ปิติคุณ นิลถนอม
“อยากจะรู้ข้อเท็จจริง อยากจะรู้ว่าบิลลี่หายไปไหน ตั้งแต่ปี 2557 มาจนวันนี้มันไม่มีคำตอบ ก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปเชื่อได้”
“มึนอ” พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของ “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ แกนนำนักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย พูดกับนักข่าวทั้งน้ำตา เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา หลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง สั่งจำคุกอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นเวลา 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ตามความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ด้วยเหตุไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ไม่นำตัวบิลลี่พร้อมกับของกลางน้ำผึ้งส่งให้เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมาย
ส่วนข้อกล่าวหาฆาตกรรมบิลลี่นั้น ศาลยกฟ้อง แม้จะพบกระดูกขมับข้างซ้ายในเขื่อนแก่งกระจานที่มีสารพันธุกรรมตรงกับคุณแม่ของบิลลี่ แต่ก็ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นของบุคคลใด ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่น

เรื่องการหายตัวไปของบิลลี่นี้ไม่ใช่เรื่องแรกที่เกิดขึ้น หากนับย้อนกลับไปในอดีตมีคดีดังๆที่อยู่ในความจดจำอยู่หลายกรณี เช่น การหายตัวไปของทนายสมชาย ในปี 2547 หรือหะยีสุหลงเมื่อราวปี 2497
การอุ้มหายโดยผู้ถืออำนาจรัฐหรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่าการบังคับสูญหาย เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น ในประเทศกลุ่มแอฟริกา ผู้ที่มีสภาวะบกพร่องในเรื่องของผิวที่เรียกภาษาพูดว่าคนเผือก (person with albinism) จะเป็นเป้าของการถูกอุ้มหาย ทำให้ต้องอยู่อย่างหลบๆซ่อนๆ ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าอวัยวะของพวกเขาเหล่านั้นสามารถนำมาเป็นเครื่องรางของขลังได้ สถิติการสูญหายของคนเผือกจะสูงขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้ง เพราะนักการเมือง “สายมู” ที่เชื่อโชคลางต้องการของขลังมาเสริมให้ตนชนะการเลือกตั้ง ที่น่ากลัวมากคือในประเทศมาลาวี เมื่อราวปี ค.ศ. 2018 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่บังคับใช้กฎหมายไปร่วมมือกับบาทหลวงในการอุ้มหายด้วย!!!

อาจกล่าวได้ว่า กลุ่มเปราะบาง เช่น คนชายขอบ คนไร้สัญชาติ คนยากจน มีแนวโน้มสูงที่จะถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัวแบบผิดกฎหมาย เพื่อรีดข้อมูล บังคับให้รับสารภาพ โดยไม่ผ่านกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย จนเลยเถิดไปถึงการ “อุ้มหาย” โดยญาติไม่มีวันรู้เลยว่าเขาไปอยู่ที่ไหนเป็นตายร้ายดีอย่างไร และจะกลับมาหรือไม่
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากกลุ่มเปราะบางเหล่านี้เป็นคนตัวเล็กตัวน้อย ไม่มีสิทธิ์มีเสียงในสังคมมากนัก ทำให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมยาก เช่น ไม่มีเงินจ้างทนายความเก่งๆ หรือแม้แต่ไม่รู้กฎหมาย ทำให้ไม่รู้ว่าตนมีสิทธิ์ตามกฎหมายอย่างไรบ้าง จนไม่สามารถปกป้องตนเองได้
ในภาพรวมของโลกแล้ว สหประชาชาติระบุว่ามีคนหลายแสนคนใน 85 ประเทศทั่วโลก ที่หายตัวไปในช่วงที่ประเทศมีความไม่สงบ ซึ่งประชาคมโลกมีเครื่องมือสำคัญอย่างอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ
(International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) เพื่อต่อสู้กับปัญหาดังกล่าว รวมถึงประกาศให้วันที่ 30 ส.ค. ของทุกปี เป็นวันรำลึกถึงบุคคลที่บังคับให้สูญหาย หรือ International Day of the Victims of Enforced Disappear ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011
ล่าสุดนายแอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติได้กล่าวเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ว่าขอให้ชาติสมาชิกให้ความสำคัญกับการต่อสู้และยุติปัญหาดังกล่าว เพราะถือเป็น “อาชญากรรมร้ายแรง” หรือ atrocious crime ที่ทำลายสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และส่งต่อความหวาดกลัวไม่เฉพาะแต่ญาติพี่น้องที่ต้องทนทุกข์เท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงความรู้สึกไม่ปลอดภัยของสังคมในระดับชาติด้วย ซึ่งข้อมูลของสหประชาชาติระบุว่ามีผลในทางการเมืองอีกต่างหาก ในฐานะที่เป็นเครื่องมือปิดปากประชาชนกลายๆ เพราะทำให้คนกลัวและไม่กล้าแสดงออกทางการเมือง

