ThaiPublica > คอลัมน์ > เรื่องเล่าจากลุงหมีปุ๊ (1)…NBA Playoffs 2023

เรื่องเล่าจากลุงหมีปุ๊ (1)…NBA Playoffs 2023

22 พฤษภาคม 2023


ลุงหมีปุ๊

มีใครเป็นแฟนติดตามการแข่งขันบาสเกตบอลอาชีพของอเมริกัน หรือ NBA บ้างเอ่ย (NBA — national basketball association) ตอนนี้กำลังเป็นช่วงสนุกที่สุดของการแข่งขันทั้งปี คือ รอบ playoffs หรือแพ้คัดออก จากทีมเข้ารอบ 16 ทีม ได้แข่งไปแล้วสองรอบ จนเหลือ 4 ทีมสุดท้าย แข่งขันสองคู่เพื่อหาแชมป์ของสาย (conference) เพื่อมาชิงชนะเลิศ NBA กันต่อไป ช่วงนี้มีแข่งวันละคู่ทุกวันจนกว่าทีมไหนชนะ 4 เกมก่อนก็เป็นผู้เข้ารอบถัดไป (เรียกว่า best of 7 games)

ใครพลาดดู playoffs ปีนี้ก็ต้องรอในปีหน้าใหม่ เกมกีฬาสนุกตื่นเต้นแบบนี้ แฟนบาสเกตบอลชาวไทยติดตามดูแข่งขันสดได้ทางทีวีช่อง 666 ถ่ายทอดช่วงเช้า แล้วมีฉายซ้ำให้ดูอีกครั้งในตอนหัวค่ำ

bracket หรือเส้นทางสู่แชมป์ จนถึงวันเสาร์ 20 พ.ค. 2566 เป็นดังรูปข้างล่างครับ

มีบางประเด็นที่ลุงหมีอยากเล่าสู่กันฟัง ดังนี้

1. ในกีฬาอาชีพของอเมริกา (เบสบอล อเมริกันฟุตบอล บาสเกตบอล ฮอกกี้น้ำแข็ง) เจ้าของทีมกับคนดูกองเชียร์ care กับการได้แชมป์ playoffs มาก หากแพ้ตกรอบ playoffs แบบผิดคาด โค้ชจะเป็นตัวถูกลงโทษ (goat — แพะรับบาป) เพราะการไล่โค้ชออกคนเดียวง่ายกว่าเปลี่ยนผู้เล่นทั้งทีม ต่อให้เป็นโค้ชเก่งเคยทำทีมชนะมาแล้ว แต่ถ้าปีนี้พลาดก็ถูกลงโทษได้ (นี่คือทัศนคติที่เรียกว่า win now เท่านั้น)

ถึงรอบนี้ โค้ชทีมดังถูกไล่ออกทันทีที่ทีมตกรอบ playoffs คือ

  • โค้ชทีม Milwaukee สองปีที่แล้วนำทีมได้แชมป์ ปีนี้เป็น seed อันดับหนึ่ง แต่แพ้ในรอบแรก (เพราะตัวเก่งที่สุดบาดเจ็บ เล่นได้ไม่เต็มที่)
  • โค้ชทีม Phoenix สองปีที่แล้วได้เข้าชิงแชมป์ ปีที่แล้วเข้าถึง conference final ปีนี้ซื้อตัวซูเปอร์สตาร์มาเสริมทีม (แลกกับผู้เล่นมีระดับ 4 คน) จนเป็นเต็งหนึ่งของสาย แต่ตกรอบสอง
  • โค้ชทีม Philadelphia ทีมนี้มีผู้เล่นซูเปอร์สตาร์ 2 คน คนนึงเป็น MVP ของ NBA ปีนี้ สี่ปีที่ผ่านมาแพ้ก่อนรอบชิงทุกครั้ง ปีนี้ตกรอบ2 โค้ชคนที่ถูกไล่ออกเคยนำทีมอื่นได้แชมป์มาก่อน
  • สรุปว่ากีฬาอเมริกันคือธุรกิจอย่างหนึ่ง ถ้าผลประกอบการไม่ดี ก็มีคนต้องถูกตำหนิหรือลงโทษ และราคาหุ้นก็ตก (ในธุรกิจกีฬาคือ คนในเมืองไม่ออกมาดูการแข่ง ทีมก็ขาดรายได้และสปอนเซอร์ก็ถอนตัว)

