ThaiPublica > Sustainability > Headline > “ไอแบงก์” ชู “ชะรีอะฮ์” ราก Social Justice-Economic Fairness สร้างความยั่งยืนตาม SDGs

“ไอแบงก์” ชู “ชะรีอะฮ์” ราก Social Justice-Economic Fairness สร้างความยั่งยืนตาม SDGs

28 กุมภาพันธ์ 2024


ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

หลักชะรีอะฮ์ (Shariah Law) หรือกฎหมายอิสลาม หมายถึง กฎหมาย คำสั่ง ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ การกระทำ หรือเกณฑ์จริยธรรม และยังเป็นกรอบการปฏิบัติในด้านการเงินอีกด้วย

ESG (environment, social, corporate governance) กำลังเป็นกระแสในโลกธุรกิจการเงินปัจจุบัน แต่ในโลกการเงินอิสลาม ESG เริ่มขึ้นมานานแล้ว ด้วยหลักชะรีอะฮ์ ตั้งแต่ที่ท่านศาสดานะบีมุฮัมมัดอพยพจากเมืองมักกะฮ์ซึ่งเป็นศูนย์กลางอิสลามไปสู่เมืองมะดีนะฮ์ ซึ่งการอพยพเป็นการเริ่มต้นของการใช้ฮิจญ์เราะฮ์ศักราชเป็นต้นมา ปัจจุบันคือฮิจญ์เราะฮ์ศักราชที่ 1445

ระบบการเงินอิสลามยุคแรกในสมัยท่านศาสดานบีมุฮัมมัด เกิดขึ้นจากการสร้างความไว้ใจ (trust) โดยช่วงที่ท่านศาสดาอยู่ที่มะดีนะฮ์ มีผู้คนไว้วางใจเอาของมาให้ดูแลจัดการ เมื่ออพยพท่านศาสดานบีมุฮัมมัดได้คืนกลับ ก่อให้ระบบการค้าแบบตัวสินค้า การให้ผลกำไร ไม่ใช่ดอกเบี้ย

หลักชะรีอะฮ์หรือกฎหมายอิสลาม หมายถึง กฎหมาย คำสั่ง การห้าม การให้แนวทาง ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ การกระทำ หรือเกณฑ์จริยธรรม รวมทั้งด้านการเงิน

Islamic finance หรือระบบการเงินอิสลาม ต้องอยู่บนพื้นฐานกฎหมายอิสลาม หรือหลักชะรีอะฮ์ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจหรือธุรกรรมที่เกี่ยวข้องถูกต้องตามหลักชะรีอะฮ์ ที่เกี่ยวกับการให้ทำได้ (หะลาล) และการห้าม (หะรอม) ซึ่งข้อห้ามหลักในการทำธุรกรรมสำหรับการเงินอิสลาม คือ ห้ามริบา (Riba) หรือดอกเบี้ย ซึ่งเป็นการเอารัดเอาเปรียบ และซ้ำเติมลูกหนี้ ระบบการเงินอิสลามจึงใช้ระบบแบ่งปันผลกำไรขาดทุน (profit and loss sharing) แทนระบบดอกเบี้ย หมายถึงทั้งฝ่ายธนาคาร ผู้ฝากเงิน ทุกฝ่ายมีความเสี่ยงร่วมกัน

แนวคิดของระบบการเงินอิสลาม เป็นเรื่องของคนที่มีกำลังมากกว่าสนับสนุนคนที่มีกำลังน้อยกว่า ไม่ใช่เรื่องดอกเบี้ย เรื่องหลักคือการทำให้คนแข็งแรง ความแข็งแรงของคน ของชุมชน เป็นส่วนสำคัญในการพยุงและยกระดับสังคม เป็นระบบการเงินที่อยู่บนพื้นฐานของของความยุติธรรมและเป็นธรรม (justice & fairness) ซึ่งก็คือหลัก ESG นั่นเอง

