ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > Exim Bank มุ่งบทบาท “Green Development Bank” ลุยขยายพอร์ตสินเชื่อสีเขียว

Exim Bank มุ่งบทบาท “Green Development Bank” ลุยขยายพอร์ตสินเชื่อสีเขียว

11 ธันวาคม 2023


ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ “EXIM Bank”

Exim Bank เดินหน้าสู่การเป็น “Green Development Bank” เต็มรูปแบบ ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อธุรกิจสีเขียวจาก 37% เพิ่มเป็น 50% ของยอดสินเชื่อคงค้างในปี’71 ยัน “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เร่งเติมความรู้ – โอกาส – เงินทุน ช่วยพัฒนาคนตัวเล็ก – SMEs ไทยมีที่ยืนบนเวทีโลก

ปัจจุบันทุกภาคส่วนต่างพัฒนาองค์กร และกิจการ ไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ถูกกำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ อาทิ ความยากจน ความไม่เท่าเทียม ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะสภาวะโลกร้อน แก่นสำคัญของเป้าหมาย SDGs คือ “การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” สอดคล้องกับเป้าหมาย และพันธกิจของ EXIM Bank ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มุ่งสู่บทบาท “Green Development Bank” โดยสานพลังกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 ควบคู่ไปกับการยกระดับประเทศไทยสู่ประตูการค้าการลงทุน และยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาคนตัวเล็ก หรือ “SMEs” ไทยให้เข้มแข็งมีศักยภาพสูงขึ้น และแข่งขันในเวทีโลกได้

โดย ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ “EXIM Bank” กล่าวว่า วันนี้ EXIM Bank พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยบนบริบทใหม่ของโลกภายใต้บทบาทการเป็น “Green Development Bank” โดยใช้จุดแข็ง และความเชี่ยวชาญพัฒนาเครื่องมือทางการเงินสีเขียวที่เสริมสร้างการพัฒนาระบบระบบนิเวศการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย โดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนกระบวนการผลิตสินค้าและให้บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

“นับตั้งแต่เปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการในปี 2537 จนถึงปัจจุบัน EXIM Bank ได้ทำหน้าที่เป็น Lead Bank นำพาผู้ประกอบการไทยไปปักหมุดธุรกิจพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศจำนวนกว่า 400 โครงการกำลังการผลิต 8,800 เมกะวัตต์ ลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 100 ล้านตัน โดยเป็นการสนับสนุนทางการเงินกว่า 68,600 ล้านบาท สร้างมูลค่าการลงทุนกว่า 578,300 ล้านบาท รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สนับสนุนธุรกิจไทย รวมทั้ง SMEs ให้ปรับตัวเป็นธุรกิจสีเขียวสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในเวทีการค้าโลก”

ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อธุรกิจสีเขียวเป็น 50% ในปี’71

ส่วนในปี 2567 EXIM Bank มีแผนเดินหน้าพัฒนาเครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆอีกหลายมิติ อาทิ สินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยสำหรับดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและกำกับดูแลที่ดี (Environment Social and Governance) และการระดมทุนเพื่อนำมาใช้กับโครงการที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรทางทะเลโดยเฉพาะ (Blue Bond) อาทิ พาณิชยนาวีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนธุรกิจสีเขียวครอบคลุม Scope ที่ 1-2-3 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง ทางอ้อมที่เกิดจากการใช้พลังงาน และทางอ้อมอื่นๆจากการดำเนินงานขององค์กร) เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย EXIM Bank จะเพิ่มสัดส่วน Green Portfolio และที่เกี่ยวเนื่อง จาก 37% ในปัจจุบัน เป็น 50% ภายในปี 2571 เปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจและธุรกิจไทยไปพร้อมกันบนพื้นฐานของความยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นั่นหมายถึง การเติมความรู้ เติมโอกาส และเติมเงินทุน เพื่อให้ SMEs ไทยมีจุดยืนบนเวทีโลกได้อย่างภาคภูมิใจ รวมถึงกลุ่มเปราะบางทางสังคมให้มีองค์ความรู้ และพื้นฐานอาชีพที่มั่นคงก่อนจะขยายไปสู่ตลาดโลก ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี ยึดหลัก “4P” เริ่มต้นจากการดูแลคน (People) เพื่อดูแลโลก (Planet) ด้วยความใส่ใจในประสิทธิภาพ (Productivity) นำไปสู่กำไร (Profit) ซึ่งรวมถึงคุณค่าที่ตอบแทนกลับคืนสู่สังคม

