จากกรณีเหตุการณ์การกราดยิงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สถาบันวิจัยประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล ออกจดหมายเปิดผนึกจาก ‘หัวใจชาวสถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิด’ ว่า ในฐานะที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่ทางวิชาการในการสนับสนุนการเติบโตของเด็ก เยาวชน และการดำเนินชีวิตของสถาบันครอบครัวชาวสถาบันฯ รู้สึกเศร้าสลดและสะเทือนใจต่อเหตุการณ์สูญเสียที่เกิดขึ้นที่หนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา
นับตั้งแต่ปี 2515 เป็นต้นมา ประเทศไทยของเรามีอัตราการเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง และเมื่อปี 2564 เป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีจำนวนการเกิดน้อยกว่าการตายเป็นครั้งแรก การดูแลและทะนุถนอมเด็กที่เกิดทุกคนคือการรักษาความมั่นคง ความยั่งยืนและคุณภาพของสังคมในอนาคต
ในระยะเวลา 4 ปี ที่ผ่านมา นับตั้งแต่พ.ศ.2560 จนถึง 2563 เด็กไทยอายุ 0-4, 5-9, 10-14 ปี เสียชีวิตไปแล้ว 19,304 คน, 4,454 คน และ 6,766 คน ตามลำดับ เฉลี่ยปีละ 7,631 คน
ในกลุ่มเด็กอายุ 0-4 ปี เสียชีวิตจากสาเหตุภายนอกที่ไม่ได้เกิดจากการเจ็บป่วย ซึ่งหมายรวมถึงอุบัติเหตุและการถูกทำให้เสียชีวิตจำนวน 2,203คน (มากกว่า 1 ใน 10 ของการตายในเด็กอายุ 0-4 ปี ทั้งหมด) และในเด็กอายุ 5-14 ปี เสียชีวิต 5,612 คน (เกือบครึ่งหนึ่ง ของการตายในเด็กอายุ 5-14 ปีทั้งหมด) ทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยคิดว่าสังคมไทยปลอดภัยและเกื้อกูลเพียงใดสำหรับการมีลูกและสร้างครอบครัว สังคมไทยเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยเกินไปหรือไม่สำหรับเด็กที่จะเติบโตขึ้นมาเพื่อดูแลประเทศชาติต่อไปในอนาคต
ถึงเวลาแล้ว ที่ทุกภาคส่วนของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ต้องให้ความสำคัญสูงสุดต่อความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนทั้งในระดับนโยบายของชาติ และในหัวใจของพวกเราทุกคน มาร่วมมือกันอย่างจริงจังในการทำหน้าที่ดูแลทุกย่างก้าวน้อยๆ ของเด็กและเยาวชนของเรา ให้ได้รับความปลอดภัยสูงสุด ทั้งพื้นที่ภายในบ้าน และนอกบ้าน เพื่อให้พวกเขาเติบโตอย่างมีคุณภาพต่อไป