ThaiPublica > คอลัมน์ > ฟุตบอลสมัยใหม่กับความยั่งยืน

ฟุตบอลสมัยใหม่กับความยั่งยืน

14 มีนาคม 2023


ผศ. ดร. อัธกฤตย์ เทพมงคล คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์

นาทีนี้เราคงต้องแสดงความยินดีกับแฟน ๆ หงส์แดงลิเวอร์พูลทุกท่าน ที่สามารถเอาชนะทีมปีศาจแดงแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดไปได้แบบถล่มทลายถึง 7 ประตูต่อ 0 (ขอแสดงความเสียใจกับเด็กผีทุกท่านด้วยครับ ผู้เขียนเป็นเด็กปืน ไม่ได้เป็นแฟนหงส์แต่อย่างใด) ด้วยเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้ ผู้เขียนขอเปลี่ยนฟีลโดยเลือกหยิบประเด็นความยั่งยืนในวงการฟุตบอลอังกฤษมาพูดคุยกันแบบเบา ๆ ถือเป็นการพักจากหัวข้อหนัก ๆ อย่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมสักตอนละกัน

ผู้เขียนเริ่มดูฟุตบอลมาพร้อมกับ อาร์แซน เวนเกอร์ ขึ้นมาคุมทีมอาร์เซนอลในปี 1996 เลย ก็ประมาณช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งนั่นแหละ แน่นอนตัวเองไม่ใช่เซียนฟุตบอลแต่อย่างใด ไม่ได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพหรือทำอาชีพโค้ช เป็นเพียงนักเศรษฐศาสตร์คนนึงที่ติดตามฟุตบอลต่างประเทศและเห็นวิวัฒนาการของวงการนี้มาจนถึงปัจจุบัน และเล็งเห็นว่าวงการฟุตบอลมีปัญหาเรื่องความยั่งยืนในหลายมิติดังต่อไปนี้

หนึ่ง มิติทุนนิยม เมื่อเราเทียบวงการฟุตบอลกับวงการบาสเกตบอล เราจะเห็นได้ชัดเจนว่าวงการฟุตบอลเป็นวงการแห่งทุนนิยมโดยแท้จริง ทีมที่มีทุนมากกว่าก็จะได้เปรียบอย่างชัดเจน ทีมที่ทุนต่ำแทบจะไม่มีสิทธิพูดถึงเรื่องการคว้าแชมป์ใด ๆ ในช่วงแรก ๆ ที่ผู้เขียนดูฟุตบอลเรายังพอจะเห็นว่าทีมที่มีทุนมากเกิดจากการสะสมความสำเร็จในอดีต แต่ในยุคหลัง ๆ กลายเป็นยุคของเศรษฐีทุนหนาจากนอกวงการมาเทคโอเวอร์ ชีคอาหรับบ้าง เศรษฐีรัสเซียบ้าง เศรษฐีมะกันบ้าง กลายเป็นสนามเด็กเล่นของพวกมหาเศรษฐีไป

ถึงแม้ว่าทางสมาคมจะพยายามพัฒนากฏไฟแนนซ์เชียลแฟร์เพลโดยควบคุมย้อนหลังให้การใช้จ่ายของแต่ละสโมสรสอดคล้องกับรายได้ แต่ก็เป็นกฏที่อ่อนและเอื้อต่อทีมใหญ่อยู่ดี แตกต่างจากวงการบาสเกตบอลที่ใช้ระบบดราฟตัวผู้เล่นและกฏเพดานเงินค่าเหนื่อยโดยสิ้นเชิง ทีมระดับอาชีพที่อยู่ท้ายตารางของฤดูกาลก่อนจะมีสิทธิเลือกเด็กใหม่เก่ง ๆ จากทีมระดับมหาวิทยาลัยก่อน และแต่ละทีมจะต้องควบคุมระดับการจ่ายค่าเหนื่อยนักกีฬาโดยรวมไม่ให้สูงเกินเพดานที่สมาคมกำหนดไว้ เราจึงเห็นทีมบาสเกตบอลผลัดกันประสบความสำเร็จในแต่ละฤดูกาล เพราะมันเป็นการแข่งขันกันที่การบริหารจัดการและแทคติกจริง ๆ

แน่นอนว่าผลของทุนนิยมทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในวงการฟุตบอล ในยุโรปช่วงที่ผู้เขียนเริ่มดูฟุตบอลเป็นยุคที่ลีคอิตาลีเริ่มจะเสื่อมลงจนพอจะพูดได้ว่า ลีคอังกฤษ สเปน และเยอรมันขึ้นมาสู้ในแง่ความนิยมได้อย่างสูสีใกล้เคียง แต่ละลีคจะมีฐานแฟนบอลหนักคนละภูมิภาค คนไทยอย่างเราก็จะดูฟุตบอลอังกฤษเป็นหลัก คนจีนยุคนั้นก็จะนิยมดูลาลีกาสเปนเป็นต้น

