ThaiPublica > คนในข่าว > เบน เบอร์นันเก อดีตประธานเฟด คว้ารางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์

เบน เบอร์นันเก อดีตประธานเฟด คว้ารางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์

11 ตุลาคม 2022


ที่มาภาพ: https://www.brookings.edu/

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ราชบัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน Royal Swedish Academy of Sciencesได้มอบรางวัล Sveriges Riksbank Prize in Economic Sciences 2022 หรือรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2565 ให้กับเบน เบอร์นันเก ร่วมกับดักลาส ไดมอนด์ และ ฟิลิป ดิบวิก จากผลงานวิจัยเกี่ยวกับธนาคารและวิกฤตการณ์ทางการเงิน

รางวัลก่อตั้งขึ้นโดย อัลเฟรด โนเบล นักธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ ชาวสวีเดน

เบอร์นันเก ดำรงตำแหน่งประธานของธนาคารกลางสหรัฐ(Federal Reserve) ตั้งแต่ปี 2006 ถึง 2014 และปัจจุบันประจำที่สถาบัน Brookings ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ส่วนไดมอนด์เป็นศาสตราจารย์ที่ Booth School of Business แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก และ ดิบวิก เป็นศาสตราจารย์ที่ Olin Business School ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตันในเมืองเซนต์ หลุยส์

คณะกรรมการโนเบลกล่าวว่า งานของพวกเขาในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ได้ “ทำให้เรามีความเข้าใจดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับบทบาทของธนาคารในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติทางการเงิน” และแสดงให้เห็นว่าการหลีกเลี่ยงการล่มสลายของธนาคารจึงมีความสำคัญ

และเป็นรากฐานงานวิจัยด้านการธนาคารในสมัยใหม่ที่ชี้ว่า ทำไมเราต้องมีธนาคาร รวมทั้งแนวทางการทำให้ธนาคารเสี่ยงน้อยลงในภาวะวิกฤติ ตลอดจนการล่มสลายของธนาคารซ้ำเติมวิกฤตการณ์ทางการเงินให้รุนแรงขึ้น

ทอร์ เอลลิงเสน ประธานคณะกรรมการรางวัลสาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า “ข้อมูลเชิงลึกของผู้ได้รับรางวัลได้ยกระดับความสามารถของเราในการหลีกเลี่ยงทั้งวิกฤติร้ายแรงและการช่วยเหลือที่มีราคาแพง”

เบอร์นันเก วิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษที่ 1930 ซึ่งเป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ และยังแสดงให้เห็นว่าการดำเนินการของธนาคารเป็นปัจจัยชี้ขาดในวิกฤติให้เป็นวิกฤติที่ลึกและยืดเยื้อได้อย่างไร เมื่อธนาคารล่มสลาย ข้อมูลเกี่ยวกับผู้กู้ที่มีค่าก็สูญหายไปและไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ความสามารถของสังคมในช่องทางการออมเพื่อการลงทุนที่มีประสิทธิผลจึงลดลงอย่างมาก

เพื่อให้เศรษฐกิจทำงานได้ต้องมีช่องทางในการออมเพื่อการลงทุน อย่างไรก็ตามก็มีความขัดแย้งเกิดขึ้น คือ ผู้ออมต้องการเข้าถึงเงินของพวกเขาทันทีในกรณีที่มีการใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด ในขณะที่ธุรกิจและผู้ซื้อบ้านก็ต้องรู้ว่าจะไม่ถูกบังคับให้ชำระคืนเงินกู้ก่อนกำหนด

ในทฤษฎีของไดมอนด์และดิบวิก แสดงให้เห็นว่าธนาคารเสนอวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับปัญหานี้ได้อย่างไร ด้วยการทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรับเงินฝากจากผู้ออมหลายราย ธนาคารสามารถเปิดให้ผู้ฝากเข้าถึงเงินของตนได้เมื่อต้องการ ในขณะเดียวกันก็ให้เงินกู้ระยะยาวแก่ผู้กู้ด้วย

