ThaiPublica > เกาะกระแส > ทีดีอาร์ไอชี้ 4 ปัญหาต้นตอขอใบอนุญาตก่อสร้าง กทม.ล่าช้า ‘เปิดช่องรับส่วย’ เพิ่มต้นทุน 1,252 ลบ.ต่อปี

ทีดีอาร์ไอชี้ 4 ปัญหาต้นตอขอใบอนุญาตก่อสร้าง กทม.ล่าช้า ‘เปิดช่องรับส่วย’ เพิ่มต้นทุน 1,252 ลบ.ต่อปี

26 มกราคม 2023


ทีดีอาร์ไอร่วมองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันศึกษา ‘ระเบียบใบอนุญาตก่อสร้าง กทม.’ ชี้ 4 ปัญหาใหญ่ทำให้การขออนุญาตก่อสร้างใน กทม.ล่าช้า สูญเสีย 1,252 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ ชัชชาติ รับข้อเสนอไปแก้ไข ลดขั้นตอน ลดภาระงานเจ้าหน้าที่ และเพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้แก่ประชาชน ด้านภาคเอกชนเสนอให้มีนายตรวจเอกชนลดภาระงานราชการ แก้ปัญหาความล่าช้าในการออกใบอนุญาต

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดงานสัมมนาเพื่อนำเสนอผลการศึกษา “การกิโยตินกฎระเบียบ : การอนุญาตก่อสร้างของกรุงเทพมหานคร” โดยมี ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) นายสินิทธิ์ บุญสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง นายประภากร วทานยกุล นายกสภาสถาปนิก นายเสถียร สุภัทรจำเนียร นายกสมาคมการค้า อพาร์ตเมนต์และห้องเช่าไทย และ ดร. มานะ นิมิตรมงคล องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมเสวนา

ชี้ 4 ปัญหาอนุญาตช้า สูญเสีย1,252 ล้านบาทต่อปี

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง การขออนุญาตก่อสร้างของกรุงเทพมหานคร ก่อนเริ่มการเสวนา โดยกล่าวว่า  การขออนุญาตก่อสร้างเป็นปัญหามาโดยตลอดและเป็นปัญหาทั่วประเทศไม่ใช่เฉพาะ กทม. แต่ทีดีอาร์ไอได้ศึกษาเฉพาะกรณีการขออนุญาตก่อสร้างใน กทม. ซึ่งการที่จะขับเคลื่อนเพื่อให้การแก้ไขปัญหาประสบความสำเร็จ ต้องมีภาคีเครือข่ายที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงทั้งภาคธุรกิจ  ประชาชนทั่วไป อุตสาหกรรมก่อสร้าง และฝ่ายการเมือง ซึ่งมีผู้ว่ากทม.คนใหม่เข้ามาแล้ว และฝ่ายวิชาการที่หาข้อเท็จจริงในการขับเคลื่อน

ผลการศึกษาที่ทีดีอาร์ไอพบคือ การก่อสร้างของภาคเอกชน มีมูลค่า 3.4% ของ GDP   แต่ความสะดวกในการขออนุญาตก่อสร้างยังมีปัญหาอยู่ แม้ว่าในปี 2564 ธนาคารโลกได้จัดอันดับความสะดวกในการขออนุญาตก่อสร้างของไทยอยู่ในอันดับที่ 34 จากทั้งหมด 190 ประเทศ แต่คะแนนประเมินของไทยยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากพบปัญหาความล่าช้าและยังมีความเสี่ยงต่อการทุจริต

เจาะปัญหาการก่อสร้างไทยมี 4 เรื่อง

    1) ไม่เร็ว: การขออนุญาตใช้เวลานาน ซึ่งก่อให้เกิดต้นทุนทางสังคมจำนวนมาก
    2) ไม่ชัด: กฎหมายไม่ชัดเจน ทำให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจมาก และหลายครั้งดุลยพินิจไม่เหมาะสมและเป็นปัญหาได้
    3) ไม่เชื่อม เอกสารและข้อมูลไม่เชื่อมกัน สร้างภาระแก่ประชาชนต้องยื่นเอกสารหลายชุด และต้องไปมาหน่วยงานภาครัฐจนเป็นต้นทุนของผู้ขออนุญาต
    4)กระบวนการยื่นขออนุญาตไม่ทันสมัย การยื่นเอกสารทางออนไลน์ยังไม่สะดวก เจ้าหน้าที่เน้นการพิจารณาจากกระดาษ

