ThaiPublica > เกาะกระแส > ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อสู่ภาคชนบทรอบ 6 เดือนปี’65 กว่า 3.68 แสนล้านบาท

ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อสู่ภาคชนบทรอบ 6 เดือนปี’65 กว่า 3.68 แสนล้านบาท

1 พฤศจิกายน 2022


ธ.ก.ส.  โชว์ผลงานเติมทุนสู่ภาคชนบทในรอบครึ่งปี’65 ด้วยยอดสินเชื่อกว่า 3.68 แสนล้านบาท ยืนยันตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ ปรับโครงสร้างหนี้ ช่วยเกษตรกร วางเป้า 2 ไตรมาสสุดท้าย เดินหน้าแนวทางการผลิตสู่พืชเกษตรมูลค่าสูงโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ต่อยอดชุมชน และ ลุยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)เปิดเผยผลการดำเนินงานครึ่งปีบัญชี 2565 (1 เมษายน 2565 ถึง 30 กันยายน 2565) ว่า ธ.ก.ส.ได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคชนบทจำนวน 368,745 ล้านบาททำให้มียอดสินเชื่อสะสมคงเหลือ จำนวน 1,601,350 ล้านบาท เงินรับฝาก จำนวน 1,770,078 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวมจำนวน 2,121,282 ล้านบาท หนี้สินรวมจำนวน 1,974,906 ล้านบาท ส่วนของเจ้าของจำนวน 146,376 ล้านบาทมีรายได้รวม 42,654 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม จำนวน 41,266 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ จำนวน 1,388 ล้านบาท

อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) เท่ากับร้อยละ 0.13 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของเจ้าของ (ROE)เท่ากับร้อยละ 1.88 อัตราส่วนสภาพคล่องต่อเงินฝาก เท่ากับร้อยละ 12.98 อัตราสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ร้อยละ 12.5และอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ร้อยละ 12.55 สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด

พัฒนาศักยภาพเกษตรกร- ลดหนี้ครัวเรือน

ในช่วงที่ผ่านถือเป็นช่วงแห่งความยากลำบากของเกษตรกรและผู้ประกอบการทางการเกษตรจากภาระต้นทุนทางการผลิตที่เพิ่มสูง ทั้งค่าปุ๋ย พลังงาน แรงงาน และข้อจำกัดในการขนส่งสินค้าเกษตรส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้จัดทำมาตรการในการเข้าไปดูแลแบบครบวงจร ที่ครอบคลุมการตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงขาขึ้นออกไปให้นานที่สุด ทั้งอัตราดอกเบี้ยลูกค้าสถาบันชั้นดี (MLR)อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MOR) และอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR)เพื่อมิให้เป็นภาระต้นทุนกับลูกค้าในช่วงการฟื้นตัว

การจูงใจให้ลูกค้าชำระหนี้ผ่านโครงการชำระดีมีคืน Plus วงเงิน 3,000ล้านบาท ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธันวาคม 2565 การดูแลภาระหนี้สินเดิม เพื่อลดความกังวลใจในเรื่องหนี้ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ กำหนดชำระหนี้ใหม่ตามศักยภาพที่แท้จริงการไกล่เกลี่ยหนี้กรณีมีหนี้นอกระบบและมาตรการจ่ายดอกตัดต้น กรณีลูกค้าส่งชำระหนี้ธนาคารจะแบ่งภาระการตัดชำระหนี้ตามสัดส่วนต้นเงินและดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่มีหนี้เป็นภาระหนัก

นายธนารัตน์ กล่าวอีกว่า  การปรับโครงสร้างหนี้ ทำควบคู่การพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพ เช่น การให้ความรู้ด้าน Financial Literacy/Digital Literacyการร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐเอกชน สถาบันการศึกษา การฝึกปฏิบัติเพิ่มทักษะ ทั้งอาชีพเดิมอาชีพเสริม อาชีพใหม่ การปรับเปลี่ยนการผลิตไปปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง การลดต้นทุนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต การยกระดับมาตรฐานสินค้า เป็นต้นโดยคาดว่าจะช่วยลดภาระหนี้ครัวเรือนให้เกษตรกรและอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมลดลงอยู่ที่ร้อยละ 7 ในช่วงสิ้นปีบัญชี