ระบบการเงินอิสลามมีธุรกิจที่หลากหลาย ให้เป็นทางเลือกแก่มุสลิมในการรับบริการทางการเงินมากมาย เช่น ธนาคารอิสลาม (Islamic banking), การลงทุนตามหลักอิสลาม (Islamic investments), ตะกาฟูล (takaful) หรือการประกันภัยแบบอิสลาม ซึ่งในประเทศไทยบริการทางการเงินทั้งสามรูปแบบก็ได้มีให้บริการแล้ว

ไอแบงก์ยึดหลักชะรีอะฮ์เดินหน้าสร้างความยั่งยืนให้ลูกค้า

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท เริ่มเปิดดำเนินกิจการครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2546 เพื่อให้บริการธนาคารอิสลาม ปัจจุบันไอแบงก์มีกระทรวงการคลังถือหุ้นที่สัดส่วน 99.59% โดยมี ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ รับหน้าที่กรรมการและผู้จัดการ

ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เปิดเผยในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยพับลิก้าว่า ได้วางวิสัยทัศน์ที่จะเป็น “สถาบันการเงินที่ให้บริการตามหลักชะรีอะฮ์ เพื่อความยั่งยืน” โดยวิสัยทัศน์นี้ประกอบด้วยหลัก 3 ประการ คือ

    1. การทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงิน ไม่ใช่เป็นเพียงธนาคาร
    2. ดำเนินการตามหลักชะรีอะฮ์อย่างชัดเจน และ
    3. เพื่อความยั่งยืน ที่ไม่ได้ทำตามกระแส

“แต่เพราะหลังจากพินิจพิเคราะห์แล้วการดำเนินงานตามหลักชะรีอะฮ์ที่ตั้งอยู่บน social justice (ความยุติธรรมทางสังคม) และ economic fairness (ความเป็นธรรมทางธุรกิจ) หรือสุดท้ายเป็นสังคมที่มีการแบ่งปันและไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกันนั้น ตรงกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ของสหประชาชาติอย่างน่าอัศจรรย์”

ชะรีอะฮ์ คือ SDGs สร้างความยุติธรรมทางสังคมกับ ความเป็นธรรมทางธุรกิจ

ดร.ทวีลาภ มองว่า การธนาคารอิสลามมีการปรับตัวตลอดเวลา โดยยุคแรก หลักความเชื่อความยุติธรรมทางสังคมกับความเป็นธรรมทางธุรกิจทำให้มองว่าดอกเบี้ยทำให้ทุกอย่างเขว เกิดความไม่เป็นธรรม ขณะที่หลักความยุติธรรมทางสังคมกับความเป็นธรรมทางธุรกิจซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับความยั่งยืนในทุกวันนี้ คือ การบริโภคอย่างมีความมีความรับผิดชอบ เพื่อให้คนรุ่นหน้ามีโอกาสได้ใช้ มุสลิมไม่ได้ห้ามรวย แต่ให้บริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ฟุ่มเฟือย มีการแบ่งปัน เป็นหลักของอิสลามที่ลึกซึ้ง นี่เป็นยุคแรก

แต่ตั้งแต่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ก็ถูกแทนที่ด้วยแนวคิดตะวันตก และการธนาคารเป็นกระแสหลักที่มีบทบาท แต่หลังจากการเงินกระแสหลักถูกท้าทายภายใต้ระบบที่ถูกตั้งคำถาม ในศตวรรษที่ 20-21 การเงินสมัยใหม่ถูกท้าทายจากการเงินอิสลาม ที่มีเรื่องของการแบ่งปันกำไรที่นิยามเองว่าช่วงนี้เป็นยุคที่สอง ประมาณปี 1970 กลายเป็นโมเดลที่ธนาคารอิสลามในหลากประเทศเกิดขึ้น และเกิดกระบวนการเปลี่ยนผ่าน มาเลเซียมีธนาคารอิสลามที่มีการปรับโครงสร้าง บรูไนเคยถือหุ้นธนาคารอิสลามไทย โมเดลของไอแบงก์ตอนนี้อยู่บนโลกที่สอง และคิดว่ากำลังเข้าสู่โลกที่สาม คือ ความยั่งยืนกับ ESG ที่รับรู้กันอยู่แล้ว จึงคิดว่าเป็นมิติใหม่ของการธนาคารอิสลาม ที่ปรับตัวตามโลกสมัยใหม่ จึงมีการพัฒนาโมบายแบงกิงลูกค้าเองก็มองไปที่ธุรกิจเงินร่วมลงทุน คำนึงถึงการบริหารจัดการเงิน

