ThaiPublica > เกาะกระแส > ‘กลุ่มพลังงานหมุนเวียน’ ส่ง จม.เปิดผนึกแจงประธานสภาอุต ฯ ยันไม่ได้อ้างชื่อ ส.อ.ท. ขอทุน บพข.

‘กลุ่มพลังงานหมุนเวียน’ ส่ง จม.เปิดผนึกแจงประธานสภาอุต ฯ ยันไม่ได้อ้างชื่อ ส.อ.ท. ขอทุน บพข.

18 มีนาคม 2024


‘กลุ่มพลังงานหมุนเวียน’ ส่งจม.เปิดผนึกถึงประธานสภาอุต ฯ – สมาชิก แจงที่มา ‘มูลนิธิพลังงานสะอาดฯ’ ยันไม่ได้แอบอ้างชื่อ ส.อ.ท. ขอทุนพัฒนาต่อยอดซอฟท์แวร์ ซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิต ด้าน บพข.ทำหนังสือแจ้งมูลนิธิฯ “ไม่มีปัญหาในการขอรับทุนดังกล่าว”

หลังจากที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้นำเสนอข่าว ตั้ง คกก.สอบคนในสภาอุตฯ เปิด “มูลนิธิพลังงานสะอาด” อ้างชื่อ ส.อ.ท. ขอทุนหน่วยงานรัฐ ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งคณะกรรมการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยชุดใหม่ (ส.อ.ท.) โดยมีผลสอบเบื้องต้นเสนอที่ประชุมบอร์ดบริหาร ฯ พิจารณา กรณีคนในสภาฯตั้ง “มูลนิธิพลังงานสะอาดฯ” อ้างชื่อสภาอุตฯ ของบประมาณจากหน่วยงานรัฐทำวิจัย โดยไม่ผ่านการอนุมัติ จึงมีการตั้งถามว่าการดำเนินการดังกล่าวนี้ อาจเข้าข่ายผลประโยชนทับซ้อน – ขัดหลักธรรมาภิบาลหรือไม่?

ล่าสุด มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน (CEP) ได้ทำหนังสือชี้แจ้งถึงสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า มีรายละเอียดดังนี้

จากกรณีสื่อออนไลน์แห่งหนึ่งได้มีการเผยแพร่ข่าว “มูลนิธิพลังงานสะอาดฯ” อ้างชื่อสภาอุตสาหกรรม ของบประมาณหน่วยงานรัฐทำวิจัย พร้อมโยงว่าอาจเข้าข่ายผลประโยชนทับซ้อน – ขัดหลักธรรมาภิบาลหรือไม่? ซึ่งในเนื้อหาได้มีการกล่าวถึงชื่อของผู้ชิงตำแหน่งอย่าง นายสมโภน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด หรือ “EA” มีความพยายามจะเชื่อมโยงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกัน จนอาจเกิดความสับสนแก่สังคม หรือเรียกว่าเป็นการสาดโคลนเพื่อหวังดิสเครดิตก่อนการเลือกตั้งประธาน ส.อ.ท.คนใหม่ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 25 มีนาคมนี้

โดยก่อนหน้านี้ ประธาน ส.อ.ท. คนปัจจุบัน ที่มีชื่อลงแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้แจ้งที่ประชุมในวาระ “3.1 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง” พร้อมกับนำเสนอเอกสารบนจอห้องประชุมพาดพิงถึงกลุ่มอุสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน / มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน และสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE100) ทำนองที่จงใจให้ผู้เข้าร่วมประชุมและสมาชิก ส.อ.ท. เข้าใจได้ว่ามีการกระทำที่ไม่ถูกกฎหมาย มีการทุจริต ทางกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ได้ออกหนังสือเปิดผนึกชี้แจงเรื่องดังกล่าวแล้ว ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่า เป็นการกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม มีวาระซ่อนเร้นให้กลุ่มพลังงานหมุนเวียน กับผู้ถูกพาดพิงเสียหายก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น

โดยขอชี้แจงข้อเท็จจริง 6 ข้อดังนี้

    1) กลุ่มพลังงานหมุนเวียนเป็นผู้ก่อตั้ง มูลนิธิพลังงานสะอาดฯ และสมาคม RE100 ตามมติของกลุ่ม พลังงานหมุนเวียน ทั้งในส่วนของผู้ผลิต ผู้ซื้อ ซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์ของ ส.อ.ท.

