ThaiPublica > Native Ad > KBank Private Banking ยกระดับบริการ “สำนักงานครอบครัว” สู่ผู้ช่วยดำเนินการกิจธุระด้านกฎหมาย ตอบทุกโจทย์ความต้องการด้านทรัพย์สินครอบครัว

KBank Private Banking ยกระดับบริการ “สำนักงานครอบครัว” สู่ผู้ช่วยดำเนินการกิจธุระด้านกฎหมาย ตอบทุกโจทย์ความต้องการด้านทรัพย์สินครอบครัว

29 พฤศจิกายน 2022


“KBank Private Banking” ถือเป็นไพรเวตแบงก์รายแรกในไทยที่ได้ให้บริการบริหารทรัพย์สินครอบครัว หรือ Family Wealth Planning เป็นเวลากว่า 5 ปีนับตั้งแต่ปี 2560 ปัจจุบัน KBank Private Banking ส่งมอบบริการให้ลูกค้าประมาณ 790 ครอบครัว หรือประมาณ 4,000 ราย ครอบคลุมทรัพย์สินครอบครัว ทั้งธุรกิจและที่ดินรวมมูลค่ากว่า 1.8 แสนล้านบาท ครอบคลุมลูกค้า 36% ของพอร์ตลูกค้าทั้งหมด เป็นบริการที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น 10% จากปี 2564

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การเติบโตของบริการ Family Wealth Planning มาจากการให้บริการที่ตรงต่อความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะ 3 เรื่องสำคัญของทรัพย์สินครอบครัว คือ (1) เก็บรักษา (2) สร้างความเติบโต และ (3) ส่งต่อให้ลูกหลาน

แม้การให้บริการ Family Wealth Planning ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ วางแผน และดำเนินงานตามแผน ซึ่งจะช่วยให้ครอบครัวลูกค้าสามารถส่งต่อความมั่งคั่งทั้งทรัพย์สินและธุรกิจครอบครัวให้สมาชิกรุ่นต่อไปได้ แต่ก็มีหลายปัจจัยที่อาจจะมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการทรัพย์สินของครอบครัว ทั้งปัจจัยกระแสโลก วิกฤติเงินเฟ้อ ภาวะเศรษฐกิจ ความผันผวนของตลาดทุน กฎเกณฑ์ใหม่ของหลายประเทศ

ตลอดจนนโยบายการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่าง สรรพากรไทยและรัฐบาลสหรัฐฯ (FATCA) รวมถึงรัฐบาลชาติอื่นๆ ภายใต้ ความตกลง Common Reporting Standard หรือ CRS ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2566

ขณะเดียวกัน การส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมีความซับซ้อนมากขึ้น จากเดิมที่เป็นการส่งต่อจากรุ่นที่ 1 ไปรุ่นที่ 2 ปัจจุบันเป็นการส่งต่อจากรุ่นที่ 2 ไปรุ่นที่ 3 หรือจากรุ่นที่ 3 ไปรุ่นที่ 4 ซึ่งจำนวนสมาชิกของครอบครัวมีจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้การส่งต่อทรัพย์สินมีขั้นตอนและรายละเอียดที่มากขึ้นไปด้วย และจากผลสำรวจโดย Lombard Odier พบว่า กว่า 52% ของเจ้าของธุรกิจครอบครัวไทย เริ่มกลับมาพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับการวางแผนสินทรัพย์ของครอบครัว แต่มีเพียง 37% เท่านั้นที่เริ่มลงมือวางแผนแล้ว

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย

ปัจจัยทั้งหมดคือ ‘โอกาส’ ที่ KBank Private Banking มองว่าจะสามารถสร้างการเติบโตได้ในระยะยาว และตั้งเป้าว่าในปี 2566 จะสามารถให้บริการบริหารทรัพย์สินครอบครัวให้ครอบคลุม 40% ของลูกค้าทั้งหมด ด้วยการขยายขอบเขตบริการจาก “บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว” (Family Wealth Planning Service) ให้ครอบคลุมถึง “ผู้ช่วยดำเนินการกิจธุระของครอบครัว” (Family Office) ประกอบด้วยบริการ 6 ด้าน ได้แก่ (1) งานจดทะเบียนที่ดิน (2) งานเอกสารกฎหมาย (3) งานจดทะเบียนบริษัท (4) งานติดตามทวงถามหนี้ (5) งานติดตามทรัพย์ (6) บริการจัดเก็บเอกสารสำคัญ

