ThaiPublica > Sustainability > Headline > WEF เปิดรายงาน Global Gender Gap ปี 2022 ช่องว่างทางเพศแคบลง แต่อีก 132 ปีถึงจะมีความเท่าเทียม

WEF เปิดรายงาน Global Gender Gap ปี 2022 ช่องว่างทางเพศแคบลง แต่อีก 132 ปีถึงจะมีความเท่าเทียม

16 กรกฎาคม 2022


World Econoic Forum เผยแพร่รายงานดัชนีช่องว่างระหว่างชายและหญิง Global Gender Gap Report 2022 ว่า จากการประเมินเปรียบเทียบความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงใน 145 ประเทศที่อยู่ในการจัดอันดับ คะแนนความเท่าเทียมกันทางเพศโดยรวมเพิ่มขึ้นจาก 67.9% เป็น 68.1%

ในตัวชี้วัด 4 มิติ ความเท่าเทียมกันทางเพศด้านการส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจ(Economic Participation and Opportunity )ก็เพิ่มขึ้นจาก 58.7% เป็น 60.3% เช่นเดียวกับความเท่าเทียมกันทางเพศด้านสุขภาพและการอยู่รอด(Health and Survival)จาก 95.7% เป็น 95.8% ความเท่าเทียมกันทางเพศด้านการสำเร็จการศึกษา(Educational Attainment)ลดลงจาก 95.2% เป็น 94.4% ขณะที่ความเท่าเทียมกันทางเพศด้านอำนาจทางการเมือง(Political Empowerment) ยังคงเท่าเดิมที่ 22%

จากอัตราความคืบหน้าในปัจจุบัน จะใช้เวลา 132 ปี ถึงจะเข้าสู่ความเท่าเทียมกัน แต่สถานการณ์ดีขึ้นเล็กน้อยในรอบสี่ปีเมื่อเทียบกับที่คาดการณ์ในปี 2021 ว่าจะใช้เวลา 136 ปีถึงจะมีความเท่าเทียม อย่างไรก็ตามถ้าไม่เกิดภาวะคนหายไปรุ่นหนึ่งในช่วงปี 2020 และ 2021 แนวโน้มช่องว่างทางเพศตามแนวโน้มของปี 2020 จะหายไปใน 100 ปี

นอกจากนี้จะใช้เวลา 155 ปีในการปิดช่องว่างทางเพศด้านอำนาจทางการเมือง 151 ปีสำหรับช่องว่างทางเพศของการมีส่วนร่วมและโอกาสทางเศรษฐกิจ และ 22 ปีสำหรับช่องว่างทางเพศด้านการสำเร็จทางการศึกษา ส่วนการปิดช่องว่างทางเพศด้านสุขภาพและการอยู่รอดยังคงไม่ได้ประเมินเวลาไว้เนื่องจากความคืบหน้าของความเท่าเทียมกันได้ชะงักงัน

ในปีนี้ ดัชนีช่องว่างระหว่างเพศทั่วโลก(Global Gender Gap Index)ประเมิน 146 ประเทศ ในจำนวนนี้ มี 102 ประเทศที่อยู่ในการรายงานดัชนีทุกฉบับตั้งแต่ปี 2549 ดัชนีช่องว่างระหว่างเพศทั่วโลกจะวัดคะแนนในระดับ 0 ถึง 100

ไอซ์แลนด์ยังครองอันดับหนึ่ง

แม้ว่าจะยังไม่มีประเทศใดที่บรรลุความเท่าเทียมกันทางเพศอย่างสมบูรณ์ แต่ประเทศใน 10 อันดับแรกได้ปิดช่องว่างทางเพศอย่างน้อย 80% โดยไอซ์แลนด์ (90.8%) เป็นผู้นำในการจัดอันดับโลก ไอซ์แลนด์ยังคงเป็นประเทศเดียวที่ปิดช่องว่างทางเพศได้มากกว่า 90%

ใน 10 อันดับแรกนั้น ประเทศสแกนดิเนเวียอยู่ใน 5 อันดับแรกของ Global Gender Gap Index โดยฟินแลนด์อยู่ในอันดับ 2 (86%), นอร์เวย์ อันดับ 3 (84.5%) และสวีเดนอันดับ 5 (82.2%) ่ส่วนประเทศในยุโรปอื่น ไอร์แลนด์ (80.4%) และเยอรมนี (80.1%) ) ติดอันดับ 9 และ 10 ตามลำดับ

