ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ร่วมเผยแพร่มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ระยะที่ 1 ฉบับสมบูรณ์
ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะประธานร่วมคณะทำงานขับเคลื่อนการกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่โครงการหรือกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (คณะทำงานฯ) ได้เปิดรับฟังความเห็นจากสาธารณชน ระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2565 ถึง 26 มกราคม 2566 เกี่ยวกับร่างมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ระยะที่ 1 ที่มุ่งเน้นการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคพลังงานและภาคการขนส่ง ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนสูงก่อน เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทย มีการจัดกลุ่มกิจกรรมที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไว้ใช้ประเมินหรือกำหนดเป้าหมายการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และเป็นหนึ่งในทางเลือกเพื่อใช้อ้างอิงสำหรับการเข้าถึงบริการและเครื่องมือทางการเงิน ที่จะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม นั้น
ธปท. และ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับความเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยที่ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 จะครอบคลุมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องและวัตถุประสงค์ทางสิ่งแวดล้อมที่ให้ความสำคัญกับมิติการลดก๊าซเรือนกระจกก่อน ทั้งนี้ บางส่วนมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น ให้ระบุรายการที่เข้าข่ายเป็นกิจกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Red list of activities) และให้พิจารณาจัดทำ Thailand Taxonomy สำหรับภาคเศรษฐกิจอื่น อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม เป็นต้น เพิ่มเติมในระยะถัดไปด้วย
คณะทำงานฯ ได้นำความเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 จนเสร็จสมบูรณ์แล้ว
Thailand Taxonomy คือ มาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทย
โดยใช้หลักการที่อ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และยึดมั่นเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) ไม่ให้อุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามที่สมาชิกภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ตกลงร่วมกัน
Thailand Taxonomy เป็นมาตรฐานกลางสำหรับภาคส่วนต่าง ๆ ใช้อ้างอิง โดยการนำไปใช้ยังเป็นไปตามความสมัครใจ
การจัดทำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 จะเริ่มจากวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเรื่อง climate change mitigation อย่างไรก็ดี กิจกรรมที่เกิดขึ้นจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อ 5 วัตถุประสงค์อื่นที่เหลือด้วยเช่นกัน (หรือที่เรียกว่า Do No Significant Harm)
Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 จะครอบคลุมภาคพลังงานและภาคการขนส่งก่อน เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีส่วนสำคัญต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนที่สูง โดยภายใต้ภาคพลังงานและภาคการขนส่ง จะแบ่งย่อยออกเป็นกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 22 กิจกรรม และมีเกณฑ์ประเมินว่าแต่ละกิจกรรมสามารถลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อช่วยลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอยู่ในระดับใด
มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย(Thailand Taxonomy) ใช้ระบบ Traffic Light System คล้ายระบบสัญญาณไฟจราจรในการแบ่ง กิจกรรมที่ครอบคลุม ตามมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง สีแดง
-
สีเขียว คือ กิจกรรมที่มีการดำเนินงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมายความตกลงปารีส เช่น การผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นต้น
สีเหลือง คือ กิจกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังไม่ใกล้เคียงหรือเทียบเท่าศูนย์ในปัจจุบัน แต่มีส่วนช่วยในการทำให้เข้าใกล้เป้าหมายของมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมอย่างมีนัยสำคัญ และกิจกรรมดังกล่าวอาจเข้าข่ายสีเขียวได้ในอนาคต โดยการจัดกลุ่มกิจกรรมสีเหลืองจะพิจารณาการปรับปรุงพัฒนา หรือ การเพิ่มเทคโนโลยีหรือ คุณสมบตั ิใหม่ๆ ให้กับการดำเนินกิจกรรมที่มีอยู่แล้วให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (retrofit)ทั้งนี้การดำเนินกิจกรรมตามเกณฑ์การจัดกลุ่มสีเหลืองจะสามารถทำได้ถึง ปี พ.ศ. 2583 (sunset date)
