วีระศักดิ์โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา
กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ผมเพิ่งกลับจากการไปเยี่ยมชมป่าชายเลนลุงนรินทร์ หรือชื่อเต็มคือศูนย์การเรียนรู้และปฏิบัติการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมหาชัย ตำบลโคกขาม สมุทรสาคร
ไปติดตามดูการใช้ทรัพยากรที่ดินติดป่าชายเลนที่ราษฏรเจ้าของโฉนดเดิมยกให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาครเมื่อนานมาแล้ว ให้เป็นศูนย์เรียนรู้และอนุรักษ์ป่าชายเลน กับไปดูผลของการสะสมตะกอนเลนริมฝั่งด้วยการใช้แนวกำแพงไม้ไผ่ปักไว้ในทะเล ซึ่งนับว่ามีผลที่น่าพอใจ
มีหลายกลุ่มกิจกรรมมาสนับสนุนการปลูกป่าชายเลนที่นี่ มีผู้มาเรียนรู้ธรรมชาติของสัตว์บก เช่น ลิง ศึกษาสัตว์น้ำอย่างโลมา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ แมลง นกบก นกทะเล และนกอพยพที่นี่ต่อเนื่องมากว่า 20 ปี
ป่าชายเลนที่นี่แม้ผืนไม่ใหญ่มหึมา แต่ก็มีความอุดมสมบูรณ์ตามแบบฉบับ
ผู้ดูแลสถานที่นี้คือลุงนรินทร์ บุญร่วม อาสาสมัครจากชุมพร ท่านย้ายมาเป็นทั้งวิทยากร เป็นคนเพาะกล้าโกงกางไว้ปลูกเพิ่ม เป็นคนเฝ้าดูแลต้นไม้ในป่าชายเลน เป็นคนระดมชาวบ้านและห้างร้านที่พอรู้จักเข้ามาช่วยกันอนุรักษ์ชายฝั่ง และระบบนิเวศน์ของที่นี่
ผมเดินสำรวจเสร็จก็พบกับกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาว เหมารถหกล้อเล็กเข้ามาที่ศูนย์แห่งนี้ 2 คันรถ ราว70คน
ทราบว่าเป็นอาสาสมัครนักศึกษา ชาวพม่ามอญ เป็นส่วนใหญ่กับเป็นนักศึกษากัมพูชา1คน ที่ปกติในวันธรรมดาทุกคนมีอาชีพเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมห้องเย็นและแปรรูปสินค้าประมงแช่แข็งที่สมุทรสาคร
ทุกคนเพิ่งเสร็จจากการเรียนวิชาภาษาไทยในภาคเช้าวันอาทิตย์ แต่งกายในเครื่องแบบนักศึกษาอย่างสง่างาม
น้องๆนักศึกษาอายุราว 22-24 ปี ช่วยกันขนน้ำดื่มบรรจุขวดลงมา แล้วเข้านั่งกันเป็นระเบียบเรียบร้อย รอพรรคพวกที่ทะยอยวางสัมภาระที่อาคารฝึกอบรม
ในคณะนี้เขามีครูผู้สอนภาษาไทย ซึ่งก็เป็นชาวพม่าเช่นกัน แต่จะใส่เสื้อสีเหลือง เพื่อช่วยทำหน้าที่เป็นผู้บริหารการสื่อภาษาระหว่างคณะนักศึกษา กับเจ้าหน้าที่เครือข่ายแนวร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติป่าชายเลนและสิ่งแวดล้อมสมุทรสาครซึ่งมากันในนาม Urban Action Samutsakorn + มูลนิธิ LPN และ มูลนิธิ MMC (Mingkalaba Myanmar Education Training Center ) + เครือข่าย United Solidarity Alliance หรือ เครือข่ายพันธมิตรทางสังคมเพื่อสันติภาพแรงงานข้ามชาติ และเครือข่ายทางสังคมแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาในประเทศไทย Migrant Labour Group มาช่วยอำนวยความสะดวก