ประเทศในแถบแอฟริกาเหนือซาฮารา รวันดา ติดอันดับ 6(81.1%) และนามิเบีย อันดับ 8 (80.7%) พร้อมกับหนึ่งประเทศในละตินอเมริกา ได้แก่ นิการากัวอันดับ 7 (81%) และหนึ่งประเทศจากเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก นิวซีแลนด์ ที่ติดอันดับ 4 (84.1 %)

นิการากัวและเยอรมนีติด 10 อันดับแรกในปี 2565 ขณะที่ลิทัวเนีย (79.9%) และสวิตเซอร์แลนด์ (79.5%) หลุดไปอยู่ที่อันดับ 11 และ 13 ตามลำดับ”

ที่มาภาพ: https://www.weforum.org/agenda/2022/07/gender-equal-countries-gender-gap/

อเมริกาเหนือผู้นำก้าวหน้าสุด

อเมริกาเหนือเป็นผู้นำทุกภูมิภาค ใน Global Gender Gap Index โดยปิดช่องว่างทางเพศได้ 76.9% ตามมาด้วยยุโรปอย่างใกล้ชิด ซึ่งปิดช่องว่างไปแล้ว 76.6% อันดับที่ 3 คือ ละตินอเมริกาและแคริบเบียน ซึ่งช่องว่างทางเพศได้ถึง 72.6% ส่วนเอเชียกลางกับเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก อยู่ในระดับกลางๆ โดยปิดช่องว่างได้ 69.1% และ 69% ตามลำดับ มีความก้าวหน้าไปสู่ความเท่าเทียม อันดับที่ 6 คือ Sub-Saharan Africa(ประเทศในทวีปแอฟริกาที่ตั้งอยู่ใต้ทะเลทรายซาฮารา) อยู่ที่ 67.9% รองลงมาและตามหลัง Sub-Saharan Africa คือตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือซึ่งปิดช่องว่างทางเพศได้ 63.4% สุดท้าย เอเชียใต้มีความก้าวหน้าต่ำสุด โดยปิดช่องว่างทางเพศ 62.4% ในปี 2022

อเมริกาเหนือเป็นภูมิภาคที่ก้าวหน้าที่สุดในแง่ของการปิดช่องว่างทางเพศ คะแนนเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักประชากรของรับภูมิภาคนี้อยู่ที่ 76.9% ซึ่งลดจำนวนปีที่ใช้ในการปิดช่องว่างจาก 62 เป็น 59 ปี คะแนนที่ดีขึ้นมาจากการคะแนนช่องว่างทางเพศของสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยตั้งแต่ปีที่แล้วและจากคะแนนแคนาดาที่คงที่

ยุโรปมีความเสมอภาคทางเพศสูงเป็นอันดับ 2 โดยปัจจุบันอยู่ที่ 76.6% เมื่อประเมินจาก 102 ประเทศที่อยู่ในการจัดอันดับมาตั้งแต่ปี 2006 ภูมิภาคนี้ต้องใช้เวลา 60 ปีเพื่อปิดช่องว่าง โดยมีไอซ์แลนด์ ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ อยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลกและในภูมิภาค

ละตินอเมริกาและแคริบเบียนอยู่ในอันดับที่ 3 ของทุกภูมิภาค รองจากอเมริกาเหนือและยุโรป ภูมิภาคนี้ปิดช่องว่างทางเพศได้ 72.6% ด้วยกความก้าวหน้าในปัจจุบัน ละตินอเมริกาและแคริบเบียนจะปิดช่องว่างได้ใน 67 ปี อย่างไรก็ตาม ภายในภูมิภาคนี้ มีเพียง 6 จาก 22 ประเทศในการจัดทำดัชนีในฉบับนี้ มีคะแนนการปิดช่องว่างทางเพศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1% ตั้งแต่ปีที่แล้ว

ในเอเชียกลาง ความคืบหน้าโดยรวมในการปิดช่องว่างทางเพศไม่เปลี่ยนแปลงจากฉบับที่แล้วที่ 69.1% ด้วยอัตราความก้าวหน้าระดับนี้ จะต้องใช้เวลา 152 ปีในการปิดช่องว่างทางเพศในระดับภูมิภาค ในปี 2022 เอเชียกลางรายงานคะแนนระดับภูมิภาคสูงสุดเป็นอันดับ 4 จาก 8 ภูมิภาค รองจากอเมริกาเหนือ ยุโรป ละตินอเมริกาและแคริบเบียน

