ThaiPublica > เกาะกระแส > กาตาร์กับการเป็นเจ้าภาพ “ฟุตบอลโลก” ความมหัศจรรย์ของประเทศที่มีนักฟุตบอลแค่ 500 คน

กาตาร์กับการเป็นเจ้าภาพ “ฟุตบอลโลก” ความมหัศจรรย์ของประเทศที่มีนักฟุตบอลแค่ 500 คน

21 พฤศจิกายน 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

พิธีเปิดฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ที่มาภาพ : https://www.cbsnews.com/news/world-cup-2022-qatar-morgan-freeman-opening-ceremony/?ftag=CNM-00-10aab7e&linkId=190375029

การแข่งขัน “ฟุตบอลโลกปี 2022” มีขึ้นระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน-18 ธันวาคม 2022 ที่ประเทศกาตาร์

ฟุตบอลโลกถือเป็นการแข่งขันกีฬาระดับอภิมหาที่ใหญ่สุดของโลกเรา เช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ฟุตบอลโลกจะจัดให้มีขึ้นทุก 4 ปี เป็นการแข่งขันกีฬาที่มีคนดูทางโทรทัศน์มากที่สุดในโลก

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2010 สมาคมฟุตบอลโลก หรือ FIFA (Federation Internationale de Football Association) ประกาศว่า กาตาร์ ประเทศเล็กในตะวันออกกลาง ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2022 วงการฟุตบอลโลกตกตะลึงไปหมด ทำไมประเทศที่ไม่มีประเพณีการเล่นฟุตบอล หรือโครงสร้างพื้นฐานกีฬานี้เลย และในฤดูร้อนอุณหภูมิสูงถึง 50 องศา กลายเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก

จุดเปลี่ยนฟุตบอลโลก

แต่การเป็นเจ้าภาพของกาตาร์ ถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญของฟุตบอลโลก

ประการแรก เป็นครั้งแรกที่ฟุตบอลโลกจัดขึ้นในสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง คือจัดขึ้นในประเทศอาหรับ มุสลิม และตะวันออกกลาง

ประการที่ 2 เนื่องจากกาตาร์เป็นประเทศเล็ก แฟนฟุตบอลสามารถไปเข้าชมเกมแข่งขัน 3 เกมภายในวันเดียวกันได้ เหมือนเสร็จจากการดูฟุตบอลสนาม Old Trafford ของ Manchester United ก็สามารถเดินทางต่อไปชมฟุตบอลต่อที่สนาม Anfield ของ Liverpool มีระยะห่างกันแค่ 55 กม.

และประการสุดท้าย เนื่องจากฤดูร้อนในกาตาร์ การแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 เลื่อนไปแข่งขันช่วง พฤศจิกายน-ธันวาคม แตกต่างจากเดิมที่จัดในช่วง มิถุนายน-กรกฎาคม รอบชิงชนะเลิศจะมีขึ้นในวันที่ 18 ธันวาคม 2022 ตรงกับวันชาติกาตาร์

ทำไมหลายประเทศต้องการเป็นเจ้าภาพ

หนังสือ The Business of the FIFA World Cup (2022) เขียนไว้ว่า ฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย เจ้าภาพลงทุนไป 14 พันล้านดอลลาร์ ฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเจ้าภาพหมดเงินไปเท่าไหร่ แต่เมื่อกาตาร์ได้รับเลือกในปี 2010 มีการคาดการณ์ว่ากาตาร์จะต้องลงทุนมากถึง 65 พันล้านดอลลาร์

สำหรับประเทศที่เป็นเจ้าภาพ ฟุตบอลโลกสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจแก่ประเทศเจ้าภาพ แต่เป้าหมายสำคัญอาจไม่ใช่เรื่องรายได้เป็นตัวเงิน หรือเรื่องผลตอบแทนการลงทุน หากแต่เป็นเรื่องชื่อเสียงเกียรติยศของประเทศ และการอาศัยกีฬามาสร้าง “ซอฟต์เพาเวอร์” (soft power) กรณีของกาตาร์ ซอฟต์เพาเวอร์ได้จากฟุตบอลโลก 2022 คือยุทธศาสตร์การยกฐานะของประเทศในเวทีโลกให้สูงขึ้น

