ThaiPublica > เกาะกระแส > ThaiPublica Survey : สำรวจ ‘mobility’จุดเชื่อมต่อรถสาธารณะ รถไฟฟ้าสายสีแดง

ThaiPublica Survey : สำรวจ ‘mobility’จุดเชื่อมต่อรถสาธารณะ รถไฟฟ้าสายสีแดง

9 กุมภาพันธ์ 2023


สำรวจการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีแดง ยังพบหลายจุดที่มีข้อบกพร่อง โดยเฉพาะจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า หลายสถานียังไม่มีรถโดยสาธารณะให้บริการอย่างครบวงจร ขณะที่ป้ายบอกทางและการให้ข้อมูลในการเดินทางยังไม่ชัดเจนเพียงพอ  กรมรางฯเร่งแก้ไขจัดรถโดยสารสาธารณะอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสาร

นับจากวันที่รถไฟฟ้าสายสีแดง เปิดใช้บริการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่สะท้อนมาอย่างต่อเนื่อง คือ ความไม่สะดวกในการเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีแดงกับรถสาธารณะที่บางสถานีไม่มีบริการ เปลี่ยว จนถึงทำให้มีผู้โดยสารใช้บริการน้อย

เช่นเดียวกับการประเมินกรมการขนส่งทางราง (ขร.) โดยที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านประเมินคุณภาพสถานีรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ประเมินหลังการเปิดใช้บริการไม่นาน ได้ระบุถึง ปัญหาการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง คือ สิ่งอำนวยความสะดวกในการให้บริการทั้งในเรื่องของการเชื่อมต่อกับรถโดยสารสาธารณะ  ป้ายบอกทาง เส้นสัญลักษณ์ในการเดินรถ

ถึงวันนี้ต้นปี 2566 รถไฟฟ้าสายสีแดงให้บริการมาแล้วกว่า 1 ปี  “สำนักข่าวไทยพับลิก้า” ขอพาสำรวจเส้นทาง และสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางได้ปรับปรุงดีขึ้นมากน้อยเพียงไร ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจวัตถุประสงค์ของการสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งดำเนินการโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย มีเป้าหมายเพื่อขนคนเดินทางจากชานเมืองเข้ามาในเมือง และให้คนจากเมืองทางไปยังบริเวณชานเมืองต่างๆ ได้ สะดวก รวดเร็ว  จากเดิมที่การเดินทางจากชานเมืองจะใช้รถยนต์ส่วนตัว  หรือใช้บริการรถไฟดีเซลที่อาจจะไม่สะดวกสบายมากนัก

ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีแดง เปิดให้บริการโดยแบ่งออกเป็นสายสีแดงเข้มทั้งหมด 10 สถานี เริ่มตั้งแต่ สถานีบางซื่อไปจนถึง สถานีรังสิต (ห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต) และรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน ให้บริการแล้ว 3 สถานี โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ สถานีกลางบางซื่อ (สถานีเริ่มต้น เชื่อมต่อกับ MRT และรถไฟทางไกลไปต่างจังหวัด) สถานีบางซ่อน (เชื่อมต่อกับ MRT) สถานีบางบำหรุ,สถานีตลิ่งชัน

ตู้จำหน่ายตั๋วโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง และข้อมูลตารางเดิน

“สำนักข่าวไทยพับลิก้า” ได้เริ่มสำรวจเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม 10 สถานี  เริ่มจากสถานนีที่ 1.สถานีกลางบางซื่อ  ซึ่งเป็นสถานีเริ่มต้น สามารถเชื่อมต่อกับ MRT และรถไฟทางไกลไปต่างจังหวัด  สถานีที่ 2.สถานีจตุจักร   3.สถานีวัดเสมียนนารี 4.สถานีบางเขน 5.สถานีทุ่งสองห้อง 6.สถานีหลักสี่ 7.สถานีการเคหะ  8.สถานีดอนเมือง (เชื่อมต่อกับท่าอากาศยานดอนเมือง และรถไฟทางไกลไปต่างจังหวัด)  9. สถานีหลักหก (มหาวิทยาลัยรังสิต)  10 .สถานีรังสิต (ห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต)

