ThaiPublica > Sustainability > Headline > เกาหลีใต้จับมือ UN และ Oceannix พัฒนาเมืองลอยน้ำต้นแบบแห่งแรกของโลก รับ Climate Change

เกาหลีใต้จับมือ UN และ Oceannix พัฒนาเมืองลอยน้ำต้นแบบแห่งแรกของโลก รับ Climate Change

2 พฤษภาคม 2022


ที่มาภาพ: https://oceanixcity.com/busan/

องค์การสหประชาชาติ บริษัทพัฒนาเมืองลอยน้ำที่ชื่อ Oceanix และเมืองปูซานของเกาหลีใต้ ได้ร่วมกันเปิดตัว เมืองลอยน้ำต้นแบบแห่งแรกของโลกสำหรับการพัฒนาเมืองศูนย์กลางการขนส่งที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา

เมืองลอยน้ำอาจเป็นแนวทางหนึ่งในการบรรเทาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นทำให้เกิดภัยคุกคามต่อเกาะเล็กๆ บางแห่งและชายฝั่งระดับน้ำทะเลบางแห่ง” ตามที่ผู้กำหนดนโยบายได้ระบุไว้ในรายงาน IPCC ฉบับล่าสุดที่เผยแพร่โดยสหประชาชาติ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ รายงานระบุว่า ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นคุกคามไฟฟ้าชายฝั่งและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง

ตั้งแต่ปี 1880 ระดับน้ำทะเลทั่วโลกโดยเฉลี่ยสูงขึ้นระหว่าง 8-9 นิ้ว จากข้อมูลของ Climate.Gov ซึ่งเป็นเว็บท่าด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและข้อมูลขององค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Ocenic and Atmospheric Administration: NOAA)

หนึ่งในสามของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นนั้นเกิดขึ้นในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลของ NOAA ระบุว่า ในสหรัฐอเมริกา ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นโดยเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ระหว่าง 10-12 นิ้วภายในปี 2050

ปูซานมีผู้อยู่อาศัย 3.4 ล้านคนและเป็นเมืองท่าที่สำคัญ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ปูซานได้ลงนามความร่วมมือกับ Oceanix และUnited Nations Human Settlements Program ในปี 2021 เพื่อพัฒนาเมืองลอยน้ำ โดยมี BIG-Bjarke Ingels Group และ Samoo Architects & Engineers บริษัทในเครือ Samsung เป็นสถาปนิกหลักในการออกแบบเมืองลอยน้ำ

เมืองลอยน้ำปูซาน เกาหลีใต้ ที่มาภาพ:https://big.dk/#projects-sfc

เมืองต้นแบบมีหน้าตาอย่างไร
เมืองต้นแบบสร้างขึ้นบนทุ่นหรือลานขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อถึงกัน มีเนื้อที่รวม 15.5 เอเคอร์ แต่ละส่วนของเมืองได้รับการออกแบบเพื่อการใช้งานเฉพาะ เช่น พื้นที่ใช้สอย สิ่งอำนวยความสะดวกในการวิจัย หรือที่พัก สะพานเชื่อมต่อระหว่างกัน และเชื่อมต่อแผ่นดินใหญ่ อีกทั้งรองรับชุมชนที่มีประชากร 12,000 คน ซึ่งสามารถขยายให้เป็น 20 ทุ่นให้รับคนอยู่อาศัยได้กว่า 100,000 คน

เมืองลอยน้ำแห่งนี้ยังมีแผงโซลาร์เซลล์ และน้ำที่ผ่านการใช้แล้วทั้งหมดในเมืองลอยน้ำจะได้นำไปบำบัดและนำกลับมาใช้ใหม่ โครงสร้างพื้นฐานของเหมืองจะรับมือกับน้ำทะเลที่สูงขึ้นได้ มีระบบไฟฟ้า พลังงาน และแหล่งอาหารเป็นของตนเอง

วัสดุที่ใช้ในการสร้างเมืองทำจากวัสดุที่ ‘แข็งแรงและซ่อมแซมตัวเอง’ โดยทุ่นจะเคลือบด้วย Biorock ซึ่งเป็นวัสดุที่แข็งแรงกว่าคอนกรีตแต่ลอยน้ำได้ Biorock เป็นเทคโนโลยีทางทะเลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งที่ตัวมันเองสามารถแข็งแรงขึ้นได้เรื่อยๆ จากแร่ธาตุในน้ำ

ส่วนอาคารบนแต่ละทุ่นซึ่งจะสูงไม่เกิน 5 ชั้น จะทำด้วยวัสดุน้ำหนักเบาอื่นๆ เช่น ไม้และไม้ไผ่

