย์จะเอาเงินที่ได้ไปลงทุนในหุ้น ในตลาดหลักทรัพย์ ปล่อยกู้ใน non-halal business (ธุรกิจที่ไม่ใช่ฮาลาล) ในเหล้า บุหรี่ แสดงถึงทางเลือกมีเยอะมาก ที่จะเอาเงินที่มีอยู่พันล้านบาทไปเพิ่มเป็น 2 พันล้านบาท แต่ในขณะที่ชะรีอะฮ์แบงก์ มีเงิน 1 พันล้านบาทเหมือนกัน แต่จะเอาไปลงทุนใน non-halal business ในเหล้า บุหรี่ ไม่ได้ ไปปล่อยกู้เพื่อเอาดอกเบี้ยกลับมาก็ไม่ได้ ไปลงทุนในหุ้นตลาดหลักทรัพย์บางตัวที่ผิดหลักชะรีอะฮ์ก็ไม่ได้ ทำให้ธนาคารสามารถลงทุนในธุรกิจที่น้อยกว่า ต้นทุนที่เป็นต้นทุนคงที่สูง นี่เป็นจุดยาก

ยกตัวอย่าง ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 2% แต่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์ คิดดอกเบี้ยที่ 4-5% ถ้าทำธุรกิจแล้วเจ๊ง หรือสะดุด ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปก็มีสิทธิ์ที่จะเรียกเงินคืนทั้งหมด จะให้จ่ายคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย แต่ชะรีอะฮ์แบงก์ต่างออกไป โดยจะดูว่า ธุรกิจขาดทุนจากอะไร เกิดปัญหาเงินทุนหมุนเวียนไม่พอ หรือเกิดปัญหาน้ำท่วม ฯลฯ ถ้าอย่างนั้นธนาคารจะช่วยอย่างไรต่อ เช่น พักชำระหนี้ หรือเติมเงินกู้เพิ่ม ฯลฯ เพราะชะรีอะฮ์แบงก์เป็นการไปร่วมลงทุนหรือร่วมทำธุรกรรมเพื่อให้มีกำไร ดังนั้น ธนาคารไม่ได้ทำหน้าที่ไฟแนนซ์ที่ปล่อยเงิน แต่ทำหน้าที่ปล่อยเงินและช่วยทำให้ธุรกิจนั้นมีกำไร เพื่อให้ธุรกิจเอากำไรมาคืนแบงก์ คืนคนลงทุน ดังนั้น ชะรีอะฮ์ไม่ได้ปล่อยกู้แล้วรอรับเงิน แต่ปล่อยกู้เสร็จจะช่วยให้เขาอยู่รอดเพื่อเอากำไร ไม่ใช่ดอกเบี้ย ถ้าเกิดว่าธุรกิจที่ปล่อยไปแล้วขาดทุน ก็มีสิทธิ์ที่จะเรียกเงินคืนทั้งหมด เพราะเป็นการค้าขายคู่กัน นี่คือจุดต่าง

“ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์ปล่อยเงินพร้อมดอกเบี้ย 3% ไม่ต้องดูแลต่อ หน้าที่คุณคือส่งเงินให้ครบ แต่หน้าที่ของชะรีอะฮ์แบงก์คือปล่อยเงินออกไปแล้วเอากำไร 3-4% จะรอรับกำไร รอรับเงินต้นอย่างเดียวไม่ได้ คือปล่อยในอัตรากำไรที่สูงกว่า ก็ต้องเข้าไปช่วย ธุรกิจติดตรงไหน ต้องเข้าไปช่วย เป็นไฟแนนซ์บวกกับที่ปรึกษา ที่จะเป็นพาร์ทเนอร์ ทำให้ธุรกิจไปได้ นี่เป็นหลักที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับซื้อขาย ค้าขาย แล้วแบ่งกำไร ไม่ใช่เอาเงินแล้วต่อเงิน ไม่ใช่ จุดต่างอยู่ตรงนี้” หมอหมาดกล่าว