สำหรับตัว FIFA ฟุตบอลโลกหมายถึงรายได้ ที่จะนำมาใช้จ่ายในระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า ก่อนจะถึงรอบการแข่งขันครั้งต่อไป ฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย FIFA มีรายได้สูงถึง 6.42 พันล้านดอลลาร์ โดย 5.36 พันล้านดอลลาร์ (83%) เป็นรายได้โดยตรงจากการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ประเทศเจ้าภาพเป็นฝ่ายแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ แต่ผลประโยชน์ของ FIFA อยู่ที่การทำให้การแข่งขันประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องกังวลเรื่องต้นทุน

ที่มาภาพ : https://em-lyon.com/en/news/new-book-business-fifa-world-cup

Business Model ที่ FIFA คือผู้ชนะเสมอ

การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก นอกจากประชาชนในประเทศจะต้องให้การสนับสนุนแล้ว ประเทศเจ้าภาพต้องลงทุนทางการเงินมหาศาล เพื่อผ่านการประเมินทางเทคนิคของ FIFA การลงทุนนี้ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการประกาศรายชื่อประเทศเจ้าภาพ ดังนั้น จึงเป็นความเสี่ยงทางการเงินของประเทศ ที่จะยื่นขอเป็นเจ้าภาพ

The Business of the FIFA World Cup บอกว่า การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกเป็นการลงทุนที่สูง เพราะการประเมินทางเทคนิคของ FIFA มีความซับซ้อนมาก การประเมินทางเทคนิคมีอยู่ 2 ด้าน คือ โครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) กับ ด้านการพาณิชย์ (commercial)

ประเทศเจ้าภาพจะต้องสามารถทำได้ดี ในข้อกำหนดที่ FIFA กำหนดไว้ 9 ข้อ ในด้านเทคนิคมี 6 ข้อกำหนด เช่น สนามฟุตบอลที่มีอยู่ และที่จะสร้างใหม่ ที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวก แก่นักฟุตบอลและผู้ตัดสิน ศูนย์ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ และระบบการขนส่ง เป็นต้น ส่วนข้อกำหนดด้านการพาณิชย์คือ การคาดการณ์ค่าใช้จ่ายการเป็นเจ้าภาพ รายได้จากการขายบัตรเข้าชมการแข่งขัน และรายได้จากการขายสื่อการถ่ายทอด

จากโมเดลธุรกิจฟุตบอลโลก ในแง่รายได้ ประเทศเจ้าภาพแทบไม่ได้อะไรมาก แต่ฝ่ายที่ชนะคือ FIFA จุดนี้ทำให้กลับมาที่คำถามและคำตอบเดิม อะไรคือเหตุผลการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ซึ่งก็คือการที่ประเทศเจ้าภาพ ได้ประโยชน์ในวงกว้าง ทางเศรษฐกิจ สังคม และภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ ในสายตาชาวโลก

ในอนาคตข้างหน้า ในแง่มุมทางการเงิน ฟุตบอลโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอีก ฟุตบอลโลก 2026 มีรูปตราเครื่องหมายการค้าว่า “United 2026” เพราะมี 3 ประเทศเป็นเจ้าภาพร่วมกัน คือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก เป็นครั้งแรกที่ฟุตบอลโลกมีเจ้าภาพจาก 3 ประเทศ โดยแมตช์สำคัญและรอบชิงชนะเลิศ จะแข่งในสหรัฐฯ ส่วนแคนาดาและเม็กซิโก จะเป็นเจ้าภาพประเทศละ 10 แมตช์