เราเริ่มต้นเดินทางจากสถานีแรก คือสถานีกลางบางซื่อ เพื่อเดินทางไป สถานที่สุดท้ายคือ สถานีรังสิต จำนวน 10 สถานี มีระยะทางทั้งหมด 22.6 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 25-30 นาที  โดยเที่ยวแรกของการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงจากสถานีบางซื่อไปสถานนีรังสิต คือเวลา 05.30 น.ขณะที่ เที่ยวแรกจากสถานีรังสิตมายังสถานีบางซื่อคือ  เวลา 05.30 น. ส่วนเที่ยวสุดท้ายของการให้บริการจากสถานีบางซื่อ เวลา 24.000 น. และเที่ยวสุดท้ายจากรังสิต เวลา 24.00  น.

ส่วนเส้นทางรถไฟฟ้าสีแดงอ่อน เริ่มให้บริการเวลาเดียวกัน คือ จากสถานีบางซื่อ-ตลิ่งชัน เที่ยวแรกจากบางซื่อ เวลา 05.30 น. เที่ยวแรกจากสถานีตลิ่งชันมายัง สถานีบางซื่อ เวลา 05.30น.  และเที่ยวสุดท้ายจากสถานีบางซื่อ เวลา 24.00 น. เที่ยวสุดท้ายจากสถานีตลิ่งชัน คือเวลา 24.00 น.เช่นกัน โดยจะปิดสถานีเมื่อขบวนรถไฟเที่ยวสุดท้ายเดินทางถึงปลายทางมาถึงสถานนีบางซื่อ

ส่วนความถี่ในเดินรถทั้งรถไฟฟฟ้าสายสีแดงเข้มและรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน จะมีเที่ยวรถไฟฟ้าวิ่งแต่ละขบวนหากเป็นเวลาเร่งด่วน 15 นาทีต่อหนึ่งขบวน  นอกเวลาเร่งด่วน แต่ละขบวนจะทิ้งห่างประมาณ 30 นาที

ขณะที่ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม หลังจากเราซื้อบัตรโดยสารที่เริ่มต้นที่สถานีบางซื่อ 12 บาท  เก็บค่าโดยสารตามระยะทาง แรกเข้า 12 บาท ต่อไป 1.50 บาทต่อกิโลเมตร  สถานีรังสิตราคาสูงสุด 42 บาทต่อเที่ยว  ส่วนราคาค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสีแดงอ่อน จากสถานีบางซื่อ-ตลิ่งชัน 3 สถานี ได้แก่ บางซ่อน บางบำหรุ และตลิ่งชัน มีราคาค่าโดยสารสูงสุด 35 บาท

“สำนักข่าวไทยพับลิก้า”  เริ่มเดินทางตามตารางโดยสาร รถไฟฟ้าสายแดงเข้มด้วย ขบวนรถเวลา 10.20 น. รถไฟฟ้ามาตรงเวลาตามตารางโดยสาร เราเดินทางจากสถานีบางซื่อไปถึงสถานีรังสิต ใช้เวลาประมาณ 23 นาที  โดยมีจำนวนผู้โดยสารมีไม่มากนัก

ปัญหาที่พบเจอยังขาดระบบเชื่อมต่อรถโดยสารสาธารณะ

หลังเดินทางต่อเนื่องยาวทั้ง 10 สถานี และแวะเพื่อดูจุดเชื่อมต่อรถโดยสารสาธารณะในแต่ละสถานี พร้อมพูดคุยกับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มพบปัญหาในหลายจุด  โดยปัญหาที่ 1. ผู้โดยสารรายหลายบอกว่า ราคาค่าโดยสาร 42 บาทตลอดสาย อาจจะยังสูงสำหรับคนเดินทางชานเมืองที่ต้องพึ่งการเดินรถสาธารณะจากจุดเชื่อมเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย เนื่องจากหลายคนต้องเดินทางด้วยรถมอเตอร์ไซด์ สองแถว รถเมลล์ มากกว่า 3 ต่อถึงจะเดินทางถึงเป้าหมายทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