“ชารีอะฮ์อยู่มาตลอด มีการปรับตัวตามยุคสมัย ผมเลยคิดว่า วันนี้จุดตัดมาเจอความยั่งยืนกับ ESG แล้ว เพียงแต่ว่า บทบาทธนาคารจากนี้ไปจะเป็นอย่างไรเท่านั้น นี่คือมุมของผม แต่ทำอย่างไรให้คนในประเทศไทยรับรู้และเข้าใจเหมือนเรื่องความยั่งยืนหลายคนยังมองว่า ไม่เกิดขึ้นจริง แต่รากของการเงินอิสลามเป็นตัวพิสูจน์ว่า การวางให้เกิดความยุติธรรมทางสังคมพัฒนาการมาหลายร้อยปี นี่เป็นสิ่งแรกที่ผมว่าน่าสนใจ และน่าทึ่งเมื่อมานั่งดู เรื่องความยุติธรรมทางสังคม เรื่องความเป็นธรรมทางธุรกิจ อยู่บนหลักการการไม่เอาเปรียบกัน ถ้าอธิบายเรื่องนี้ได้ และคนตั้งใจฟังอย่างไม่มีอคติ มันจะเปิดมุมมองอีกแบบ การลดความเหลื่อมล้ำ การขจัดความยากจน เป็นหลักของ SDGs ทั้งนั้น แปลกนะ ก็อัศจรรย์ว่าตรงกันได้อย่างไร” ดร.ทวีลาภกล่าว

ดร.ทวีลาภกล่าวว่า สำหรับลูกค้าของธนาคารที่ทำธุรกิจปกติแต่มีหลักชะรีอะฮ์อยู่รอดได้ มีปัญหาบ้างก็แก้ไป และชะรีอะฮ์มีเครื่องมือทุกอย่างอยู่แล้ว เป็นระบบที่ออกแบบให้ได้ เครื่องมือตามหลักชะรีอะฮ์ ชะรีอะฮ์ในภาษาอังกฤษก็คือ code of life (กฎในการดำเนินชีวิต) เป็นหลักศาสนาอิสลามที่วางอยู่บน 4-5 เรื่อง

สำหรับธนาคารอิสลาม เรื่องแรก หัวใจสำคัญคือหลักศาสนา ที่ต้องกำหนดไว้ก่อนว่าต้องมีความศรัทธาในหลักศาสนา ชะรีอะฮ์เกิดมาจากหลักศาสนา ที่วางอยู่บนหลักความยุติธรรมทางสังคมและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ

เรื่องที่สอง อิสลามคาดหวังบทบาทของรัฐในการวางกระบวนการต่างๆ ให้เกิดขึ้น ในการสร้างระบบ ธนาคารก็คาดหวังการออกแบบระบบที่ทำให้การเงินพวกนี้บริหารจัดการได้ ฉะนั้น บทบาทของรัฐจึงเป็นเรื่องที่สอง

เรื่องที่สาม คือระบบ profit sharing (การแบ่งปันกำไร) เป็นหัวใจสำคัญ เวลาลูกค้ามาฝากเงินกับแบงก์ จริงๆ คือเอาเงินมาฝากเพื่อร่วมลงทุนกับธนาคาร ธนาคารก็เอาเงินที่ได้ไปสนับสนุนผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการก็ขึ้นกับว่าจะออกแรงหรือออกเงิน ไปทำมาหากิน ได้ผลตอบแทนกลับมาก็เอากำไรแบ่งกลับให้ธนาคาร ธนาคารก็ไปแบ่งให้กับผู้ฝากเงินกับแบงก์เอง