เมืองลอยน้ำที่มีเป้าประสงค์เพื่อความยั่งยืนอย่างสมบูรณ์นี้ จะมีระบบที่เชื่อมต่อถึงกัน 6 ระบบ ซึ่ง “ผลิตพลังงาน 100% ภายในเมืองด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบลอยน้ำและบนชั้นดาดฟ้า”

เมืองลอยน้ำปูซาน เกาหลีใต้ ที่มาภาพ:https://big.dk/#projects-sfc

ระบบทั้ง 6 ระบบนี้รวมถึงระบบปลอดขยะหรือของเสีย(zero waste) และระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ระบบน้ำแบบปิด อาหาร พลังงานที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์สุทธิ นวัตกรรมการสัญจร และการฟื้นฟูแหล่งที่อยู่อาศัยชายฝั่ง ระบบzero waste มีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนของเสียให้เป็นพลังงาน วัตถุดิบทางการเกษตร และวัสดุรีไซเคิล ทุ่นแต่ะทุ่นจะมีระบบบำบัดและนำน้ำกลับมาใช้เป็นของตนเอง รวมถึงลดและรีไซเคิลทรัพยากร

3 ย่านที่แตกต่างกัน
ทุ่นลอยน้ำทั้งสามแห่งของเมือง แต่ละทุนมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน
ทุ่นที่หนึ่งจะเป็นพื้นที่ที่พักสำหรับผู้มาเยือน ออกแบบมาเพื่อ “ชื่นชมวิวริมน้ำอย่างเต็มที่” พื้นที่นี้ยังมีร้านค้าปลีกและร้านอาหารให้เลือกอีกด้วย ส่วนอีกทุ่นหนึ่งจะเป็นพื้นที่อยู่อาศัยพร้อมอาคารที่พักอาศัย สนามส่วนกลาง และพื้นที่สาธารณะอื่นๆ

ทุ่นที่สามเป็นศูนย์วิจัย ที่จะมีสวนฤดูหนาวที่สามารถใช้ร่วมกันได้ เรียกว่า “ห้องโถงกลางที่ควบคุมอุณหภูมิ” ซึ่ง “ผลิตอาหารในป่าของหอคอยไฮโดรโปนิกส์สำหรับทุกคน”

ไม่ใช้รูปแบบการขนส่งสาธารณะแบบเดิม
ผู้อยู่อาศัยและผู้มาเยือนควรเดินทางด้วยจักรยานหรือเดินเท้า เนื่องจากจะไม่มีรถยนต์หรือรถไฟแบบดั้งเดิมในเมือง เมืองนี้จะมี “การสัญจรร่วมกันหลายรูปแบบและรูปแบบพิเศษสำหรับชุมชนแบบบูรณาการ ผสมผสานและมีประสิทธิผล โดยลดความต้องการด้านการขนส่งลง”

เมืองลอยน้ำปูซาน เกาหลีใต้ ที่มาภาพ: https://oceanixcity.com/busan/

การก่อสร้างยังไม่เริ่มต้น
โครงการนี้ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างนี้ แต่คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างสองปี และไม่น่าจะแล้วเสร็จก่อนปี 2025 โครงการนี้เป็นหนึ่งในแนวทางแก้ไขสำหรับเมืองชายฝั่งทะเลที่ถูกคุกคามจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น โดยจากข้อมูลของสหประชาชาติ 90% ของ “เมืองใหญ่ทั่วโลก” เผชิญกับภัยคุกคามจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น “น้ำท่วมทำลายโครงสร้างพื้นฐานมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ และบีบให้คนที่ประสบภัยสภาพภูมิอากาศหลายล้านคนต้องทิ้งถิ่นฐาน”

องค์การสหประชาชาติได้เริ่มศึกษาและสำรวจเมืองลอยน้ำอย่างเป็นทางการเมื่อสามปีที่แล้ว เพื่อปรับให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“เราอยู่ในช่วงเวลาที่เราไม่สามารถสร้างเมืองต่อไปได้เหมือนที่นิวยอร์กหรือไนโรบีสร้างขึ้น” อามีนา โมฮัมเหม็ด รองเลขาธิการสหประชาชาติ กล่าว “เราต้องสร้างเมืองจากการระหนักว่าคนจะเจอความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศเป็นอย่างแรก ทั้งจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นไปจนถึงพายุ เมืองลอยน้ำสามารถเป็นหนึ่งในเครื่องมือหลักของเรา”