ThaiPublica > คนในข่าว > 3 นักวิทยาศาสตร์คว้ารางวัลโนเบลฟิสิกส์ จากผลงานทำนายภาวะโลกร้อน

3 นักวิทยาศาสตร์คว้ารางวัลโนเบลฟิสิกส์ จากผลงานทำนายภาวะโลกร้อน

6 ตุลาคม 2021


ที่มาภาพ: https://edition.cnn.com/2021/10/05/health/nobel-prize-physics-winner-scn-2021/index.html

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ราชบัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (Royal Swedish Academy of Sciences) ประกาศว่าได้มอบรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2021 “สำหรับผลงานที่เป็นนวัตกรรมก้าวล้ำในการทำความเข้าใจระบบเชิงกายภาพที่ซับซ้อน”

โดยรางวัลครึ่งหนึ่งมอบให้กับ ซูคุโระ มานาเบะ ศาตราจารย์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐฯและ เคลาส์ ฮัสเซลมานน์ จากเยอรมนี จากสถาบันอุตุนิยมวิทยามักซ์พลังค์(Max Planck Institute for Meteorology) ในฮัมบวร์ก เยอรมนี “สำหรับแบบจำลองทางกายภาพของภูมิอากาศของโลก การหาความแปรปรวนเชิงปริมาณ และทำนายภาวะโลกร้อนได้อย่างน่าเชื่อถือ”

ส่วนอีกครึ่งหนึ่งมอบให้จอร์จิโอ พาริซี จากมหาวิทยาลัยซาเปียนซาแห่งโรม(Sapienza University of Rome)ในอิตาลี “สำหรับการค้นพบความเชื่อมโยงของความผิดปกติและความผันผวนของระบบกายภาพตั้งแต่ระดับอะตอมจนถึงระดับดาวเคราะห์”

รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปีนี้มีผู้ที่ได้รับรางวัลร่วมกัน 3 คน สำหรับการศึกษาปรากฏการณ์ที่ไร้ระเบียบและผันผวน

ซูคุโระ มานาเบะ และ เคลาส์ ฮัสเซลมานน์ ได้วางรากฐานความรู้ของเราเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศของโลกและอิทธิพลของมนุษยชาติที่มีต่อสภาพภูมิอากาศ ส่วน จอร์จิโอ พาริซี ได้รับรางวัลสำหรับผลงานที่ก้าวล้ำในทฤษฎีไร้ระเบียบและและกระบวนการที่ผันผวน

ระบบที่ซับซ้อน หมายถึงความผันผวน ความไร้ระเบียบ และเข้าใจยาก รางวัลในปีนี้ยกย่องวิธีการใหม่ในการช่วยให้เข้าใจและทำนายรูปแบบระยะยาว

แบบจำลองสภาพภูมิอากาศของซูคุโระ มานาเบะ
ระบบที่ซับซ้อนอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อมนุษยชาติคือ สภาพภูมิอากาศของโลก ซูคุโระ มานาเบะได้แสดงให้เห็นว่าระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศทำให้อุณหภูมิที่พื้นผิวโลกเพิ่มขึ้นได้อย่างไร ในทศวรรษที่ 1960 เขาเป็นผู้นำในการพัฒนาแบบจำลองเชิงกายภาพของสภาพภูมิอากาศของโลก และเป็นคนแรกที่สำรวจปฏิสัมพันธ์ระหว่างความสมดุลของรังสีและการเคลื่อนย้ายของมวลอากาศในแนวดิ่ง

งานของซูคุโระ มานาเบะ วางรากฐานสำหรับการพัฒนาแบบจำลองสภาพอากาศในปัจจุบัน

ในอีกสิบปีต่อมา เคลาส์ ฮัสเซลมานน์ได้สร้างแบบจำลองที่เชื่อมโยงสภาพภูมิอากาศและสภาพอากาศเข้าด้วยกัน ดังนั้นจึงเป็นการชี้ให้เห็นว่าแบบจำลองสภาพภูมิอากาศเชื่อถือได้ แม้ว่าสภาพอากาศจะเปลี่ยนแปลงและผันผวน นอกจากนี้ เขายังได้พัฒนาวิธีการระบุสัญญาณเฉพาะ ร่องรอย จากทั้งปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์ตกค้างอยู่ในสภาพภูมิอากาศ วิธีการของเขาได้นำมาใช้เพื่อพิสูจน์ว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศเกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของมนุษย์

ราวปี 1980 จอร์จิโอ พาริซี ค้นพบรูปแบบที่แฝงอยู่ในวัสดุที่ซับซ้อนที่ไม่เป็นระเบียบ การค้นพบของเขาเป็นส่วนสนับสนุนที่สำคัญที่สุดในทฤษฎีระบบที่ซับซ้อน

ทั้งสามคนทำให้สามารถเข้าใจและให้ภาพสิ่งของและปรากฏการณ์ที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดว่าผันผวน ไม่เพียงแต่ในฟิสิกส์ แต่ยังรวมถึงในด้านอื่นๆ ที่แตกต่างกันอย่างมาก เช่น คณิตศาสตร์ ชีววิทยา ประสาทวิทยา และแมชชีนเลิร์นนิ่ง

“การค้นพบที่ได้รับการยอมรับในปีนี้แสดงให้เห็นว่าความรู้ของเราเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศตั้งอยู่บนรากฐานฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แข็งแกร่ง โดยอิงจากการวิเคราะห์ข้อสังเกตอย่างเข้มงวด ผู้ได้รับรางวัลในปีนี้ล้วนมีส่วนทำให้เราได้รับข้อมูลเชิงลึกที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับคุณสมบัติและวิวัฒนาการของระบบทางกายภาพที่ซับซ้อน” ทอร์ส ฮันส์ ฮันสสัน ประธานคณะกรรมการโนเบลสาขาฟิสิกส์กล่าว

ซูคุโระ มานาเบะ ที่มาภาพ: https://www.princeton.edu/news/2021/10/05/princetons-syukuro-manabe-receives-nobel-prize-physics

ซูคุโระ มานาเบะ เกิดในปี 1931 ที่ชิงจู ญี่ปุ่น สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกในปี 1957 จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ปัจจุบันเป็นนักอุตุนิยมวิทยาอาวุโส ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐ

เคลาส์ ฮัสเซลมานน์ เกิดในปี 1931 ที่ฮัมบวรก์ เยอรมนี สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกในปี 1957 จากมหาวิทยาลัยเกิททิงเงิน(University of Göttingen,) เยอรมนี ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นศาตราจารย์แห่งสถาบันอุตุนิยมวิทยามักซ์พลังค์

จอร์จิโอ พาริซี เกิดในปี 1948 ที่กรุงโรม อิตาลี สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกในปี 1970 จากมหาวิทยาลัยซาเปียนซาแห่งโรม ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นศาตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยซาเปียนซาแห่งโรม

รางวัลมีมูลค่า 10 ล้านโครน สวีเดน โดยครึ่งหนึ่งมอบให้กับซูคุโระ มานาเบะ และ เคลาส์ ฮัสเซลมานน์ ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งมอบให้ จอร์จิโอ พาริซี