ฉะนั้น หลักการ profit sharing คือ รับความเสี่ยงด้วยกันทั้งคู่ คำถามต่อไปคือ จะบริหารจัดการอย่างไร ถ้ามีปัญหาขึ้นมา ก็มีกลไกของธนาคารที่ตกลงกับผู้ฝากไว้ล่วงหน้าว่า ถ้าจะมีความเสี่ยง ลูกค้ารับเท่าไหร่ ธนาคารรับเท่าไหร่ เป็นสัดส่วนที่ต้องตกลง ฉะนั้น วิถีการทำงานของธนาคารทุกเดือนต้องมีการคำนวณกำไร ว่าผู้ฝากได้เท่าไหร่ ธนาคารได้เท่าไหร่ นี่คือกลไกการทำงานของธนาคารอิสลาม

โดยทั่วไปผู้ประกอบการส่วนใหญ่เมื่อจะเติบโต ก็ไม่พึ่งพาระบบดอกเบี้ย แต่จะพึ่งระบบลงขันกันทำงาน มีสหกรณ์อิสลาม ธุรกิจที่ลงขันกันเอง เป็นความพยายามคงอยู่โดยไม่พึ่งพาระบบดอกเบี้ย แล้วมาแบ่งกัน แต่สเกลจะไปได้ระดับหนึ่ง ถึงเวลาหนึ่งกลไกธนาคารเข้ามามีส่วน ธนาคารก็คือกลไกหนึ่งเหมือนกันแต่ใหญ่ขึ้น

เครื่องมือทางการเงินตามหลักอิสลามมีหลากหลาย

ขณะที่เครื่องมือทางการเงินตามหลักชะรีอะฮ์มีหลากหลายมาก เรียกว่า มุฎอเราะบะห์ (mudarabah หรือการร่วมลงทุน) เป็นเครื่องมือดั้งเดิมของหลักการ profit sharing เป็นสัญญาในยุคแรกๆ คือ การร่วมลงทุนกันเพื่อสนับสนุนกิจการใดกิจการหนึ่ง แล้วก็มีมุชาเราะกะฮ์ (musharakah) หรือการร่วมกันลงทุน ช่วยกันบริหารทำให้ธุรกิจเกิดผลกำไร จากนั้นก็แบ่งรายได้ตามสัดส่วนที่ตกลงกันไว้ ซึ่งสามารถออกแบบให้ใครลงแรงใครลงเงินได้ ภายใต้ชื่อต่างๆ อีกเครื่องมือหนึ่งคือ เมื่อมุสลิมไม่ต้องการอยู่ในระบบดอกเบี้ย ก็มีระบบเรียกว่า ซื้อขาย เช่น ธนาคารไปซื้อทรัพย์มาก่อน แล้วขายคืนบวกกำไรให้ลูกค้าผ่อน

ฉะนั้น กลไกการที่ไม่สร้างระบบดอกเบี้ย ชะรีอะฮ์ได้วางระบบไว้ให้หมด อาจจะไม่คล่องตัวบ้างในบางประเทศ แต่บางประเทศก็มีเกณฑ์เรื่องภาษี โดยเฉพาะมาเลเซียก้าวหน้าเรื่องพวกนี้มาก ในประเทศไทยมีกลไกทางด้านกฎหมายหลายเรื่องที่ต้องศึกษาและทำให้เกิดขึ้น ซึ่งภาครัฐอาจจะคิดเรื่องความเป็นธรรม ฯลฯ แต่ในบางประเทศอย่างมาเลเซีย จะแก้กฎหมายเลย เพราะตั้งใจจะเป็นประเทศศูนย์กลาง shariah banking ในภูมิภาคนี้ให้ได้

“หลักเกณฑ์เหล่านี้ปรับไปตามเวลา ถามว่าทำไมเวลานี้มีผลิตภัณฑ์ด้านประกันภัยขึ้นมา ทำไมมีกองทุนที่ลงทุนในอิสลามได้ หรือมีบอนด์ที่เป็นอิสลามได้ เท่ากับว่า การเงินอิสลามมีการพัฒนาไปตามเทคโนโลยีต่างๆ การที่ธนาคารสามารถทำแอปพลิเคชันโมบายแบงกิงที่เป็นชะรีอะฮ์ขึ้นมาได้ครั้งแรกในประเทศไทย เป็นตัวยืนยันว่า ทุกอย่างเปลี่ยนไปตามโลกสมัยใหม่ ผมเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ชะรีอะฮ์เป็นหลักการที่ปรับตัวไปตามความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ เพียงแต่จะปรับใช้อย่างไรเท่านั้น โดยมีเครื่องมือเต็มไปหมด ไม่ได้ซับซ้อนอะไร”