โดยวางรากฐานตั้งแต่ภายในองค์กรให้บุคคลยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน “คุ้มครอง” (Protect) “เคารพ” (Respect) และ “เยียวยา” (Remedy) สอดคล้องกับหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Guiding Principles on Businees and Human Rights : UNGPs) และแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights : NAP) ของประเทศไทย ทั้งด้านแรงงาน ด้านชุมชน ที่ดิน สิ่งแวดล้อม ด้านการปกป้องสิทธิมนุษยชน ด้านการลงทุนระหว่างประเทศ และบรรษัทข้ามชาติ บูรณาการเชื่อมโยงทุกกระบวนการขององค์กรโดยคำนึงถึง ESG สู่เป้าหมาย SDGs

ดร.รักษ์ กล่าวต่อว่า ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่า 3% ขณะที่มูลค่าส่งออกทั้งปี 2566 คาดว่าจะหดตัว 1-2% อย่างไรก็ตามในไตรมาส 4 ของปี 2566 หรือโค้งสุดท้ายของปีนี้ เริ่มเห็นสัญญาณบวกโดยเฉพาะภาคการส่งออกที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัว โดย EXIM Bank ยังคงเดินหน้าส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง ควบคู่กับการพัฒนาสังคมสิ่งแวดล้อมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยผลประกอบการของ EXIM Bank ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2566 ธนาคารมีสินเชื่อคงค้าง 164,976 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5,161 ล้านบาท หรือ เติบโต 3.23% ภายใต้บทบาทการเป็น “Green Development Bank” อันเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน โลจิสติกส์ และภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 มียอดคงค้างสินเชื่อที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 60,298 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน Green Port ประมาณ 37% ของสินเชื่อคงค้างทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 37.36% ในจำนวนนี้เป็นผู้ประกอบการ SMEs กว่า 14,122 ล้านบาท คิดเป็น 23.42% จากสินเชื่อของ EXIM Bank ที่ให้การสนับสนุนธุรกิจสีเขียว โดยธนาคารตั้งเป้าจะขยายสัดส่วน Green Port เป็น 50% ในอีก 5 ปีข้างหน้า

ในขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และสถานการณ์ความไม่สงบในหลายประเทศ EXIM Bank ยังเร่งเสริมความมั่นใจและภูมิคุ้มกันความเสี่ยงแก่ผู้ส่งออก และนักลงทุนไทยผ่านบริการประกันการส่งออกและการลงทุน โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566 ปริมาณธุรกิจด้านการรับรับประกันการส่งออก และการลงทุนเท่ากับ 148,429 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.53%

ในส่วนของการสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งทางด้านสินเชื่อและประกันของ EXIM Bank ณ สิ้นกันยายน 2566 มีจำนวนลูกค้า 6,138 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.05% คิดเป็นสัดส่วน Penetration Rate ต่อผู้ส่งออกทั้งประเทศ 18% ในจำนวนนี้มีลูกค้า SMEs มากกว่า 83% สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของธนาคารที่ไม่ทิ้งคนตัวเล็กและกลุ่มเปราะบางทางสังคม ณ สิ้นกันยายน 2566 EXIM Bank ได้ช่วยเหลือทางด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการกว่า 27,800 ราย วงเงินรวมประมาณ 91,400 ล้านบาท

Q3/2566 กำไรสุทธิ 246 ล้านบาท

นอกจากนี้ EXIM Bank ยังสามารถบริหารจัดการต้นทุนทางการเงิน และบริหารค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้มีกำไรก่อนสำรอง 2,396 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนแบบก้าวกระโดด 18.48% อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวน ความเสี่ยงทางการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 ธนาคารมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPLs) จำนวน 6,665 ล้านบาท NPL Ratio เท่ากับ 4.04% อย่างไรก็ตาม EXIM Bank ได้มีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss : ECL) เพิ่ม เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (Coverage Ratio) ในสัดส่วนเท่ากับ 213.15% ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบอยู่ที่ 166.6% ถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2566 EXIM Bank มีกำไรสุทธิ 246 ล้านบาท และได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศอยู่ที่ระดับ AAA (tha) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 18 และคงอันดับเครดิตสกุลเงินตราต่างประเทศระยะยาวที่ BBB + เท่ากับเครดิตของประเทศไทยต่อเนื่องเป็นปีที่ 11

