ThaiPublica > คอลัมน์ > จับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสิงคโปร์

จับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสิงคโปร์

19 มิถุนายน 2023


จันทวรรณ สุจริตกุล

นางHalimah Yacob ประธานาธิบดีสิงคโปร์ ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/halimahyacob

การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปของประเทศสิงคโปร์มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 13 กันยายนที่จะถึงนี้ ภายหลังจากวาระของนาง Halimah Yacob สิ้นสุดลง นาง Yacob ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีมาครบ 6 ปี นับจากวันที่ 14 กันยายนปี 2560 โดยเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์และเป็นบุคคลเชื้อชาติมาเลย์ที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้หลังจากว่างเว้นจากตัวแทนของประชากรกลุ่มน้อย (minority) มาตั้งแต่ปี 2513 การแต่งตั้งประธานาธิบดีสิงคโปร์ในปี 2560 เป็นการจัดสรร (reserve)ให้ประธานาธิบดีมาจากกลุ่มเชื้อขาติที่เป็นคนส่วนน้อยของประเทศ จึงไม่ได้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นการทั่วไป ครั้งนี้จึง

นับเป็นการลงสนามแข่งขันการเลือกตั้งประธานาธิบดีสิงคโปร์ที่ประชาชนของประเทศจะได้มีโอกาสไปลงคะแนนเสียงเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา

ระบบประธานาธิบดีของประเทศสิงคโปร์มีต้นแบบจากระบบเวสต์มินสเตอร์ (Westminster System) คือผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจะมีอำนาจหน้าที่เชิงพิธีการ (ceremonial) เป็นสำคัญ เพราะการบริหารจัดการประเทศเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลภายใต้คณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี แต่กฏหมายก็กำหนดให้ประธานาธิบดีต้องเป็นกลาง (non partisan) ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด เพราะจะต้องทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจของรัฐ (check and balance) โดยประธานาธิบดีมีอำนาจสำคัญในการดูแลการใช้เงินสำรองทางการคลังของประเทศ ซึ่งในช่วงโควิด รัฐบาลได้ทยอยเบิกเงินสำรองทางการคลังออกมาใช้กว่า 1 แสนล้านเหรียญสิงคโปร์ หรือ ประมาณม 2.5 ล้านล้านบาทในช่วง 3 ปีของโควิด นอกจากอำนาจในการดูแลการใช้เงินสำรองทางการคลังของประเทศแล้ว ประธานาธิบดีก็เป็นผู้ผดุงไว้ซึ่งระบบธรรมาภิบาลในภาครัฐ ผ่านอำนาจในการระงับ ยับยั้ง หรือทักท้วงการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงในภาครัฐ เช่น ประธานศาลฎีกา อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการทหารสูงสุดหรือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น

ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีเริ่มขึ้นในปี 2544 จากที่ก่อนหน้านั้นประธานาธิบดีจะได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐสภา

นายTharman Shanmugaratnam ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/TharmanShanmugaratnam/photos

การเลือกตั้งประธานาธิบดีสิงคโปร์รอบนี้ น่าจะเป็นที่สนใจของวงการการเงินโลก เนื่องจากหนึ่งในผู้ที่ประกาศตัวลงรับสมัครรับเลือกตั้ง คือ นาย Tharman Shanmugaratnam ซึ่งเป็นที่รู้จักดีในวงการการเงินในฐานะหัวหน้านักเศรษศาตร์ (Chief Economist) ของธนาคารกลางสิงคโปร์ และต่อมาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับดูแลธนาคารกลาง Chairman of the Monetary Authority of Singapore และรองนายกรัฐมนตรี

ในเวทีนานาชาตินาย Tharman เป็นคนเอเชียคนแรกที่ได้ดังตำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินงานของ IMF หรือ International Monetary and Financial Committee (IMFC) ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนของผู้ว่าการธนาคารกลางและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสมาชิกของ IMF มีหน้าที่กำกับดูแลการทำงานของ IMF Board ซึ่งเป็น resident board ประจำอยู่ที่สำนักงาน IMF กรุงวอชิงตัน ดีซี

