ThaiPublica > เกาะกระแส > ธ.ก.ส.ยุคหลังโควิด ยึด ‘Social Safety Net’ ดึงเกษตรกรรุ่นใหม่ร่วมขับเคลื่อน – สร้าง dual transformation

ธ.ก.ส.ยุคหลังโควิด ยึด ‘Social Safety Net’ ดึงเกษตรกรรุ่นใหม่ร่วมขับเคลื่อน – สร้าง dual transformation

21 มีนาคม 2021


นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

“ธนารัตน์ งามวลัยรัตน์” ผู้จัดการธ.ก.ส. ประกาศวิสัยทัศน์ครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 1 มีนาคม 2564 ย้ำหลักการ ‘Social Safety Net’ หนุนเกษตรกรและผู้ประกอบการรุ่นใหม่เข้ามาเสริมความเข้มแข็งและการเติบโตในภาคชนบท ดูแลด้านภาระหนี้สินเกษตรกร ผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ปรับองค์กรเข้าสู่ยุคดิจิทัล

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงนโยบายการขับเคลื่อนธ.ก.ส. โดยมุ่งไปสู่วิสัยทัศน์ “ธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน มุ่งสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชนบท” โดยเฉพาะการดึงศักยภาพของกลุ่มคนรุ่นใหม่ (New Gen /Smart Farmer / Entrepreneur) ให้เข้ามาทำงานในชนบท รวมถึงวางแผนช่วยเหลือเกษตรกรที่มีภาระหนักด้านหนี้สิน โดยกำหนดให้พนักงานสาขาเข้าไปพบลูกค้าทุกรายเพื่อตรวจสุขภาพหนี้และประเมินศักยภาพ (Loan Review) และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (Loan Management) ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูอาชีพให้กับลูกค้า เพื่อสร้างที่มาแห่งรายได้หรือเพิ่มเติมทุนใหม่ต่อไป

นายธนารัตน์กล่าวต่อว่า ธ.ก.ส.วางแผนจะนำระบบดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ภายในองค์กร โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ การนำดิจิทัลเข้ามาใช้กับกลุ่มลูกค้าเงินออม-เงินฝาก และการนำดิจิทัลเข้ามาใช้เพิ่มทักษะให้กับพนักงาน เพื่อให้พนักงานสามารถพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการผ่าน ‘สินเชื่อผู้ประกอบการ’ จากเดิมที่พนักงานส่วนใหญ่จะเข้าใจแต่ผลิตภัณฑ์สินเชื่อการเกษตรเป็นหลัก

“เราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการดำเนินงานของธนาคาร (Digital Workplace) นำ Fin Tech มาใช้เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ทันสมัย ช่วยลดต้นทุนและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เช่น การรับชำระเงินด้วย QR Code ผ่าน Alipay ผ่านแอปพลิเคชั่นร้านน้องหอมจัง หรือโครงการ ATM White Label ระบบเอทีเอ็มกลางที่รับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของทุกธนาคารช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างสะดวกและไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการใช้บริการตู้เอทีเอ็มระหว่างธนาคารหรือข้ามเขต”

“การสร้างเครือข่ายทางการเงิน (Banking Agent)ร่วมกับเคาน์เตอร์เซอร์วิส ไปรษณีย์ไทย ตู้บุญเติมและตู้เติมสบาย เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกในการทำธุรกรรมกับธ.ก.ส. มากยิ่งขึ้นรวมถึงการบริหารจัดการข้อมูล (Data Governance) เพื่อรองรับการดำเนินงานและสร้างโอกาสการแข่งขัน การเชื่อมโยงกับผู้ให้บริการอื่น (open API)”

นอกจากนี้ นายธนารัตน์มองว่า ปัญหาหลักของเกษตรกรไทยคือ ‘การตลาด’ เนื่องจากเกษตรกรมักจะไม่สามารถสร้างช่องทางการขายและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ในวงกว้าง ดังนั้นสิ่งที่ธ.ก.ส.จะเข้าไปช่วยเหลือในด้านการหาตลาดทั้งตลาดออฟไลน์ ไม่ว่าจะเป็นตลาดชุมชน หรือเปิดพื้นที่ให้เกษตรได้ขายของในสำนักงานใหญ่ธ.ก.ส. ณ บางเขน ถัดมาเป็นเรื่องการหาตลาดออนไลน์ โดยจะเป็นตัวกลางเชื่อมโยงเกษตรกรเข้ากับแพลตฟอร์ม Social Commerce และส่งเสริมระบบการตรวจสอบย้อนกลับในสินค้าเกษตรอินทรีย์