ดร.ทวีลาภกล่าวว่า ทั้งหมดนี้อาจจะฟังดูยาก แต่เป็นโครงสร้างหลักของการเป็นอิสลาม การออกแบบให้เกิดกลไกนี้ได้ ในประเทศที่เป็นประเทศมุสลิมไม่มีปัญหา แต่ในประเทศไทยต้องมีโครงสร้าง ธนาคารที่ถูกกำกับโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ก็มีการเงินกระแสหลัก ทุกครั้งที่มีการออกกฎเกณฑ์จะออกเฉพาะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (specialized financial institutions หรือ SFIs) และอีกเฉพาะหนึ่งสำหรับธนาคารอิสลาม เท่ากับรัฐต้องมีบทบาทในการวางกลไกให้เดินไปได้ ต้องบอกว่าเป็นโชคดีของประเทศไทยที่เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม การมีธนาคารอิสลามจึงเป็นการเปิดกว้างของภาครัฐ มีธนาคารอิสลามเป็นทางเลือกได้

“ผมโชคดีอย่างที่เติบโตในพื้นที่ภาคใต้ จึงคุ้นเคยกับสังคมพหุวัฒนธรรมตั้งแต่สมัยยังไม่มีปัญหาความไม่เข้าใจกัน อยู่ในสังคมที่พุทธ คริสต์ มุสลิม อยู่ด้วยกันด้วยความเข้าอกเข้าใจ พอเราเติบโตในพื้นที่แบบนี้ ก็มีความเข้าใจคนมากขึ้น อันที่สอง เรามาจากธุรกิจธนาคาร ทำให้มองผ่านแว่นธุรกิจธนาคารแล้วเอาหลักชะรีอะฮ์มาปรับดูว่าปรับได้มากน้อยแค่ไหน ไม่สามารถมองด้วยแว่นของธุรกิจธนาคารอย่างเดียว เพราะมาจากโลกการเงินกระแสหลัก แต่พอเอาความเข้าใจในหลักการศาสนา หลักการที่ชะรีอะฮ์ที่วางไว้ รวมถึงวิธีการทำงานต่างๆ รวมถึงการศึกษาประวัติศาสตร์ การศึกษาอดีต ก็ทำให้เห็นว่า หลักเกณฑ์เหล่านี้ปรับไปตามเวลา” ดร.ทวีลาภกล่าว

