ThaiPublica > คอลัมน์ > ท่ามกลางสถานการณ์ผันผวนเศรษฐกิจปีกระต่าย 2566 ประเด็นอะไรที่ควรติดตามบ้าง?

ท่ามกลางสถานการณ์ผันผวนเศรษฐกิจปีกระต่าย 2566 ประเด็นอะไรที่ควรติดตามบ้าง?

10 มกราคม 2023


รองศาสตราจารย์ ดร.อภิรดา ชิณประทีป
อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ และรองผู้อํานวยการศูนย์วิจัยประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ก่อนอื่นขอสวัสดีปีใหม่2566 ผู้อ่านทุกท่าน ขณะนี้สัปดาห์แรกเดือนมกราคมดังนั้นขอโอกาสนี้แลกเปลี่ยนความเห็นเล็กๆน้อยๆสั้นๆ แนวโน้มในปี 2566 นี้ รวมถึงเราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากปีที่ผ่านมา

1.ประเด็นแรกเศรษฐกิจโลก

ประเด็นของเศรษฐกิจโลกที่น่าสนใจในช่วงของปีนี้ที่ยังต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระดับราคาสินค้า เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์ภาพรวม และเรื่องของสงครามยูเครน-รัสเซีย ที่มีผลต่อราคาพลังงาน และสินค้าที่เป็นสินค้าหลักของทั้งสองประเทศ และยังเกิดความผันผวนทางด้านสินค้าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมไปจนถึงสถานการณ์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีการทยอยฟื้นตัวจากการระบาดและเหตุการณ์เกี่ยวเนื่อง ทั้งประเทศสหรัฐ จีน อินเดีย ยุโรป รวมไปจนถึงประเทศในภูมิภาคใกล้เคียงเราด้วย ปีนี้จึงยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งคงจะต้องกระทบประเทศเราเช่นกันเนื่องจากเราเป็นเศรษฐกิจเปิดที่ต้องมีความเกี่ยวข้องกับตลาดโลกดังนั้น สถานการณ์ของตลาดโลกก็ยังคงน่าจับตาต่อไป

1.1 สงครามยูเครนรัสเซีย จากเดิมที่เราคาดว่า น่าจะได้คำตอบ บางประการภายในปลายปีที่ผ่านมา จนถึงต้นปีและถ้าผ่านมาถึงช่วงต้นของปี 2566 ผู้เขียนมีความเชื่อว่า สถานการณ์ของรัสเซียจะกลายเป็นรอง ตามที่เคยเสนอแล้วในบทความที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า ล่าสุดปูติน ยินดีที่จะหยุดยิงระยะสั้นตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม เป็นเวลา 36 ชั่วโมงตามที่ บาทหลวงนิกาย Orthodox เสนอด้วย Orthodox Christmas ซึ่งเป็นการพักรบครั้งใหญ่ครั้งแรกของสงครามที่ยาวนานกว่า 10 เดือนที่คร่าชีวิตผู้คนนับหมื่นและทำลายล้างยูเครน