ปัญหาที่ 2. ระบบเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณสถานี ทั้งรถบริการสาธารณะไม่เพียงพอ โดยพบว่า บางสถานีไม่มีพื้นที่ หรือจุดรอรถสาธารณะ เช่น สถานีจตุจักร  ด้านที่ติดกับถนนกำแพงเพชร 2   ขณะที่บางสถานี เช่น สถานีรังสิต ฝั่งปทุมธานี ไม่มีรถโดยสาธารณะเพื่อเชื่อมต่อไปยังจุดเชื่อมต่อต่างๆ

ปัญหาที่3.ป้ายบอกข้อมูลการเชื่อมต่อรถสาธารณะ ซึ่งมีเพียงสถานีกลางบางซื่อ ที่บอกจุดเชื่อมรถสาธารณะ ขณะที่สถานีรถไฟฟ้าอื่น ไม่มีป้ายข้อมูลบอกจุดเชื่อม

ปัญหา4.การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เช่น  จุดจอดรถบริเวณสถานีไม่มี  ทำให้ผู้เดินทางต้องนำรถยนต์ส่วนตัวจอดริมถนนที่อาจจะสร้างปัญหาการจราจรได้ในอนาคต


ค่าใช้จ่ายในการเดินทางยังสูง

สำหรับปัญหาค่าใช้จ่ายในการเดินทาง  จากการพุดคุยกับผู้โดยสารรายหนึ่ง ซึ่งทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในหมู่บ้านย่านคลอง9  บอกว่า ใช้รถไฟฟ้าสายสีแดงเป็นประจำเนื่องจากครอบครัวอยู่ในกทม.ย่านบางเขน จึงเดินทางจากบางเขนด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส มายังสถานีหมอชิตและเดินทางต่อด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินมายังสถานนีบางซื่อ เพื่อใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงจากสถานีบางซื่อไปยังสถานีรังสิต หลังจากนั้นเขาต้องเดินทางต่อด้วยรถโดยสารสองแถว เข้าไปที่คลอง 9  ราคาประมาณ 9 บาท แต่หากนั่งวินมอเตอร์ไซด์ จะเสียค่าโดยสารประมาณ 60 บาท  ส่วนแท็กซี่น่าจะประมาณ 100 บาท ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายในการเดินทางประมาณ 130 บาท

“ผมคิดว่าเดินทางสะดวกดี  ใช้เวลาไม่นานมากเหมือนแต่ก่อน จากเดิมผมนั่งรถเมล์บางครั้งนั่งแท๊กซี่ ซึ่งค่าใช้จ่ายยังสูงในการเดินทาง”

ผู้โดยสารรายนี้ ไม่เดินทางทุกวัน ทำให้การใช้รถไฟฟ้าสายสีแดง ไม่ได้เพิ่มค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากนัก แต่ช่วยในเรื่องของเวลาเดินทางที่สะดวกรวดเร็วมากกว่าการเดินทางด้วยรถเมล์สาธารณะอย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อน

“ผมอยากให้มีรถเมล์ จากสถานีรังสิตเข้าหมู่บ้าน  ตามซอยมากขึ้นเพราะตอนนี้มีรถสองแถว และ รถมอเตอร์ไซด์ที่เข้าไปบางหมู่บ้านเท่านั้น ขณะที่รถเมล์มีสายเดียว คือสาย 522 จากอนุสาวรีย์ชัย ผ่านไปหน้าฟิวเจอร์พาร์ค แต่ก็ไม่ได้เข้าไปตามหมู่บ้านแถวคลอง9 อยู่ดี ทำให้ต้องใช้เวลานานในการเดินทางถึงที่หมาย ถ้าต้องเดินทางเข้าหมู่บ้าน ต้องไปต่อรถสองแถวที่ห้างสรรพสินค้า ฟิวเจอร์ก่อน ”

ขณะที่ผู้โดยสารอีกรายหนึ่ง  บอกเช่นกันว่า ปัญหาใหญ่ของรถไฟฟ้าสายสีแดงคือรถเมล์สาธารณะ เพราะหลายสถานีไม่มีจุดเชื่อมรถเมล์สาธารณะทำให้การเดินทางค่อนข้างลำบาก เช่นที่ สถานีหลักหก ม.รังสิตไม่มีรถเมลล์เลย บางครั้งเธอบอกว่า เรียกแท๊กซี่ก็ยังยาก