สีแดง คือ กิจกรรมที่ไม่ได้สนับสนุนเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และไม่สามารถแก้ไขให้สอดคล้องกับมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมของประเทศไทย จึงจำเป็นต้องทยอยลดการดำเนินกิจกรรมลงอย่างต่อเนื่อง
กิจกรรมที่ไม่เข้าข่ายเป็น กิจกรรมสีเขียว สีเหลือง และสีแดง จะถือว่า เป็นกิจกรรมที่อยู่นอกขอบเขตของ Taxonomy ฉบับปัจจุบันกล่าวคือ Taxonomy ยังไม่ได้กำหนดเกณฑ์การประเมินให้ครอบคลุม กิจกรรมเหล่านั้น แต่อาจปรับปรุง และเพิ่มเติม ใน Taxonomy ได้ในอนาคต หากมีข้อมูลเพียงพอ โดยที่กิจกรรมดังกล่าวต้องไม่เข้าข่ายกลุ่มสีแดง
นอกจากนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึง สิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงปฏิบัติตามหลักการ DNSH และ MSS ควบคู่กันไปด้วย
DNSH ย่อมาจาก “Do No Significant Harm” (บทที่ 5.1) หมายถึง หลักการไม่สร้างผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือกิจกรรมที่จะถือว่าเข้า หมวดหมู่สีเขียวหรือ สีเหลืองในแง่ของการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะต้องไม่ขัดกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ด้วย เช่น การป้องกันมลพิษและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีว ภาพ
MSS ย่อมาจาก “Minimum Social Safeguards” (บทที่ 5.2) หมายถึง การคำนึงถึง ผลกระทบทางสังคม กล่าวคือ ในขณะที่มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมมุ่งเน้นด้านสิ่งแวด ล้อม เจ้าของกิจกรรมจะต้องเคารพกฎหมายแรงงานและจัดให้ลูกจ้างทำงานในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน การคำนึงถึง สิ่งแวดล้อมและสังคมจะนำมาซึงความยั่งยืน
“ระยะเวลาผ่อนผัน” DNSH และ MSS เป็นระยะเวลา 3 ปี
ในกรณีที่กิจกรรมยังไม่เป็นไปตามหลักการ DNSH และ MSS ณ ช่วงเวลาที่ถูกประเมิน ผู้ดำเนินกิจกรรมสามารถยื่นแผน ณ วันที่ถูกประเมินที่แสดงว่า จะมีการปรัยปรุงการดำเนินงานให้เป็นไปตามหลักการ DNSH และ MSS ภายในระยะเวลา 3 ปี และควรเผยแพร่แผนหรือ แนวทางปรับปรุง กิจกรรมต่อสาธารณะ เช่น เผยแพร่แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบนเว็บไซต์บริษัท เพื่อให้ประชาชนรับทราบและร่วมติดตามตรวจสอบ การดำเนินการดังกล่าวอาจทำให้กิจกรรมนั้นได้รับพิจารณาว่า สอดคล้องกับมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมแม้ปัจจุบัน ยังไม่เป็น ไปตามกับหลักการ DNSH และ MSS
ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสาร Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 ได้ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป ผ่านทางเว็บไซต์ ธปท. (https://www.bot.or.th/th/financial-innovation/sustainable-finance/green/Thailand-Taxonomy.html) เว็บไซต์สำนักงาน ก.ล.ต. (https://www.sec.or.th/TH/Pages/LAWANDREGULATIONS/RESOURCECENTER-guidance.aspx) และช่องทางอื่น ๆ ที่จะประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมต่อไป
นอกจากนี้ ธปท. และสำนักงาน ก.ล.ต. มีกำหนดการจัดงานสัมมนา Thailand Taxonomy กติกาใหม่เพื่อโลกที่ยั่งยืน ในวันพุธที่ 5 กรกฎาคม 2566 เวลา 14.00-16.00 น. เพื่อประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสาระสำคัญและการนำ Thailand Taxonomy ระยะที่ 1ไปใช้เป็นมาตรฐานกลางในการกำหนดนิยามและจัดกลุ่มกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของไทย โดยผู้ที่สนใจสามารถรับชมการถ่ายทอดสดงานสัมมนาดังกล่าวได้ผ่านช่องทาง Facebook ของ ธปท. และสำนักงาน ก.ล.ต. และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานการธนาคารเพื่อความยั่งยืน ธปท. ทาง Email: [email protected] และฝ่ายตราสารหนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ทาง Email: [email protected]
ทั้งนี้ ธปท. และสำนักงาน ก.ล.ต. ขอขอบคุณสำหรับทุกๆ ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะหวังเป็นอย่างยิ่งว่าภาคส่วนต่างๆ จะสามารถนำ Thailand Taxonomy มาใช้เป็นแนวทางอ้างอิงในการกำหนดนโยบายหรือกลยุทธ์การสร้างโอกาสในการหาแหล่งเงินทุน ตลอดจนการบริหารจัดการโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยสนับสนุนให้ระบบเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างราบรื่นและทันการณ์ต่อไป
คณะทำงาน Thailand Taxonomy ประกอบด้วย ผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการเงิน โดยการจัดทำ Thailand Taxonomy ได้รับการสนับสนุนจาก International Finance Corporation (IFC) และมี Climate Bonds Initiative (CBI) เป็นที่ปรึกษาโครงการ