เรียนหนัก ทำงานหนัก ทำตามคำสอนศาสนาอิสลามครบถ้วน

อย่างไรก็ตาม เส้นทางชีวิตหมอหมาดกว่าจะเดินมาถึงจุดนี้ได้ ต้องเรียกว่าสู้ชีวิตแบบสุดขีด พื้นเพหมอหมาดเป็นคนจังหวัดสตูล พื้นฐานที่บ้านยากจนแบบที่หมอหมาดใช้คำว่า ยากจนแบบ extreme (สุดขีด) และด้วยความอยากเป็นครูมาก พอจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนปอเนาะ ก็สอบชิงทุนไปเรียนที่อาหรับได้ แต่ไม่ได้ไปเพราะเกิดสงครามบิน ลาดินขึ้นเสียก่อน พอจบ ม.6 ก็สอบชิงทุนไปเรียนต่อได้อีก แต่ก็ไม่ได้ไป เพราะพ่อบอกว่าอายุเยอะแล้ว ตอนนั้นหมอหมาดคิดว่า ถ้าต้องเรียนต่อ ต้องเลือกเส้นทางที่ทำให้ครอบครัวดีขึ้นได้เร็ว จึงเลือกสายการแพทย์ และต้องเลือกสายการแพทย์ที่ท็อปที่สุด เพราะ หนึ่ง เพื่อยกระดับครอบครัวให้ดีขึ้น สอง เติมเงินให้ครอบครัวได้เร็วขึ้น ให้ทุกคนสบายได้เร็วขึ้น

“ผมเลยเหยียบคันเร่งมิด สอบหมอให้ติด สอบติดแล้วแม่บอกว่าให้ไปยกเลิก เพราะค่าเทอมสูง เทอมละ 1.75 แสนบาท ปีละ 3.5 แสนบาท ผมหาเงินเรียนเอง แต่ก็หาจนได้ เพราะนี่คือทางลัดที่จะยกบ้านผมให้ขึ้นจากใต้น้ำขึ้นเหนือน้ำได้”

พร้อมกล่าวต่อว่า “ตอนนั้นคิดแค่นั้น คิดดูว่า จากคนลำบากยากจน สังคมไม่ดูแล พอลูกเป็นหมอ กลายเป็นอีกเรื่อง คนรอบข้างที่เคยไม่สนใจ กลับมาชื่นชม ผมอ่านเกมนี้จากที่ติดตามวิธีคิดของคนจีน พอมาก็ค้าขาย ค้าขายแล้วก็ส่งลูกเรียนหมอก่อน พอลูกอยู่ในระดับที่ช่วยคน สังคมจะยกขึ้นโดยอัตโนมัติ ผมคิดแบบนั้น ต้องเป็นหมอ และหมอเงินเดือนหลักแสนบาท แสดงว่าผมช่วยพ่อแม่ให้สบายได้ภายใน 6 ปี เทียบกับจบด้านอื่น 4 ปี จะไต่เต้าให้ได้เงินเดือนเป็นแสนบาท ไม่รู้ใช้เวลาเท่าไหร่ มันไม่ง่าย” หมอหมาดเล่าให้ฟัง