ดังนั้น กทม. ควรเร่งปรับกระบวนการขออนุญาตก่อสร้าง ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนการขออนุญาตก่อสร้างของคนกรุงเทพได้ 1,252 ล้านบาทต่อปี

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ

เสนอผู้ตรวจเอกชน เร่งขั้นตอนพิจารณา

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า จากผลการศึกษาทีดีอาร์ไอได้เสนอแนวทางในการปรับปรุงการขออนุญาตก่อสร้างของ กทม. ภายใต้แนวความคิด “4 เพิ่ม” คือ

1. เพิ่มความเร็ว

  • แก้ไขกฎหมายรองรับนายตรวจเอกชนแทนเจ้าหน้าที่รัฐที่มีจำนวนจำกัด ซึ่งจะช่วยลดเวลารอคิวเจ้าหน้าที่รัฐของประชาชน และเพิ่มความเร็วในการอนุมัติ
  • แก้ไขกฎหมายเพื่อปรับปรุงเวลาในการพิจารณาอนุญาต โดยพิจารณาตามระดับความเสี่ยงของอาคาร เพื่อให้อาคารที่มีความเสี่ยงต่ำได้รับการอนุญาตอย่างรวดเร็ว
  • 2.เพิ่มความชัดเจน

  • เพิ่มความชัดเจนของกฎหมายและระบบการขออนุญาต เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่โดยกำหนดเอกสารที่ต้องยื่นให้ชัดเจน แก้ไขกฎหมายแม่บทให้สามารถอนุญาตโดยอ้างอิงมาตรฐานที่กำหนดโดยองค์กรวิชาชีพ
  • เพิ่มความชัดเจนของระบบการขออนุญาต เช่น พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางที่สำคัญให้อ้างอิงได้ เช่น ฐานข้อมูลความกว้างถนนเพื่อคำนวนระยะร่นอาคาร และลดการตีความที่แตกต่างกัน จัดทำคู่มือแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน และตอบข้อสงสัยที่ประชาชนถามบ่อย ตลอดจนพัฒนาแพลตฟอร์มกลางเพื่อการยื่น e-submission ให้เป็นมาตรฐานเดียวสำหรับทุกเขต
  • 3. เพิ่มการเชื่อมข้อมูล

  • เพิ่มการเชื่อมข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้ประชาชนไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปหลายหน่วยงาน และยื่นเอกสารหลายชุด
  • 4.เพิ่มความทันสมัย

  • ส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน ใช้ช่องทางอนุญาตผ่านระบบออนไลน์ สามารถยื่นและติดตามสถานะการขออนุญาตได้
  • แก้ไขกฎหมาย ส่งเสริมการใช้เอกสารดิจิทัล ลดการยื่นเอกสารให้เหลือเอกสารดิจิทัลเพียงชุดเดียวแทนการยื่นแบบแปลนสำเนา 5 ชุด
  • พัฒนาระบบงานติดตามการขออนุญาตออนไลน์
  • นำระบบ BIM (Building Information Modeling)มาใช้โดยเร็ว และพัฒนาบุคลากรเพื่อ รองรับการใช้ระบบ e-submission
  • ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า นอกจาก กทม. ควรพัฒนาระบบแล้ว กรมโยธาธิการและผังเมืองควรเสนอแก้ไขกฎหมายควบคุมอาคารให้ชัดเจน เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานรัฐสามารถอ้างอิงมาตรฐานการก่อสร้างขององค์กรวิชาชีพ ใช้ระบบนายตรวจเอกชนแทนเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ภาครัฐยังคงเป็นผู้ดูแลกฎหมาย การอนุมัติขั้นตอนสุดท้าย