เธอบอกว่า อาจจะเป็นเพราะว่า รถไฟฟ้าสายสีแดงสร้างบนถนน Local Road   ทำให้หลายจุดไม่มีรถบริการสาธารณะ โดยเธอต้องเดินทางจากสถานีหลักหก  ม.รังสิต มายังสถานีจตุจักร ฝั่งถนนกำแพงเพชร 2 เพื่อไปที่ทำงานย่านจตุจักร  แต่ไม่มีรถเมล์ผ่านไป ทำให้เธอต้องเดินทางต่อมาที่สถานีบางซื่ออีกหนึ่งสถานี เพราะมีรถเมล์หลายสายในการเลือกใช้บริการมากกว่า  ส่วนค่าใช้จ่ายในการค่าเดินทางของเธอทั้งหมดประมาณ 200 บาท

อย่างไรก็ตามเธอ อยากให้ รถไฟฟ้าสายสีแดงทุกสถานี มีรถโดยสารสาธารณะให้บริการ เพื่อให้สามารถเดินทางไปยังเป้าหมายได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางหลายต่อ เพราะการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสะดวกสบาย แต่ปัญหาคือพอลงจากสถานนีรถไฟฟ้าแล้วเธอเดินทางต่อค่อนข้างลำบากเพราะไม่มีรถเมล์รองรับเพื่อให้เดินทางสะดวกขึ้น

ขณะที่ผู้โดยสารอีกรายหนึ่ง ซึ่งใช้รถไฟฟ้าสายสีแดงเดินทางระหว่างสถานีวัดเสมียนนารี  ไปยังสถานีมหาวิทยาลัยรังสิต และสถานีดอนเมือง ที่เชื่อมต่อสนามบินดอนเมือง  เธอบอกว่าการบริการค่อนข้างสะดวกสบายแต่ปัญหาที่พบคือสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง ไม่เชื่อมต่อรถโดยสารสาธารณะอื่นๆ

“ปัญหาใหญ่ๆเลยคือทุกสถานีของรถไฟฟ้าสายสีแดงใม่มีจุดเชื่อมต่อรถโดยสารสาธารณะ  เช่น สถานีวัดเสมียนนารี แม้ว่าจะอยู่ใกล้ป้ายรถเมล์ แต่ไม่มีทางลาดในการลากกระเป๋า”

ผู้โดยสารรายนี้บอกว่าสถานีดอนเมือง หากต้องเดินทางไปสนามบิน ถ้ามีกระเป๋าเดินทางจะลำบากเนื่องจากพื้นที่ลาดในการลากกระเป๋าไม่มี และระยะทางจากสถานีรถไฟฟ้าไปยังอาคารผู้โดยสารที่สนามบินต้องใช้เวลาพอสมควร”

สิ่งที่ผู้โดยสาร รายนี้พบ เช่นเดียวกับผู้โดยสารรายอื่นๆ คือ จุดเชื่อมต่อรถโดยสารสาธารณะคือปัญหาใหญ่ของรถไฟฟ้าสายสีแดง เพราะหากต้องการเดินทางต่อรถสาธารณะเพื่อเดินทางไปจุดอื่นๆ สถานีที่สะดวกที่สุดคือ สถานีกลางบางซื่อเพราะมีรถเมล์หลายสาย แต่ปัญหาของสถานีกลางบางซื่อคือป้ายบอกทางไปยังประตูต่างๆไม่เพียงพอ ทำให้ต้องเสียเวลาในการเดินหาป้ายรถเมล์นานเกือบครึ่งชั่วโมง

“ชอบที่มีรถไฟฟ้าสายสีแดง แต่มันไม่สะดวกมากที่ต้องไปต่อรถเมล์สาธารณะ บางครั้งถ้าจะลงที่สถานีจตุจักร ใกล้กว่าแต่ไม่มีรถเมล์สาธารณะ ก็ต้องไปที่สถานีบางซื่อเพื่อเดินทางต่อ แต่ปัญหาของสถานีบางซื่อคือไม่มีป้ายบอกทางทำให้ต้องเดินวนไปมา เสียเวลามากเพราะหาทางออกเจอไปยังป้ายรถเมล์ที่ต้องการไม่เจอ”