หมอหมาดเล่าว่า ตอนนั้นทำงานทุกอย่าง รับจ้างสอนหนังสือเด็ก รับเลี้ยงเด็ก รับทำป้าย เขียนคัตเอาต์ ตัดหญ้า เขียนหนังสือ แปลหนังสือด้วยทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาอาหรับ โดยไปเรียนมาก่อนเพื่อให้มีทักษะในการแก้ปัญหาให้ใครบางคน แล้วรับค่าตอบแทนมา ขายข้าวหมกไก่ ขายทุกอย่าง ยกเว้นขายตัว เพราะไม่มีคนซื้อ (หัวเราะ) เรียกว่าต้องสู้แบบสู้ขาดใจ โดยมีครอบครัวเป็นกำลังใจ แล้วเราถอยไม่ได้ แต่สุดท้ายก็เห็นผลที่เราสู้ ผมเรียน 8 ปีจบ เพราะไปเรียนคณะอื่นก่อน 2 ปี ได้ทุนเรียนแพทย์แผนตะวันออก เป็นทุน 100% ระหว่างเรียนปี 1 ก็สอบแพทย์ ในหัวผมคือ ถ้าไปด้านไหนต้องเอาให้สุด ถ้าไม่ไปสุดเราก็ต้องเป็นฐานพีระมิด ถ้าจะให้เห็นไกลๆ ต้องอยู่จุดสูงสุดของพีระมิด คู่แข่งขันน้อย แล้วก็เห็นไกล ถ้าเรียนสายการแพทย์ก็ต้องเป็นหมอ ถ้าเรียนสายศาสนา ก็จบมาต้องไปเป็นครูต่างประเทศ

หมอหมาดบอกว่า “ถึงจะเรียนหนัก ทำงานหนัก แต่การทำตามคำสอนศาสนาอิสลามก็ครบถ้วน และยิ่งทำหนักกว่าเดิม เพราะหนึ่งในคำสอนอัลกุรอานบอกว่า ถ้าเราช่วยเหลือมนุษย์ ช่วยเหลืองานของพระเจ้า พระเจ้าจะไม่ทอดทิ้งเรา อะไรที่ทำแล้วช่วยเหลือคนได้ผมทำหมด แล้วมันก็กลับมาตอนทำธุรกิจ คนที่เราเคยสัมพันธ์กันตั้งแต่ตอนปี 1 ปี 2 สุดท้ายกลับมาสัมพันธ์กันตอนเราทำธุรกิจหมด กลับมาหมดเลย ตอนนั้นเราไม่รู้หรอกว่าการช่วยคนอื่นมันได้อะไร แต่พอเราอายุ 37-38-39 ปี เห็นภาพหมดเลย มากรุงเทพฯ มารอคุย เป็นความสัมพันธ์เดิมในอดีต และทุกคนเติบโตขึ้น เป็นรองคณบดี มาเจอกันตอนที่ทุกคนเติบโตแล้ว เป็นภาพที่ตัวเองได้เห็นถึงสิ่งที่เราแบ่งปัน ที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น”

หมอหมาดบอกว่า การช่วยคนอื่นของหมอนั้น จะใช้แรง ใช้สมอง ตอนนั้นผมคิดอย่างนี้ มีวิธีไหนที่ทำได้ ถ้าผมต้องขออะไรบางอย่างจากองค์กร จากภายนอกเพื่อมาสนับสนุนงาน ทั้งส่วนตัวของผม ทั้งมหาวิทยาลัย จะทำอย่างไรดี ไปขอเดี่ยวๆ คงไม่ได้ ฉะนั้น เราคงต้องเอาตัวเองเข้ามาอยู่ในองค์กรที่เป็นองค์กรตัวแทน จึงเข้าไปอยู่สโมสรนักศึกษา มีความตั้งใจลึกๆ เข้าไปช่วยบริหารกิจการนักศึกษา ไม่รู้ทำไปได้อย่างไรเหมือนกันตอนนั้น แต่ปรากฏว่า เวลาอยู่ในองค์กร พอไปขอการสนับสนุนจากองค์กรภายนอก สมมติจัดบูธ ก็ได้รับความร่วมมือ แม้กระทั่งข้าวหมกไก่ที่เอามาขาย ก็ได้จากการเข้าสโมสร เพราะเราต้องการจัดงานกิจกรรม ทุกคนก็มา เราก็จดชื่อ ได้คอนเนกชันต่อไปเราก็บอกว่าเราจะขายงานนี้ เป็นต้น ลองคิดดูว่า เด็กคนหนึ่งเดินไปบอกเจ้าของร้าน พี่ทำข้าวหมกให้ผมหน่อยนะ ขายเสร็จผมเอาเงินคืนให้ ใครเขาจะให้ แต่ถ้าตอนที่ผมเชิญไปออกบูธ พี่ทำร้านนี้ใช่มั้ย เดี๋ยวมหาวิทยาลัยจะจัดงานนี้นะ พี่อยากได้ล็อกดีๆ มั้ย จัดให้ แล้วให้ทุกปี ตอนหลัง พี่ไม่ต้องมานะ เอาข้าวหมกมาก็พอ ผมขายเอง แล้วพี่เอาทุนคืนไปบวกกำไรของพี่ ผมเอากำไร เขาก็ดีๆ ใช้หลักชะรีอะฮ์ เขาออกของ ผมออกแรง ได้กำไรแบบไม่เอาเปรียบ มันก็เดินมาแบบนี้ เอาแรงตัวเองไปแลก