ณ สถานการณ์ปัจจุบัน สงครามครั้งนี้ผู้เขียนเชื่อว่าอาจจะไม่รุนแรงถึงขั้นไปถึงสงครามนิวเคลียร์หรือการขยายใหญ่โต แต่โดยที่ฝั่งของยูเครนอาจจะต้องอาศัยกำลังของทางยุโรปค่อนข้างสูงเนื่องจากกองทัพของรัสเซียและยูเครนมีขนาดที่แตกต่างกันมากหลายเท่าตัว แต่ในท้ายที่สุดแล้วทางยุโรปและอเมริกาอาจจะได้ประโยชน์จากการยื่นมือเข้าช่วยเหลือด้วย และรวมไปถึงการแทรกแซงกิจการภายในยูเครนคงจะหลีกเลี่ยงได้ยาก ทั้งนี้สังเกตว่า ยูเครนยังมีทรัพยากรธรรมชาติอยู่หลายอย่างที่อาจจะเป็นประโยชน์และในกรณีที่ทางสหรัฐหรือยุโรป เข้าไปมีการซ่อมสร้างปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงสาธารณูปโภค หรือการลงทุนขนาดใหญ่ในยูเครนในลำดับต่อไปก็อาจมีความเป็นไปได้ ทั้งนี้นอกเหนือไปจากการสนับสนุนทางด้าน ยุทโธปกรณ์ต่างๆ อยู่แล้ว ดังนั้น สงครามครั้งนี้ผู้เขียนเชื่อว่ายังมีนัยยะทางด้านเศรษฐกิจอยู่ไม่น้อย ในส่วนของประเทศไทยที่เราสามารถเตรียมตัวได้คือมีการติดตามต่อเพราะทุกครั้งที่สงครามมีการรุนแรงมากขึ้น ก็จะทำให้เกิดความผันผวนของราคาพลังงาน รวมถึงสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ปุ๋ย และอื่นๆ โดยที่ในระยะนี้ประเทศไทยอาจจะแสวงหาโอกาสตามที่ผู้เขียนได้เกริ่นนำไว้ในหลายๆ ฉบับก่อนหน้านี้แล้วในสินค้าหลายประเภทที่เราสามารถที่จะส่งออกหรือทดแทนการนำเข้าในระยะนี้ก่อนที่สงครามจะคลี่คลาย

1.2 ระดับราคาสินค้า เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน การส่งออก นำเข้า ดุลการค้าและดุลการชำระเงิน แน่นอนว่ายังมีเรื่องของปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนอกเหนือจากเรื่องของประเภทสินค้าก็คือเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนและราคาสินค้าด้วยซึ่งในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนก็คงจะต้องมีเรื่องของอัตราดอกเบี้ยเข้ามาเกี่ยวข้อง ในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยก็คงจะต้องดูถึงแนวโน้มของสถานการณ์ทั่วโลกด้วย เนื่องจากในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งถือว่าเป็นประเทศมหาอำนาจและเป็นประเทศสำคัญที่สามารถกำหนดนโยบายการเงินและทำให้ตลาดการเงินโลกมีความเปลี่ยนแปลงไปตามแนวโน้ม ดังนั้นประเทศไทยที่เป็นประเทศเล็กก็ย่อมที่จะต้องได้รับแรงกดดันทั้งทางเลือกด้านของอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกยังถือว่า ไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่ หลังจากโควิด รวมถึงยังประสบปัญหาในหลายๆ

ด้านอัตราดอกเบี้ยจึงมีแนวโน้มที่อาจจะต้องเป็นหนึ่งในนโยบายในการรับมือกับภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกด้วย แต่ละประเทศพยายามมีนโยบายเฉพาะของตนเองด้วย ยกตัวอย่างเช่นประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศพิเศษ ล่าสุด ได้ออกนโยบาย yield curve control ซึ่งหลายท่านจะทราบว่าแท้จริงไม่ใช่เรื่องใหม่ ส่วนตัวมองว่าอาจเพราะ QE อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มีผลต่อเงินเฟ้อด้วยจึงไม่น่าจะเหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันของญี่ปุ่นเอง ทำให้ต้องพิจารณาลองทางเลือกใหม่ การส่งออก นำเข้า ดุลการค้าและดุลการชำระเงิน โดยการส่งออกของประเทศไทยที่มีแนวโน้มเริ่มดีขึ้นแล้วนั้น อาจจะต้องอย่าลืมการพิจารณาภาพรวมไปถึงเรื่องของการนำเข้า โยงไปสู่ดุลการค้าและดุลการชำระเงินไปพร้อมกันด้วย รวมไปถึงสงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีน

ปัญหาต่างๆเหล่านี้ ประเทศไทยคงจะต้องรับมือและค่อยพิจารณาว่าเราจะใช้นโยบายอย่างถูกต้องทั้งเรื่อง magnitude และ timing เนื่องจากทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านปัจจัยเหล่านี้ เช่น อัตราดอกเบี้ย ทางเศรษฐศาสตร์จะทราบว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นก็จะเกิดเป็นต้นทุนทางด้านการลงทุนที่สูงขึ้นด้วย ในขณะเดียวกันก็อาจจะทำให้มีผลกระทบทางด้านอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นทุกครั้งที่มีการดำเนินนโยบายจะต้องมีฝ่ายที่ได้รับประโยชน์และฝ่ายที่เสียประโยชน์เมื่อไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาด อย่างไรก็ตามในด้านของนโยบายเราสามารถที่จะชะลอแรงกดดันเพื่อช่วยลดแรงกระแทกและช่วยสนับสนุนหรือช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนและทุกอย่างนี้อาจจะต้องใช้ทั้งความรู้ ความรอบคอบและศิลปะค่อนข้างสูง ก็ขอให้กำลังใจผู้กำหนดนโยบายและขอให้กำลังใจประชาชนอย่างพวกเราทุกคนให้ผ่านพ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ไปได้

1.3 ประเด็นอื่นที่น่าสนใจ คือในระหว่างที่มีสงครามยูเครนรัสเซียและทางยุโรปและอเมริกาเข้ามาช่วยเหลือทั้งเรื่องของยุทโธปกรณ์และผู้เขียนคาดว่าอาจจะมีแนวโน้มว่าจะช่วยเหลือในเรื่องของการซ่อมสร้างในอันดับต่อไปนั้น ทั้งหมดแม้จะยังไม่ครบถ้วนในเวลานี้แต่เท่าที่ผ่านมาก็อาจมีผลทางอ้อมทำให้ภาวะเงินเฟ้อ ในประเทศของยุโรปและอเมริกาดีขึ้นในบางส่วนด้วย ผู้เขียนคาดว่าทางยุโรปและอเมริกายังคงให้ความช่วยเหลือต่อไป ในขณะที่ยูเครนก็มีความเสี่ยงที่อาจจะต้องให้ทางยุโรปและอเมริกาเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในได้ อย่างไรก็ตามอยากให้ทุกท่านได้ติดตามสถานการณ์ต่อไป ในขณะที่สถานการณ์พลังงาน ที่เราคาดว่า รัสเซียอาจจะมีแต้มต่อนั้น เมื่อผ่านปี 2565 ที่ผ่านมานี้ไปแล้วและเมื่อสถานการณ์พลังงานคลายตัวลงขณะที่ทางยุโรปและอเมริกาพยายามหาทางเลือกอื่นๆ เพิ่มเติมดังนั้นหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อต่อไปผู้เขียนจึงมีความเชื่อว่าสถานการณ์ของทางรัสเซียที่พึ่งพิงจีนและพันธมิตร จำเป็นที่จะต้องหาทางลงจากสงคราม โดยผู้เขียนเชื่อว่าน้ำหนักที่จะทำให้เกิดสงครามบานปลาย ณ เวลานี้ยังไม่มีมากนัก

ดังนั้น ณ สถานการณ์ปัจจุบันทางออกของรัสเซีย น่าจะหาทางลงจากสงครามมากกว่าที่จะขยายผลสงครามให้กลายเป็นสงครามระดับโลกตามที่บางท่านเคยให้ความเห็นเอาไว้ จนกว่าจะมีอะไรสำคัญๆ เปลี่ยนแปลง

2.สาขาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ

การปลดคนงานไอที

ข้อมูลจาก Challenger, Gray & Christmas ของสหรัฐระบุว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีเดินหน้าปลดพนักงานในเดือนพ.ย. 2565 อุตสาหกรรมดังกล่าวประกาศปลดพนักงาน 52,771 ตำแหน่ง ส่งผลให้จำนวนพนักงานที่ถูกปลดทั้งหมดในปี 2565 อยู่ที่ 80,978 ตำแหน่ง ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2543