    2. ผู้เล่นบาสเกตบอลเก่งๆใน nba ค่าตัวแพงมาก เพราะคัดเลือกจากนักเล่นเก่งทั่วโลก แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่เล่นบาสเกตบอลในระดับมหาวิทยาลัยของอเมริกามาก่อน (เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเล่นอาชีพ)

    เมื่อความนิยมกีฬาสูง ค่าตัวผู้เล่นบาสเกตบอล NBA แต่ละคนได้เกิน 1 ล้านดอลลาร์อเมริกา เรียกว่าเข้าขั้นเศรษฐีเงินล้าน จนมีคำพูดล้อเลียนกันว่าคนดูจ่ายเงินเพื่อเข้าดูพวกเศรษฐีนุ่งกางเกงขาสั้นวิ่งไปวิ่งมาโชว์ตัวเกมละประมาณ 2 ชั่วโมง (แต่พวกนี้เล่นเก่งจริงๆ ลูกเล่นแพรวพราว ทั้งเล่นเดี่ยวและเล่นเป็นทีม ดูสนุกตื่นเต้นมาก)

    ในปัจจุบันผู้เล่นระดับซูเปอร์สตาร์ที่ค่าตัวแพงที่สุดใน NBA คือ LeBron James อายุ 38 ปี เคยนำทีมที่สังกัด 3 ทีมได้แชมป์มาแล้ว 4 ครั้งระหว่างปี 2012-2020 ค่าตัวของเขาคือ 45 ล้านดอลลาร์ ฤดูแข่งขันปีหนึ่งเล่น 82 เกม (ยังไม่นับรอบ playoffs) ก็เฉลี่ยค่าตัวเกมละ 5.4 แสนดอลลาร์หรือ 18 ล้านบาท (ถ้าทีมเข้ารอบ playoffs ได้ค่าเฉลี่ยนี้จะลดลง)

    คนไม่คุ้นเคยกับวงการกีฬาอาชีพอย่าเพิ่งตกใจว่าทำไมค่าตัวนักกีฬาจึงได้สูงมากขนาดนี้ คำอธิบายคือกีฬาอาชีพเป็นธุรกิจชนิดหนึ่ง ปีหนึ่งมีเงินหมุนเวียนเกี่ยวข้องหลายพันล้านดอลลาร์ ทั้งค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขัน ค่าถ่ายทอดทางทีวี ค่าสปอนเซอร์โฆษณาและค่าขายสินค้าเกี่ยวข้องกับกีฬาหรือนักกีฬา ดังนั้นค่าตัวผู้เล่นเก่งๆ จึงสูงมากเพราะทีมต้องการชนะ จึงยอมจ่ายเงินประมูลตัวเก่งมาอยู่ในทีม