นอกจากนี้ การแข่งขันภายในลีคก็ยังมีความคู่คี่ ต่อมาไม่นาน ลีคอิตาลีเสื่อมหนักไร้คนดู บวกกับทุนหายตามสภาพเศรษฐกิจด้วย ในเยอรมันทีมอย่าง บาเยิร์น มิวนิค กว้านซื้อแต่นักเตะคู่แข็งเพื่อผูกขาดความสำเร็จ ในสเปนไป ๆ มา ๆ ก็เหลือการต่อสู้ระหว่าง รีล มาดริด กับ บาร์เซโลน่า ส่วนทุนส่วนใหญ่นั้นรวมศูนย์อยู่ที่ลีคอังกฤษเพียงลีคเดียว

สอง มิติแทคติก วงการฟุตบอลกำลังเสียสมดุลย์การต่อสู้ทางกลยุทธ์ไปโดยการเข้าสู่สิ่งที่เรียกว่าฟุตบอลสมัยใหม่ ฟุตบอลสมัยใหม่คืออะไร? ฟุตบอลสมัยใหม่เป็นสไตล์การเล่นฟุตบอลเน้นการรุกดุดันที่วิ่งไล่บี้คู่แข่งอย่างเป็นระบบตั้งแต่หน้าประตูของคู่แข่งเอง เป็นการเล่นที่ใช้พละกำลังของผู้เล่นสูงมาก พรสวรรค์และอัตลักษณ์ของนักเตะเป็นเรื่องรอง ผู้จัดการทีมรุ่นใหม่อย่าง เปป กวาร์ดิโอลา, เยือร์เกิน คล็อพ, รัล์ฟ รังนิค, เอริก เท็น ฮัค หรือ มิเกล อาร์เตต้า ล้วนแล้วแต่เล่นฟุตบอลลักษณะคล้าย ๆ กันนี้ถึงจะได้รับชัยชนะ จนเหมือนจะกลายเป็นสูตรสำเร็จไปแล้ว นับวันมันเริ่มกลายเป็นเรื่องยากที่คนที่เล่นบอลสไตล์อื่นจะสามารถเป็นแชมป์ได้ คนที่เน้นบอลหลังแน่นแล้วส่วนกลับ หรือบอลตั้งโซนไม่วิ่งไล่เพรซซิ่งกำลังจะสูญพันธุ์

ทำไมจึงเป็นแบบนี้? ฟุตบอลสมัยใหม่เกิดขึ้นมาจากหลายปัจจัยผสมกัน ในช่วงแรกที่ เยือร์เกิน คล็อพ สร้างทีมฟุตบอลสมัยใหม่ก็จะประสบปัญหานักเตะกรอบ หมดแรงวิ่งในช่วงครึ่งฤดูกาลหลังเพราะเป็นการเล่นที่วิ่งเยอะมาก แต่ปัญหานี้ถูกแก้ไขหลายทาง แน่นอนวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพนักเตะรายบุคคล แต่ที่ชัดเจนกว่าคือปัจจัยทุนนิยม ทีมทุนหนา ๆ อย่างแมนเชสเตอร์ซิตี้สามารถกว้านซื้อนักเตะระดับทอปในทีมมากมายจนทีมสำรองแทบจะมีคุณภาพเท่าตัวจริง สามารถหมุนเวียนนักเตะได้อย่างสบาย นอกจากนี้ในช่วงการระบาดของโควิด 19 เนื่องจากมีนักเตะติดโควิดกันเยอะ สมาคมฟุตบอลได้มีการผ่อนผันให้แต่ละทีมสามารถเปลี่ยนตัวผู้เล่นได้สนามเพิ่มขึ้นจาก 3 คนเป็น 5 คน จนในปัจจุบันกลายเป็นกฏถาวรไปแล้ว ดูเผิน ๆ นี่คือกฏที่ช่วยถนอมสุขภาพนักเตะ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เลยเพราะมันช่วยสนับสนุนแนวทางฟุตบอลสมัยใหม่ซึ่งทำลายสุขภาพนักเตะอย่างมากดังจะอธิบายต่อไปในมิติที่สาม นอกจากนี้ การเข้ามาของระบบ VAR ที่ใช้ภาพวิดีโอย้อนหลังช่วยการตัดสินของกรรมการ ทำให้ทีมที่เล่นเน้นรับมีโอกาสเสียฟาวล์ในกรอบเขตโทษได้ง่าย ยิ่งมั่ว ๆ เข้าไปมันก็อาจโดนมือบ้าง เข้าสะกัดผิดมุมเกี่ยวขากันบ้าง เสียจุดโทษได้ง่าย ๆ เรียกได้ว่าปัจจัยเกื้อหนุนฟุตบอลสมัยใหม่เยอะเหลือเกิน

