ThaiPublica > เกาะกระแส > “อาคม” แจงเก็บภาษีขายหุ้น กางข้อมูลยันไม่กระทบความสามารถในการแข่งขัน

“อาคม” แจงเก็บภาษีขายหุ้น กางข้อมูลยันไม่กระทบความสามารถในการแข่งขัน

2 ธันวาคม 2022


เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 ดร. อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงเรื่องการยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ณ ห้องประชุมชั้น 4 กระทรวงการคลัง

“อาคม” แจงเก็บภาษีขายหุ้น หลัง กม.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เวลาเตรียมตัว 30 วัน จากนั้นเริ่มเก็บภาษีปีแรก 0.055% ถึงสิ้นปี’66 ปีที่ 2 เก็บภาษีเต็มอัตรา 0.11% ตั้งแต่ 1 ม.ค.ปี’67 เป็นต้นไป อธิบดีสรรพากรกางข้อมูลยัน – ไม่กระทบขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ – สภาพคล่องตลาดฯ – ปัดเอื้อนักลงทุนรายใหญ่

วันที่ 2 ธันวาคม 2565 ดร. อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงเรื่องการยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ณ ห้องประชุมชั้น 4 กระทรวงการคลัง

ดร. อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ อนุมัติหลักการยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 หรือที่เรียกว่า “ภาษีขายหุ้น” เพื่อเพิ่มความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีและลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และการออมเพื่อเกษียณอายุ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนที่ 4 ถัดจากเดือนที่พระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือ “Grace Period” ประมาณ 90 วัน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเตรียมการในการจัดเก็บภาษี จากนั้นก็จะเริ่มเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยจะแบ่งออกแบ่งเป็น 2 ช่วง ดังนี้

    ช่วงที่ 1 จัดเก็บในอัตรา 0.055 % (เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566

    และช่วงที่ 2 จัดเก็บในอัตรา 0.11% (เมื่อรวมกับภาษีท้องถิ่น) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

“จริงๆประมวลรัษฎากรได้กำหนดให้จัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯอัตรา 0.10% ของมูลค่า มาอยู่แล้ว ตั้งแต่ปี 2535 แต่ได้รับการยกเว้นภาษีมากว่า 30 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยมีอัตราการเจริญเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง จึงมอบหมายให้กรมสรรพากรทำการศึกษารูปแบบการจัดเก็บภาษีหุ้น พบว่าหลายประเทศทั่วโลกมีการจัดเก็บภาษีหุ้นประมาณ 2 รูปแบบ คือ 1. การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้น (Financial Transaction Tax : FTT) กับ 2. การจัดเก็บภาษีจากกำไรที่ได้จากการซื้อและขายหุ้น (Capital Gain Tax) บางประเทศเก็บภาษีหุ้นทั้ง 2 รูปแบบผสมกัน และบางประเทศเก็บภาษีรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ใช้วิธีการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้น” ดร.อาคม กล่าว

ด้านนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ที่ผ่านมาในประมวลรัษฎากรได้กำหนดให้จัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 0.11% ไว้แล้ว แต่ยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2535 เนื่องจากเป็นช่วงของการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงไม่อยากให้มาตรการภาษีเป็นภาระต้นทุน และต้องการให้ตลาดเติบโตอย่างเข้มแข็ง หากย้อนกลับไปดูปริมาณการซื้อ-ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพยในปี 2534 มีมูลค่าตลาด (Market Cap) ประมาณ 9 แสนล้านบาท มาถึงปี 2565 มูลค่าตลาดเพิ่มเป็น 20 ล้านล้านบาท ทางกระทรวงการคลังจึงมีมั่นใจว่า การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหุ้นในช่วงนี้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับหลักสากล ซึ่งจากภาพที่นำมาแสดงจะเห็นว่าบางประเทศใช้วิธีการจัดเก็บภาษีแบบ Capital Gain Tax อย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และก็มีบางประเทศใช้วิธีการจัดเก็บภาษีทั้ง 2 รูปแบบผสมกัน อย่างเช่น อังกฤษ แต่ส่วนใหญ่ใช้วิธีการจัดเก็บภาษีจากฝั่งการขายหลักทรัพย์ แบบ Financial Transaction Tax เหมือนกับประเทศไทย

“ก่อนหน้านี้ก็มีนักลงทุนมองว่าการจัดเก็บภาษีขายหุ้นของไทยในครั้งนี้ ขณะที่ประเทศสิงคโปร์ไม่ได้เก็บ อาจจะทำให้เราพลาดโอกาสในการเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาคนี้ จากภาพที่ผมนำมาแสดงจะเห็นว่า ประเทศที่ทำเครื่องหมาย หรือ สัญลักษณ์รูป “ดาว” เป็นประเทศศูนย์กลางทางการเงิน อย่างเช่น ฮ่องกง เก็บภาษีหุ้นทั้งฝั่งซื้อและฝั่งขาย เกาหลีใต้เก็บภาษีหุ้นฝั่งขายอย่างเดียวเหมือนไทย ส่วนอังกฤษซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินของยุโรปจัดเก็บภาษีทั้ง 2 รูปแบบผสมกัน ข้อมูลที่นำเสนอนี้ชี้ให้เห็นว่า ภาษีไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดที่จะทำให้ประเทศไหนเป็นศูนย์กลางทางการเงิน” นายลวรณ กล่าวว่า