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา นาย Tharman ประกาศลาออกจากตำแหน่งบริหารทุกตำแหน่งมีผล 7 กรกฎาคม 2566 รวมถึงการเป็นสมาชิกพรรค People Action Party ( PAP) ด้วยเพื่อเสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้ง ประธานาธิบดีสิงคโปร์ในรอบถัดไป

ในการให้สัมภาษณ์ของนาย Tharman มีประเด็นที่น่าสนใจหลายเรื่อง ว่าเหตุใดตนจึงสนใจตำแหน่งนี้ นาย Tharman พูดถึงประเด็นภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ทำให้ประเทศเล็ก ๆ อย่างสิงคโปร์จะต้องบริหารความสัมพันธ์กับประเทศอำนาจด้วยความละเอียดรอบคอบยิ่งขึ้นในระยะต่อไป และหน้าที่ของประธานาธิบดีในฐานะประมุขของรัฐ ก็สามารถจะช่วยสนับสนุนในส่วนนี้ได้

ประเด็นที่สองก็คืออำนาจในการดูแลการใช้เงินสำรองทางการคลังของประเทศ ซึ่งมีกติกาการใช้ที่เข้มงวด ประธานาธิบดีมีสิทธิในการยับยั้งการขอใช้เงินสำรองทางการคลังที่สะสมมาจากในอดีต หากรัฐบาลที่ขอไม่ได้ทำการสะสมเงินสำรองทางการคลังไว้ในวาระที่ตนเป็นรัฐบาล ประเด็นที่สองอาจจะไม่ได้เป็นที่จับตามากนัก เพราะประเทศสิงคโปร์มีแนวโน้มจะสะสมเงินสำรองทางการคลังอย่างต่อเนื่อง และหากไม่ใช่ภาวะที่วิกฤติที่เป็นเหตุสุดวิสัยหรือภัยพิบัติรุนแรง ก็คงไม่มีการมาขอใช้เงินสำรองในส่วนนี้ได้บ่อยนัก

นายTharman Shanmugaratnam (ซ้ายสุด) ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/TharmanShanmugaratnam/photos

ประเด็นที่น่าสนใจจึงเป็นเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์โลก ที่รัฐบุรุษอย่างนาย Tharman หากได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของสิงคโปร์จะได้เข้ามาช่วยทำหน้าที่นี้ หลายท่านคงจำได้ว่าสิงคโปร์เป็นประเทศแรกที่ออกมาประณามรัสเซียในการรุกรานยูเครนอย่างแข็งขัน โดยให้เหตุผลอย่างชัดเจนว่า…

ในฐานะของประเทศที่มีขนาดเล็กอย่างสิงคโปร์ เรื่องการรุกรานอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศอื่นเป็นเรื่องที่สิงคโปร์จะเพิกเฉยไม่ได้ เพราะมีความสำคัญต่อการดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของประเทศสิงคโปร์ เป็นสิ่งที่คนสิงคโปร์รักและหวงแหน และรู้สึกอ่อนไหวมากที่สุดทุกครั้งที่สังคมโลกเจอโจทย์ของการรุกรานอธิปไตยของชาติอื่น

การเดินหมากของสิงคโปร์ในเวทีระหว่างประเทศคงมีอีกหลาย ๆ เรื่องจากนี้ไป ด้วยความเป็นประเทศขนาดเล็กที่มีความเขื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกสูงมาก เห็นได้จากมูลค่าการค้าระหว่างประเทศมีสัดส่วนกว่า ร้อยละ 300 ของ GDP ของประเทศ ซึ่งจะได้รับความสนใจจากนานาชาติมากขึ้น พร้อม ๆ กับการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศที่จะมีขึ้นในเร็ว ๆ นี้