หลังจากหมอหมาดเรียนจบในปี 2555 ก็เลือกไปประจำอยู่โรงพยาบาลปัตตานี เพราะคิดว่า ถ้าไปอยู่ในที่ที่มีคนเก่งมากๆ เราจะกลายเป็นคนไม่เก่ง แต่ถ้าเราไปอยู่ที่ขาดแคลน เราจะกลายเป็นคนเก่ง ผมไป 3 จังหวัดภาคใต้เลย จากกรุงเทพฯ ไม่มีใครรู้จัก พออยู่ 3 จังหวัดภาคใต้เป็นหมอเก่งเลย หมอที่โน่นมีน้อย ผมเลยได้โอกาสเป็นคนเก่งเร็ว ได้รับผิดชอบงานใหญ่ๆ เร็ว ได้เป็นนายกสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข ที่ดูแลหมอมุสลิมและระบบสาธารณสุขในประเทศไทยทั้งหมด มีคอนเนกชันจากตรงนี้อีกเยอะ ตรงนี้ก็ไปเชื่อมกับหน่วยงานนั้น หน่วยงานนี้ ทำให้โตขึ้น เพราะอยู่ในที่ที่คนต้องการเรา ไม่ได้อยู่ในที่คนไม่ต้องการ และเงินเดือนเดือนแรกได้ 7 หมื่นบาท รวมค่าเวร หมอหมาดส่งให้แม่หมดเลย ส่งทุกเดือน ปลดหนี้ให้พ่อให้แม่ พี่น้อง เคลียร์ให้หมด จากนั้นก็เริ่มซื้อรถ เป็นรถเบนซ์ ผ่อนเดือนละ 1 แสนบาท ปีครึ่งหมด คือทำงานหนักมาก เลยให้รางวัลตัวเอง คือรับอยู่เวรที่โรงพยาบาลหมด

พร้อมกันนั้น หลังจากเรียนจบ หมอหมาดก็เริ่มต้นทำธุรกิจไปพร้อมกัน หมอหมาดบอกว่า ไม่รู้เพราะอัดอั้นจากที่เคยไม่มีเงินจะทำหรือเปล่า โดยธุรกิจแรกที่ทำ คือ ติวเตอร์ Dr.Mard Tutor เพราะอยากเป็นครูแต่แรก เปิดติวตั้งแต่อนุบาลถึง ป.6 แต่ตัวเองไม่ทำ จ้างคนมาทำ ต่อมาก็เปิดร้านอาหารหน้ามหาวิทยาลัยปัตตานี ออกบูธตามงานต่างๆ เพราะขายได้เร็ว ขายกิฟต์ชอป “ผมทำหมด เป็นหมอด้วย เก็บงานหมด ทำเยอะ ที่เจ๊งก็เยอะ โดนโกงก็หลายล้านบาท ไปจองบูธจ่ายเงินเป็นแสนบาท แต่ขายไม่ได้ ทำมาเรื่อยๆ เคยเจอคนไข้ด้วย มีคนถามว่าไม่อายหรือ ผมรู้สึกว่าไม่มีกินน่าอายกว่า ผมทำงานสุจริต ไม่ผิดกฎหมาย ถูกหลักชะรีอะฮ์ ทำเพื่อตัวเรา ครอบครัวเรา พ่อแม่พี่น้องเรา แล้วสเกลการทำงานก็โตขึ้นๆ ปัจจุบันในเครือที่ผมบริหารเองก็ 100-200 ล้านบาทต่อปี”