ล่าสุด ในเดือนมกราคม 2566 บริษัท Amazon ชั้นนำด้านอีคอมเมิร์ซจากสหรัฐอเมริกา ประกาศลดพนักงานมากกว่า 18,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าที่ประกาศก่อนหน้านี้ที่ 10,000 คน แนวโน้มนี้รวมไปถึง บริษัท Apple Inc ผู้ผลิต iPhone ของสหรัฐระงับการจ้างงานเป็นจำนวนมาก ยกเว้นวิจัยและการพัฒนา รวมไปถึงบริษัทอื่นๆ ด้านไอที เช่น อัลฟาเบท, แอมะซอนดอทคอม, เมตา แพลตฟอร์มส์ และไมโครซอฟท์ ที่สถานการณ์ในปัจจุบันผลประกอบการล่าสุดต่ำกว่าคาดการณ์และยังมีผลราคาหุ้นดิ่งลง สังเกตว่าแม้ในช่วงที่ผ่านมาของโรคโควิด บรรดาบริษัทเหล่านี้ได้ประโยชน์จากสถานการณ์การ work from home

ในส่วนนี้ผู้เขียนอยากจะย้อนกลับไปยังผลการศึกษาของผู้เขียนและทีมที่ปี 2562-63 เราพบว่ามีหลายสาขาทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในช่วงวิกฤตโควิด ซึ่งในความเป็นจริงบางสาขาเศรษฐกิจมีความเป็นไปได้ที่อาจจะกลับไปในลักษณะใกล้เคียงกับก่อนการเกิดโรคระบาดแต่ในบางสาขาก็อาจจะมีแนวโน้มที่จะดีขึ้นต่อเนื่อง ในลักษณะของสาขาเศรษฐกิจที่เป็นลักษณะของตัว k ซึ่งในขณะนี้ผู้เขียนกำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยสถานการณ์ปัจจุบัน และอาจจะได้นำผลการศึกษา มาให้ผู้อ่านท่านที่สนใจในโอกาสต่อไป

รูปที่ 1 และ 2 แสดงการเรียงลำดับผลกระทบการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยสาขาต่างๆ ช่วงปี 2562-63 ซึ่งจะเห็นว่าสาขาเหล่านี้มีบางส่วนที่กลับทิศทาง 180 องศาในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดีสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนอยากจะขอให้ข้อสังเกตไว้คือในเรื่องของคริปโต ซึ่งในส่วนนี้ผู้เขียนเชื่อว่าหลังโควิดแล้ว ราคาของคริปโตอาจจะมีความแตกต่างอีก ผู้ลงทุนจึงอาจจะต้องใช้ความระมัดระวังอย่างน้อยในระยะนี้ ซึ่งผู้เขียนหมายถึงโดยรวมไปถึงสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับด้านของเทคโนโลยีด้วย ซึ่งอาจจะมีความผกผันได้อีกระยะหนึ่ง น่าจะต้องจับตามองต่อไป

รูปที่ 1 เรียงลำดับผลกระทบการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทย
ที่มา: อภิรดา ชิณประทีปและคณะ รายงานการประมาณการผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หรือ โควิด-19 (Covid-19) ต่อเศรษฐกิจไทย (หมายเหตุได้ลงโพสต์ทูเดย์ฉบับวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 แล้ว)
รูปที่ 2 ผลกระทบการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ต่อการจัดตั้งแต่ละสาขาเศรษฐกิจไทยมีทั้งบวกและลบ ที่มา: อภิรดา ชิณประทีปและคณะ รายงานการประมาณการผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่หรือ โควิด-19 (Covid-19) ต่อเศรษฐกิจไทย (หมายเหตุได้ลงโพสต์ทูเดย์ฉบับวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 แล้ว)