ปั้นนักธุรกิจตัวเล็กให้แข็งแกร่ง อีกบทบาทของธนาคาร

ทั้งนี้ ดร.ทวีลาภกล่าวว่า ในพื้นที่ภาคใต้ ธนาคารมีแนวคิดที่จะสร้างนักธุรกิจที่แข็งแรง สร้างแชมเปี้ยนในพื้นที่ เพราะปัญหาความท้าทายหลักของพี่น้องมุสลิมในภาคใต้ คือ ความไม่เข้าอกเข้าใจรัฐ และโอกาสทางการศึกษา ส่วนใหญ่จะเรียนโรงเรียนสอนศาสนา เสร็จแล้วก็ไปเรียนตะวันออกกลาง กลับมาเป็นครูสอนศาสนาต่างๆ รัฐก็มีเครื่องมือในการช่วย จะเป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือกลไกต่างๆ ที่อาจจะทำงานได้ระดับหนึ่ง แต่ระยะยาวไม่ยั่งยืน ขณะที่ในพื้นที่ภาคใต้มีนักธุรกิจ คนตัวเล็ก ที่มีไอเดียมีความกล้า และพร้อมจะรับแนวคิดสมัยใหม่ ทำไมไม่ปั้นคนเหล่านี้ให้แข็งแรงขึ้น สามารถขยายเครือข่ายออกไป ทำให้ภาคใต้ได้รับการพัฒนาด้วยความเจริญ กลไกที่ธนาคารพยายามทำ คือ ทำฐานราก ยกระดับวิสาหกิจชุมชนขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการ รวมทั้งคาดหวังจะปั้นบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้บ้าง สุดท้ายก็กลับไปที่กลไกว่า ถ้าเป็นธุรกิจที่อยู่บนหลักชะรีอะฮ์แล้ว จะเป็นช่องทางให้คนพื้นที่มาลงทุนในธุรกิจต่างๆ เหล่านี้ ถ้า 3-4 ธุรกิจนี้เข้าตลาดฯ ได้ เชื่อว่าจะมีพี่น้องมุสลิมพร้อมจะลงทุนกับเขามากมาย เท่ากับเปิดทางเลือกวิถีชะรีอะฮ์ให้กว้างมากกว่าที่เป็นอยู่ นี่เป็นเป้าหมายที่มองระยะไกล ที่อยากให้เกิดขึ้น

ดร.ทวีลาภ กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารกำลังทดลองให้สินเชื่อสนับสนุนเพื่อสังคม (social pledge) กับธุรกิจ 4-5 ราย โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไปช่วยพี่น้องมุสลิม ยกตัวอย่าง โครงการทุเรียน เป็นโลจิสติกส์ใหญ่มากในชุมพร ไปช่วยพี่น้องมุสลิม ที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เป็นอาสาสมัคร หรือการให้สินเชื่อธุรกิจรายหนึ่งที่อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี รายนี้จ้างพนักงานในท้องที่ 200 คน จ่ายเงินเดือนด้วยการใส่ซอง แต่ไม่จ้างพม่า ลาว ตั้งใจจ้างพี่น้องมุสลิมเป็นหลัก หรือโรงไฟฟ้าแก๊สชีวมวล ที่สามารถต่อยอดวิสาหกิจชุมชนได้ ถ้าสร้างพวกนี้ได้ ทุกครั้งที่ให้สินเชื่อแล้วเขาช่วยคนตัวเล็ก ช่วยคนในพื้นที่ได้บ้าง ถ้าสร้างบรรทัดฐานแบบนี้ได้ จะสร้าง ESG ได้ในที่สุด แต่ในภาคใต้คนยังระแวดระวังธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ ซึ่งก็เข้าใจวิธีคิดของเขาที่ว่า ธุรกิจใหญ่กินรวบ ธุรกิจใหญ่ไม่แบ่ง เป็นความกังวลของเขา ก็พยายามเฟ้นธุรกิจที่ทำเรื่องนี้ด้วยความจริงจัง มีดีเอ็นเอตรงกัน

“ฉะนั้น บทบาทของธนาคารที่อยากให้เกิดขึ้น คือ จะเป็นโค้ชให้เขา เป็นพาร์ตเนอร์เขา ลงทุนกับเขา ด้วยความเข้าอกเข้าใจและตอบสนองเขาให้ได้ เพราะปัญหาหรือความท้าทายที่ผู้ประกอบการแต่ละรายเจอมันยากเพราะเป็นคนตัวเล็ก ซึ่งเป็นปัญหาที่เห็นในภาคใต้ และภาคอื่นด้วย ธนาคารจึงอยากเป็นธนาคารของพี่น้องมุสลิม และธนาคารทางเลือกด้วย จึงประกาศวิสัยทัศน์ว่า เราเป็นสถาบันการเงินที่ให้บริการด้วยหลักชะรีอะฮ์ เพื่อความยั่งยืน มี 3 หัวข้อนี้ คืออยากเป็นมากกว่าธนาคาร เราอยากเป็นสถาบันการเงิน อิงหลักชะรีอะฮ์ที่ชัดเจน และมีความยั่งยืน เป็นวิสัยทัศน์ที่เราออกแบบและสื่อสาร รวมทั้งยังมีแนวคิดเรื่องการยกระดับฮาลาลของประเทศไทย โดยใช้จุดแข็งของการเป็นประเทศเกษตรให้ได้ คือมีประเด็นเรื่องมาตรฐานการรับรอง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน อย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย มีการยกระดับไปแล้ว”