The Business of the FIFA World Cup กล่าวว่า ไม่ว่าจะมีประเทศเจ้าภาพฟุตบอลโลกมากขึ้น FIFA ยังคงเป็นฝ่ายได้ประโยชน์มากสุดอยู่ดี การจัดขึ้นใน 3 ประเทศหมายความว่า จำนวนคนเข้าดูฟุตบอลจะมีมากขึ้น รายได้จากการขายบัตรเข้าชมก็สูงขึ้นด้วย มีข่าวออกมาว่า สหราชอาณาจักร ที่ประกอบด้วยอังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ กับไอร์แลนด์เหนือ และสาธารณรัฐไอร์แลนด์ อาจเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกร่วมกันสำหรับปี 2030

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/2022_FIFA_World_Cup#/media/File

กาตาร์กับฟุตบอลโลก 2022

แต่การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 ถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของกาตาร์ ดินแดนที่เคยอยู่ในอาณัติการคุ้มครองของอังกฤษ เพิ่งได้เอกราชเมื่อ 3 กันยายน 1971 คนทั่วโลกเพิ่งมารู้จักประเทศนี้เมื่อปี 1995 เมื่อชีคฮามัด เบน คาลิฟา (Sheikh Hamad Ben Khalifa) ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองแคว้น ความมั่งคั่งจากแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติใหญ่อันดับ 3 ของโลก ทำให้กาตาร์สามารถลงทุนมหาศาลในโครงการเรียกว่า Qatar National Vision 2030

นับจากต้นศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา กาตาร์เปลี่ยนแปลงไปแบบก้าวกระโดด มีบทบาทเจรจาแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ สร้างเครือข่ายสื่อโทรทัศน์ Al Jazeera จนกลายเป็นศูนย์กลางสื่อของโลกอาหรับ การจัดการแข่งขันกีฬานานาชาติ กลายเป็นเสาหลักสำคัญของการพัฒนาประเทศ การเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชียนเกมปี 2006 และฟุตบอลโลก 2022 การจัดกีฬานานาชาติ ให้ทั้งสร้างโอกาสและการท้าทาย โอกาสคือการลงทุนใหม่ๆ ส่วนการท้าทายคือไปขัดกับวัฒนธรรมพวกอนุรักษ์นิยม ที่มองว่าสังคมพัฒนาเร็วเกินไป

the mascot of the world cup 2022 ที่มาภาพ : https://www.aljazeera.com/gallery/2022/11/20/photos-fifa-world-cup-opens-in-qatar

แต่หนังสือ Inside Qatar (2022) ที่เพิ่งออกวางตลาดเขียนไว้ว่า หากจะพูดว่าอะไรคือความสำเร็จทางกีฬาครั้งสำคัญของกาตาร์ ไม่ใช่การจัดฟุตบอลโลก 2022 แต่คือเมื่อครั้งทีมฟุตบอลของกาตาร์ ชนะเลิศการแข่งขันฟุตบอล Asian Cup 2019 โดยชนะญี่ปุ่น 3-1 โค้ชที่นำทีมกาตาร์ชนะการแข่งขันให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า “หากตัดพวกที่วิ่งไม่ได้ออกไป พวกที่น้ำหนักเกิน และพวกที่ร่างกายไม่สมบูรณ์พอ จำนวนนักฟุตบอลในกาตาร์ทั้งหมดอาจมีแค่ 500 คน สิ่งนี้แหละคือความมหัศจรรย์”

Inside Qatar บอกว่า คนที่ไปเยือนกาตาร์แค่ 5 นาทีก็รู้ทันทีว่าประเทศนี้หลงใหลในฟุตบอล ทุกครั้งที่มีการแข่งขันของทีม Real Madid หรือ Barcelona คนกาตาร์แห่กันจะไปดูเกมที่ร้านกาแฟ กองทุน Qatar Sport Investments ซื้อสโมสรฟุตบอลฝรั่งเศส Paris Saint-Germain ในรอบ 10 ปี คนกาตาร์จำนวนมากไปชมฟุตบอล Premier League มากครั้งกว่าคนอังกฤษเอง