ผมและนาวาตรีวรวิทย์ เตชะสุภากูร อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีท่องเที่ยวซึ่งขับรถมาด้วยกัน จึงเข้าไปนั่งฟังการบรรยายสรุปของเจ้าหน้าที่ร่วมกับน้องๆไปด้วย
คุณโทนี่ ช่อสุวรรณ นักธุรกิจในสมุทรสาครที่มาช่วยสนับสนุนกิจกรรมเล่าว่าน้องๆหลายคนในกลุ่มนี้เคยมาช่วยทำกิจกรรมเก็บขยะในป่าชายเลนที่นี่และหลายคนเคยมาช่วยคัดแยกขยะ หรือเคยมาทำความสะอาดขวดแก้วก่อนการคัดแยกเพื่อส่งมอบให้เทศบาลพื้นที่รับไปดำเนินการต่อ บางคนเคยทำอย่างนี้มาราว 6-8 ครั้งแล้ว กิจกรรมนี้เก็บขยะทะเลจากป่าชายเลนขึ้นมาสะสมไว้รอคัดแยกจะเป็นพันกิโลกรัมกันอยู่แล้ว
ผมจึงขึ้นกล่าวแสดงความชื่นชมและขอบคุณน้องๆนักศึกษาแรงงานข้ามแดนเหล่านี้ผ่านล่ามของกลุ่ม
คุณผู้อ่านครับ
น้องๆเหล่านี้หลายคนเกิดในประเทศไทย ทุกคนทำงานชำแหละปลา แกะกุ้ง แพ็คสินค้าอาหารในโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำที่มหาชัย สัปดาห์ละ 6 วัน มีวันพักผ่อนวันเดียวคือวันอาทิตย์ แต่ด้วยรักจะมีการศึกษา จึงแห่กันไปเข้าชั้นเรียนภาษาไทยหรืออังกฤษทุกเช้าวันอาทิตย์
เสร็จแล้วออกเงินร่วมกันเหมารถมาทำกิจกรรมอาสาสมัครเพื่อสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น จบกิจกรรมแล้วจะไปทานอาหารกลางวันร่วมกันแล้วไปทัศนศึกษา หรือไปไหว้พระกันต่อช่วงบ่าย ก่อนแยกย้ายในช่วงเย็นเพื่อเตรียมตัวเริ่มงานในสัปดาห์ใหม่
น้องๆมากันในชุดนักศึกษาสีขาว สะอาดเอี่ยมทุกคน
นับว่าน่าชื่นชมมาก แม้น้องจะต้องคอยระมัดระวังเสื้อผ้าไม่ให้เลอะเทอะจากกิจกรรมที่มีทั้งลุยเข้าป่าชายเลนไปเฟ้นหยิบขยะออกมาจากเลนตมเพื่อใส่กระสอบ นำออกมาส่ง บ้างก็ไปทำหน้าที่เทของในกระสอบออกมาคัดแยก เพื่อจำแนกประเภท บ้างไปนั่งล้อมกะละมังใส่น้ำขนาดใหญ่เพื่อทำหน้าที่ขัดล้างขวดแก้วและขวดพลาสติกให้สะอาดจากคราบโคลนเลนอย่างคล่องแคล่ว
ผมและผู้ช่วยรัฐมนตรีวรวิทย์เห็นแล้วอดไม่ไหวต้องขอกระโดดเข้าร่วมกิจกรรมไปด้วย เจ้าหน้าที่มูลนิธิและเครือข่ายจัดแจกถุงมือสำหรับใช้ทำกิจกรรมในแต่ละฐาน เราใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงก็พัก ไปล้างมือไม้ แล้วกลับขึ้นรถเพื่อไปทานอาหาร และทำสันทนาการกันต่อ
แม้วันนั้นจะเหงื่อไหลไคลย้อยไปตามๆกันและยังสื่อสารกันได้ด้วยข้อจำกัดด้านภาษา แต่เราก็สัมผัสได้ถึงความสุขใจของทุกฝ่ายที่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมดีๆอย่างนี้
กิจกรรมที่ทำให้เราเห็นศักดิ์ศรี เห็นความเสียสละเป็นหมู่คณะ ของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ใช้แรงงานวัยกระเตาะ ที่ยังพูดไทยไม่ถนัด แต่รักสังคมส่วนรวม รักธรรมชาติ รักพวกพ้อง รักวัฒนธรรมของชนชาติ รักสงบ และรักจะมีความรู้ และความก้าวหน้า พากันออกมาทำกิจวัตรที่แม้ไม่มีการแปลเป็นภาษา
แต่กลับเป็นสิ่งที่เป็นสากลยิ่ง น่าประทับใจโดยไม่ต้องแปลเลย จริงๆครับ