ดร.รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์
มีการโต้เถียงกันว่าประเทศไทย เป็นลา หรือ เป็นม้า…
แต่ถ้ามาดูที่ภาคการเกษตร… เรากำลังเป็นกบ…และเรากำลังอยู่ในหม้อข้าวต้มกบ ที่ต้มมานานกว่า 10 ปี…
ทำไมเราเป็นกบ…
นักเศรษฐศาสตร์หลายๆ ท่านพูดถึง ‘วิกฤติต้มกบ’ปัญหาที่ไม่ได้ส่งผลกระทบที่เห็นได้ชัดผ่านตัวเลขเศรษฐกิจอย่างฉับพลันทันที แต่จะค่อยๆ ออกอาการผ่านเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงเรื่อยๆ ศักยภาพลดลง แข่งขันยากขึ้น ดึงดูดการลงทุนยากขึ้น สาเหตุมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ดำเนินการมาเป็นเวลานาน ยากต่อการแก้ไข การเกษตรของไทยก็เช่นเดียวกัน
ทำไมข้าวต้ม…
เมื่อพูดถึงการเกษตรก็จะต้องนึกถึงข้าวเป็นอันดับแรกๆ ถ้าย้อนกลับมาดูภาคเกษตรกรรมของไทย ดูตัวเลขผลผลิตข้าวของประเทศไทยเทียบกับประเทศอื่นๆ ประเทศไทยเราอยู่ในภาวะไม่มีการพัฒนาหรืออาจมองได้ว่าถดถอยตั้งแต่ช่วงปี 2550 (2010)

เราตื่นตัวกับการเสียแชมป์ให้กับเวียดนามในการส่งออกข้าว แต่จริงๆ แล้วที่น่าเป็นห่วงแบบวิกฤติข้าวต้มกบคือผลผลิตต่อไร่ที่คงที่มานานกว่า 10 ปีต่างหาก
เห็นกราฟผลผลิตนี้เราต้องวิเคราะห์เชิงลึกกันจริงๆ เสียทีว่า ทำไมผลผลิตต่อพื้นที่ของไทยถึงได้ทั้งต่ำกว่าใคร และไม่มีการพัฒนาในเชิงผลผลิต
จะบอกว่าเป็นเพราะผลกระทบเรื่องสภาพอากาศก็คงไม่ได้ เพราะทุกๆ ประเทศก็เจอผลกระทบเดียวกัน ทำไมผลผลิตยังขึ้นได้ และก็คงมีหลายๆ ปัจจัยที่ผสมกันต้องแต่เรื่องของดินเสื่อมคุณภาพ พันธุ์ข้าว ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว
ทำไมเราอยู่ในหมอ ข้าวต้มกบ…
ปี 2557 – 2566 : เยียวยา 1,000 บาทต่อไร่ ที่เกี่ยวกับข้าวทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 5 แสนล้านบาท หากสนใจรายละเอียดสามารถดูได้ที่บทความ 9 ปีนโยบายข้าว
ข้าวต้มกบ…จากนโยบายเรือธง งบประมาณที่ใส่ลงไปก่อให้เกิดการพัฒนาในด้านใดบ้าง?
เราอาจจะหยิบยกเอาวิสัยทัศน์และเป้าหมายของปี 2560 – 2564 มาวิเคราะห์กัน
2560-2564: ภาคเกษตรก้าวไกลด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลาดนำการผลิต ชีวิตเกษตรกรมีคุณภาพ ทรัพยากรการเกษตรมีความสมดุลและยั่งยืน
1. ความผาสุกของเกษตรกรเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 85 ในปี 2564
2. เกษตรกรมีรายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตรเพิ่มขึ้นเป็น 59,460 บาทต่อครัวเรือน ในปี 2564
3. เศรษฐกิจภาคเกษตรเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี
4. จำนวนงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเกษตรถูกนำไปใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างน้อย ร้อยละ 5 ต่อปี
5. ทรัพยากรการเกษตรได้รับการฟื้นฟูและใช้ประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน
อ่านเพิ่มเติม แผนพัฒนาการเกษตรในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่12 (พ.ศ.2560-2564)
เมื่อประเมินพบว่า
1.ดัชนีความผาสุกของเกษตรกรปี 2565 อยู่ที่ 80.46 ปรับลดลงจากปี 2564 ซึ่งมีค่าอยู่ที่ระดับ 81.10 โดยดัชนีความผาสุกของเกษตรกร ประกอบด้วย 5 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสุขอนามัย ด้านการศึกษา ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม เป้าหมายตั้งไว้ที่ระดับ 85 ในปี 2564
2.ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจสำคัญ พบว่า เมื่อนำรายได้ทางการเกษตรหักรายจ่ายทางการเกษตร ส่งผลให้ครัวเรือนเกษตรมีรายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตรเฉลี่ย 80,271 บาทต่อปี ดูเหมือนจะทำได้เกินเป้า… แต่ถ้าเราดูข้อมูลรายได้เกษตรกรในปี 60/61 พบว่ารายได้เกษตรที่ถูกแสดงบนเว็บไซต์ของเศรษฐกิจการเกษตร“เกษตรกรมีรายได้เงินสดสุทธิเกษตร 74,483 บาท/ปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.29 เมื่อเทียบกับปี 2559/60”
จึงเป็นคำถามว่าทำไมตั้งเป้าหมายปี 2564(59,460 บาทต่อครัวเรือน) ต่ำกว่ารายได้จริงที่เกิดขึ้นในปี 2560/2561 แล้ว…
3.GDP เกษตรฟื้นตัว ไตรมาสแรก เติบโต 1.4% คาดทั้งปี ทุกสาขาขยายตัว 1.7 – 2.7%
4.เป้าหมายที่ 4 และ 5 นั้นไม่แน่ชัดว่าควรประเมินผลอย่างไร
นอกเหนือจากเป้าหมายที่ทางรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้นั้น อีกตัวเลขสำคัญที่ควรพิจารณาคือหนี้ภาคครัวเรือนในการเกษตรของไทย
หนี้ภาคครัวเรือน ตั้งแต่ปี 2550 ถึงปี 2565 เพิ่มขึ้นจากประมาณ 350,000 บาทต่อครัวเรือนเป็นเกือบ 450,000 บาทต่อครัวเรือน
คิดเป็นกว่า 28% ที่หนี้เพิ่มขึ้น อัตราการเพิ่มของหนี้สิน สูงกว่าอัตราการเพิ่มของรายได้
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ราคาข้าวไม่มีการปรับตัวแต่ข้าวยังคงเป็นอาหารที่สำคัญของโลก
ประเทศไทยควรวางยุทธศาสตร์ตลาดและการผลิตให้ถูกจุดข้าวลักษณะใดที่เป็นที่ต้องการ และคุ้มค่าต่อการลงทุน
ข้าวต้มหรือข้าวตุ๋น…?