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ของพวกเขายังแสดงให้เห็นว่า การรวมกิจกรรมทั้งสองนี้เข้าด้วยกันทำให้ธนาคารเสี่ยงต่อข่าวลือเกี่ยวกับการล่มสลายที่ใกล้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากผู้ออมจำนวนมากแห่ไปที่ธนาคารเพื่อถอนเงินพร้อมๆ กัน ข่าวลืออาจกลายเป็นจริง คือ มีการแห่ถอนเงินจากธนาคารและธนาคารล่มสลาย สถานการณ์ที่น่าตระหนกเหล่านี้สามารถป้องกันได้โดยรัฐบาลให้การประกันเงินฝากและทำหน้าที่เป็นผู้ให้กู้ยืมแหล่งสุดท้าย(lender of last resort)ให้กับธนาคาร

ไดมอนด์ได้แสดงให้เห็นว่า ธนาคารทำหน้าที่สำคัญทางสังคมอย่างไร ในฐานะที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ออมและผู้กู้จำนวนมาก ธนาคารจึงเหมาะสมกว่าที่จะประเมินความน่าเชื่อถือของผู้กู้และดูแลให้เงินกู้ถูกใช้เพื่อการลงทุนที่ดี

เบน เบอร์นันเกเกิดในปี 1953 ที่เมือง ออกัสตา จอร์เจีย สหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology:MIT)ในปี 1979 หลังจากศึกษาที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ปัจจุบันเป็น Distinguished Senior Fellow ด้านเศรษฐศาสตร์ แห่ง Brookings Institution ในกรุงวอชิงตัน

ดักลาส ดับเบิ้ลยู ไดมอนด์ เกิดในปี 1953 สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเยลในปี 1980 ผ่านการศึกษาจากมหาวิทยาลัย นิวเฮเวน(University of New Haven) รัฐคอนเนตติคัต มีตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ที่ Booth School of Business มหาวิทยาลัยชิคาโก รัฐอิลลินอยส์

ฟิลิป ดิบวิก เกิดในปี 1955 สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเยลในปี 1979 และจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย นิวเฮเวนเช่นกัน เป็นศาสตราจารย์ แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในเซนต์หลุยส์

ทั้งสามคนได้รับเงินรางวัลทั้งหมด 10 ล้านโครนซึ่งจะแบ่งในจำนวนเท่าๆกัน

ประธานเฟดแห่งนโยบายการเงินครั้งประวัติศาสตร์ดอกเบี้ย 0%

เว็บไซต์Brookings Institution มีข้อมูลว่า เบน เบอร์นันเก เข้ามารับหน้าที่ Distinguished Fellow ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2014 หลังเพิ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มา 8 ปี

Brookings Institution ให้ข้อมูลว่า เบอร์นันเกสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานเฟดเมื่อต้นปี 2006 โดยไม่ทราบว่า รากฐานของเศรษฐกิจและระบบการเงินของสหรัฐฯ กำลังเกิดรอยร้าว

สองปีต่อมา เบอร์นันเกได้ผู้นำกู้วิกฤติการเงินที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 75 ปี โดยยึดหลัก Whatever it takes ทำทุกวิถีทาง ซึ่งเกลน ฮัทชินส์ รองประธานบอร์ดบริหารของ Brookings กล่าวในงานเปิดตัว Hutchins Center ว่า “แม้ว่าจะมีการลดหนี้ก้อนใหญ่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่เรายังคงเป็นหนี้เบน เบอนันเกมหาศาล”

ในช่วงที่ทำหน้าประธานเฟด เบอร์นันเกมีบทบาทสำคัญในการจัดการแก้ไขวิกฤติ และเป็นช่วงที่เฟดริเริ่มนโยบายการเงินครั้งประวัติศาสตร์ ด้วยการใช้มาตรการ QE อัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบ ใช้อัตราดอกเบี้ยเป็นศูนย์ และซื้อพันธบัตรมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นแนวทางที่มีการถกเถียงแต่ก็มุ่งฟื้นฟูการเติบโตให้กับเศรษฐกิจอเมริกัน

นอกจากนี้เบอร์นันเก ยกระดับการสื่อสารกับสาธารณะถึงมุมมองและความตั้งใจของธนาคารกลาง ซึ่งแนวทางนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งในมาตรฐานของคู่มือเฟดในการดูแลเสถียรภาพตลาดและกระตุ้นเศรษฐกิจ

ที่มาภาพ: https://www.kva.se/en/event/announcement-of-the-sveriges-riksbank-prize-in-economic-sciences-in-memory-of-alfred-nobel-2022-2/