ตรึงดอกเบี้ย Prime Rate 6.75% ถึงสิ้นปีนี้

ดร.รักา์ กล่าวต่อว่า EXIM Bank มุ่งมั่นสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยการตรึงอัตราดอกเบี้ย Prime Rate ไว้ที่อัตรา 6.75% ต่อปี จนถึงสิ้นปี 2566 เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว และภาคธุรกิจเร่งปรับตัวสู่ทิศทางโลกการค้ายุคใหม่ที่มุ่งเน้นความยั่งยืน คาดว่าในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าปีนี้ โดยกลไกสำคัญอย่างภาคส่งออกจะกลับมาฟื้นตัว เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนจากราคาสินค้าเกษตรส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้น ปัญหา Supply Chain Disruption ที่คลี่คลาย ทำให้สินค้าไทยโดยเฉพาะสินค้าเกษตร และอาหารยังเป็นที่ต้องการอีกมาก

ขณะที่การลงทุนภายในประเทศ เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น การท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับมาตรการภาครัฐยังคงกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และบรรเทาภาระค่าครองชีพให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง EXIM Bank ซึ่งจะเปิดดำเนินการครบ 30 ปีในปี 2567 ยังพร้อมทำหน้าที่ “มากกว่าธนาคาร” สนับสนุนให้ธุรกิจไทยมีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น สามารถเติบโตในเวทีการค้าโลกยุคใหม่ได้อย่างยั่งยืน ท่ามกลางโอกาสและปัจจัยท้าทายรอบด้าน รวมถึงการปรับตัวรับมือมาตรการทางการค้า ด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกที่มีประมาณ 17,000 มาตรการโดยเฉพาะมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (Cabon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ทำให้ระยะข้างหน้าสินค้านำเข้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงต้องจ่ายค่าธรรมเนียมตามปริมาณคาร์บอนที่ปล่อย อันได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน ซึ่งจะบังคับใช้เต็มรูปแบบในเดือนมกราคม 2569 และกฎระเบียบสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation-Free Products Regulation : EUDR) ทำให้ผู้นำเข้าสินค้าเกษตร 7 กลุ่ม อันได้แก่ โกโก้ กาแฟ ปาล์มน้ำมัน ไม้และกระดาษ ยางพารา ผลิตภัณฑ์วัว และผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง ต้องลงทะเบียนแจ้งข้อมูลการผลิตทั้งระบบ เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าได้มีการตัดไม้ทำลายป่าในระบบการเพาะปลูก หรือ เลี้ยงสัตว์ หรือไม่ ซึ่งจะบังคับใช้เต็มรูปแบบในเดือนธันวาคม 2566 ปัจจัยต่าง ๆเหล่านี้ ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการทุกระดับ ต้องปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียวและความยั่งยืนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ตลอดปี 2566 EXIM Bank ยังเดินหน้าสนับสนุนเศรษฐกิจเชิงรุก แม้ในสภาวะที่เศรษฐกิจ และภาคการส่งออกยังไม่กลับมาฟื้นตัว โดยในช่วงต้นปีถึงกลางปี ธนาคารมียอดคงค้างสินเชื่อค่อนข้างคงที่ สอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกของไทยที่หดตัวต่อเนื่อง แต่คาดว่า EXIM Bank จะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายในปี 2566 โดยมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 175,000 ล้านบาท สอดรับกับทิศทางการส่งออกและเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ EXIM Bank ยังจะสานพลังหน่วยงานพันธมิตร รวมถึงลูกค้าผู้ประกอบการ เดินหน้าพัฒนาประเทศสู่อนาคตที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งคนตัวเล็ก หรือ SMEs ไทยไว้ข้างหลัง พร้อมรับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ที่จะมาถึง ด้วยการบริหารจัดการความเสี่ยง เพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการของไทยให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโลกสะอาด ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และต่อยอดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสมดุล” ดร.รักษ์ กล่าว