เมื่อพูดถึงความหมายของคำว่าอุ้มหายในทางสากลแล้ว สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Human Rights Office (OHCHR) อธิบายว่าการอุ้มหาย (enforced disappearance) คือการจับกุม ควบคุมตัว ลักพาตัว บุคคลใดๆ โดยผู้มีอำนาจรัฐ และปกปิดที่อยู่หรือความเป็นอยู่ของบุคคลนั้น ทำให้ครอบครัวไม่รู้ชะตากรรมว่าหายไปไหน เป็นตายร้ายดีอย่างไร และต้องรอคอยการกลับมาของคนรักด้วยความหวัง แม้วันนั้นอาจไม่มีจริง ทั้งนี้ ผู้ถูกกระทำมักเป็นผู้ชายที่เป็นหัวหน้าครอบครัวซึ่งต้องหาเลี้ยงครอบครัว ทำให้ส่งผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของครอบครัวอีกด้วย
การอุ้มหาย เป็นการทำลายธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง ยิ่งไม่จัดการกับปัญหายิ่งเป็นการสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด (culture of impunity) ที่สร้างบรรยากาศของความสะพรึงกลัว เป็นปฏิปักษ์ต่อการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบภาครัฐ ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำ
ในส่วนของประเทศไทย มีการต่อสู้อย่างยาวนานเพื่อออกกฎหมายที่จะมาคุ้มครองประชาชนในประเด็นดังกล่าว โดยในท้ายที่สุดรัฐสภาได้ออกกฎหมายที่สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีไว้ 2 ฉบับคืออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ และอนุสัญญาการต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี โดยมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เมื่อ 25 ต.ค. 2565 โดยกฎหมายกำหนดให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 120 วัน คือวันที่ 22 ก.พ. 2566
อย่างไรก็ตามมีการขอเลื่อนการบังคับใช้ออกไปด้วยเหตุผล เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังไม่พร้อมในเรื่องของอุปกรณ์ อาทิ กล้องติดตัวเจ้าหน้าที่ที่กฎหมายมุ่งหมายให้เป็นอุปกรณ์ที่ใช้บันทึกเหตุการณ์ในขณะจับกุมเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่กระทำการใดๆอันไม่ชอบต่อตัวผู้ถูกจับกุม ดังที่มาตรา 22 กำหนดให้การควบคุมตัวนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับ และควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว
ในวันที่ 14 ก.พ. 2566 คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบให้ออก พ.ร.ก. เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ. จำนวน 4 มาตรา ไปจนถึง 1 ต.ค. 2566
แม้จะมีอุปสรรคตลอดทาง
แต่ท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2566 ว่า พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.อุ้มหาย ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีผลตั้งแต่ต้น เป็นผลให้กฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับ 100% มาตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา ถือเป็นกฎหมายสำคัญที่จะปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน
คดีในอดีตยังคงเป็นปริศนาที่นำมาซึ่งความเศร้าโศกเสียใจและค้างคาใจของญาติมิตรของผู้สูญหาย และเป็นบทเรียนของสมาชิกในสังคมว่ามันอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ แม้ในปัจจุบันกฎหมายป้องกันการอุ้มหายและมีผลใช้บังคับแล้ว แต่กฎหมายก็เป็นเพียงแค่กระดาษหากไม่มีการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
ลำพังกล้องติดเสื้อเจ้าหน้าที่เท่านั้นคงไม่พอ การสอดส่องการทำงานของเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องใช้ “กล้อง”ภาคประชาชน “กล้อง”สื่อมวลชน รวมถึงเจตจำนงของภาครัฐที่มุ่งมั่นในการจัดการกับเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิด และอุดมการณ์ในการทำหน้าที่เพื่อประชาชนของเจ้าหน้าที่ด้วย
การจับตาดูการทำงานของผู้บังคับใช้กฎหมาย จะเป็นแรงกดดันที่ถือเป็นต้นทุนที่ทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างระมัดระวัง ไม่ละเมิดกฎหมาย และดำเนินคดีต่างๆไปอย่างถูกต้องตามครรลองธรรม อันเป็นผลให้เราไว้ใจเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น และมีความสุขมากขึ้น
ที่กล่าวเช่นนี้เพราะตัวชี้วัดความสุขในการจัดทำ World Happiness Report ประการหนึ่งคือความเชื่อมั่นและไว้ใจต่อเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานภาครัฐว่าจะไม่ทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งจะนำมาสู่ความรู้สึกปลอดภัยว่าเจ้าหน้าที่จะดูแลปกป้องประชาชาชน โดยไม่ต้องพะว้าพะวังว่าตัวเราเองหรือคนที่เรารักจะถูกอุ้มหายไปไหน
เอกสารประกอบการเขียน
https://www.bbc.com/thai/articles/c72v813417wo
https://isranews.org/article/isranews-news/122388-isra-29.html
https://www.thaipbs.or.th/news/content/283688
https://www.dw.com/en/malawi-murder-case-shines-light-on-anti-albino-prejudice-in-africa/a-62291826
https://www.amnesty.be/IMG/pdf/we_are_not_animals_-_malawi_report_-_final_formated.pdf
https://news.un.org/en/story/2023/08/1140217
https://www.bbc.com/thai/articles/c885py9634xo
https://thematter.co/quick-bite/what-is-law-on-enforced-disappearance/184245