ธุรกิจของหมอหมาดประกอบด้วยธุรกิจด้านสุขภาพ ทำคลินิก ศูนย์ wellness ศูนย์ขลิบภาคใต้ ขลิบไร้เลือด ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ 110 ปี ศูนย์ให้คำปรึกษายาเสพติด และกำลังจะทำศูนย์บำบัดผู้ติดยาเสพติดขนาด 100 เตียง ธุรกิจ wellness เป็นธุรกิจที่กำไรดี เป็นเทรนด์กำลังมา และเป็นเสือนอนกิน ไม่ต้องออกแรง เพราะธุรกิจนี้ดูแลโดย 3 วิชาชีพ คือ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล นักกายภาพบำบัด ไม่ไช่การแพทย์ฉุกเฉิน แต่เป็นการฟื้นฟู (rehabilitation) ให้เขากิน นอน ออกกำลังกายให้ได้ ซึ่งหมอหมาดบอกว่าไม่ใช่งานเรา เราไปดูอาทิตย์ละครั้ง ถ้าเปิดคลินิกยังต้องออกตรวจเอง

ธุรกิจ food & beverage มีร้านอาหารอีสาน ชื่อเรือนอินทร์ มี 2 สาขา ที่หาดใหญ่และปัตตานี มีร้านอาหารญี่ปุ่น ซูอิโอเชี่ยน ที่เซ็นทรัล หาดใหญ่ ร้านอาหารเกาหลี AYAMCHON มีร้านชาบูปิ้งย่าง ร้านเบอร์เกอร์ระดับพรีเมี่ยม ร้านอาหารซีฟู้ด ร้านกาแฟ

ธุรกิจด้านการศึกษา ตอนนี้เป็นผู้บริหารโรงเรียนลำไพลศานติวิทย์ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา สอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีสถาบันพัฒนาเด็กเยาวชนและครอบครัว Dr.Mard Academy ให้ความรู้พ่อแม่เรื่องการเลี้ยงลูก ให้คำปรึกษาการเลี้ยงลูกแต่ละช่วงวัย รวมทั้งการฝึกอบรมพ่อแม่ที่ต้องการความรู้ในการเลี้ยงลูก ส่วนนี้รายได้จะดี

นอกจากนี้ หมอหมาดเป็นประธานบริษัท ตอยยีบันฟู้ดส์ จำกัด ดำเนินธุรกิจการผลิตและจำหน่ายน้ำนมถั่วเหลืองแปรรูป “LABAN SOY” ที่จังหวัดยะลา ก่อนหน้านี้ขายใน 7-11 แต่ไม่ได้กำไร ก็ถอยออกมา เน้นส่งออกแทน