เอเชียตะวันออกและแปซิฟิกปิดช่องว่างทางเพศ 69% โดยเพิ่มประสิทธิภาพในระดับภูมิภาคเล็กน้อยเมื่อเทียบกับรุ่นปี 2564 โดย 13 จาก 19 ประเทศปรับปรุงคะแนน ภูมิภาคนี้จะต้องใช้เวลา 168 ปีในการปิดช่องว่างทางเพศ อย่างไรก็ตาม ภายในภูมิภาค มีความแตกต่างที่สำคัญในความก้าวหน้าของประเทศต่างๆ

Sub-Saharan Africa มีคะแนนระดับภูมิภาคสูงสุดเป็นอันดับที่ 6 ของ Global Gender Gap Index และปิดช่องว่างทางเพศได้ 67.9% ดีกว่าตะวันออกกลางและอัฟริกาเหนือ ภูมิภาคนี้ได้คะแนนสูงสุดในรอบ 16 ปี และด้วยอัตราความก้าวหน้าในปัจจุบันจะใช้เวลา 98 ปีในการปิดช่องว่างทางเพศในภูมิภาค

ด้วยคะแนนเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของประชากรที่ 63.4% ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือมีช่องว่างทางเพศที่กว้างมากเป็นอันดับ 2 รองจากเอเชียใต้ ความคืบหน้าของภูมิภาคนี้ยังคงไม่ต่างจากครั้งที่แล้ว ทำให้ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือมีกรอบเวลาในการปิดช่องว่าง 115 ปี

ในบรรดา 8 ภูมิภาค เอเชียใต้อยู่ในอันดับต่ำที่สุด โดยปิดช่องว่างทางเพศได้เพียง 62.3% การขาดความคืบหน้านี้นับตั้งแต่ฉบับที่แล้วได้ขยายเวลาการปิดช่องว่างระหว่างเพศเป็น 197 ปี เป็นผลจากความชะงักงันในวงกว้างของคะแนนความเท่าเทียมกันทางเพศในหลายประเทศในภูมิภาค บังกลาเทศและเนปาลเป็นผู้นำในภูมิภาคโดยปิดช่องว่างทางเพศมากกว่า 69%

ที่มาภาพ: https://www.weforum.org/agenda/2022/07/global-gender-gap-graphics-2022/

ช่องว่างทางเพศด้านแรงงานคือวิกฤติใหม่

รายงาน Global Gender Gap Index ชี้ว่าช่องว่างระหว่างเพศในแรงงานได้รับแรงผลักดันและได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย รวมถึงอุปสรรคด้านโครงสร้างที่มีมายาวนาน การเปลี่ยนโฉมทางเศรษฐกิจและสังคมและเทคโนโลยี ตลอดจนผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผู้หญิงจำนวนมากขึ้นได้เข้าไปสู่การทำงานที่ได้รับค่าจ้างและตำแหน่งผู้นำเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ความคาดหวังของสังคมทั่วโลก นโยบายของนายจ้าง สภาพแวดล้อมทางกฎหมาย และความพร้อมในการดูแลยังคงมีบทบาทสำคัญในการเลือกเส้นทางการศึกษาและเส้นทางอาชีพ

ทศวรรษแห่งความเข้มงวดหลังจากวิกฤติการเงินโลกปี 2008 เป็นข้อจำกัดของภาคส่วนที่เป็นแกนหลักของโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม ส่งผลกระทบต่อผลที่จะเกิดกับครอบครัวและผู้ดูแลหลัก ซึ่งมักจะเป็นผู้หญิง ในช่วงการระบาดใหญ่ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อผู้หญิงมากกว่า นอกจากนี้ การคาดการณ์ว่าวิกฤติค่าครองชีพในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าย่ำแย่ลง ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้หญิงรุนแรงกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงยังคงหารายได้และสะสมความมั่งคั่งในระดับที่ต่ำกว่า

เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดวิกฤติที่มีผลไปทั่ว รายงานสำรวจสถานะของช่องว่างทางเพศในแรงงานผ่านข้อมูลเสริมที่มีอยู่ในข้อมูลเศรษฐกิจ(Economy Profiles)และตัวชี้วัดใหม่ที่พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือกับ LinkedIn, Coursera, Hologic และ WTW