3.สภาวะเศรษฐกิจไทย

ในส่วนของสภาวะเศรษฐกิจไทย ผู้เขียนมีความเชื่อว่าด้วยสถานะการเงินการคลังที่ยังแข็งแกร่งประกอบกับเรื่องของสาขาทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ยังมีความสามารถทางด้านการผลิตโดยเฉพาะภาคเกษตรและการท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัว ส่วนที่เป็นกระดูกสันหลังให้กับประเทศไทยยังน่าจะสามารถที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงและความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ อย่างไรก็ดีสิ่งที่เราควรจะต้องพิจารณาก็คือในด้านของการพัฒนาเศรษฐกิจรวมไปถึงการหลั่งไหลของกระแสเงินทุน และกระแสการท่องเที่ยวที่กำลังจะกลับมานั้นยังมีข้อควรระวังในหลายประการ เพื่อให้สามารถได้รับประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งในปีที่ผ่านมามีหลายประเทศได้พัฒนาแข่งกับไทยไปได้ในหลายรายการ และยังมีประเด็นปลีกย่อยที่น่าสนใจผู้เขียนจะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป ล่าสุดยังมีข่าวดีเรื่องการลงทุนโดยตรง(FDI) มายังประเทศไทย ส่วนเหล่านี้ การวางแผนในการพัฒนาและการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในปี 2563 เป็นจังหวะที่ดีในสถานการณ์ที่ทุกประเทศกำลังเปลี่ยนผ่านหลังโควิด

4.แนวโน้มการพัฒนาด้านทรัพยากรบุคคลและทักษะยุคใหม่

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่อาจจะเรียกว่าเป็นลักษณะของชะงักงันหรือ Disruption ซึ่งจะไปถึงแนวโน้มการพัฒนาด้านทรัพยากรบุคคลและทักษะยุคใหม่เพื่อให้มีความยั่งยืนและแข่งขันได้ในสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่น่าสนใจ จึงขอนำเสนอข้อสรุปบางส่วนจากผลงานผู้เขียนและทีมในปี 2560 ที่ยังปรับสามารถปรับใช้ได้ในขณะนี้ รวมทั้งได้เคยออกในรายการพิธีกรสาวเก่ง เมื่อหลายปีแล้ว ซึ่งจะนำเสนอไว้ในส่วนอ้างอิงด้วยเผื่อท่านผู้อ่านสนใจ ฟังคลายเครียดเวลาว่าง เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกันค่ะ แนวโน้มนี้จะมีผลให้ภาคการผลิตและอุตสาหกรรมจะเป็นลักษณะห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก (Global value-chain) ที่จะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น มีวัสดุใหม่ๆ ที่จะสามารถประหยัดต้นทุนได้มากขึ้น ผลิตจำนวนมากๆและมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย สิ่งที่น่าสนใจคือ ผลกระทบเชิงลบหรือ negative externality ที่เราจะต้องพิจารณาด้านความปลอดภัยทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก อย่างไรก็ดี จากข้อมูลที่สำรวจมาทั้งโลก พบว่า ประเทศที่เป็นฝ่ายผลิต (supply country) เทคโนโลยีขั้นสูงเหล่านี้ยังมีส่วนน้อยในโลก และประเทศที่เป็นฝ่ายรับเอาไปใช้จริงจัง (adopt country) ก็ยังนับว่ามีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับทั้งโลก ในปัจจุบัน ทำให้เกิดความแตกต่างอย่างมากระหว่างประเทศ และบางประเทศถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