หมอหมาดบอกว่า ในการทำธุรกิจมีทัศนคติว่า ทุกธุรกิจต้องเป็นเครื่องมือผลิตเงินแบบอัตโนมัติ คำว่าผลิตเงิน คือ ต้องสร้างกำไร ส่วนอัตโนมัติ คือ ผมต้องไม่ทำ ฉะนั้น ผมจะให้ความสำคัญกับทีม ทีมการเงิน ทีมการตลาด เป็นคนทำเงินให้ ผมจะเลือกธุรกิจที่ผลิตเงินให้ได้กำไร แล้วผมจะไม่ทำ แล้วเอากำไรน้อยๆ เช่น ร้านอาหาร ผมเอากำไรร้านละ 2 หมื่นบาท ให้ภรรยา 1 หมื่นบาท ผม 1 หมื่นบาท ที่เหลือให้น้องๆ ไปแบ่งกัน กำไรเท่าไหร่ก็เอาไปแบ่งปัน ถ้าผมมี 10 ร้าน ผมก็ได้กำไรเพิ่มเดือนละ 1 แสนบาท ภรรยาก็ได้ 1 แสนบาท กำไรที่มากกว่านั้นก็ให้น้องๆ แบ่งกัน เป็นหลักที่ทำให้คนในทีมจะทุ่ม คนที่เก่งหน่อย ผมตั้งบริษัทแยกออกมา อย่างคนที่ทำการเงิน ทำบัญชีกับผมไปได้ 2-3 ปี ผมตั้งสำนักงานบัญชีให้เลย แล้วให้เขาถือหุ้น ถ้าไม่มีเงินผมให้กู้ ให้เขาเป็นเจ้าของ คนที่ทำการตลาด ทำดีด้วย ผมตั้งบริษัทให้ คนทำรับเหมากับผม แข็งแรงแล้ว ผมตั้งบริษัทให้ ผมมีหุ้นอยู่ในนั้น เขาก็เป็นเจ้าของ เขาไม่ทำให้ธุรกิจล่ม มีกำไรก็แบ่งคืน คือไม่เอากำไรต่อยูนิตสูง แต่ผมได้จากตรงนี้ ถ้าไฟกองนี้ดับ ก็ได้กองนั้น ไฟตรงนี้ดับ ก็ได้ตรงนั้น ตอนนี้เลยไม่ต้องทำมาก น้องๆ ทำเกือบหมด

แบ่งปันด้วยความเป็นมนุษย์

หมอหมาดบอกว่า หลักในการทำธุรกิจรูปแบบนี้ หมอจะดู 5 เรื่อง หนึ่ง ดูเรื่องคน สอง การหาเงิน ทำงบ ทำกองทุน หาทุน สาม การกำหนดทิศทางธุรกิจ ที่ต้องเห็นภาพธุรกิจก่อน สี่ คือ การตัดสินใจ ซึ่งยากที่สุด เพราะการตัดสินใจต้องใช้ประสบการณ์ ห้า คือ ติดตามงาน ผมจะทำะแค่ 5 สิ่งนี้ นอกเหนือจากนี้ผมจะไม่ทำ ส่วนคนที่ทำงานด้วยจะซื่อสัตย์หรือไม่ซื่อสัตย์ ขึ้นกับเลือกคน ถึงจะป้องกันไม่ได้ 100% แต่ระบบที่วางไว้จะเผื่อ ถ้าเราเลือกคนไม่เก่งมาทำงาน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนไม่เก่ง แต่อยู่ที่เราที่เลือกคนไม่เก่งมาทำงาน เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีข้อที่ 5 คือติดตามงานอย่างต่อเนื่อง และดูเรื่องเงินเอง ห้ามให้คนอื่นดู ไม่มีใครรักเงินเราได้เท่ากับเรา ฉะนั้น ทุกธุรกิจ สิ่งที่ผมดู คือรายงานการเงินทุก 2 อาทิตย์ ประชุมการเงินทุกคนต้องมานั่งฟัง ทำไมกำไรลดลง ค่าทำตลาดทำไมสูงขึ้น ต้นทุนการบริหารจัดการถึงสูงขึ้น ภาษี ค่าเช่า ค่าพนักงาน แล้วบอกว่า ธุรกิจนี้ขอกำไร 4-5% เก็บกำไรให้ผมก่อน ธุรกิจนี้ผมให้ค่าการตลาด 7% ธุรกิจนี้ผมให้ค่าบริหารจัดการ 25% ธุรกิจนี้ให้ค่าเช่า 15% แต่ละธุรกิจจะมีบอกเปอร์เซ็นต์ว่า ถ้าไม่ได้ตามนี้ก็ต้องถามว่าเพราะอะไร มีเหตุผลที่พอฟังได้ สุดท้ายก็มีฝ่ายที่สาม คือ สำนักงานบัญชีและการเงิน มาตรวจสอบภายใน ระยะหลังก็ไม่ต้องกังวลกับธุรกิจ นอกจากนี้ จะมีเงินกองทุนสำหรับแต่ละธุรกิจ ถ้ามีธุรกิจใหม่ก็จะมาเสนอขอเงินกองทุน จะมีทีมอนุมัติว่าน่าลงทุนหรือไม่น่าลงทุน ผมเองถ้ามีธุรกิจใหม่ก็จะขอกองทุนเหมือนกัน กองทุนก็จะปล่อยเงิน แล้วผมก็ต้องคืนทั้งเงินต้นและกำไรให้กองทุน กองทุนนี้ให้พนักงานกู้ด้วย เหมือนเป็นธนาคารในเครือธุรกิจผม

