วรากรณ์ สามโกเศศ
คำพูดนั้นเป็นได้ทั้งดอกไม้และยาพิษ บางครั้งเราอาจรับยาพิษมาโดยไม่รู้ตัวอันเนื่องมาจากการจงใจและไม่จงใจของผู้ให้ หรือเราอาจเป็นคนมอบยาพิษให้คนอื่นอย่างไม่ตั้งใจก็เป็นได้ ขงจื่อกล่าวไว้เมื่อกว่า 2 พันปีมาแล้วว่า “หอกดาบสร้างแผลเหือดแห้งได้ แต่คำพูดบาดใจนั้นเป็นแผลอยู่ไม่รู้หาย” การตระหนักถึงการเป็นยาพิษของคำพูดจะช่วยให้เรามีชีวิตอย่างที่ต้องการได้
ในภาษาอังกฤษมีคำหนึ่งในภาษาพูดว่า gaslighting ซึ่งหมายถึง “การจุดก๊าซเพื่อแสงสว่าง” โดยเอาคำนี้มาจากชื่อภาพยนตร์ใน ค.ศ. 1944 ซึ่งต้นเรื่องเป็นบทละครเกี่ยวกับชีวิตในยุควิคตอเรียในอังกฤษ (ค.ศ.1837-1901) ที่ยังต้องอาศัยก๊าซในการให้แสงสว่างก่อนที่จะมีไฟฟ้าใช้ เรื่องก็มีอยู่ว่าสามีพยายามใช้ความเจ้าเล่ห์พูดโน้มน้าวภรรยาอยู่เสมอเพื่อให้เชื่อว่าเธอนั้นป่วยทางจิตและดูแลตนเองไม่ได้จนต้องพึ่งพิงเขา และที่เป็นไปทั้งหมดก็เพื่อโกงสมบัติของเธอ
คำนี้เพิ่งรู้จักกันกว้างขวางในทศวรรษ 2010 เคยได้รับรางวัลเป็นคำใหม่แห่งปี 2016 และได้รับรางวัลรองในการเป็นคำใหม่ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปี 2018 ในตอนแรก gaslighting หมายถึงการ จงใจดำเนินการจัดการเพื่อให้เหยื่อเกิดความสงสัยในสภาพความเป็นจริงที่ตนเองประสบจนเกิดความคลางแคลงและเข้าใจผิด รู้สึกเครียดและสับสนจนเสียศูนย์ ทั้งหมดนี้เป็นไปอย่างจงใจของผู้ “จุดไฟ” มีฉากในภาพยนตร์ที่สามีเร่งก๊าซให้ห้องสว่างขึ้นแต่กลับพูดย้ำว่ามันมืดกว่าเดิมและพูดบ่อย ๆ จนภรรยาสงสัยในสิ่งที่ตนเองเห็นและคล้อยตามไปว่าตนเองนั้นจิตฟั่นเฟือน ต่อมาคำนี้มีความหมายกว้างขึ้นโดยครอบคลุมทั้งการ จงใจและไม่จงใจในการให้ยาพิษแฝงในลักษณะนี้แก่ผู้อื่น เหตุที่ได้รับความนิยมก็เพราะมันอธิบายสิ่งที่มนุษย์ทำกันอยู่ทุกวันได้อย่างตรงใจ
gaslighting นั้นได้ผลเมื่อทั้งฝ่าย “ผู้จุดไฟ” และ “ผู้รับ” มีอำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายไม่เท่าเทียมกันโดย “ผู้รับ” ให้ความเคารพ “ผู้จุดไฟ” อยู่ และ “ผู้รับ” เกรงใจหรือกลัวที่จะสูญเสียบางอย่างหากท้าทายการกระทำหรือคำพูดของ “ผู้จุดไฟ”
ในการพูดอย่างจงใจนั้น ผู้ “จุดไฟ” มีวัตถุประสงค์ชั่วร้าย เรื่องที่เราได้ยินกันอยู่เนือง ๆ ในบ้านเราก็คือผู้สูงอายุที่มีฐานะร่ำรวยมีผู้อาสาเข้ามาดูแลใกล้ชิดอย่างทุ่มเท หากลูกหลานไม่ระวัง ไม่ช้าไม่นานผู้สูงวัยก็จะ “ติด” คนนี้และคิดว่าต้องพึ่งพิงเขาเท่านั้น เราพอเดาได้ว่าผู้ประสงค์ร้ายได้ “จุดไฟ” ไว้มากพอจนรู้สึกอ่อนแอและต้องอาศัยเขา เมื่อตายไปแล้วก็เป็นฉากของละครน้ำเน่าฟ้องร้องแย่งชิงมรดก
อีกเรื่องของความจงใจก็คือเฟคนิวส์ทั้งหลาย ที่มาจากความจงใจของคนอื่นเพื่อทำให้เราเกิดความสงสัยในความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึก และความเชี่อของตนเองที่มีอยู่เดิมว่าถูกต้องหรือไม่ เพื่อให้ทั้งหมดเปลี่ยนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเขา ตัวอย่างชัด ๆ ก็คือเรื่องรัสเซีย ในขณะที่ทั้งโลกเห็นว่าปูตินเป็นผู้ร้ายเพราะรุกรานยูเครนและทำให้โลกปั่นป่วน แต่คนไทยเราได้รับเฟคนิวส์เข้าไปเต็ม ๆ จนมีความรู้สึกที่ดีกับปูติน เห็นว่าเป็นพระเอกที่น่าสงสาร และสมควรแล้วที่รัสเซียจะบุกยูเครน อุทาหรณ์ในเรื่องนี้ก็คือการส่งต่อข่าวที่อาจเป็นเฟคนิวส์เป็นเรื่องที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง อย่าลืมว่าทุกชิ้นข่าวหรือข้อมูลที่ปรากฏในโลกโซเชียลนั้นต้องใช้เวลาและแรงงานในการเขียน ผู้สร้างขึ้นล้วนมีวัตถุประสงค์ทั้งร้ายและดีแฝงอยู่ทั้งสิ้น ใครจะยอมเสียสละทรัพยากรแรงงานและอาจมีเงินทองด้วยโดยมิได้หวังผลตอบแทน
