ThaiPublica > ประเด็นร้อน > Research Reports > EIC > EIC ประเมินตลาดพื้นที่สำนักงานให้เช่าและตลาดพื้นที่ค้าปลีกให้เช่าปี 2567

EIC ประเมินตลาดพื้นที่สำนักงานให้เช่าและตลาดพื้นที่ค้าปลีกให้เช่าปี 2567

20 พฤศจิกายน 2023


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ประเมินว่า ตลาดพื้นที่สำนักงานให้เช่าและตลาดพื้นที่ค้าปลีกให้เช่าปี 2567 ยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางความเสี่ยงอุปทานส่วนเกินที่เพิ่มมากขึ้น และความท้าทายต่าง ๆ รวมถึงแรงกดดันจากเทรนด์ ESG

ตลาดพื้นที่สำนักงานให้เช่าในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย จากกลุ่มเกรด A เป็นหลัก ท่ามกลางภาวะอุปทานส่วนเกินที่เพิ่มมากขึ้น

  • ตลาดสำนักงานให้เช่าในปี 2567 : อุปสงค์มีแนวโน้มขยายตัวเพียงเล็กน้อย จากกลุ่ม CBD เกรด A เป็นหลัก จากทั้งความต้องการใหม่และกลุ่มที่ย้ายมาจาก Segment อื่น แต่รูปแบบการทำงานแบบ Hybrid workplace จากที่ไหนก็ได้ สลับกับการเข้าสำนักงาน ยังคงกดดันให้ความต้องการพื้นที่สำนักงานให้เช่าในปัจจุบัน และในระยะต่อไปมีแนวโน้มเติบโตได้ไม่มากเท่าที่ควร ขณะที่อุปทานพื้นที่ให้เช่าใหม่ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในอัตราที่มากกว่าการขยายตัวของความต้องการพื้นที่ให้เช่า ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ยังคงกดดันอัตราค่าเช่าให้ฟื้นตัวได้เพียงเล็กน้อย และกดดันให้อัตราการปล่อยเช่ายังมีแนวโน้มลดลง
  • ตลาดพื้นที่ค้าปลีกให้เช่าในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยการเพิ่มขึ้นของอุปทานที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้อัตราปล่อยเช่าลดลงจากช่วงก่อนหน้า

  • ตลาดพื้นที่ค้าปลีกให้เช่าในปี 2567 : มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามอุปทานใหม่ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2566 โดยโครงการที่จะแล้วเสร็จส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มดึงดูดผู้เช่าได้ดี ขณะที่สถานการณ์กำลังซื้อในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวได้มากขึ้น แต่ยังต้องติดตามภาวะหนี้ครัวเรือน และภาระค่าใช้จ่ายที่ยังอยู่ในระดับสูง อาจยังกดดันกำลังซื้อในกลุ่มเปราะบาง ขณะที่อัตราค่าเช่ามีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย ใกล้เคียงกับอัตราในปีก่อนหน้า ตามกำลังซื้อที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว และภาระต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น หลังจากหดตัวแรงในช่วง COVID-19
  • อย่างไรก็ดี ตลาดสำนักงานให้เช่าและตลาดพื้นที่ค้าปลีกให้เช่าในระยะต่อไป ยังต้องเผชิญความท้าทายที่สำคัญหลายประการ โดยเฉพาะอุปทานส่วนเกินที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแรงกดดันจากเทรนด์ ESG นอกจากนั้น การทำงานแบบ Hybrid workplace และการ Outsourcing จากภายนอกจะส่งผลต่อความต้องการสำนักงานให้เช่า ขณะที่ความนิยมแพลตฟอร์ม E-commerce ยังคงมีผลต่อคงามต้องการพื้นที่ค้าปลีกให้เช่า

  • อุปทานส่วนเกิน ยังมีแนวโน้มเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ตามแผนการเปิดโครงการของผู้ประกอบการในระยะต่อไป ซึ่งยังสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของความต้องการพื้นที่ โดยเฉพาะในตลาดพื้นที่สำนักงานให้เช่า โดยคาดว่าอัตราเติบโตเฉลี่ยของอุปทานพื้นที่เช่ารวมในช่วงปี 2567-2570 จะยังมากกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2558-2562 ค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกดดันการฟื้นตัวของอัตราการปล่อยเช่า และอัตราค่าเช่าในระยะต่อไป
  • การทำงานรูปแบบ Hybrid workplace รวมถึงการ Outsourcing จากภายนอก ทำให้ความจำเป็นในการใช้พื้นที่สำนักงานของแต่ละบริษัทชะลอลง และความต้องการพื้นที่สำนักงานให้เช่าในระยะต่อไปยังฟื้นตัวได้ไม่มากเท่าที่ควร นอกจากนี้ ยังทำให้รูปแบบของพื้นที่สำนักงานให้เช่าถูกปรับเปลี่ยนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้เช่ามากขึ้น
  • แพลตฟอร์ม E-commerce ยังมีแนวโน้มได้รับความนิยมจากผู้บริโภคต่อไปหลัง COVID-19 คลี่คลาย เนื่องจากต้องการความสะดวกสบายในการซื้อสินค้า ประกอบกับร้านค้ามีทางเลือกให้ทั้งหน้าร้าน และช่องทางออนไลน์ ทำให้คาดว่าจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ยังส่งผลต่อการขยายตัวของตลาดพื้นที่ค้าปลีกให้เช่าในระยะต่อไป
  • แรงกดดันจากเทรนด์ ESG ต่อภาคอสังหาฯ เพื่อการพาณิชย์ ทั้งในด้านอุปสงค์ ด้านอุปทาน รวมถึงด้านที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน และกฎระเบียบข้อบังคับ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับกลยุทธ์ในระยะต่อไป
  • SCB EIC มองว่า ผู้ประกอบการพื้นที่สำนักงานให้เช่าและพื้นที่ค้าปลีกให้เช่า ยังจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ และสร้างความแตกต่าง เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในระยะต่อไป

    โดยพื้นที่สำนักงานให้เช่าแบบดั้งเดิม รวมถึงอาคารที่มีการใช้เป็นพื้นที่สำนักงานเพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการ หรือดึงดูดผู้เช่าได้อีกต่อไป แม้จะเป็นพื้นที่ให้เช่าเปิดใหม่ หรืออยู่ในทำเล CBD ก็ตาม โดยการนำเสนอทางเลือกในการให้เช่าที่มีความยืดหยุ่น และปรับเปลี่ยนตามความต้องการของผู้เช่าได้ตามรูปแบบการทำงานในปัจจุบัน จะช่วยดึงดูดความต้องการได้มากขึ้น ส่วนตลาดพื้นที่ค้าปลีกให้เช่า รูปแบบพื้นที่ที่หลากหลาย การสร้างความแตกต่าง ไปจนถึงการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และ Journey ของลูกค้า รวมถึงการให้ความสำคัญกับ Digital experience ควบคู่ไปกับ Physical experience จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันได้มากขึ้น

    อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่… https://www.scbeic.com/th/detail/product/commercial-real-estate-141123