    รวมทั้งปรับปรุงเวลาในการพิจารณาอนุญาตตามระดับความเสี่ยงของอาคาร ในขณะที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) และ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ควรสนับสนุนด้านเทคนิค และระบบการทำงานด้านดิจิทัลให้แก่ กทม. เพื่อเป็นต้นแบบของการยื่นขออนุญาตก่อสร้างทางออนไลน์ทั่วประเทศต่อไป  ส่วนสภาสถาปนิกและสภาวิศวกร ควรร่วมกันจัดทำมาตรฐานความปลอดภัยของการก่อสร้าง ดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคารให้ทันสมัยตามมาตรฐานสากลและสามารถนำมาใช้อ้างอิงได้

    ‘ชัชชาติ’รับ 4 ข้อเสนอปรับแก้ไขระเบียบอนุญาต

    ในช่วงเวทีเสวนา “กิโยตินกฎระเบียบการอนุญาตก่อสร้างของกรุงเทพมหานคร” ซึ่งมีตัวแทนภาคเอกชนร่วมให้ความคิดเห็น ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  และรศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่า กทม.  เข้าร่วมรับฟังผ่านระบบออนไลน์

    ดร. ชัชชาติ กล่าวว่าการศึกษาของ ทีดีอาร์ไอถือว่ามีประโยชน์มาก และปัญหาในเรื่องส่วย หรือเรื่องใบอนุญาตเป็นปัญหาสำคัญของ กทม.ที่มีคนร้องเรียนเข้ามาจำนวนมากและมีความรุนแรงอยู่ในหลายรูปแบบ  แม้ที่ผ่านมาจะมี พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกกำหนดระยะเวลาว่าต้องเสร็จภายในกี่วัน แต่ก็มีรูปแบบที่หลีกเลี่ยงเช่น การส่งเรื่องมาแล้วไม่รับเรื่อง ส่งเรื่องมาใหม่แล้วนับหนึ่งใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุงกระบวนการให้โปร่งใสมากขึ้น

    “ผลการศึกษาที่ดีอาร์ไอเสนอถือว่าตรงประเด็นมาก โดยเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องที่เรากำลังจะปรับปรุงแก้ไข”

    ด้าน รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล  รองผู้ว่า กทม. กล่าวว่า 4 ข้อที่ทางทีดีอาร์ไอเสนอมานั้น ขณะนี้กทม.ได้ดำเนินการอยู่แล้ว  ประเด็นแรกในเรื่องของการเพิ่มความเร็ว  กทม.ได้พิจารณาแบ่งการอนุญาตตามขนาดและความยากง่ายของโครงการ โดยในส่วนที่ง่ายก็พิจารณาให้เร็วขึ้น  เช่น บ้านที่มีขนาดน้อยกว่า 300 ตารางเมตร จะพิจารณาให้เร็วขึ้นจากเดิม 45 วันจะให้เสร็จใน 30 วัน  นอกจากนี้จะแบ่งกลุ่มประเภทอาคารเพื่อการพิจารณาให้เร็วขึ้น

    การเพิ่มการพิจารณาโดยใช้ระบบออนไลน์ตรวจสอบการทำงานนั้น รศ.ดร.วิศณุ กล่าวว่า  ได้ปรับการพิจารณาผ่านออนไลน์โดยจะมีระบบที่กำหนดชัดเจนว่ายื่นเมื่อไหร่ รวมทั้งเพิ่มความชัดเจน ด้วยการแยกประเภทกลุ่มอาคาร และจะลดการใช้ดุลยพินิจด้วยการทำรายการหรือเช็คลิสต์ที่ต้องตรวจสอบ พร้อมชี้แจงให้ประชาชนรับทราบ  และอบรมโยธาเขตให้ชัดเจน เพื่อให้เข้าใจแนวทางในการตรวจให้ตรงกันตามขั้นตอนและเช็คลิสต์ที่กำหนดไว้

    “การเพิ่มความเชื่อมโยงข้อมูล ให้เป็นระบบเดียวกันเพื่อให้การพิจารณาง่ายไม่ซ้ำซ้อน ขณะนี้เราจะดำเนินการโดยทุกหน่วยงานภายในของเราเอง เช่น สำนักการโยธาเองเชื่อมโยงข้อมูลจากสำนักวางผังและพัฒนาเมืองข้อมูลเรื่องแผนที่รวมถึงกรมที่ดินด้วยเพื่อใช้ข้อมูลเดียวกัน”