อยากจะขอย้อนกลับไปเรื่องการวางนโยบายและการใช้งบประมาณ ซึ่งเมื่อดูเงินงบประมาณที่ใช้ พบว่าไม่ได้สอดคล้องกับเป้าหมายที่วางไว้
หรือเรากำลังโดนตุ๋น…
หลายงานวิจัยชี้ชัดว่าเราต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา แต่งบประมาณที่ถูกใช้เพื่อการวิจัยและพัฒนาของไทยคือ 0.5 % ของ GDP และเพียง 20% ถูกนำมาใช้วิจัยเพื่อการเกษตร จริงๆ ถ้าคำนวณเป็นตัวเงินแล้วไม่น้อยเลย แต่น้อยเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีการลงทุนด้านการวิจัยสูงมากถึง 2-4% ของ GDP ส่วน ประเทศสมาชิกอาเซียนอยู่ในระดับประมาณ 1% ของ GDP
ในแง่ของบุคลากรทางการวิจัยประเทศไทยมีสัดส่วนนักวิจัยเพียง 0.8 คน ต่อประชากร 1,000 คน วิศวกรรมเกษตรในกระทรวงเกษตรมีไม่เกิน 100 อัตรา ซึ่งต่ำกว่ามาเลเซีย ที่มีอัตราส่วน 1.97 คนต่อประชากร 1,000 คน ในจำนวนนักวิจัยทั้งหมดของประเทศไทย เป็นนักวิจัยด้านการเกษตรไม่เกิน 8% (อ่านเพิ่มเติม หัวใจสำคัญของการพัฒนาการเกษตรคือ ‘งานวิจัย’)
จะแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนคงต้องเริ่มต้นที่ปรับโครงสร้าง การวางรากฐานการวิจัย พัฒนาบุคลากร reskill คนภาคการเกษตร จุดเริ่มต้นที่ปรับงบวิจัยให้เท่าเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน
สร้างตัวชี้วัดที่ส่งเสริมงานวิจัย และการวางรากฐานการพัฒนาทั้งดิน สายพันธุ์ การบริหารจัดการ และการพัฒนาศักยภาพคน ที่ไม่ใช่เพียงการจัดอบรมสัมนา
การพัฒนาการเกษตรก็เหมือนกับการพัฒนาเมือง พื้นที่มีความต้องการที่หลากหลาย การบริหารจัดการงบประมาณ ควรให้ท้องถิ่นจัดลำดับความสำคัญการแก้ปัญหา และส่วนกลางวางโครงสร้างการพัฒนา งานวิจัยเชิงลึกเพื่อการพัฒนาทิศทางประเทศ ถ้ามีงบประมาณที่เหมาะสมที่ท้องถิ่น จะทำให้นักวิจัย ทำงานวิจัยในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาที่ตรงจุด ลดปัญหา และเพิ่มคำคุณภาพที่เด่นได้
ในแต่ละพื้นที่มีลักษณะทางกายภาพที่ต่างกัน ที่ต้องการการวิจัย พัฒนาเฉพาะ ในเชิงประเทศ หรือส่วนกลาง ควรวางโครงสร้างพื้นที่ ที่ช่วยดึงศักยภาพของประเทศ และแต่ละพื้นที่ ส่วนกลางควรลงทุนการวิจัยเรื่องหลักๆ แล้วพื้นที่มีหน่วยงานวิจัยย่อยที่นำไปปรับให้เหมาะกับการจัดการในพื้นที่ของตัวเอง เช่นการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว ประเทศกำหนดทิศทางว่าข้าวพันธุ์อะไรที่จะเป็นที่ต้องการของตลาดในระยะกลาง ระยะยาว แล้วนำข้าวไปลงวิจัยและปรับปรุงในแต่ละพื้นที่ ในขณะเดียวกันพื้นที่ที่มีข้าวที่มีลักษณะพิเศษก็ควรได้รับการส่งเสริมและเสริมศักยภาพ
เมื่อไหร่เราจะเลิกต้มกบ ดับไฟ แล้ววางรากฐานระยะยาว เพื่อเปลี่ยนจากหม้อต้มกบ เป็นม้าวิ่งเร็ว…
ที่น่าสนใจคือ…พืชผลการเกษตรที่ได้รับการดูแลจากภาครัฐน้อยเท่าไหร่ ศักยภาพและการเติบโตยิ่งดีขึ้นเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น มะพร้าว ทุเรียน กาแฟ เป็นต้น