ช่องว่างระหว่างเพศในการเป็นผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม: สัดส่วนผู้หญิงที่ทำงานแบบได้รับค่าจ้างที่ก้าวสู่ผู้นำได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 33.3% ในปี 2016 เป็น 36.9% ในปี 2022 นอกจากนี้ข้อมูลความถี่สูงจาก LinkedIn จาก 22 ประเทศให้ภาพรวมของการเป็นตัวแทนของสตรีในการเป็นผู้นำในปี 2022 เฉพาะอุตสาหกรรมที่คัดเลือกมาเท่านั้น ที่มีระดับความเท่าเทียมทางเพศในการเป็นผู้นำที่ใกล้เคียงกัน เช่น องค์กรพัฒนาเอกชนและสมาชิก (47%), การศึกษา (46%) และการบริการส่วนบุคคลและความเป็นอยู่ที่ดี (45%) ในภาคอื่นๆ ได้แก่ พลังงาน (20%) การผลิต (19%) และโครงสร้างพื้นฐาน (16%) ขณะที่สัดส่วนแบ่งของผู้หญิงในการเป็นผู้นำเพิ่มขึ้น แต่ผู้หญิงไม่ได้รับการว่าจ้างในอัตราที่เท่าเทียมกันในทุกอุตสาหกรรม โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้หญิงจำนวนมากขึ้นที่ทำงานได้ค่าจ้างขึ้นเป็นผู้นำนั้นอยู่ในอุตสาหกรรมที่ผู้หญิงเป็นตัวแทนในระดับสูงอยู่แล้ว

  • บทบาทผู้หญิง ในคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนไทย
  • ช่องว่างระหว่างเพศในการเป็นตัวแทนทางการเมือง:การมีผู้หญิงจำนวนมากขึ้นในการเป็นผู้นำทางการเมือง มีแนวโน้มที่จะสร้างผลกระทบจากการเป็นแบบอย่างที่ทรงพลัง รวมถึงการตัดสินใจที่เป็นตัวแทนของประชาชนในวงกว้าง ข้อมูลจาก Global Gender Gap Index ทั่วโลกแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของผู้หญิงในการเป็นผู้นำสาธารณะ ในบรรดาผู้นำที่เป็นผู้หญิงทั่วโลก ผู้ที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดคือในเยอรมนีเป็นเวลา 16.1 ปี ไอซ์แลนด์เป็นเวลา 16 ปี โดมินิกาเป็นเวลา 14.9 ปี และไอร์แลนด์เป็นเวลา 14 ปี สัดส่วนเฉลี่ยทั่วโลกของผู้หญิงในตำแหน่งรัฐมนตรีเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าระหว่างปี 2006 และ 2022 เพิ่มขึ้นจาก 9.9% เป็น 16.1% และสัดส่วนเฉลี่ยทั่วโลกของผู้หญิงในรัฐสภาเพิ่มขึ้นจาก 14.9% เป็น 22.9

    ช่องว่างระหว่างเพศในการสะสมความมั่งคั่ง: ผลของตลาดแรงงานที่บิดเบือนมีผลกระทบอย่างมากต่อการสะสมความมั่งคั่งของผู้หญิงเมื่อคำนวณตลอดช่วงชีวิต นอกจากนี้ การเข้าถึงและควบคุมทรัพยากรที่สร้างความมั่งคั่งอย่างไม่เท่าเทียมกัน เช่น การธนาคาร การลงทุน มรดก และทรัพย์สิน สามารถนำไปสู่ความแตกต่างของความมั่งคั่งได้ จากการวิเคราะห์ความเท่าเทียมของความมั่งคั่งที่ดำเนินการร่วมกับ WTW ใน 39 ประเทศ ผู้หญิงเสียเปรียบในเรื่องการสะสมความมั่งคั่งตลอดช่วงชีวิตการทำงาน

    ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันของความมั่งคั่งตามเพศ ได้แก่ ช่องว่างการจ่ายค่าจ้าง วิถีความก้าวหน้าในอาชีพที่ไม่เท่าเทียมกัน ช่องว่างทางเพศในความรู้ทางการเงิน และเหตุการณ์ในชีวิต สำหรับบทบาทการปฏิบัติงานแนวหน้า ช่องว่างความมั่งคั่งทางเพศโดยรวมอยู่ที่ 11%; สำหรับมืออาชีพและด้านเทคนิค มีช่องว่างความมั่งคั่งทางเพศเกือบ 3 เท่าเป็น 31% และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอาวุโสและนผู้นำ มีช่องว่างจะขยายเป็น 38%

    ช่องว่างระหว่างเพศในการก่อตั้งธุรกิจ:ข้อมูล ความถี่สูงLinkedIn ใน 22 ประเทศแสดงให้เห็นว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาผู้หญิงได้จัดตั้งธุรกิจในอัตราเฉลี่ยที่สูงกว่าผู้ชายเล็กน้อย สัดส่วนของผู้ก่อตั้งหญิงเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่สัดส่วนแบ่งของผู้ก่อตั้งชายเพิ่มขึ้น 55%

    แนวโน้มนี้ยังคงต่อเนื่องทั้งในระหว่างและตั้งแต่การระบาดใหญ่เริ่มต้นขึ้น และรวมถึงการเพิ่มขึ้น 43% ของอัตราการก่อตั้งธุรกิจของผู้หญิงระหว่างปี 2019 ถึง 2020 ซึ่งส่วนหนึ่งรวมถึง “ผู้ก่อตั้งด้วยความจำเป็น” ที่เกิดขึ้นจากการระบาดใหญ่ด้วย เนื่องจากงานหายากทำให้ต้องประกอบอาชีพอิสระ ในขณะเดียวกัน ข้อมูลบ่งชี้ว่าการก่อตั้งธุรกิจไม่ได้มากจากความจำเป็นทั้งหมด ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ จำนวนบริษัทยูนิคอร์นที่ผู้หญิงเป็นเจ้าของเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าจาก 18 ราย ในปี 2020 เป็น 83 รายในปี 2021 ซึ่งคิดเป็น 14% ของบริษัท 595 แห่งที่เข้าร่วม Crunchbase Unicorn Board ในปี 2021

    อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นนี้สะท้อนบริบทที่การลงทุนในธุรกิจที่ผู้หญิงเป็นเจ้าของยังคงเป็นส่วนน้อยของจำนวนเงินที่มุ่งสู่ธุรกิจที่ก่อตั้งโดยผู้ชาย ในปี 2019 เปอร์เซ็นต์ของการลงทุนทั้งหมดในธุรกิจหญิงล้วนคือ 3% ลดลง 4% จากปี 2018 ในปี 2020 ลดลงไปอีกเป็น 2% และทรงตัวที่ 2% ในปี 2021 แต่ที่กลับกันคือ ปริมาณของข้อตกลงเกี่ยวข้อง ธุรกิจหญิงล้วน

  • โอกาสทางเศรษฐกิจของผู้หญิงใน APEC ดีขึ้น แต่ยังเจออคติทางเพศ
  • ช่องว่างทางเพศในการเรียนรู้ตลอดชีวิตและให้ความสำคัญของทักษะ: ผู้หญิงยังคงมีบทบาทมากเกินไปในด้านการศึกษาและสุขภาพและสวัสดิการเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชาย และมีบทบาทน้อยในสาขา STEM เป็นช่องว่างทางเพศที่ยังมีมากที่สุดในสองสาขานี้ เมื่อคำนึงถึงผู้สำเร็จการศึกษาจากทุกสาขา เปอร์เซ็นต์ของผู้สำเร็จการศึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) คือ 1.7% เทียบกับ 8.2% ของผู้สำเร็จการศึกษาชาย ในสาขาวิศวกรรมและการผลิตผู้ชายสำเร็จการศึกษา 24.6% แต่ผู้หญิง 6.6% ในขณะที่การแบ่งกลุ่มเพศในการเลือกการศึกษาระดับปริญญายังคงมีในการศึกษาแบบดั้งเดิม