ในด้านความไม่จงใจในการ “จุดไฟ” นั้นปรากฎอยู่ในความสัมพันธ์กับผู้คนต่าง ๆ การตำหนิสามีหรือภรรยาอยู่เป็นประจำในเรื่องเดิม ๆ จนอีกฝ่ายหนึ่งคล้อยตามเป็นประตูไปสู่การยอมรับการรุกรานและความรุนแรงที่มากขึ้นโดยอาจตามมาในด้านคำพูดที่นำไปสู่สิ่งไม่พึงประสงค์เช่น ภรรยาพูดอยู่เป็นประจำว่าสามีไม่เคยจำอะไรได้เลย เมื่อพูดบ่อย ๆ เข้าประกอบกับมีการหลงลืมบ้างบางครั้ง สามีก็ชักคล้อยตาม และอาจหลงลืมจริง ๆ มากขึ้นจนอาจนำไปสู่ปัญหาที่หนักกว่าเดิมได้
คำพูดที่ทำให้คนอื่นรู้สึกด้อยค่าอย่างไม่ตั้งใจนั้นก็เป็น gaslighting อีกอย่างหนึ่ง บ่อยครั้งที่คำพูดหลุดออกจากปากเพราะความโกรธ หรือมีอารมณ์ทั้ง ๆ ที่มิได้หมายความดังที่พูด แต่สำหรับ “ผู้รับ” แล้ว คำพูดเหล่านี้มีความหมายต่อเขามากโดยเฉพาะคนที่อยู่ในเยาว์วัย คนทั่วไปรับทราบความรู้สึกที่คนอื่นมีกับตัวเขาจากสิ่งที่คนอื่นบอก และเมื่อมีผู้ใหญ่ที่นับถือมีคำพูดเป็นยาพิษเช่นนั้นออกมา เขาก็ย่อมนำไปคิดและอาจเชื่อจนมีผลต่อความคิดและพฤติกรรมของเขาได้
วลีที่เป็น gaslighting ที่ร้ายแรงได้แก่ “ชาตินี้คงเอาดีไม่ได้แน่” “มันฉลาดแค่นี้หรือ” “สติปัญญามีแค่นี้ จะไปทำอะไรได้” “ไม่เห็นทำอะไร สำเร็จสักอย่าง” “อย่าไปคิดทำอะไรเลย มันเจ๊งทั้งนั้น” “เสียชาติเกิดแท้ ๆ” “คิดอะไรไม่เห็นเป็นเรื่องสักอย่าง” ฯลฯ ของขวัญที่ผู้สูงวัยสามารถมอบให้แก่เด็กได้ง่าย ๆ ก็คือหลีกเลี่ยงการใช้วลีทำนองนี้อย่างสิ้นเชิง
งานวิจัยพบว่ามี gaslighting เกิดขึ้นมากระหว่างสามีภรรยาเมื่อฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายมีปัญหาด้านบุคลิกภาพอันเกิดจากการมีความเจ็บป่วยทางจิต เช่น มีอาการซึมเศร้า มีอาการวิตกกังวลไบโพลาร์ ติดสุราเรื้อรัง มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพ ฯลฯ คำพูดที่มาจากฝ่ายหนึ่งอย่างไม่ตั้งใจอาจช่วยให้การ “จุดไฟ” นั้นร้อนแรงขึ้นมากจนนำไปสู่อีกสารพัดปัญหาได้ ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
ในทางการเมืองนั้น gaslighting เกิดขึ้นอย่างมากทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะในยุคเทคโนโลยีก้าวหน้า ตลอดเวลามีคนทุกฝ่ายพยายามใช้ทุกเครื่องมือในการทำให้เราเข้าใจผิดอีกฝ่ายหนึ่ง และเชื่อฝ่ายเขาโดยทำลายความเชื่อดั้งเดิมของเราและทดแทนด้วยสิ่งที่เขาเตรียมมาให้เรา
การรู้เท่าทัน gaslighting จากผู้จงใจและไม่จงใจที่จะมีอิทธิพลเหนือชีวิตของเรา จะช่วยให้หลุดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อที่หลายฝ่ายพยายามยัดเยียดให้เราตลอดเวลาได้
หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” น.ส.พ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 20 กันยายน 2565