ภายในตู้โดยสารไฟฟ้าสายสีแดง
ภายในอาคารของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ยังขาดป้ายให้ข้อมูลการเดินทางไปยังจุดเชื่อมรถโดยสารสาธารณะ

ขาดป้ายบอกทาง -ไม่มีรถโดยสารสาธารณะจุดเชื่อมสถานี

ส่วนเรื่องของการอำนวยความสะดวกในเรื่องอื่นๆ ” สำนักข่าวไทยพับลิก้า” สำรวจพบว่า  ขาดป้ายให้ข้อมูลการเดินทางเชื่อมต่อรถสาธารณะ โดยมีเพียงสถานนีบางซื่อเท่านั้น  ที่มีป้ายขอมูลจุดเชื่อรถสาธารณะ  ขณะที่สถานนีอื่นๆ ไม่พบป้ายในลักษณะดังกล่าว

ส่วนรถสาธารณะให้บริการหลายเส้นทางพบว่า ทั้ง 10 สถานี ยังมีปัญหาการบริการรถสาธารณะที่เพียงพอและราคาเหมาะสม  โดยสถานีที่มีรถเมล์บริการจำนวนมาก คือ สถานีกลางบางซื่อ  เป็นสถานีเริ่มต้น เชื่อมต่อกับ MRT สายสีน้ำเงิน และรถไฟทางไกลไปต่างจังหวัดและมีรถเมล์สาธารณะ  จากบางซื่อ -บางโพ, บางซื่อ-อนุสาวรีย์, สวนลุมพินี พระราม 7, บางซื่อ ปากเกร็ด, วัดปากน้ำนนท์-สนามหลวง, วัดเสมียนนารี-เซ็นทรัลพระราม 3, ประชานิเวศน์-สนามหลวง ,กระทรวงสาธารณสุข-โรงพยาบาลสงฆ์

สถานีจตุจักร    ยังมีปัญหาจุดรับส่งผู้โดยสารเพื่อเชื่อมรถโดยสารสาธารณะ /วินมอเตอร์ไซด์   ส่วนสถานีวัดเสมียนนารี มีจุดเชื่อต่อไปยัง ป้ายรถโดยสารสาธารณะถนนวิภาวดี แต่มีระยะทางห่างจากสถานีรถไฟฟ้า ขณะที่บริเวณวัดเสมียนนารี เข้าไปยังตลาดบองมาเซ่ ไม่มีรถบริการสาธารณะ ยกเว้น วินมอเตอร์ไซด์,แท๊กซี่

สถานีบางเขน  มีจุดเชื่อต่อจากสถานียาวไปจนถึงถนนวิภาวดี และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  แต่สถานีทุ่งสองห้อง,สถานีหลักสี่,สถานีการเคหะ พบปัญหาลักษณะเดียวกันกับสถานีอื่นๆ คือไม่มีรถเมล์สาธารณะให้บริการเชื่อมจากสถานีรถไฟฟ้า

สถานีดอนเมือง มีจุดเชื่อมต่อกับท่าอากาศยานดอนเมือง และรถไฟทางไกลไปต่างจังหวัด  แต่การเชื่อมระหว่างสถานีดอนเมือง ไปยังสนามบินดอนเมืองต้องเดินทางข้ามสะพานลอยไปยังอาคารผู้โดยสารในประเทศ (Terminal 2) บริเวณประตูหมายเลข 6  แต่ต้องใช้เวลาในการเดินทางจากสถานีรถไฟฟ้าจากยังอาคารผู้โดยสารสนามบินดอนเมืองโดยผู้โดยสารต้องลากกระเป๋าเดินทางด้วยระยะทางไกลและใช้เวลาเดินมากกว่า 10 นาที

สถานีหลักหก (มหาวิทยาลัยรังสิต) มีปัญหาเรื่องรถเมล์โดยสารสาธารณะเนื่องจากบริเวิณสถานีไม่มีรถบริการเข้าไปยังมหาวิทยาลัยรังสิต และรถแท๊กซีหายาก