    ส่วนในเรื่องเพิ่มความทันสมัย ได้ใช้ออนไลน์ มีนโยบาย Open Data พยายามทำให้ระบบการยื่นขอในระบบเดียวกัน คือ ระบบOSOS One Star One Stop ทำให้การยื่นขอในออนไลน์สะดวกขึ้น ขณะเดียวกันเราได้ประเมินว่าทำไมการยื่นขอออนไลน์ไม่ประสบความสำเร็จและได้คุยกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยจัดประชุมไปเมื่อสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เห็นข้อจำกัดในการยื่นขอออนไลน์

    ดร. ชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพ มหานคร  รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่า กทม.  เข้าร่วมรับฟังผ่านระบบออนไลน์

    ขณะที่ ดร. ชัชชาติ กล่าวว่าเสริมว่า ปัญหาคือ ยังมีระเบียบบางอย่างที่ล้าสมัยที่ทำให้เกิดช่องว่างที่ทำให้เกิดการใช้วิจารณญาณ และเป็นช่องว่างที่ทำให้เกิดความไม่ทันสมัย  ข้อบัญญัติเก่าเป็นจุดที่ทำให้เรียกรับส่วยได้ เรื่องระยะเว้น ระยะร่น ช่องเปิดคูคลองสาธารณะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นจุดที่ในทางปฏิบัติทำได้ยากและทำให้ช่องโหว่เรียกรับผลประโยชน์ได้

    ในเรื่องนี้ก็ได้ขอความร่วมมือกับสมาคมสถาปนิกให้เสนอรายละเอียดประเด็นต่างๆที่เห็นว่าล้าสมัยของกฎระเบียบเพื่อมาปรับปรุงแก้ไข ส่วนในเรื่องความรวดเร็ว One Stop Service ได้เปิดให้บริการไปแล้ว แต่ไม่ใช่คำตอบ เพราะในความเป็นจริงแล้ว การขอใบอนุญาต เช่น ร้านอาหารต้องมีใบอนุญาตเกี่ยวข้องกัน 5 ใบ แต่กำลังดูว่ามีการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อให้ขอใบอนุญาตในที่เดียวกันได้หรือไม่

    ดร. ชัชชาติ  กล่าวว่า การดึงข้อมูลจากแหล่งเดียวกันไม่ต้องมีบัตรประชาชนทุกใบอนุญาต ข้อมูลสามารถแบ่งปันกันได้ ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพลดขั้นตอนการใช้วิจารณญาณลง ทำให้โปร่งใสมากขึ้น ซึ่งกำลังพยายามทำในเรื่องนี้

    “ความจริงแล้วเราเริ่ม OSOS เมื่อ 5 ธันวาคมปีที่แล้ว แต่คนใช้น้อยคนไม่ค่อยชินกับการยื่นขอออนไลน์ ซึ่งในอนาคตเราจะเปิดช่องทางในการแจ้งเบาะแส เพื่อให้ประชาขนเข้ามาแจ้งเหตุอย่างจริงจังเหมือนเราใช้ Traffy Fondue  ที่ตอนนี้มีคนแจ้งเรื่องเข้ามาประมาณ 2.4 แสนเรื่อง และเราจะใช้รูปแบบเดียวกันในการแจ้งปัญหาทุจริตคอรัปชัน ประชาชนแจ้งเข้ามาแบบไม่เปิดเผยตัวเอง ทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เราจะเริ่มทำในขั้นตอนต่อไป”

    ส่วนการยื่นแบบ  BIM (Building Information Modeling) นั้น รศ.ดร.วิศณุ กล่าวว่า มีแนวคิดจะทำอยู่แล้วในเรื่องออนไลน์  แต่ขณะนี้ พบว่า ถ้าบางโครงการต้องดาวน์โหลดไฟล์ทั้งเล่มอาจจะไฟล์ใหญ่จำนวนหน้ามากเกินไป เพราะว่าเจ้าหน้าที่ตรวจไม่กี่แผ่นทำให้เสียเวลาในการพิจารณาและการดาวน์โหลดข้อมูล