สำหรับประเทศไทย

จากการเก็บข้อมูลทุติยภูมิรายงานวิจัย อภิรดาและคณะ(2562) ได้พบว่าสิ่งที่น่าสนใจในแง่มุมของการพัฒนาประเทศไทยจะพบว่าเราอยู่ในระดับปานกลางที่ควรจะเริ่มต้นพิจารณาว่าจะไปในทิศทางที่เหมาะสมได้เนื่องจากเราอยู่ในระดับที่สามารถพัฒนาขึ้นได้อีกในแง่ของการใช้เทคโนโลยีขั้นกลางและสูง ในอาเซียนถ้าไม่นับสิงคโปร์ที่เป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันเรายังเป็นรองประเทศฟิลิปปินส์อยู่ และอินโดนีเซียด้วยในบางแง่มุมรวมถึงเรายังเป็นรองมาเลเซีย ในขณะที่แรงงานของเราก็มีแนวโน้มของประชากรผู้สูงอายุสูงขึ้นด้วยหากเราต้องการพัฒนา เราจึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาสองด้านประกอบกันทั้งในด้านปัจจัยทุนที่เป็นอุตสาหกรรมและเรื่องของแรงงานถ้าหากจะทดแทนในส่วนนี้

ประเทศไทยได้รับการคาดว่าจะถูกทดแทนงานหลายประเภทภายในปี 2030 ในการคาดการณ์ไปสู่อนาคตในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีการหายไปของงานบางประเภท จะเกิดงานทักษะใหม่ ที่การศึกษาต้องพัฒนาทักษะให้มากขึ้น มีการศึกษาเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต และควรมีความยืดหยุ่น โดยอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกทดแทนมากได้แก่ เครื่องช่วยตัดเย็บ เจ้าหน้าที่สายการผลิต พนักงานเช็คสต็อก โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากข้อมูลสำนักงานสถิติจะเป็นตำแหน่งงานที่มีลักษณะซ้ำๆ เช่น ภาคธุรกิจบริการ สถาบันการเงิน ค้าส่ง-ค้าปลีก พนักงานขายของ เคาน์เตอร์เซอร์วิส งานที่เกี่ยวกับการกระจายสินค้า พนักงานรักษาความปลอดภัย เป็นต้น ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กอาจมีความน่าเป็นห่วง เราจึงควรจะต้องมีการการพัฒนากลยุทธ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการ การพัฒนา ทักษะของบุคลากร เพื่อรองรับงานต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในด้านผู้บริโภคอาจจะได้รับผลประโยชน์ยกตัวอย่างเช่น จากหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ หุ่นยนต์ครอบครัว และหุ่นยนต์ทำความสะอาด หรือบางอุตสาหกรรมเช่นอุตสาหกรรมการแพทย์ได้เริ่มนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ในระบบการดูแลสุขภาพ การวินิจฉัย ซึ่งได้ผลค่อนข้างน่าพอใจเพื่อการทำงานด้านสุขภาพ และการวางแผนการรักษาสำหรับผู้ป่วยได้ดีขึ้น

สำหรับอาเซียนควรมีความร่วมมือกันเพื่อการแชร์ข้อมูลและความโยงใยที่ดีระหว่างประเทศสมาชิก(connectivity) และสำหรับประเทศไทยควรแสวงหาการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี และควรต้องพัฒนาบุคคลากรให้มีทักษะ ความชำนาญมากขึ้น ต้องทำให้เกิดการเรียนรู้ เพราะเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญและส่งผลเป็นอย่างมากต่อโอกาสในการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น เพื่อที่จะสามารถสร้างธุรกิจ การสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ ที่แตกต่าง รวมทั้งการแข่งขันในอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ ทั้งการเงิน การลงทุนที่อาจจะเปลี่ยนรูปแบบไปได้อีกด้วย รวมทั้งทุกครั้งของการพัฒนาต้องอย่าลืมเรื่องกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ โดยเราอาจหาวิธีเตรียมพร้อมก่อนสถานการณ์นั้นจะมาถึงได้ ไม่ว่าจะด้วยการพัฒนาทักษะ หรือการมีความช่วยเหลือการเปลี่ยนงานในช่วงกึ่งกลางของการทำงาน(mid-career) หากได้รับผลกระทบด้านการพัฒนาอย่างฉับพลัน และพยายามแสวงหาโอกาสในการเสริมสร้างจุดแข็งให้ดียิ่งขึ้น ในสาระสำคัญคือ ประเทศไทยควรพิจารณาเสริมจุดแข็งที่มี เสริมสร้างศักยภาพ บรรเทาจุดอ่อน และแสวงหาโอกาสอย่างเหมาะสมและทันท่วงทีไม่ช้าจนเกินไป พร้อมกับบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ดูแลผู้ได้รับผลกระทบ และมีการเตรียมพร้อมอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นด้านทักษะหรือการศึกษาก็จะทำให้ประเทศของเราพัฒนาและแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน

5.ประเด็นสุดท้ายความกังวล ‘โควิด’ ที่อาจกลายพันธุ์และระบาดเพิ่มเติม

ในครั้งนี้สำหรับข่าวดีการเปิดประเทศจีนตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 เป็นต้นไปและมีวันหยุดยาวของจีนในช่วงตรุษจีนช่วงสัปดาห์ท้ายของเดือนมกราคมปีนี้ โดยเป็นแนวโน้มที่น่าสนใจเนื่องจากประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ได้รับความนิยมอย่างมาก นอกจากผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยเราจะได้รับการยอมรับว่าอัธยาศัยดี ประเทศไทยยังมีอาหารอร่อย และมีศิลปวัฒนธรรมที่สามารถพัฒนาเป็นส่วนเสริมขึ้นได้อีกด้วย ในส่วนของการเตรียมพร้อมด้านโควิด หากสังเกตการจัดการของไทยเราแต่ละรอบไม่เคยใช้วิธีการเหมือนกันและไม่เหมือนประเทศอื่น ซึ่งเชื่อว่าประเทศไทยน่าจะมีเวลาเตรียมตัวได้และผู้เขียนก็อยากให้กำลังใจในการเตรียมพร้อมของทุกท่าน

สิ่งหนึ่งที่อาจจะให้ข้อสังเกตเล็กน้อยสำหรับครั้งนี้คือเรื่องของข้อมูลที่เราอาจจะไม่แน่ใจว่าตัวเลขคนติดโควิด รวมถึงคนเสียชีวิตที่แท้จริงเป็นอย่างไร เราอาจไม่แน่ใจว่าข้อมูลที่ไม่ได้เปิดเผยทั้งหมดทางการจีนได้พบสายพันธุ์ย่อยใหม่เพิ่มเติมอีกหรือไม่ หลังการปิดประเทศเป็นเวลาหลายปี ในขณะที่ล่าสุดไม่นานมานี้ช่วงธันวาคม 2565 มีข่าวว่า จำนวนบุคคลสาธารณะของจีนการเสียชีวิตถูกเปิดเผยต่อสาธารณะที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้คนตั้งคำถามเกี่ยวกับยอดผู้เสียชีวิตจากโควิดอย่างเป็นทางการ เช่น การเสียชีวิตของ Chu Lanlan นักร้องโอเปร่างิ้วปักกิ่งวัย 40 ปี ข่าวการเสียชีวิตของนักแสดง Gong Jintang วัย 83 ปี เป็นที่รู้จักจากผลงานการแสดงในซีรีส์ทางทีวีที่ยาวนาน Ni Zhen นักเขียนบทภาพยนตร์ชื่อดังเสียชีวิตวัย 84 ปี และ Hu Fuming อดีตนักข่าวเสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 มกราคม ด้วยวัย 87 ปี เป็นต้น โดยจีนหยุดเผยแพร่ข้อมูลผู้ติดเชื้อรายวัน และได้ประกาศผู้เสียชีวิตจากโควิด ที่ค่อนข้างต่ำมาก ตั้งแต่เดือนธันวาคม โดยใช้เกณฑ์ใหม่ ดังนั้นอาจเป็นสิ่งที่เราอาจจะต้องระวังเผื่อไว้ คำพูดที่ผู้เขียนชอบมาก Hope for the best and prepare for the worst เตือนตัวเองในทุกการเสนอการจัดการรอบต่างๆ ที่ผ่านมา ซึ่งในรอบนี้ขอเอาใจช่วยทุกท่าน และหากมีประเด็นเพิ่มเติมอาจจะนำเสนอแลกเปลี่ยนในบทความครั้งต่อไปให้ผู้อ่านที่สนใจทุกท่าน ส่งกำลังใจให้ประเทศไทยในการพัฒนาอย่างยั่งยืนรอบด้านต่อไป