“ถ้าธุรกิจครอบครัวปราศจากการวางแผน ส่วนใหญ่จะล้มหายไปในรุ่นที่ 3 บางคนมองว่าเป็นบริการเพื่อเศรษฐี แต่เราต้องไม่ลืมว่าครอบครัวใหญ่เหล่านี้เป็นเจ้าของธุรกิจ เป็นเสาหลักของเศรษฐกิจไทยที่จ้างงานมหาศาล เราคงไม่อยากเห็นธุรกิจของไทยล้มหายหรือพังลงหลังผ่านไปแล้ว 3 เจเนอเรชัน เราอยากเห็นประเทศเรามีแบรนด์ดังๆอีกร้อยปี ถ้าไม่วางแผนแล้วธุรกิจเหล่านี้ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ก็จะกระทบเศรษฐกิจ” นายจิรวัฒน์ กล่าว

นายจิรวัฒน์ เสริมว่า “บางบ้านเราจะแนะนำเลยว่า คุณควรมีข้อตกลงในครอบครัว เช่น จัดกติกาว่า บริษัทโฮลดิงนี้คือทรัพย์สินครอบครัว เงื่อนไขข้อแรกคือ สมาชิกในบ้านห้ามขายหุ้นให้คนข้างนอก สิ่งที่ตามมาคือหลายบ้านที่มีโฮลดิงอยู่แล้วอาจต้องไปแก้ไขข้อบังคับในบริษัทว่าต่อไปนี้ บริษัทกำหนดว่าห้ามให้ผู้ถือหุ้นขายหุ้นให้บุคคลอื่น บางบ้านยังมีรายละเอียดเวลาสมาชิกขายหุ้น วิธีการคำนวณเรื่องราคา เพื่อป้องกันไม่ให้พี่น้องทะเลาะกัน”

KBank Private Banking ได้ร่วมกับพันธมิตรอย่าง บริษัท ทองเอก แอนด์ ทราทิต จำกัด สำนักงานกฎหมายที่ช่วยให้คำปรึกษาและบริหารจัดการประเด็นทางกฎหมายให้กับลูกค้า ในขณะเดียวกันก็มีพันธมิตรระดับโลกอย่าง Lombard Odier ช่วยตอบสนองความต้องการของลูกค้าคนสำคัญ ด้วยประสบการณ์และองค์ความรู้ระดับโลกที่ Lombard Odier เองก็เป็นธุรกิจครอบครัวที่ส่งต่อมาแล้ว 7 เจเนอเรชัน ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 225 ปี

นายพีระพัฒน์ เหรียญประยูร Managing Director, Wealth Planning and Non Capital Market Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย

นายพีระพัฒน์ เหรียญประยูร Managing Director, Wealth Planning and Non Capital Market Head, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า KBank Private Banking ได้ยกระดับบริการสำนักงานครอบครัว หรือ Family Office จากเดิมที่จะให้คำแนะนำในการจัดตั้งและดำเนินการสำนักงานครอบครัว สำหรับลูกค้าที่ต้องการมีสำนักงานครอบครัวของตนเอง โดยภายหลังทางธนาคารได้เล็งเห็นความต้องการผู้ช่วยในการดำเนินการจัดการกิจธุระของครอบครัวเพิ่มขึ้น เนื่องด้วยการจัดตั้งสำนักงานครอบครัวนั้นมีค่าใช้จ่ายสูง ไม่เหมาะกับลูกค้าที่มีครอบครัวขนาดเล็ก หรือลูกค้าที่มีเรื่องต้องจัดการทรัพย์สินครอบครัวเป็นครั้งคราว จึงได้ขยายขอบเขตในการให้บริการ ยกระดับสู่การเป็นผู้ช่วยในการดำเนินการเรื่องต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เช่น การดูแลทรัพย์สินของครอบครัวหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ที่ดิน เงินกงสี การจัดเก็บเอกสาร การจัดประชุมตามธรรมนูญครอบครัว การจัดการ และจ่ายสวัสดิการของครอบครัว เป็นต้น