“ปัจจุบันเราได้เชื่อมให้เกษตรกร 150 รายสามารถขายสินค้าบนออนไลน์ได้แล้ว อย่างไรก็ตามในด้านธนาคารเรามองว่าลูกค้าบางคนยังต้องการมาพบปะพนักงานที่สาขา เราพยายามปรับตัวเข้าหากลุ่มลูกค้าที่ใช้งานแบบดิจิทัลมากขึ้น แม้ว่าสัดส่วนคนใช้ดิจิทัลแบงก์กิ้งสำหรับธ.ก.ส.จะยังไม่เยอะ เพราะกลุ่มลูกค้าของเรายังไม่ได้เข้าถึงดิจิทัลมากนัก แต่ผมตั้งเป้าว่าเราจะสามารถทำ dual transformation ให้เห็นภาพชัดเจนภายใน 6 เดือนหลังจากนี้”

ด้านการขับเคลื่อนงานพัฒนาชนบท ธ.ก.ส.จะสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน (Community Engagement) ให้สามารถพึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจ เน้นดูแลรักษาสุขภาพในครัวเรือนและชุมชน การรวมกลุ่มวิเคราะห์ปัญหา สร้างทางเลือกและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด และใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับชุมชน โดยเน้นความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน

มิติสังคมและสิ่งแวดล้อม นายธนารัตน์กล่าวว่า ธ.ก.ส.จะส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร และส่งเสริมกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกให้กับชุมชนธนาคารต้นไม้ของ ธ.ก.ส. รวมถึงสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เข้าไปสร้างองค์ความรู้ เพื่อต่อยอดผลผลิต สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้ โครงการที่ดำเนินการถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net)ที่จะเข้าไปดูแลและสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกรและชุมชนมีความเข้มแข็งและเติบโตอย่างมีคุณภาพ


ส่วนผลการดำเนินงานในปี 2563 ธ.ก.ส. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือประคับประคองให้ลูกค้าก้าวข้ามวิกฤติไปด้วยกัน เช่น การพักหนี้ทั้งระบบ จำนวน 3.25 ล้านราย ต้นเงินประมาณ 1.07 ล้านล้านบาท การเติมวงเงินสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และเสริมสภาพคล่อง เช่น เงินกู้ฉุกเฉิน ที่ไม่ต้องใช้หลักประกันวงเงิน 20,000 ล้านบาท สินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ สินเชื่อเพื่อฤดูการผลิตใหม่ วงเงินรวม 170,000 ล้านบาท จัดทำโครงการชำระดีมีคืนและโครงการลดภาระ ซึ่งทั้ง 2 โครงการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องดอกเบี้ย โดยสามารถคืนเงินเข้าสู่กระเป๋าเกษตรกร กว่า 1.6 ล้านราย วงเงินกว่า 3,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการส่งมอบเงินและความช่วยเหลือไปยังเกษตรกรและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 เช่น การจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร 5,000 บาทเป็นระยะเวลา 3 เดือน การจ่ายเงินตามโครงการประกันรายได้ 5 พืชเศรษฐกิจหลัก เป็นต้น

จากสถานการณ์ข้างต้น ส่งต่อผลการดำเนินงานในปีบัญชี 2563 ของ ธ.ก.ส. ซึ่งจะครบปีในวันที่ 31 มีนาคม 2564 ซึ่งข้อมูลคาดการณ์เบื้องต้น ธ.ก.ส. จะมีสินทรัพย์จำนวน 2,039,144 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 4.10 เงินให้สินเชื่อจำนวน 1,572,376 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.90 หนี้สินจำนวน 1,892,612 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.94 เงินรับฝาก 1,730,272 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 3.41 ส่วนของเจ้าของ 146,532 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 6.19 โดยมีรายได้จำนวน 103,171 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายจำนวน 95,987 ล้านบาท กำไรสุทธิจำนวน 7,184 ล้านบาท อัตราส่วน ROA ร้อยละ 0.36 NIM ร้อยละ 3.09 Cost to income 32.25 BIS ratio 11.99 และ NPLs/Loan ratio 3.57 ทั้งนี้ ในปีบัญชี 2564 (1 เมษายน 2564 – 31 มีนาคม 2565) วางเป้าหมายสินเชื่อเติบโตเพิ่มขึ้น 69,000 ล้านบาท เงินฝากเติบโตเพิ่มขึ้น 25,000 ล้านบาท