    ดังนั้นจะปรับการยื่นขออนุญาตก่อสร้างบ้านขนาดเล็กให้มีลักษณะแยกเป็นราย ตามเช็คลิสต์เพื่อให้ตรวจง่าย คนส่งไม่ตองส่งทั้งไฟล์ เช่น รูปแบบบันไดต้องพิจารณาอะไรบ้าง ก็เอาเฉพาะหน้านั้นมา ทำให้ผู้ตรวจง่ายขึ้น เพราะว่าถ้าโหลดมาแบบ 150 หน้า เปิดไฟล์ลำบาก ผู้ตรวจทำงานยาก นี่คือวิธีปฏิบัติ ซึ่งขณะนี้กำลังปรับการพิจารณาในรูปแบบออนไลน์ให้ทำได้ง่ายขึ้น

    ดร.ชัชชาติ กล่าวต่อว่าเป็นที่ต้องการอยู่แล้วในเรื่องออนไลน์เพราะว่าขณะนี้เราไม่มีที่เก็บแบบแปลนก่อสร้างแล้ว เพราะฉะนั้น การใช้อิเล็กทรอนิกส์ต่อไปช่วยในการเก็บข้อมูล การตรวจสอบตรงได้ ทำให้ทุกอย่างง่ายและโปร่งใส ในระยะยาวจะปรับมายื่นแบบBIM ให้หมด ขึ้นอยู่กับความพร้อมของประชาชนด้วย

    ส่วนเรื่องของฐานข้อมูลเดียวเช่น ความกว้างของถนนที่ข้อมูลหน่วยงานราชการไม่ตรงกันนั้น ดร. ชัชชาติ  บอกว่า จะรับไปพิจารณา สิ่งที่เสนอเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะวัดแต่ละครั้งข้อมูลอาจไม่ตรงกันแล้วสุดท้ายไปให้ผูอำนวยการเขตรับรอง อาจจะไม่มาตรฐาน ต้องทำข้อมูลให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เป็นมาตรฐานกลางเพื่อให้ทุกคนมาอ้างอิงจะเกิดความยุติธรรมมากขึ้น

    “การทำข้อมูลความกว้างของถนนน่าจะเริ่มทำได้ คงจะทยอยทำตามลำดับความสำคัญ  อย่างไรก็ตาม กทม.กำลังประชุมเพื่อหารือในการปรับข้อบัญญัติในหลายประเด็นต้องหารือกับกรมโยธาฯ คิดว่าปีนี้จะปรับข้อบัญญัติให้สอดคล้องและลดเรื่องการเรียกผลประโยชน์ รวมทั้งเปิดช่องทางแจ้งเบาะแส คาดว่าการชี้เบาะแสโครงสร้างพร้อม น่าจะสามารถเริ่มได้เดือนหน้าเลย”

    ภาคเอกชนเสนอให้มีผู้ตรวจเอกชนลดภาระรัฐ

    ด้าน นายเสถียร สุภัทรจำเนียร นายกสมาคมการค้า อพาร์ตเมนต์และห้องเช่าไทย กล่าวว่า  เห็นด้วยกับการสร้างมาตรฐานรังวัดถนนเป็นเรื่องสำคัญเพราะเคยมีกรณี การก่อสร้างที่ออกแบบไปแล้ว โฆษณาไปแล้ว แต่พอยื่นขออนุญาตเจ้าหน้าที่ไปวัดถนนเหลือ 5.80 เมตร ขาดไป 20 เซ็นติเมตร โครงการล้มเลย เจ้าของโครงการเสียหายมหาศาล จึงอยากให้กทม.ทำข้อมูลกลางที่อ้างอิงให้ชัดเจนเพื่อให้สามารถอ้างอิงได้เลย

    นอกจากนี้เสนอให้พิจารณาแก้ไขกฎระเบียบ ที่ปัจจุบัน มีกฎหมายก่อสร้างทั้งหมด 600 แผ่น และมีข้อกำหนดในกฎหมายคาดว่าทั้งหมด 6,000 ข้อและมีกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอีก

    “แล้วกฎหมายก่อสร้างต่างจากกฎหมายอื่นเพราะว่าเป็นกฎหมายก่อสร้างมีสองมิติ คนเอาไปใช้ต้องตีความ ทำให้ยิ่งมีจำนวนมากการนำไปใช้ก็ยิ่งซ้ำซ้อนมากขึ้นด้วย”