“ความเชื่อมั่นเป็นสิ่งสำคัญ เรามีการตรวจทานและตรวจสอบร่วมกันระหว่างสำนักงานกฎหมาย ลูกค้าจะมั่นใจได้ว่าเราใช้สำนักงานที่เป็นมาตรฐานสากล” นายพีระพัฒน์กล่าว

โดย “สำนักงานครอบครัว” (family office) มีจุดเด่น 3 ด้านคือ (1) การจัดการแบบองค์รวม ด้วยบริการ ที่ครบวงจร ทำให้ลูกค้าเข้าใจภาพรวมของแผนงานทั้งหมด (2) ความสะดวกและความต่อเนื่อง เพราะลูกค้าสามารถใช้บริการสำนักงานครอบครัวดำเนินการตามแผนได้ทันที ทำให้การจัดการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และ (3) ความเชื่อมั่น ด้วยความร่วมมือจากสำนักงานกฎหมายแนวหน้าของประเทศ จึงมั่นใจได้ว่าบริการที่ลูกค้าจะได้รับนั้นมีมาตรฐานเดียวกับสำนักงานกฎหมายและสถาบันการเงินชั้นนำ

“เศรษฐีไทยไม่ได้มีแค่ทรัพย์สินในประเทศ ครอบครัวที่ KBank Private Banking ดูแล มีทรัพย์สินในต่างประเทศและทรัพย์สินที่หลากหลาย ฉะนั้น ความต้องการเรื่องการวางแผนภาษีจะเริ่มจากการจัดการองค์รวมทั้งในและต่างประเทศ”นายพีระพัฒน์กล่าว

ทั้งนี้ KBank Private Banking ยังสานต่อ 5 บริการเพื่อส่งมอบบริการด้านบริหารจัดการทรัพย์สิน ครอบครัวได้อย่างครบทุกมิติ ดังนี้

(1) บริการ Family Continuity Planning หรือ บริการวางแผนความต่อเนื่องและกติกาของครอบครัว รวมถึงการทำ “ธรรมนูญครอบครัว” เพื่อช่วยวางกฎเกณฑ์และกติกา ให้ครอบครัวที่มีสมาชิกจำนวนมากหรือมีทรัพย์สินหรือธุรกิจครอบครัวที่ซับซ้อน อีกทั้งยังมีทีมช่วยไกล่เกลี่ยครอบครัวที่มีปัญหาก่อนจะเริ่มวางกติกาด้วย

(2) บริการ Financial Asset, Liability and Risk Management โดยเน้นการจัดการเรื่องความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นภาระภาษีที่ดินที่เพิ่มขึ้น รวมถึงบริการวางแผนบริหารความเสี่ยงของครอบครัว โดยเฉพาะด้านภาษี การรายงานข้อมูลทางภาษี กฎหมาย สัญชาติ การหย่าร้าง เป็นต้น โดยทีมงานจะใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น Land loan for investment, insurance products เป็นต้น

(3) บริการ Asset Holding Structures หรือบริการวางแผนโครงสร้างการถือครองทรัพย์สิน เช่น การจัดทรัพย์สินในรูปของบริษัทโฮลดิง การจัดโครงสร้างเพื่อรองรับการส่งต่อธุรกิจครอบครัว การจัดการ เงินกองกลางของครอบครัว รวมถึงการวางแผนภาษีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นหนึ่งในบริการที่ลูกค้าใช้มากที่สุด

(4) บริการ Inheritance and Wealth Transfer หรือบริการวางแผนการสืบทอดกิจการและทรัพย์สิน บริการที่ช่วยครอบครัวในการวางแผนการส่งต่อทรัพย์สิน และการส่งต่อกิจการ เพื่อลดความขัดแย้งในครอบครัว

(5) บริการ Philanthropy หรือบริการวางแผนการทำสาธารณกุศล บริการที่ช่วยให้คำแนะนำแก่ครอบครัวในการทำสาธารณกุศล รวมถึงลูกค้ากลุ่มองค์กรสาธารณกุศล ในการบริหารจัดการ และการใช้นวัตกรรมเพื่อให้การทำงานสาธารณกุศลเกิดความยั่งยืน