เพราะฉะนั้น เป็นข่าว Fake News ที่จะบอกว่าฟุตบอลโลก 2022 ไปจัดในประเทศ ที่ไม่รู้จัก “เกมสวยงาม” ของฟุตบอล

แต่ก็เป็นความจริง ที่กิจกรรมฟุตบอลในประเทศของกาตาร์ยังมีข้อจำกัด สโมสรฟุตบอลอาชีพมีไม่กี่แห่ง แต่นักฟุตบอลมีชื่อของโลก เมื่อเกษียณแล้ว นิยมไปเป็นโค้ชฟุตบอลในกาตาร์ แม้จะลงทุนไปมากมายด้านฟุตบอล หากมีคนเข้าไปดูการแข่งขันฟุตบอลลีกของกาตาร์แค่ 1 พันคน ก็ถือว่ามากแล้ว

เนื่องจากคนท้องถิ่นไม่นิยมเล่นฟุตบอล อากาศร้อนเป็นเหตุผลหนึ่ง อีกเหตุผลหนึ่งคือคนอยู่ในกาตาร์มุ่งหน้าทำงานหาเงิน ฟุตบอลทีมชาติของกาตาร์จึงมีผู้เล่นต่างชาติอยู่หลายคน ทางการกาตาร์จะให้สัญชาติแก่นักฟุตบอลเหล่านี้ โค้ชชาวต่างชาติคนหนึ่งให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องธรรมดาหากกรณีนี้เกิดขึ้นในสเปน นักฟุตบอลเหล่านี้ก็จะกลายเป็นคนสเปน

แต่ความสำเร็จของทีมฟุตบอลกาตาร์ ที่ชนะเลิศ Asian Cup 2019 ก็เป็นผลงานของสถาบันการกีฬาของกาตาร์ชื่อ Aspire Academy ที่มีเป้าหมายผลิตนักกีฬาของกาตาร์ให้มีฝีมือระดับโลก เมื่อกาตาร์ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก เป้าหมายของ Aspire Academy อยู่ที่ว่า ทุกครั้งที่ทีมฟุตบอลกาตาร์ลงแข่งในฟุตบอลโลก 2022 จะต้องไม่ทำให้เสียชื่อ

Aspire Academy เป็นเครื่องมือทางกลยุทธ์อย่างหนึ่งของกาตาร์ ที่จะทำให้กาตาร์มีชื่อเสียงด้านกีฬาไปทั่วโลก นอกเหนือจากการจัดงานแข่งขันกีฬาต่างๆ ที่สำคัญของโลก กาตาร์ยังเป็นผู้สนับสนุนทีมฟุตบอลยุโรปผ่านทางสายการบิน Qatar Airways เช่น สโมสร AS Roma, Bayern Munich และ Barcelona สถานีถ่ายทอดกีฬาของกาตาร์ beIN Sports กลายเป็นผู้ได้สิทธิ์การถ่ายทอดกีฬาสำคัญของโลก

ทีมฟุตบอลกาตาร์ชนะเลิศ Asian Cup 2019 ที่มาภาพจ : wikipedia.org

เมื่อทีมฟุตบอลกาตาร์ชนะทีมญี่ปุ่นใน Asian Cup 2019 ถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์ ญี่ปุ่นสามารถคัดเลือกนักฟุตบอลจากประชากร 126 ล้านคน ขณะที่กาตาร์มีคนลงทะเบียนเป็นนักฟุตบอลไม่กี่พันคน ผู้บริหารของ Aspire Academy กล่าวไว้ในหนังสือ Inside Qatar ว่า “เหมือนกับทีม Leicester จิ้งจอกสยาม ชนะการแข่งขัน Premier League 2016 ด้วยนักฟุตบอลท้องถิ่น” ทั้งๆ ที่เป็นรองในวงการพนันมากถึง 5,000:1

เอกสารประกอบ

The Business of the FIFA World Cup, Edited by Simon Chadwick & Others, Routledge, 2022.
Inside Qatar, John McManus, Icon Books Ltd, 2022.