สุดท้ายนี้โดยหวังว่าบทความนี้จะส่งผ่านแง่คิดบางประการในโอกาสนี้ และทุกท่านผู้อ่านและครอบครัวปลอดภัย มีพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง เชื่อว่าสถานการณ์กำลังค่อยๆ ดีขึ้น

(หมายเหตุ: ทั้งนี้ความเห็นและบทวิเคราะห์ต่างๆ เป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนโดยเป็นความเห็นส่วนตัวเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องตรงกับหน่วยงานที่กล่าวถึงในบทความ หากมีข้อเสนอแนะหรือแลกเปลี่ยนสามารถแนะนำได้ที่ email: [email protected] ขอบคุณยิ่ง)

อ้างอิง

-อภิรดา ชิณประทีป “โอไมครอน (ณ ก.พ. 65) และเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 – 2565 เราควรระวังอะไรบ้าง? ” หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 08 กุมพาพันธ์ 2565 https://www.posttoday.com/finance-stock/columnist/675048
-อภิรดา ชิณประทีป “ผลกระทบโควิด กับเศรษฐกิจ ทองคำ น้ำมัน ตลาดหุ้น” หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 29 มิ.ย. 2564 https://www.posttoday.com/finance-stock/columnist/656674
-อภิรดา ชิณประทีป “โควิด-19 (Covid-19) ต่อเศรษฐกิจไทย มีโอกาสทางเศรษฐกิจบ้างไหม?” หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 https://www.posttoday.com/columnist/652522
-อภิรดา ชิณประทีป (2562) รายงานการประมาณการผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายมพันธุ์ใหม่หรือ โควิด-19 (Covid-19) ต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งภาพรวมและรายสาขา และการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ เสนอ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
-อภิรดา ชิณประทีป (2019) สรุปข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย (Policy Brief) เรื่อง การเตรียมตัวและความก้าวหน้าการปรับตัวของประชาคมอาเซียนต่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ของโลก และท่าทีของไทยในฐานะประธานอาเซียนในปี 2562 โครงการจัดทำรายงานวิจัยขนาดสั้น (short research paper) ตอบโจทย์สถานการณ์การค้าและการพัฒนา เสนอ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน)
-อภิรดา ชิณประทีป และพรเพ็ญ วรสิทธา (2019) การเตรียมตัวและความก้าวหน้าการปรับตัวของประชาคมอาเซียนต่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ของโลก และท่าทีของไทยในฐานะประธานอาเซียนในปี 2562 โครงการจัดทำรายงานวิจัยขนาดสั้น (short research paper) ตอบโจทย์สถานการณ์การค้าและการพัฒนา เสนอ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน)
-รายการช่วยคิดช่วยทำ 19 กันยายน 2560 ครอบครัวข่าวเช้า ไทยทีวีสีช่อง3 https://youtu.be/m_aSfF0rqcY
China’s COVID Spike: WHO Warns That China Is Underreporting Numbers, Experts Discuss | CNBC-TV18 January 6, 2023 https://www.youtube.com/watch?v=O4urvVOljH0
-China stats ‘under-represent’ true impact of Covid outbreak: WHO http://www.barrons.com/video/china-stats-under-represent-true-impact-of-covid-outbreak-who/57143BAB-90E2-4CB1-BE45-8C643B7A2734.html