8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล มีมติส่ง ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ เสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯรัฐมนตรีอีกรอบในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ ด้านพิธาเผยการแก้ไขมาตรา 272 เป็นเรื่องของพรรคก้าวไกล ไม่เกี่ยวกับอีก 7 พรรค ระบุ ไม่เป็นมติซ้ำสามารถเสนอชื่อ แคนดิเดตนายกฯได้ ขณะที่ ศาล รธน.นัดถกคำร้องสถานะส.ส. “พิธา” ปมถือหุ้นสื่อ 19 ก.ค. ลุ้นหากศาลรับไว้วินิจฉัย และสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ด้วยหรือไม่
การหารือ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เริ่มขึ้นเมื่อ 17.00 และได้สิ้นสุดแถลงข่าวเมื่อเวลา 18:30 น.ของวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกฯรัฐมนตรีของพรรค นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้วหัวหน้า พรรคเพื่อไทย พร้อม แกนนำคนสำคัญของพรรคแถลงข่าว
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยระบุว่า จากการหารือเย็นนี้ ที่ประชุม 8 พรรคร่วมฯ มีมติใน 3 เรื่องที่สำคัญ ดังนี้
- ทั้ง 8 พรรคร่วม มีมติเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในการโหวตนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 อีกครั้งในการประชุมรัฐสภาวันที่ 19 ก.ค.นี้ แต่หากคะแนนไม่เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญพร้อมจะถอยให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลแทน
- การยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เป็นการเสนอเฉพาะพรรคก้าวไกลเพียงพรรคเดียว ไม่ผูกมัดกับ 7 พรรคร่วมที่เหลือ
- การเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ถือว่าเป็นการเสนอญัตติซ้ำ และไม่เข้ากับข้อบังคับการประชุมที่ 41 โดยทั้ง 8 พรรคมีความเห็นต่างจาก ส.ว. โดยเห็นว่าการเสนอผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ จึงไม่ถือเป็นญัตติซ้ำตามข้อบังคับการประชุมที่ 41
นายพิธา ให้สัมภาษณ์ หลังแถลงข่าวว่า “เตรียมเข้าสู่รายละเอียด 19 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ยืนยันตามแผนผังสมรภูมิแรก ทั้งนี้หากการโหวตวันที่ 19 ก.ค. ผมไม่ได้คะแนนเพิ่ม ก็พร้อมถอยเพื่อประเทศชาติ”
ส่วนกรณียื่นมาตรา 272 ปิดสวิสตช์ ส.ว. จะดำเนินการโดยพรรคก้าวไกลพรรคเดียวไม่มีพรรคอื่น ยืนยันยังจับมือ 8 พรรคเดินหน้าตั้งรัฐบาลต่อ โดยความสัมพันธ์ทั้ง 8 พรรคเป็นไปได้ด้วยดี ย้ำ จะขอตั้งรัฐบาลประชาชนให้ได้ 8 พรรคร่วม มีมติส่งชื่ออีก 1 ครั้ง
อย่างไรก็ตามถามว่าตัวเลขตรงไหนถึงมีนัยสำคัญ นายพิธา กล่าวว่า “ตัวเลขนัยสำคัญอย่างเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ จาก 324 เสียง เป็น 344 เสียง อย่างนี้ถึงถือว่าเป็นนัยสำคัญ โดย 8 พรรคร่วมรัฐบาล ยังไม่มีการเตรียมเสนอชื่อสำรอง ยังมีชื่อผม (พิธา) คนเดียว เรื่อง ส.ว. ยังเชื่อว่า จะมี ส.ว.ลงเพิ่มเสียงให้ หลังเมื่อวันที่ 13 ก.ค. ไม่ได้มาลงให้ เพราะไปต่างประเทศบ้าง”
และ ยืนยันว่ายังไม่มีเชิญพรรคการเมืองอื่นร่วมรัฐบาลเพิ่มเติม โดยเกือบทุกพรรคมีการพูดคุยกันแลกเปลี่ยนสถานการณ์ ประเด็นทางการเมืองเฉยๆ เท่านั้น ทุกพรรคทั้งนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดไม่น่าจะจริง กรณีโทรไปขอเสียงโหวต
นายพิธา กล่าวว่า มั่นใจไม่มีงูเห่า เหตุทุกคนได้รับบทเรียนสอบตกทั้งหมด ทั้งนี้ มาตรา 112 เป็นเรื่องข้างหน้า แต่มีอีกหลายเรื่องที่สื่อมวลชนเสนอกัน คิดว่าแม้เรื่อง ม.112 ยันต้องการรักษาคำพูด เชื่อเรื่อง ม.112 ไม่ถึงกับเป็นเรื่องมีน้ำหนัก
ศาล รธน.นัดถกคำร้องสถานะส.ส. “พิธา” ปมถือหุ้นสื่อ 19 ก.ค.
อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าในวันที่ 19 กรกฎาคมนี้ จะมีการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยจะเริ่มการประชุมเวลา 09.30 น. การประชุมวาระที่สำคัญ คือการเสนอเรื่องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสภาผู้แทนราษฎร ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ ตามคำร้องของ กกต. โดยอยู่ระเบียบวาระที่4 เรื่องพิจารณาที่ 23/2566) พร้อมกันนี้ได้ระบุ “หมายเหตุ” ว่า พิจารณาขยายระยะเวลาการเสนอความเห็นของคณะตุลาการ คณะที่ 1 ต่อศาล ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 31 พิจารณาว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย หรือไม่
นอกจากนี้มีรายงานว่าโดยในกระบวนการพิจารณาคุณสมบัติ ส.ส. ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หากศาลฯ มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว ก็จะพิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริงตามคำร้อง และหากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่า ผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้องจริง ก็จะมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ไว้ จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน รวมทั้งอาจสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดส่งเอกสารเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาวินิจฉัยด้วย