หมอหมาดบอกว่า ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ในแง่ธุรกิจ หลักชะรีอะฮ์ได้ผล แล้วมันสะอาด สบายใจในการค้าขาย ไม่ไปเอาเปรียบ ผมเคยอยู่ในวงการดอกเบี้ยมาก่อน ในวงการเพื่อนๆ ที่ปล่อยกู้ บางช่วงมีเงินเท่านี้ เอาไปปล่อย ไม่ต้องเอา 20% ต่อเดือนเท่าเขาก็ตาม แต่มันคือทำนาบนหลังคน ก็เลยไม่ทำ คือหลักมุสลิมมีข้อหนึ่ง คือการรักษาของ หรือจำนำของ ตามหลักชะรีอะฮ์ สมมติว่าคุณเอาทองมาจำนำ 1 หมื่นบาท แลกกับค่าดูแลทองให้ 1,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน ครบ 3 เดือน ต้องจ่ายค่าดูแลทองให้ 1 พันบาทกับเงิน 1 หมื่นบาท แต่ถ้าไม่มีเงินคืน จะเอาทองไปขาย แต่เมื่อเอาทองไปขาย สมมติได้ 2 หมื่นบาท ผมมีสิทธิ์รับเงินแค่ 1 หมื่นบาทกับ 1 พันบาท ที่เหลือต้องคืนเจ้าของ ซึ่งไม่ใช่หลักจำนองโดยทั่วไป ทั่วไปคือหลุดจำนองเมื่อไหร่คือยึด แต่หลักชะรีอะฮ์คือไม่ ห้ามเอาเปรียบ ถ้าหลุดจำนอง ต้องเอาไปขาย เอาคืนเฉพาะของเรา ส่วนเกินต้องคืนเจ้าของเขาไป นี่คือหลักชะรีอะฮ์ ผมเคยทำธุรกิจจำนองเหมือนกัน เพื่อให้รับจำนองนาฬิกา ยึดมาแล้วขาย ได้เงินเยอะ อยากทำเหมือนกัน แต่ชะรีอะฮ์ทำไม่ได้ เอาเปรียบเกินไป

ถามว่า อะไรที่ทำให้หมอหมาดยับยั้งชั่งใจ ไม่ทำ เพราะปกติคนจะละโมบ หมอหมาดบอกว่า ผมว่าความเป็นคน เราเข้าใจคุณค่าความเป็นคน ถ้ามองถึงว่าคนเท่าเทียมกัน วันนี้เรามีโอกาส วันหน้าเราอาจเสียโอกาส อีกอันที่มองคือ พอเราเชื่อในหลักชะรีอะฮ์ แล้วก็เชื่อในโอกาสของชีวิต เศรษฐีบางคนกลายเป็นยาจกได้ ยาจกบางคนเป็นเศรษฐีได้ ชีวิตไม่แน่นอน ฉะนั้น วันนี้ เราได้โอกาสก็คว้าโดยไม่สนใจคนอื่น คุณแน่ใจได้อย่างไรว่าอนาคตคุณจะไม่ล้มละลาย “แต่ถ้าเราแบ่งปันด้วยความกลมเกลียว ความเป็นมนุษย์ที่เห็นคุณค่าในความลำบาก ในความเท่าเทียมกัน วันนี้คุณลำบากผมช่วยนะ จุดหนึ่งที่ผมอาจจะพลาด คุณก็พร้อมช่วยผม หลักชะรีอะฮ์ที่ผมจับอยู่มันเกิดขึ้นอย่างนี้จริงๆ วันไหนที่ลำบาก เขาพร้อมช่วยเรา วันไหนที่เขาลำบาก ผมก็พร้อมช่วยเขาเท่าที่ผมช่วยได้ อย่าไปช่วยเกินกำลัง” เราเคยเห็นอยู่แล้วว่า เศรษฐีล้มไป พอคิดถึงคุณค่าความเป็นคนที่เท่ากันจะไม่มีความรู้สึกอยากไปเอาเปรียบ ไม่มี มีแต่แบ่งกัน ก็จะมีคำถามอีกว่า คนที่คุณช่วยจะจริงใจกับคุณไหม อันนั้นมันเรื่องของคุณ คุณจะเอามาตรฐานของคนเลว แล้วมาทำให้คุณเลวตามไม่ได้ คุณเห็นคนชั่วแล้วต้องชั่วกลับไม่ได้ เห็นคนนี้ทำแบบนี้แล้วต้องเลวกลับไม่ได้ ผมเลยคิดว่า เมื่อเลวมา เดี๋ยวเขาก็เจอของเลวกลับ