    2) การตั้งมูลนิธิฯ และสมาคม RE100 ได้กระทำอย่างเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้

    3) กลุ่มพลังงานหมุนเวียนเป็นแกนนำในการผลักดัน ให้จัดตั้งสถาบันการจัดการการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ของ ส.อ.ท. เมื่อ 22 ธ.ค.2564 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น สถาบัน CCI เมื่อ 31 พ.ค.2565 เพื่อการสร้างตลาด ซื้อขายคาร์บอนเครดิตแบบ Digital Trading Platform

    4) บริษัท บล็อกฟินท์ จำกัด เป็นบริษัทพัฒนาซอฟท์แวร์ ที่ใช้บริหารจัดการระบบ GIDEON มาให้ส.อ.ท. ได้ใช้ โดยไม่มีค่า License Fee โดยบล็อกฟินท์ฯ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์ ส่วน ส.อ.ท. เป็นเจ้าของ FTIX ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายสินค้า แต่ ส.อ.ท. ไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ซอฟท์แวร์ที่ใช้ในการบริหารจัดการตลาดซื้อขาย

    5) โดยสถาบัน CCI ได้ขอให้บล็อกฟินท์ฯ พัฒนาซอฟท์แวร์หลายรายการ แต่ ส.อ.ท. ไม่มีงบประมาณ จึงขอให้มูลนิธิพลังงานสะอาดฯ ช่วยเป็นแกนในการขอทุนจาก บพข. จึงระบุ ข้อมูลตามความเป็นจริงว่า โครงการนี้ทำเพื่อให้ ส.อ.ท. ใช้งาน ไม่ใช่เป็นการแอบอ้างชื่อของ ส.อ.ท. ในการขอรับทุน นอกจากนั้นเงื่อนไขยังระบุให้ผู้ขอรับทุนต้องลงเงินทุนเองในสัดส่วน 40:60 ด้วย ซึ่งหลังจากมีเรื่องนี้ บพข. ได้ตอบเป็นหนังสือ ที่ อว 6203/559 ลงวันที่ 27 ก.พ. 2567 3/4 มาที่มูลนิธิพลังงานสะอาดฯ ยืนยันว่า บพข. ไม่มีปัญหากับการขอรับทุนดังกล่าวและมีความยินดีที่ได้ร่วมสนับสนุนงานของมูลนิธิ

    6) กลุ่มพลังงานหมุนเวียน มูลนิธิพลังงานสะอาดฯ และสมาคม RE100 ตั้งใจขับเคลื่อนเรื่องพลังงาน หมุนเวียนเพื่อประโยชน์ของสมาชิก ส.อ.ท. และประเทศชาติโดยรวม จึงไม่ควรมีใครเอาเรื่องนี้มาเป็นเครื่องมือในการบิดเบือนให้เกิดความเข้าใจผิด ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง และจะมีผลให้การขับเคลื่อนในเรื่องพลังงานหมุนเวียนต้องล่าช้า เสียโอกาส เสียความสามารถในการแข่งขันของประเทศในตลาดการค้าโลก

ทั้งนี้ การจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ของธุรกิจที่อยู่ในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีมากกว่า 40 กลุ่มอุตสาหกรรมจากทั้งหมด 46 กลุ่มมีการดำเนินการร่วมมือกับมูลนิธิหรือสมาคมต่างๆมากกว่า 43 แห่งตามรายละเอียดดังนี้

สำหรับในกรณีมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชนซึ่งเป็นประเด็นในขณะนี้ ได้มีการร่วมงานกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยด้วยดีมาโดยตลอดเป็นเวลามากกว่า 5 ปี อีกทั้งตัวประธานสภาอุตสาหกรรมเองก็ไปร่วมงานและบางงานก็เป็นประธานในงานที่ร่วมมือกันอีกด้วย แต่เหตุใดครั้งนี้จึงกลับกลายเป็นประเด็นถกเถียง จึงคิดเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากกลายเป็นการแข่งขันเพื่อการเอาชนะในตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมในสมัยต่อไปเท่านั้น

นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ได้ทำหนังสือเปิดผนึก ลงวันที่ 11 มีนาคม 2567 ถึงประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาชิก ส.อ.ท. เรื่องการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน โดยอ้างถึงการประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2/2567 (22) เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ระเบียบวาระที่ 3 เรื่องเร่งด่วน มีรายละเอียดดังนี้

ตามที่ประธาน ส.อ.ท. ได้แจ้งต่อที่ประชุมในวาระ “3.1 การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีได้รับหนังสือจากหน่วยงานภายนอก และความคืบหน้าการตรวจสอบฯ” และคณะกรรมการตรวจสอบ ฯดังกล่าว ได้นำเสนอต่อที่ประชุมโดยการแสดงเอกสารบนจอภาพในห้องประชุม และกล่าวอธิบายพาดพิงถึงกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน หรือ “กลุ่มพลังงานหมุนเวียน” , มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน หรือ “มูลนิธิพลังงานสะอาดฯ” และสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย หรือ “สมาคม RE100” ในทำนองที่ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุม และสมาชิก ส.อ.ท. เข้าใจได้ว่ามีการกระทำที่ไม่ถูกกฎหมาย และมีการทุจริตในการดำเนินงานของกลุ่มพลังงานหมุนเวียน , มูลนิธิพลังงานสะอาดฯ และสมาคม RE 100 รายละเอียดตามเอกสารประกอบการประชุม วาระ 3.1 นั้น

คณะกรรมการกลุ่มพลังงานหมุนเวียน ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าเป็นการกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม และมีวาระซ่อนเร้น ทำให้กลุ่มพลังงานหมุนเวียน และผู้ที่ถูกพาดพิงทั้งโดยตรงและโดยอ้อมได้รับความเสียหาย จึงขอเรียนชี้แจง ดังนี้

    1) กลุ่มพลังงานหมุนเวียนเป็นผู้ก่อตั้ง มูลนิธิพลังงานสะอาดฯ และสมาคม RE 100 ตามมติของกลุ่มพลังงานหมุนเวียน เพื่อช่วยขับเคลื่อนงานของกลุ่มให้คล่องตัวและครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียเป็นระบบ ทั้งในส่วนของผู้ผลิต (supply side) และผู้ซื้อ (demand side) ซึ่งผู้ซื้อจะรวมถึงธุรกิจการค้าและบริการที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของ ส.อ.ท. ด้วย เพราะการขับเคลื่อนส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องผลักดันทั้งฝ่ายผู้ผลิตและผู้ซื้อ รวมถึงภาคการศึกษาและประชาชนทั่วไปในวงกว้าง การดำเนินงานของมูลนิธิพลังงานสะอาดฯ และสมาคม RE 100 จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ของ ส.อ.ท. เป็นส่วนใหญ่และเป็นประโยชน์กับส่วนรวม

    2) การตั้งมูลนิธิพลังงานสะอาดฯ และสมาคม RE100 ทำอย่างเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ สมาชิกของกลุ่มพลังงานหมุนเวียนร่วมกันบริจาคเงิน เพื่อก่อตั้งและดำเนินงาน การดำเนินกิจกรรมทุกอย่างจึงเปิดเผย โปร่งใส ไม่มีการทุจริต หรือ โยกย้ายผลประโยชน์ใด ๆ เพราะมีการควบคุมตรวจสอบโดยสมาชิกให้มีการใช้เงินบริจาคของสมาชิกตรงตามวัตถุประสงค์

    3) กลุ่มพลังงานหมุนเวียน เป็นแกนในการผลักดันให้จัดตั้งสถาบันการจัดการการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของ ส.อ.ท. เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สถาบัน CCI) เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 เพื่อปฏิบัติภารกิจหลัก คือ การสร้างตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตแบบ Digital Trading Platform เพื่อให้สมาชิก และบุคคลทั่วไปสามารถใช้คาร์บอนเครดิตเป็นตัวช่วยในการรับมือมาตรการทางการค้าต่าง ๆ ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง

    4) บริษัท บล็อกฟินท์ จำกัด เป็นบริษัท Start up ของประเทศไทย ที่เริ่มพัฒนาซอฟท์แวร์ ในชื่อว่า “ระบบ GIDEON” ที่ใช้บริหารจัดการ Digital Trading Platform สำหรับการซื้อขายพลังงานสะอาด และคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นระบบที่มีการใช้งานจริง โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อบริหารจัดการการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนระหว่างอาคารต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย กลุ่มพลังงานหมุนเวียนจึงได้ทาบทามขอระบบ GIDEON นี้ มาให้ ส.อ.ท. ได้ใช้ โดยไม่มีค่า License Fee และบล็อกฟินท์ฯ ก็ยินดีสนับสนุนให้ ส.อ.ท. ใช้ระบบ GIDEON โดยไม่คิดค่าตอบแทนใด ๆ บล็อกฟินท์ฯ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์ระบบ GIDEON ส่วน ส.อ.ท.เป็นเจ้าของ FTIX ซึ่งเป็น market platform หรือ ตลาดซื้อขายสินค้า แต่ ส.อ.ท. ไม่ได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์ที่ใช้ในการบริหารจัดการตลาดซื้อขาย

    5) ชอฟท์แวร์จะต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติมอยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้ทันกับสถาการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส.อ.ท. โดยสถาบัน CCI ได้ขอให้ บล็อกฟินท์ ๆ พัฒนาต่อยอดระบบ GIDEON หลายรายการ ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายในการพัฒนาต่อยอด แต่ ส.อ.ท. ไม่มีงบประมาณ และ ส.อ.ท. ยังไม่เคยต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ให้บล็อกฟินท์ฯ เลย บล็อกฟินท์ฯ จึงขอให้มูลนิธิพลังงานสะอาดฯ ช่วยเป็นแกนในการขอทุนจาก บพข. เพื่อมาพัฒนาต่อยอดระบบ GIDEON ตามความต้องการของ ส.อ.ท. และเพื่อประโยชน์ของ ส.อ.ท.ในเอกสารขอรับทุนจาก บพข. จึงระบุข้อมูลตามความเป็นจริงว่า โครงการนี้ทำเพื่อให้ ส.อ.ท. ใช้งาน ไม่ใช่เป็นการแอบอ้างชื่อของ ส.อ.ท. ในการขอรับทุน นอกจากนั้น เงื่อนไขการให้ทุนของ บพข. ยังระบุให้ผู้ขอรับทุนยังต้องลงเงินทุนเองในสัดส่วน 40:60 บล็อกฟินท์ฯ จึงต้องลงเงินของตัวเองประมาณ 4.2 ล้านบาท ในการพัฒนาระบบ GIDEON เพิ่มเติมตามความต้องการของ ส.อ.ท. ด้วย ซึ่งหลังจากมีเรื่องนี้ บพข.ได้ตอบเป็นหนังสือ ที่ อว 6203/559 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 มาที่มูลนิธิพลังงานสะอาดฯ ยืนยันว่า บพข. ไม่มีปัญหากับการขอรับทุนดังกล่าว และมีความยินดีที่ได้ร่วมสนับสนุนงานของมูลนิธิพลังงานสะอาดๆ

    6) กลุ่มพลังงานหมุนเวียน มูลนิธิพลังานสะอาดฯ และสมาคม RE 100 ตั้งใจขับเคลื่อนเรื่องพลังงานหมุนเวียนเพื่อประโยชน์ของสมาชิก ส.อ.ท. และประเทศชาติโดยรวม จึงไม่ควรมีใครเอาเรื่องนี้มาเป็นเครื่องมือในการบิดเบือนให้เกิดความเข้าใจผิด ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง และจะมีผลให้การขับเคลื่อนในเรื่องพลังงานหมุนเวียนต้องล่าช้า เสียโอกาสและเสียความสามารถในการแข่งขันของประเทศในตลาดการค้าโลก

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบ และดำเนินการด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงประโยชน์ของ ส.อ.ท. และประเทศชาติเป็นหลัก

อ่านรายละเอียดหนังสือชี้แจงกรณีถูกพาดพิง-มูลนิธิพลังงานสะอาดฯ

อ่านรายละเอียดหนังสือเปิดผนึก กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนทำหนังสือเปิดผนึกถึงประธาน ส.อ.ท.-สมาชิก

  • ตั้ง คกก.สอบคนในสภาอุตฯ เปิด “มูลนิธิพลังงานสะอาด” อ้างชื่อ ส.อ.ท. ขอทุนหน่วยงานรัฐ