แล้วมันไม่ดียังไง? บางคนอาจจะชอบดูทีมที่เล่นเน้นเกมรุกสองทีมวิ่งสู้ฟัดใส่กัน ก็อาจจะมองว่าปรากฏการณ์ฟุตบอลสมัยใหม่นี้เป็นเรื่องดี แต่ถ้าคนที่ชอบการต่อสู้เชิงปรัชญาอย่างผู้เขียนก็จะเศร้า การต่อสู้กันในกีฬาที่สุดท้ายทุกคนเล่นในแนวทางเดียวกันมันจะสนุกได้นานซักแค่ไหนกัน สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นแค่ใครทุนหนากว่าตัวดีกว่าก็ชนะไป กีฬาที่ดีมันควรจะมีการแพ้ทางในแง่แทคติกเชิงวงกลม เปรียบเทียบเหมือนตำรามวยไทยโบราณที่ชี้ไว้ว่า มวยหมัดควรแพ้มวยเข่า มวยเข่าควรแพ้มวยศอก มวยศอกควรแพ้มวยเตะ มวยเตะควรแพ้มวยหมัด กฏกติกาที่ตั้งขึ้นมาควรรักษาสมดุลย์นี้ ไม่ใช่อะไร ๆ ก็แพ้มวยเข่าเหมือนในปัจจุบัน

สาม มิติสุขภาพนักเตะ สิ่งที่ผู้เขียนตกใจที่สุดคือปัจจุบันผู้เล่นที่อายุประมาณ 29-30 ปี ถือว่าแก่เกินซื้อไปใช้แล้ว ซึ่งในสมัยก่อนนี่คือช่วงพีคของนักเตะเลย ทีมที่อยากประสบความสำเร็จปัจจุบันต้องรวบรวมนักเตะอายุยี่สิบต้น ๆ ฝึกฝนฟุตบอลสมัยใหม่ไปสองถึงสามปี แล้วก็เก็บเกี่ยวความสำเร็จไปสามถึงสี่ปี แล้วนักเตะชุดนี้ก็จะหมดสภาพต้องถูกโละทิ้ง เห็นได้ชัดเจนในกรณีของ เยือร์เก้น คล็อพ ที่จะมีวงจรการทำทีมทุก ๆ 7 ปี ถ้าเปรียบเทียบกับสมัยก่อนนักเตะจะสามารถเล่นในระดับทอปได้จนถึงอายุ 33-34 ปี ซึ่งนั่นแปลว่าฟุตบอลสมัยใหม่เป็นปัจจัยหนึ่งที่บั่นทอนอายุการค้าแข้งของนักเตะ อีกปัจจัยหนึ่งก็คือโปรแกรมการแข่งขันมหาศาลที่พุดขึ้นมา ในอดีต ฟุตบอลจะเตะกันทุกสุดสัปดาห์ นาน ๆ ทีจะมีการแข่งกลางสัปดาห์ ปัจจุบันทีมใหญ่ ๆ แทบจะสองวันแข่งที ทั้ง ๆ ที่วิทยาศาสตร์การกีฬาก็ชี้ชัดว่าร่างกายนักเตะควรจะได้พักฟื้นหลังการแข่งขันอย่างน้อย 3 วัน โดยไม่นับการฝึกซ้อม

วงการฟุตบอลกำลังเอานักฟุตบอลมาปู้ยี่ปู้ยำแล้วโยนทิ้ง วงการฟุตบอลกำลังสูญเสียการต่อสู้เชิงกลยุทธ์ ทุกอย่างมันเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์เชิงเหตุและผลกันหมด แน่นอนฟุตบอลมันไม่หายไปไหนหรอกเพราะมันเป็นแค่เกมกีฬา แต่ถ้าอยากเห็นความยั่งยืนของฟุตบอลที่มีสเน่ห์ สู้กันสูสีใกล้เคียง และเป็นมิตรต่อสุขภาพนักเตะ สมาคมต้องให้ความสำคัญในการออกแบบกฏและการแข่งขันโดยมองภาพใหญ่เชิงโครงสร้างและปรัชญาฟุตบอลมากกว่านี้