ดร.ทวีลาภกล่าวว่า แนวคิดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างการให้กู้โดยมีความรับผิดชอบ ก็นับว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ธนาคารพยายามทำความเข้าใจเรื่องนี้อย่างเข้มข้น เพราะความเป็นธนาคารชะรีอะฮ์ ควรทำเรื่องนี้ได้ดีที่สุด และไม่ควรผลักดันให้คนก่อหนี้เกินสมควร หรือหากมีปัญหาควรมีทางเลือกให้แก้ไขปัญหาได้ มีความพยายามในการคิดเรื่องนี้มากกว่าการนำเสนอสินเชื่ออย่างเดียว เป็นส่วนหนึ่งที่มีผลต่อธุรกิจสูง ธุรกิจที่เกี่ยวกับรายย่อยที่เพิ่มขั้นตอนในการทำงานอย่างปฏิเสธไม่ได้ ตามกลไกนี้ต้องให้การศึกษากับลูกค้า ชี้แจงลูกค้า เวลามีปัญหาต้องเปิดโอกาสให้มีการแก้ไขได้ วางอัตรากำไรที่เหมาะสมตามความเสี่ยงของลูกค้า เป็นกฎเกณฑ์ที่ต้องทำ แต่ก็นำไปสู่หลักการความยุติธรรมทางสังคมในที่สุด เป็นการรักษาความสมดุลระหว่างคนสองคน

สร้างความรับรู้ธนาคารอิสลาม ทำธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ

“จุดหัวเลี้ยวหัวต่อของธนาคารอิสลามขณะนี้ คือ ทำอย่างไรให้ธนาคารถูกรับรู้ว่า ธนาคารสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า มากกว่าการเป็นธนาคารในกระแสหลัก ธนาคารในกระแสหลักนั้น ด้วยต้นทุนและรายละเอียดต่างๆ ทำให้เราแข่งขันยาก เพราะต้นทุนสูง ขณะที่ความท้าทายในขณะนี้ ในภาษามุสลิมมีหลักเรียกว่าฟัตวา คือมีข้อยกเว้นได้หากมีเหตุจำเป็น คือ ในขณะที่ธนาคารกระแสหลักเกิดมานานแล้ว มีความสะดวกมีความคุ้นเคย ถ้าวันนี้มีการพัฒนาบริการของธนาคารอิสลามขึ้นมาใกล้เคียงกัน คนที่มีความเชื่อ ความศรัทธาอย่างจริงจัง ก็อาจะเลือกมาใช้บริการ แต่ก็มีอีกจำนวนมากที่สมัยก่อนไม่มีทางเลือก และมีช่องทางใช้บริการธนาคารกระแสหลักอยู่ ก็ไม่จำเป็นต้องมาใช้บริการธนาคารอิสลามก็ได้ ธนาคารจึงต้องมีจุดยืนที่ชัดเจน สร้างฐานลูกค้าให้มากที่สุด ให้การรับรู้แก่คน รับรู้บทบาทของธนาคารเป็นเรื่องสำคัญจึงคิดว่า ถ้าความยุติธรรมทางสังคมเป็นเป้าหมายสุดท้ายที่อยากเห็น ถ้าคนรับรู้ว่าธนาคารอิสลามทำธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ แล้วได้ผลตอบแทนมาเท่าไหร่ แบ่งปัน แล้วคืนกลับ จริงๆ ธนาคารกับคนไม่ต่างกัน” ดร.ทวีลาภกล่าว