    ดูตัวอย่างง่ายๆ เรื่องใกล้ตัวคนไทยก็แล้วกัน น้องจีน อาฒยา ฐิติกุล โปรกอล์ฟสาวดาวรุ่งของไทย อายุ 20 ปี แข่งกอล์ฟใน LPGA ซึ่งเป็นทัวร์นาเมนต์ระดับสูงสุดของโลก น้องจีนเก่งขนาดเคยขึ้นถึงมือหนึ่งของโลกมาแล้ว (ปัจจุบันอยู่อันดับ 6) ปีนี้เธอลงแข่งแล้ว 8 ครั้ง ทำเงินรางวัลได้ 5.2 แสนดอลลาร์หรือ 17 ล้านบาท ทั้งปีจะมีรายการแข่ง 32 ครั้ง ลองคิดคาดเดาเองว่าหากเธอเล่นดีสม่ำเสมอ จบใน 10 อันดับแรกของรายการเป็นประจำ รายได้ของเธอน่าจะถึง 50 ล้านบาทได้ค่อนข้างแน่ และเธอยังได้ค่าสปอนเซอร์ติดโลโก้บนชุดแข่งขันอีกเกือบ 100 ล้านบาท นี่เป็นเครื่องชี้ว่าสมัยนี้ถ้าเราเก่งจริงๆ ในอาชีพใดก็ตาม ก็จะมีความสำเร็จให้เห็นเป็นตัวเลขการเงินสูงๆ ได้

    3. ขอเล่าเป็นตัวอย่างว่าลุงหมีติดตามการแข่ง NBA อย่างไร ทั้งนี้ลุงหมีเป็นแฟนทีม Boston Celtics มาต่อเนื่อง 57 ปีแล้วตั้งแต่ลุงหมีเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยแถบเมืองบอสตัน จึงสนใจติดตามผลแข่งกีฬาอยู่ทุกวันจนถึงปัจจุบัน

    เมื่อวันเสาร์ (20 พ.ค. 2566) ทีม Boston Celtics แพ้เกมที่สองติดกันที่บ้าน (home court) เพราะโค้ชวางแผนแก้เกมไม่ได้ (เป็นโค้ชปีแรก) ผู้เล่นจิตใจไม่แกร่งพอ ยิงลูกไกล 3 แต้มไม่ลง rebound สู้ไม่ได้ turn over แยะ ทีมเล่นแบบนี้มาตลอดทั้งปี คือ inconsistent – ผีเข้าผีออก ใน playoffs รอบแรกปีนี้แพ้ที่บ้าน 1 ครั้ง รอบ 2 แพ้ที่บ้าน 2 ครั้ง ตอนนี้เหลือแข่ง 5 เกม (สามเกมแข่งที่ Miami Heat) โอกาสที่ Celtics จะชนะ 4 เกมริบหรี่

    ถ้าตกรอบนี้ เชื่อว่าทีม Celtics จะเปลี่ยนตัวผู้เล่นหลายคนเพราะเล่นมาด้วยกันจนถึงรอบ conference final มา 4 ครั้งในรอบ 5 ปีแล้วแต่ยังไม่ได้แชมป์สักที แสดงว่าผู้เล่นไม่ tough พอ โค้ชก็อาจถูกเปลี่ยนเพราะ Celtics เป็นทีมเต็ง 2 ทั้งยังได้แข่งกับทีมเต็ง 8 (พลิกล็อกชนะทีมเต็งหนึ่ง) จึงเป็นต่อว่าจะชนะได้แน่ โดยในรอบนี้ มี home court adventage (แข่งที่บ้าน 4 ครั้งใน 7 เกม) แต่แล้วผลแข่งสองเกมแรกก็พลิกล็อกมากเลย

    การเล่นไม่ดีของทีมบอสตันเห็นได้จากตัวเลขสถิติข้างล่าง เดี๋ยวนี้เราอยู่ในโลกของฐานข้อมูล การนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อเข้าใจความเป็นจริงหรือใช้เพื่อวางแผนการทำงานต่อ อันเรียกว่า data analytics เป็นเรื่องสำคัญมาก ลุงหมีจึงเพลิดเพลินกับการดูตัวเลขสถิติการแข่งขันซึ่งรวบรวมไว้อย่างละเอียด แล้วนึกทำตัวเป็นโค้ชของทีมว่าแข่งเกมหน้าจะแก้เกมอย่างไรให้ทีมกลับมาชนะ ลุงหมีเรียกตัวเองว่าเป็นโค้ชหน้าจอทีวีน่ะ 555