    นายเสถียร กล่าวว่า นอกจากจำนวนกฎหมายที่มีมากแล้ว ในกฎหมายก่อสร้างซึ่งเป็นส่วนสำคัญก็ปนกันไปหมด เช่น ในส่วนที่เป็นมาตรฐานวิชาชีพ ซึ่งควรจะเป็นข้อเสนอแนะ เช่นเดียวกับต่างประเทศมี American Standard แต่ไทยเอามาเป็นข้อกฎหมาย

    ดังนั้นเห็นว่าควรจะยกเอามาตรฐานวิชาชีพออกไป แล้วกฎหมายอาจจะเขียนว่าทั้งนี้ให้เป็นไปตามมาตรฐานตามสมาคมวิชาชีพ จะช่วยลดจำนวนกฎหมายที่ไม่เป็นสาระที่ไปกระทบประชาชนลงไปได้มากและพิจารณาได้เร็วขึ้น

    ส่วนเรื่องผู้ตรวจสอบเอกชน นายเสถียรเห็นว่า  เห็นด้วยให้มีผู้ตรวจเอกชนจะช่วยลดภาระการทำงานของภาครัฐ แต่ต้องไม่มีอำนาจถึงการอนุญาตเพราะเจ้าหน้าที่เอกชนจะช่วยกรองลดภาระเจ้าหน้าที่ที่ไม่เพียงพอ มีงานล้นมือ และในต่างจังหวัดที่เจ้าหน้าที่มีความรู้ไม่เพียงพอให้เอกชนมาทำเรื่องนี้ แต่ขั้นตอนอนุญาตสุดท้ายคือภาครัฐ

    “ผมอยากให้มีผู้ตรวจเอกชน แต่ไม่ควรอยู่ในภาคบังคับให้เป็นทางเลือก และกำหนดเป็น 2 ระดับได้คือ บุคคล และนิติบุคคล แต่ไม่ต้องบังคับให้ผู้ตรวจเอกชนต้องทำประกัน เพราะไปเอื้อบริษัทประกันได้ไปฟรีๆ เพราะผู้ตรวจเอกชนรับภาระทางแพ่งและอาญา และให้ดุลยพินิจของศาลในการพิจารณามากกว่า”

    ด้านนาย ประภากร วทานยกุล นายกสภาสถาปนิก เห็นด้วยกับการมีผู้ตรวจเอกชนแต่เห็นว่าควรจะต้องมีระบบการทำประกัน เพราะเกรงว่าหากไม่มีระบบประกันจะทำให้ไม่มีผู้ตรวจเอกชนสมัครเข้ามาเพราะความรับผิดชอบทางแพ่งสูงมาก ถ้าไม่มีประกัน หากเกิดปัญหาผู้ตรวจเอกชนอาจจะรับความเสี่ยง ซึ่งไม่คุ้มกับค่าตรวจสอบ

    “ผมเห็นด้วยกับการมีผู้ตรวจเอกชนแต่ต้องมีระบบประกันให้เขามีความปลอดภัยไม่ใช่ว่าค่าตรวจที่ไม่มากนักไปแลกกับความเสี่ยงอาจจะไม่คุ้มค่ากันต้องมีประกันเพื่อให้ประกันความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อให้เอกชนสมัครเข้ามาเป็นผู้ตรวจสอบเอกชนที่ไม่เสี่ยงเกินไป”

     กรมโยธาฯ รับแก้ไขกฏหมายเป็นเรื่องยาก

    ความเป็นได้หรือไม่หากใช้มาตรฐานที่ออกแบบโดยสภาวิชาชีพในการยื่นขออนุญาตเพื่อลดขั้นตอนราชการนั้น   นายสินิทธิ์ บุญสิทธิ์  ผู้อำนวยการสำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร  กรมโยธาธิการและผังเมือง  กล่าวว่า การแยกในเรื่องมาตรฐานให้ไปอยู่ในของสภาวิชาชีพจะต้องไปแก้ไขพ.ร.บ.สภาวิชาชีพ ก่อนเพราะว่าตอนนี้ในพ.ร.บ. ไม่ได้เปิดช่องให้สภาวิชาชีพทั้งสภาวิศวกร ออกมาตรฐาน แต่การแก้ไข พ.ร.บ.อาจต้องใช้เวลานาน