มุสลิมมีหลักเกณฑ์ที่ต้องบริจาค หรือซะกาต การให้ทานประจำปีหมายถึงมุสลิมต้องจ่ายทรัพย์สินส่วนเกินจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้ที่มีสิทธิได้รับเมื่อครบรอบปี คล้ายภาษีสังคม ธนาคารก็เช่นเดียวกัน ถึงเวลาแล้วทำมาหากินได้ แบ่งปัน แล้วก็คืนกลับ ถ้าคนเห็นภาพแบบนี้ได้เรื่อยๆ ก็จะรับรู้อีกแบบ เหมือนที่หน่วยงานกำกับดูแลพยายามที่จะให้ธนาคารเข้าไปมีบทบาทในการเปลี่ยนผ่านเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คือสนับสนุนด้านการเงินให้เปลี่ยนผ่านได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าธรรมดา สุดท้ายโลกมันเขียว คนก็ได้ประโยชน์

“ถ้าเราเดินในเส้นนี้ได้เรื่อง ESG ธนาคารก็จะถูกมองและรับรู้อีกแบบในแง่ภาพลักษณ์ แง่สิ่งที่จับต้องได้ คนก็อาจจะเลือกมาฝากเงิน คือ ธนาคารไม่ได้ต้องการเป็นธนาคารของพี่น้องมุสลิม แต่ต้องการเป็นธนาคารทางเลือกให้กับทุกคน สังคมมุสลิมไม่ได้เป็นสังคมปิด แต่จริงๆ แล้วเป็นโลกเปิด นี่เป็นเป้าหมายสำคัญให้ไอแบงก์เดินไปในเส้นทางนี้ให้ได้ ฟังดูยาก แต่ต้องทำให้คนมีความเชื่อ” ดร.ทวีลาภกล่าว

ดร.ทวีลาภกล่าวว่า ตั้งแต่เข้ามาทำงานที่ธนาคารอิสลาม ก็มีคนมาพูดคุยกับธนาคารมากขึ้น สิ่งที่พยายามจะทำ คือ ธนาคารต้องมีเครือข่าย ทำให้ธนาคารเป็นที่รับรู้มากขึ้น เพียงแต่จะรักษาไว้ให้ได้นานได้อย่างไร ไม่ให้สะดุดอีก เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้น “พนักงานก็ต้องศึกษาให้เข้าใจ อธิบายได้ มากน้อยต้องพูดภาษาเดียวกันกับลูกค้า ผมเองก็ต้องศึกษาให้มากขึ้น ในฐานะผู้บริหารธนาคารอิสลาม ต้องอธิบายเรื่องชะรีอะฮ์ให้ได้”

ดร.ทวีลาภกล่าวว่า “เรื่องความยุติธรรมทางสังคมกับความเป้นธรรมทางเศรษฐกิจก็เหมือน ESG ดูเหมือนเป็นเรื่องยาก ต้องใช้เวลา แต่สุดท้ายก็ต้องเกิด จะช้าหรือเร็วเท่านั้น เพียงแต่รุ่นผู้ใหญ่อาจจะคุ้นชินกับระบบที่เติบโตมา เช่น ระบบอุปถัมภ์ ระบบพึ่งพาอาศัยกัน ขณะที่คนรุ่นใหม่กลับตั้งคำถามเรื่องความเปป็นธรรม เรื่องการกระจายรายได้เยอะขึ้น ถ้าฟังดีๆ เขากำลังบอกคนอีกรุ่นหนึ่งว่า ต้องทำอะไรบางอย่าง ไม่สามารถละเลยได้ และผมเชื่อเรื่องรากฐาน การวางรากฐานไว้สำคัญที่สุดสำหรับสังคมในอนาคต อย่างรัฐธรรมนูญก็เป็นกลไกในการวางรากฐานหลักๆ ไว้ แต่ความท้าทายคือ มีการวางรากฐานไว้จริง แต่ไม่เชื่อ แต่สุดท้ายประเทศต้องวางเรื่อรากฐานไว้ และพลังหรือเสียงคนรุ่นใหม่สุดท้ายต้องผสมผสานกันเข้ามา วางรากฐานของสังคมใหม่ให้อยู่ด้วยกันให้ได้ จะทำเรื่อง ESG เรื่องความเป็นธรรม เรื่องการกระจายความมั่งคั่ง อย่างไรให้ได้ อย่างไรเรื่องนี้ต้องมา”