นายธนารัตน์ กล่าวถึงเป้าหมายการดำเนินงานในช่วง 2 ไตรมาสสุดท้าย (1 ต.ค.65 – 31 มี.ค.66) ว่า ธ.ก.ส. ยังคงมุ่งเน้นการเข้าไปแก้ไขปัญหาและลดภาระหนี้ครัวเรือนให้กับเกษตรกร ผ่านมาตรการและโครงการที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง พร้อมนำจุดแข็งของเกษตรกรไทย ที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตอาหารที่ปลอดภัย ป้อนสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ การปลูกพืชพลังงาน การสนับสนุนพลังงานสะอาด การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ ด้วยการดึงหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่มีนโยบาย Zero waste มาสนับสนุนชุมชนให้ปลูกต้นไม้และมีรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต ทำให้ระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้  ธ.ก.ส  ยังทำหน้าที่เป็นกลไกสนับสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล โดยในเรื่องการประกันรายได้และจำนำข้าว อยู่ระหว่างการรอมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ดำเนินการ ส่วนเงินค้างจ่ายที่รัฐบาลค้าง และ ธกส.สำรองจ่ายไปในรอบ 3 ปี ตั้งแต่ ปี62/63  ปี64/65 และปี 65/66   รวมทั้งหมดจำนวนแสนล้านบาท โดยที่ผ่านรัฐบาลได้ทยอยจ่ายคืนตามกรอบข้อตกลงทุกปี

พร้อมหนุนสินเชื่อเพิ่มผลผลิตรับภาวะอาหารขาดทั่วโลก

ส่วนสถานการณ์ของภาคเกษตรกร ศูนย์วิจัยและพัฒนา ธ.ก.ส. คาดการณ์แนวโน้มของเศรษฐกิจการเกษตร ภายหลังภาครัฐเริ่มผ่อนคลายมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19และปรับสู่โรคท้องถิ่นว่า ทำให้เศรษฐกิจในประเทศเริ่มทยอยฟื้นตัว ทั้งด้านการเกษตรและการท่องเที่ยว ถือเป็นโอกาสของเกษตรกรในการจำหน่ายผลผลิตไปสู่ตลาดโลก ซึ่งคาดว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 2565 จะขยายตัวที่ 8% และเศรษฐกิจเกษตรตลอดทั้งปี 2565 จะขยายตัวได้ที่ 4.1%

โดยมีปัจจัยสนับสนุน 4 ประการ ได้แก่ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง แนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคายางพาราและราคาปาล์มน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น นโยบายรัฐบาลที่ช่วยเพิ่มรายได้เกษตรกรและรักษาเสถียรภาพด้านราคาสินค้าเกษตร และปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอต่อการผลิตสินค้าเกษตร ส่งผลให้ดัชนีรายได้ของเกษตรกรขยายตัวถึง 15.53% ตามดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่ขยายตัว 12.66% และดัชนีผลผลิตที่ขยายตัว 2.55%

อย่างไรก็ตามปรากฎการณ์ลานีญาในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดฝนตกชุกและอุทกภัยในหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายต่อสินค้าเกษตรและการเก็บเกี่ยวผลผลิต ปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัวลง แรงงานภาคการเกษตรที่โยกย้ายไปนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นและราคาปุ๋ยเคมีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้จีดีพีภาคเกษตรขยายตัวน้อยลงจากที่คาดการณ์ แต่มีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าเกษตรที่ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของประเทศคู่ค้าหลังโควิด-19 คลี่คลาย

อีกทั้งความต้องการสินค้าอาหารทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นจากภาวะสงคราม ธ.ก.ส. จึงพร้อมเข้าไปสนับสนุนและต่อยอดการผลิตและการแปรรูปทางการเกษตร ผ่านการเติมสินเชื่อใหม่ ภายใต้อัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน เพื่อเสริมสภาพคล่องในการใช้จ่ายและการลงทุน  เช่นสินเชี่อสานฝันสร้างอาชีพ สินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงิน   สินเชื่อ Green Credit  สินเชื่อ Contract Farming   สินเชื่อธุรกิจชุมชนชนสร้างไทย เป็นต้น