“ผมเชื่อเรื่องศีลธรรม เชื่อเรื่องกรรมดี เรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อดีต ปัจจุบัน อนาคต ได้รับการพิสูจน์มาหมดแล้ว ไม่ว่าจะศาสนาไหน พิสูจน์มาหมดแล้ว ของผมก็เหมือนกัน บางครั้งต้องการเงิน 2-3 ล้านบาท เครียดมาก หมุนไม่ทัน มีคนมาถาม พี่เป็นอะไรดูเครียดๆ บอกต้องการเงิน 2-3 ล้าน เขาก็ อ้าว ทำไมไม่บอกล่ะ มันก็เป็นหลักชะรีอะฮ์ คือ ให้ยืมโดยหวังผลจากพระเจ้า มาเรื่อยๆ ไม่มีใครทำธุรกิจแล้วไม่สะดุด ผมทำงานเป็นหมอ เงินเดือนเป็นแสนบาท อยู่นิ่งๆ ก็สบาย ทำไมจะต้องมาปวดหัวเพิ่มขึ้น แต่เมื่อไหร่ที่เราได้สิ่งดีๆ สิ่งที่พระเจ้าให้มา เราไม่ควรเก็บไว้ที่ตัวเราเอง ถ้าเราเก่ง แล้วดูแลแค่ครอบครัวเรา เราเห็นแก่ตัวเกินไป ควรเอาสิ่งที่มีมาออกแรงอีกนิดหนึ่งให้คนในสังคมที่ขาดโอกาสได้อะไรที่ดีขึ้นบ้าง บางทีช่วยนิดเดียว แต่ทำให้หลายอย่างเปลี่ยนแปลงได้ ช่วยไปเถอะ เช่น ผมทำธุรกิจ มีพนักงานดูแลอยู่ 300-400 คน ทำไมผมต้องมาปวดหัว แต่ผมมองว่า คนที่ได้เงินเดือนจากผม เขาต้องดูแลครอบครัวเขา เขามีพ่อแม่ที่ต้องดูแล เราออกแรงเพิ่มอีกนิดหน่อย ไม่ได้ทำให้ครอบครัวเราแย่ลงด้วยซ้ำ ลูกเราก็ยังมีกินเหมือนเดิม แต่เรากำลังทำให้คนอีก 300-400 คนมีกินเพิ่มขึ้น ก็น่าทำอยู่” หมอหมาดกล่าว

หมอหมาดปิดท้ายการพูดคุยด้วยการเปิดกระเป๋าเงินให้ดูข้อความที่เขียนลงกระดาษไว้เตือนใจตัวเองว่า “สิ่งที่ผมยึดถือเป็นหลักมาตลอดคือ ตรงต่อเวลา รับผิดชอบ ทำทันที มีความสุขกับทุกนาที”