    ข้อมูลความถี่สูง(high-frequency data)จาก Coursera ในรายงานประจำปีนี้พบว่า มีผู้หญิงจำนวนมากขึ้นกว่าเดิมที่มีทักษะ เปลี่ยนทักษะ(re-skilling) และยกระดับทักษะ(upskilling) ผ่านทางออนไลน์ นอกจากนี้ ช่องว่างทางเพศในการลงทะเบียมีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการศึกษาแบบดั้งเดิม ตัวอย่างเช่น ในด้าน ICT ความเท่าเทียมกันทางเพศเพิ่มขึ้นในการฝึกอบรมออนไลน์ระหว่างปี 2019 ถึง 2021 อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการลงทะเบียนแสดงให้เห็นว่าความชอบในทักษะของผู้ชายและผู้หญิงยังคงตอบสนองต่อรูปแบบเดิมๆ ทำให้เกิดช่องว่างทางเพศสำหรับทั้งชายและหญิง

    ช่องว่างระหว่างเพศในการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน: การวิเคราะห์อนุกรมเวลาของความเท่าเทียมกันทางเพศในการมีส่วนร่วมของแรงงานจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็น 102 ประเทศที่อยู่ในดัชนีช่องว่างระหว่างเพศทั่วโลก แสดงให้เห็นว่าความเท่าเทียมทางเพศทั่วโลกของการมีส่วนร่วมของกำลังแรงงานลดลงอย่างช้าๆ นับตั้งแต่ 2009 อย่างไรก็ตาม แนวโน้มรุนแรงขึ้นในปี 2020 เมื่อคะแนนความเท่าเทียมทางเพศลดลงอย่างรวดเร็วในการจัดอันดับสองครั้งติดต่อกัน ส่งผลให้ในปี 2022 ความเท่าเทียมทางเพศในแรงงานอยู่ที่ 62.9% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่มีการรวบรวมดัชนีครั้งแรก ในบรรดาแรงงานที่ยังอยู่ในกำลังแรงงาน อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นและยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องสำหรับผู้หญิง

    ช่องว่างระหว่างเพศในงานดูแล: ผลกระทบด้านลบของตลาดแรงงานของการระบาดใหญ่ที่ไม่เท่ากัน สามารถอธิบายได้ส่วนหนึ่งผ่านองค์ประกอบของวิกฤติ และส่วนหนึ่งผ่านปริมาณงานดูแลที่ตกอยู่กับผู้หญิง เนื่องจากมีการปิดสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนซึ่งเป็นรูปแบบของความรับผิดชอบในงานดูแลก่อนเกิดโรคระบาด จากการวิเคราะห์ข้อมูลปี 2019 จาก 33 ประเทศ ซึ่งคิดเป็น 54% ของประชากรวัยทำงานทั่วโลก ส่วนแบ่งเวลาของผู้ชายที่ทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างตามสัดส่วนที่ใช้ในงานทั้งหมดคือ 19% ในขณะที่ผู้หญิงคือ 55% ด้วยค่าใช้จ่ายในการดูแลเด็กที่เพิ่มขึ้น มีความเสี่ยงสูงที่ความต้องการที่ไม่สมดุลในการจัดหางานดูแลเด็กที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนจะยังคงส่งมอบให้กับผู้หญิงต่อไป

    ช่องว่างระหว่างเพศในระดับความเครียด: จากข้อมูลของ Hologic รายงานว่าระหว่างปี 2021 ถึง 2022 ความเครียดในผู้หญิงสูงกว่าผู้ชาย 4% ซึ่งเพิ่มภาระด้านสุขภาพทั่วโลกจากความผิดปกติทางจิตและอารมณ์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้หญิงมากกว่า

    การปิดช่องว่างทางเพศยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญของความเจริญก้าวหน้าของชาติ ประเทศที่ลงทุนในทุนมนุษย์ทั้งหมดและทำให้ประชากรสร้างสมดุลระหว่างงานและชีวิตครอบครัวได้ง่ายขึ้นมักจะมีความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น รายงานพบความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างความเท่าเทียมกันทางเพศและรายได้ต่อหัวเมื่อเปรียบเทียบดัชนีช่องว่างระหว่างเพศทั่วโลกกับ GDP ต่อหัว

    แม้ว่าความสัมพันธ์จะไม่แสดงถึงความเป็นเหตุเป็นผล ไม่ว่าระดับรายได้ในปัจจุบันจะเป็นเท่าไร ประเทศต่างๆ ควรลงทุนในการปิดช่องว่างทางเพศในการเข้าถึง ทรัพยากร และโอกาส

    ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนมากขึ้น การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และพลวัตของทุนมนุษย์ทั้งหมดของประเทศจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเอาชนะวิกฤติการณ์ในปัจจุบันและเร่งการฟื้นตัว