สถานีสุดท้าย คือสถานีรังสิต (ห้างฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต) –  รถโดยสารสาธารณะเพื่อเดินทางไปห้างฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ยังไม่เพียงพอ ต้องเผื่อเวลา เนื่องจาก มีรถเมลล์สาย 552 สายเดียว และมีรถสองแถวสีเขียว ที่ผ่านหน้าห้าง ใช้เวลารอประมาณ 10 นาที

สำหรับราคาค่าโดยสารรถสองแถวสีเขียว สีแดง ที่วิ่งจากจุดสถานีรถไฟฟฟ้ารังสิตไปยังห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค และหมู่บ้านย่านคลองรังสิต 1-5  ราคาประมาณ 9 บาทตลอดสาย ขณะที่ราคาวินมอเตอร์ไซด์ เริ่มต้นที่ 20 บาท โดยค่าโดยสารจะปรับตามระยะทาง  ขณะที่สถานีรังสิตอีกฝั่ง ที่ต้องเดินทางไปยังปทุมธานี หรือหมู่บ้านในย่านปทุมธานี ไม่มีรถประจำทางมีเพียงวินมอเตอร์ไซด์บริการ 20- 30 บาท และราคาค่าโดยสารขึ้นอยู่กับระยะทางที่เดินทางเช่นกัน

สถานีรังสิตฝั่งปทุมธานี ไม่มีจุดจอดรถ ไม่มีรถโดยสารสาธารณะ

ปรีชา ผู้รับจ้างวินมอเตอร์ไซด์  บริเวณสถานีรถไฟฟ้ารังสิตฝั่งปทุมธานี  บอกว่าเดิมสถานีรังสิตฝั่งที่ไปหมู่บ้านย่านปทุมธานี มีรถเมล์ และรถสองแถววิ่งยาวไปถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ตอนนี้เขาหยุดวิ่งทำให้ผู้โดยสารส่วนใหญ่ใช้วินมอเตอร์ไซด์ และขับรถยนต์ส่วนตัวมาจอด  ซึ่งไม่สะดวกสบาย หากต้องเดินทางต่อจากสถานีเข้าไปยังหมู่บ้านต่างๆ

“ปัญหาคือไม่มีรถเมล์หรือสองแถว ทำให้พนักงานหรือคนทำงานในโรงงานย่านนี้ ไม่ค่อยสะดวกในการเดินทางจากจุดรถไฟฟ้าไปที่ทำงาน”

วิมมอเตอร์ไซด์ บริเวณสถานีรังสิต ด้านปทุมธานีมีเพียงแห่งเดียว เนื่องจากไม่มีรถโดยสารสาธารณะ
รถสองแถวสายสีเขียวจากสถานนีรังสิตไปห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค
รถเมล์สาย 522 รับผู้โดยสารจากสถานีรังสิตไป ห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค
รถสองแถวสีเขียว-แดง รับผู้โดยสารจากสถานีรังสิตไป ห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค

นอกจากนี้ยังพบว่า สถานีปลายทางรังสิต ยังมีปัญหาเรื่องที่จุดจอดรถสาธารณะเนื่องจากไม่มีมีพื้นที่จอดรถ ทำให้ผู้เดินทางต้องนำรถยนต์ส่วนตัวมาจอดบริเวณริมถนน

ป้ายรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ
รถโดยสารสาธารณะ อาคารของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

 กรมรางฯ แนะเร่งแก้ไข จุดเชื่อมรถโดยสารสาธารณะ

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์  อธิบดีกรมการขนส่งทางราง  กล่าวถึงปัญหาการใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง หลังจากคณะอนุกรรมการด้านประเมินคุณภาพสถานีรถไฟชานเมือง (สายสีแดง)  ได้ประเมินมาแล้วหลายครั้ง โดยครั้งล่าสุดโดยคณะอนุกรรมการฯ มีการประเมินโดยหนึ่งในหัวข้อการประเมินคือการให้ข้อมูล ซึ่งคะแนนด้านการให้ข้อมูลของสถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง  สายเหนือมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง และสายตะวันตก มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้นำข้อเสนอไปปรับปรุงแล้วบางส่วน เช่น การนำป้ายที่เป็นการให้บริการในอนาคต เช่น รถไฟความเร็วสูงออก ปรับปรุงจอภาพบางส่วน มีการประกาศเสียงตามสายที่ชั้นชานชาลา ส่วนอื่น ๆและมีบางส่วนอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข

  • การขีดเส้นแบ่งกับรางเพื่อความปลอดภัย สถานีมีเส้นแบ่งเขตปลอดภัย แต่มีข้อเสนอแนะของทางกรมการขนส่งทางรางว่าบางสถานีเป็นเส้นสีเหลืองบางสถานีเป็นเส้นสีขาวและอยู่ใกล้กับแผ่นพื้นต่างสัมผัสสำหรับผู้พิการทางสายตาจึงอาจทำให้แบ่งแยกเส้นได้ยาก ในระยะยาวของสายสีแดงที่มีขนาดรถ จุดจอด และตำแหน่งประตูแน่นอน ควรพัฒนาเป็น platform screen door หรือรั้วกั้นเพื่อความปลอดภัย

รถโดยสารสาธารณะ อาคารของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

  • การพัฒนาจุดเชื่อมต่อ ให้บริการ รถสาธารณะ โดย อนุกรรมการและกรรมการขนส่งทางรางได้มีข้อเสนอ ดังนี้ 1) ให้ รฟท. และ รฟฟท. ดูแลพื้นที่จอด รับ-ส่ง ผู้โดยสารประจำทาง รถแท็กซี่ พื้นที่จอดรถส่วนบุคคลให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ที่ดูแลตามข้อเสนอมากขึ้นแล้ว 2) ติดตั้งป้ายบอกทางไปสถานีจากถนนทางเข้าหลัก ในตำแหน่งที่เหมาะสม ทางกรมการขนส่งทางรางร่วมกับกรมทางหลวงได้ดำเนินการแล้ว 3) ให้ รฟท. หารือกับ ขสมก. เพื่อพิจารณาการจัดรถโดยสารประจำทาง หรือ shuttle bus ให้บริการประชาชน และจัดให้มีรถโดยสารประจำทาง และ รองรับการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงทุกสถานี
  • รถบริการ สถานีกลางบางซื่อ กับ จุดเชื่อมรถสาธารณะ   โดยขณะนี้ได้ปรับปรุงการเดินทางเชื่อมต่อรถไฟทางไกลได้ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ รถไฟเชิงสังคมได้ที่สถานีชุมทางบางซื่อ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินสามารถใช้ทางใต้ดินจากอาคารสถานีกลางฯ นอกจากนี้ยังมีรถประจำทางที่ผ่านสถานีกลางบางซื่อซึ่งประกอบด้วยสาย 3, 16, 26, 49, 67, 77, 134, 136, 145, 204, 509, 517, 536 โดยสามารถใช้บริการขาเข้าสถานีขนส่งหมอชิตได้บริเวณด้านหน้าอาคารของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และขาออกจากสถานีขนส่งหมอชิตได้บริเวณหลังอาคาร
  • ข้อเสนอแนะอื่น ๆ จากการประเมิน ว่าทำได้ดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน  จากการประเมินของคณะอนุกรรมการพบว่า ในส่วนที่ทำได้ดีคือการให้บริการ ซึ่งสายสีแดงอยู่ในเกณฑ์มากที่สุด ไม่ค่อยพบข้อร้องเรียนจากการให้บริการ ในส่วนที่อยู่ในเกณฑ์ปานกลางและกรมฯ ต้องติดตามการปรับปรุงจะเป็นด้านการเชื่อมต่อกับการเดินทางอื่น ด้านการให้ข้อมูล และด้านการออกแบบสำหรับทุกคน ทยอยปรับปรุงไปบางส่วนแล้วเช่นกันเพื่อความพร้อมในการรองรับผู้โดยสารรถไฟทางไกลที่จะใช้สถานีร่วมกับสายสีแดง ซึ่งเมื่อสถานการณ์ การเดินรถไฟทางไกลที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ปรับจนเข้าที่แล้ว กรมการขนส่งทางรางจะมีการประเมินอีกครั้งในทุก ๆ ด้านอีกครั้ง