ในการแถลงข่าวหลังการประกาศรายชื่อ ดักลาส ไดมอนด์ถูกถามว่าเขามีคำเตือนไปยังธนาคาร สถาบัน และรัฐบาลหรือไม่ จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในปัจจุบัน และการคาดการณ์การชะลอตัวของเศรษฐกิจ

ไดมอนด์กล่าวว่า “วิกฤตการณ์ทางการเงิน ในแบบที่ฟิล ดิบวิกกับผมมอง จะยิ่งแย่ลงไปอีกเมื่อคนเริ่มหมดความเชื่อมั่นในเสถียรภาพของระบบ และนั่นคือทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการพวกเขาคิดว่าภาคการธนาคารจะทำกำไรได้อย่างไร นอกเหนือจากเสถียรภาพแล้ว”

“ดังนั้นในช่วงเวลาที่สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด อย่างที่ผมคิดว่า คนแปลกใจที่อัตราดอกเบี้ยได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก นั่นอาจเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความกลัวบางอย่างในระบบ เราได้เห็นแล้วในสหราชอาณาจักรในภาคส่วนที่ขับเคลื่อนด้วยหนี้ของตลาดประกันภัย”

“ดังนั้น ผมว่า คำแนะนำที่ดีที่สุดคือการเตรียมพร้อมสำหรับการทำให้มั่นใจว่าในภาคการธนาคารมีการรับรู้ว่ามีฐานะที่ดีและมีสถานะที่ดี และสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในนโยบายการเงินที่วัดผลได้และโปร่งใส”

เมื่อถูกถามว่าเขาคาดการณ์ว่าจะเกิดวิกฤติทางการเงินอีกครั้งหรือไม่ ไดมอนด์กล่าวว่า โลก “มีการเตรียมพร้อมที่ดีกว่ามาก” มากกว่าในปี 2008 และการปรับปรุงด้านกฎระเบียบทำให้ระบบมีความเสี่ยงน้อยลง

“ภาคการธนาคารนั้นอยู่ในสภาพที่แข็งแกร่งมาก มีมูลค่าฐานะสุทธิที่ดี การบริหารความเสี่ยงที่ดี” ไดมอนด์กล่าว “ปัญหาคือความเปราะบางของความกลัวว่าจะมีการแห่ถอน การหลุดพ้นจากภาวะปกติ และวิกฤตการณ์สามารถมีได้ทุกที่ ไม่ใช่แค่ธนาคารพาณิชย์”

ข้อมูลเชิงลึกที่เขาและดิปวิกพยายามสื่อคือ สิ่งสำคัญคือต้องสามารถออกหนี้สินระยะสั้นที่มีสภาพคล่อง เช่น เงินฝากหรือหุ้น ซึ่งมีสภาพคล่องมากกว่าสินทรัพย์อ้างอิง

ไดมอนด์ระบุถึงภาคประกันภัยในสหราชอาณาจักรอีกครั้ง เมื่อพูดถึง “mismatch” (การกู้หนี้ระยะสั้นมาปล่อยกู้หนี้ระยะยาวหรือลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องต่ำ ) เกิดขึ้นเมื่อมีการเรียกหลักประกันเพิ่มเติมจากบริษัทประกันภัย ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษถูกบีบให้เข้าไปแทรกแซงเพื่อลดความผันผวนในตลาดและปกป้องกองทุนบำเหน็จบำนาญภายหลังการจัดทำงบประมาณของรัฐบาล

สำหรับความล้มเหลวของเฟดและกระทรวงคลังที่ไม่สามารถป้องกันไมให้เลห์แมน บราเธอร์ล่มสลาย ซึ่งยังคงเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกัน แต่การล่มสลายของเลห์แมน บราเธอรส์ในปี 2008 นั้นถือว่าเป็นจุดพลิกผันของวิกฤติ ไดมอนด์กล่าวว่า “มีคำถามอีกมาเกี่ยวกับ แนวทางตามกฎหมายที่ผู้กำกับดูแลของสหรัฐฯจะนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาเลห์แมน และบางคนบอกว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำอย่างนี้ แต่หากว่าพบแนวทางแก้ไข ผมคิดว่าโลกคงจะมีวิกฤติที่ไม่รุนแรงเท่านี้”