    “สิ่งที่เห็นว่าเป็นปัญหาคือมีกฎหมาย กฎกระทรวง ที่ซ้ำซ้อน ไม่ใช่กฎหมายอาคารอย่างเดียว เช่น การทำคอนโดฯ มีกฎหมายเกี่ยวข้องจำนวนมากและซ้ำซ้อนและขัดแย้งกันอีก เพราะฉะนั้นตัวระเบียบกฎหมายอาจจะต้องดูทั้งระบบว่าอะไรที่ซ้ำซ้อนและยกเลิก ต้องปฏิรูปกันขนานใหญ่ พอกฎหมายซ้ำซ้อนกันมาก ทำให้การปฏิบัติที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ออกแบบ มีช่องว่างและหาผลประโยชน์ได้”

    “ส่วนภาคราชการเองก็เห็นปัญหาในเรื่องล่าช้า ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไข โดยพัฒนาการยื่นแจ้งตาม 39 ทวิซึ่งมาเริ่มปี 2535 และเริ่มโดย กทม.เพราะขณะนี้มีการก่อสร้างอาคารจำนวนมากตรวจกันเป็นปี แบบไม่ออก เสนอให้ยื่นแจ้งตามทวิ39 โดยการเอาผู้ประกอบการสมาคมวิชาชีพมาเป็นคนรับรอง ถ้ามีสมาคมวิชาชีพมาด้วยไม่ต้องยื่นแบบ ไปก่อสร้างเลย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือความเสี่ยงเพราะว่าหลังจากได้รับแจ้งก่อสร้าง ถ้าตรวจแล้วเจอเมื่อไหรจะเสียหาย ต้องพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย”

    ส่วนเรื่องใช้นายตรวจเอกชน มาช่วยทางวราชการทำงานนั้น นายสินิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าไม่น่าจะเสียหายเพราะว่าเพิ่มช่องทาง ในการพิจารณาแต่เป็นห่วงในเรื่องการควบคุมดูแลนายตรวจเอกชนอย่างไร ถ้าให้อำนาจออกใบอนุญาต โดยนายตรวจเอกชนเสียหายที่หลังถ้าผิดอาจจะมีประเด็นขึ้นมาได้

    อย่างไรก็ตาม หากต้องการให้มีนายตรวจเอกชนเข้ามาพิจารณาอาจจะต้องเสนอแก้ไขกฎหมาย ซึ่งใช้เวลานาน มากเพราะว่า พ.ร.บ.แก้ไขยากมาก เพราะแค่ออกกฎกระทรวงคนพิการใช้เวลา 10 ปี แต่ พ.ร.บ.สามารถเสนอได้รวดเร็วขึ้น ถ้าสภาผู้แทนราษฎรเสนอแก้ไขเองจะทำให้การพิจารณาได้เร็วขึ้น

    ‘แชร์-เชื่อมข้อมูล’ ตามกม.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์

    ด้านนางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวว่า ขณะนี้ พ.ร.บ .การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้มีการทำงานผ่านระบบดิจิตอลมาตรา 13 เปิดให้หน่วยงานแชร์ เชื่อมข้อมูลได้ โดยที่ผ่านมา กทม.ได้ดำเนินการแล้ว คือเรื่องของการเชื่อมข้อมูลการชำระภาษีออนไลน์สามารถให้บริหารเชื่อมข้อมูล กรมที่ดิน กรมธนารักษ์ได้ ดั้งนั้นในทางกฎหมายไม่ได้ติดขัดทำได้

    ส่วนเรื่องเทคนิค คือหน่วยงานภาครัฐแต่ละหน่วยจะเก็บข้อมูลกันคนละโปรแกรม เวลาเชื่อมต่อสะพรานกันไม่ได้ ขณะที่พยายามทำเรื่อง ธรรมาภิบาลข้อมูลเพื่อให้สามารถเชื่อมอ่านกันได้ เช่น กำลังพยายามทำเรื่อง LandsMaps ของกรมที่ดินมีภาพถ่าย 3 มิติ ถ้าสามารถชื่อมข้อมูลจะช่วยกระบวนการพิจารณาได้มากขึ้น