นายลวรณ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อมูลอีกชุดที่นำมาชี้แจ้ง คือ ต้นทุนของการทำธุรกรรมการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ของประเทศไทยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ โดยกราฟแท่งสีเหลือง คือ ต้นทุนภาษี ส่วนกราฟแท่งสีน้ำเงินเป็นต้นทุนค่าธรรมเนียมของโบรกเกอร์ที่เก็บจากการซื้อ-ขายหุ้น , สีฟ้าเป็นค่าธรรมเนียมอื่นๆ และสีเทาสำหรับบางประเทศเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ยกตัวอย่าง การทำธุรกรรมซื้อ-ขายหุ้นที่ประเทศฮ่องกง มีภาระต้นทุนรวมค่าภาษีประมาณ 0.38% ของมูลค่าซื้อ-ขายหุ้น , ประเทศมาเลเซียมีต้นทุนอยู่ที่ 0.29% และประเทศสิงคโปร์มีต้นทุน 0.19% ส่วนประเทศไทย ณ วันนี้ ซึ่งยังไม่มีการจัดเก็บภาษี FTT มีต้นทุนในการซื้อ-ขายหุ้นอยู่ที่ 0.17%

หากตลาดหุ้นไทยเริ่มจัดเก็บภาษี FTT เต็มอัตราที่ 0.11% เมื่อรวมกับค่าธรรมเนียมของโบรกเกอร์แล้วจะส่งผลทำให้ต้นทุนการซื้อ-ขายหุ้นโดยรวมอยู่ที่ 0.22% ของมูลค่าการซื้อ-ขายหุ้น แต่ในปีแรก เก็บภาษีแค่ครึ่งเดียวก่อน คือ ในอัตรา 0.055% ทำให้ต้นทุนโดยรวมอยู่ที่ 0.195% ซึ่งสูงกว่าประเทศสิงค์โปร์เพียงเล็กน้อย แต่ก็ยังต่ำกว่าประเทศฮ่องกงและมาเลเซีย และถ้าประเทศไทยจัดเก็บภาษีขายหุ้นเต็มเพดาน จะทำให้ต้นทุนการทำธุรกรรมซื้อ-ขายหุ้นอยู่ที่ 0.22% ซึ่งไม่ได้ทำให้ต้นทุนจากการซื้อ-ขายหุ้นของประเทศไทย แตกต่างจากประเทศคู่แข่งขันมากนัก ยืนยันการจัดเก็บภาษีดังกล่าวนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ ฯ ในระยะยาว

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร

“การที่ประเทศไทยเก็บภาษีจากการขายหุ้น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้แล้ว ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความแตกต่าง หรือ ได้เปรียบเสียเปรียบด้านการแข่งขันกันอย่างมีนัยสำคัญ หรือ ชี้ขาดว่าการลงทุนจะเกิดขึ้นที่ใด ประเทศไหนจะเป็นศูนย์กลางการเงินในภูมิภาคนี้”

นายลวรณ กล่าวต่อว่า การจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นครั้งนี้ กรมสรรพากรตระหนักถึงความสำคัญของความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี และต้องการลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ จึงยังคงการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ฯ ดังต่อไปนี้

    1. ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉพาะการขายหลักทรัพย์ที่บุคคลนั้นได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์นั้น
    2. สำนักงานประกันสังคม
    3. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
    4. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
    5. กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
    6. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
    7. กองทุนการออมแห่งชาติ
    8. กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคม หรือ กองทุนตามข้อ 3 – 7 เท่านั้น

อนึ่ง ในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีนี้ กฎหมายได้กำหนดให้สมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ฯ (Broker) ที่เป็นตัวแทนของผู้ขายมีหน้าที่หักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขายและยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษีในนามตนเองแทนผู้ขาย โดยผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีก

อธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงต่อว่า “จากที่ได้มีการนำเสนอข่าวการเก็บภาษีหุ้นว่าจะมีการยกเว้นภาษีให้นักลงทุนรายใหญ่ เป็นการนำเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อนข้อเท็จจริง กล่าวคือ กรมสรรพากรไม่ได้ยกเว้นภาษีให้แก่นักลงทุนรายใหญ่ แต่ยกเว้นภาษีให้แก่ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) กับ กองทุนบำนาญ โดย Market Maker คือ บริษัทหลักทรัพย์ (Broker) ที่ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหน้าที่ทำการเสนอซื้อ – ขายหลักทรัพย์ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และ Market Maker ไม่ใช่นักลงทุนรายใหญ่ตามที่ข่าวได้นำเสนอ ซึ่งการยกเว้นดังกล่าว เพื่อไม่ให้กระทบการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯเช่นเดียวกับต่างประเทศ อาทิ อังกฤษ ฮ่องกง ฝรั่งเศส และอิตาลี สำหรับนักลงทุนรายใหญ่ ไม่ว่าบุคคลธรรมดา นักลงทุนสถาบันที่ไม่ใช่กองทุนบำนาญ หรือ บริษัทหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เอง (ไม่ใช่บัญชี Market Maker) จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีแต่อย่างใด”