    นอกจากนี้กำลังพิจารณาเรื่องแผนที่ดิจิตอล คือการเอาข้อมูลผังเมืองมาประกบกับข้อมูลหน่วยงานอื่นมาร่วมกัน ตอนนี้กรมที่ดินกำลังพยายามทำในเรื่องนี้อยู่ ซึ่งการเชื่อมต่อข้อมูลจะช่วยลดระยะเวลาได้  โดย พ.ร.บ .การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ราชการปฏิเสธไม่ได้ ถ้าเอกชนจะยื่นทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่หน่วยงานราชการต้องทำระบบให้เชื่อมต่อกันเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้

    ดร .มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

    อยากเห็น กทม. ‘ต้นแบบ อนุญาตก่อสร้างโปร่งใส’

    ดร .มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากข้อมูลนักวิจิยเชื่อว่าจะลดความเสี่ยงที่จะเกิดคอร์รัปชันได้มาก ถ้าแก้ไขกฎหมายหลักและกฎหมายลูกจะช่วยลดความเสี่ยงเกินครึ่ง  และการลดความสูญเสีย เสียโอกาสของประชาชนประมาณ 1,250 ล้านบาทต่อปี ถ้าเริ่มใน กทม.จะไปสู่การเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ต่างๆในจังหวัดอื่นๆได้

    “ส่วนเรื่องข้อมูลกลางและการเชื่อมข้อมูลเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ เพราะการก่อสร้างบ้าน เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกันประชาชน ซึ่งในกระบวนการอนุญาตอาจจะมีเรื่องการตบทรัพย์  โดยข้อมูที่ผ่านมาพบว่า ภาคประชาชนอาจจะต้องจ่ายใต้โต๊ะมากถึง 80% ขณะที่ภาคเอกชนขนาดใหญ่อาจจะจ่ายอยู่ที่ 1 หรือ  2  % แต่ตอนนี้ไม่รู้ว่าข้อมูลเป็นอย่างไรไปขนาดไหนบ้าง จึงอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง และอยากเห็นความเดือดร้อนของประชาชนลดลง อยากเห็นการคอรัปชันลดลง”

    นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร  กล่าวว่า  งานวิจัยนี้สำคัญมากเพราะเกิดประโยชน์ 3 ด้าน คือประสิทธิภาพการอนุญาตช่วยลดต้นทุน ลดเวลา ลดรั่วไหล แก้ปัญหาสินบนคอร์รัปชัน  เนื่องจากตามข้อมูลทีดีอาร์ไอ การก่อสร้างปีหนึ่งประมาณ 6 แสนล้านบาท ซึ่งจากการพูดคุยมีค่าใช้จ่ายพิเศษ ประมาณ 1.5 เปอร์เซ็นต์ ปีละหมื่นล้านบาท โดยครึ่งหนึ่งอยู่ใน กทม.

    นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร  

    “ถ้า กทม.ทำได้สำเร็จ จะเป็นนิมิตหมายที่ดีให้กระบวนการอื่นๆเกิดได้ เรามีความหวังมานาน เรื่องคอร์รัปชันจะดีขึ้น  แต่อันดับคอร์รัปชันเราถอยลง เรามี พ.ร.บ อำนวยความสะดวกภายใต้รัฐบาลนี้ตอนเป็นเผด็จการ สมัยหม๋อมอุ๋ย( หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล) และผมมีส่วนร่วม และมีกฎหมายอีกฉบับคือ การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายเพื่อให้หน่วยงานที่มีอยู่ไปตรวจสอบข้อระเบียบว่ามีเงื่อนไขล่าช้าหรือไม่ แต่ไม่เวิร์ค เพราะหน่วยงานไปทบทวนตัวเอง และเพิ่มเงื่อนไขมากขึ้น  เพราะฉะนั้นอยากให้ กทม.น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะมีผู้ว่า กทม. เป็นผู้แข็งแกร่งในปฐพี และจะกล้าหาญในปฐพี ซึ่งผมหวังแบบนั้น”