ThaiPublica > เกาะกระแส > แบงก์กรุงเทพเปิดโปรเจ็คลับ…ตามหาอาหารจานโปรด Episode นี้เพื่อชุมชน

แบงก์กรุงเทพเปิดโปรเจ็คลับ…ตามหาอาหารจานโปรด Episode นี้เพื่อชุมชน

7 พฤษภาคม 2022


5 ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ธนิตย์ จิตนุกูล ผู้กำกับเรื่อง บางระจัน, ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับเรื่อง ต้มยำกุ้ง , บัณฑิต ทองดี ผู้กำกับเรื่อง พุ่มพวง , ราเชนทร์ ลิ้มตระกูล ผู้กำกับเรื่อง โลกทั้งใบให้นายคนเดียว และณภัทร ตั้งสง่า ผู้กำกับภาพยนตร์สั้นที่คว้ารางวัลชนะเลิศในหลากหลายเวที

ธนาคารกรุงเทพ แท็กทีม 5 ผู้กำกับมือทอง ชวนคนไทยสร้างคอนเทนต์ “จานโปรด Episode ลับ” โปรโมทร้านเด็ดในชุมชน ช่วยเศรษฐกิจฐานราก ดึงภาคท่องเที่ยว-ร้านอาหารฟื้นตัวหลังโควิด-19 ชิงรางวัล “ผู้กำกับน้อย” คนแรกของประเทศไทย

ในเมื่อหลายคนที่ไปร้านอาหาร ต่างหยิบมือถือขึ้นมาถ่ายภาพอาหารตรงหน้า แล้วอัพขึ้นเฟซบุ๊ก อินสตราแกรม กันอยู่แล้ว แทนที่จะถ่ายภาพนิ่ง ก็มาถ่ายเป็นคลิปวิดีโอความยาว 3 นาที พร้อมเล่าเรื่องราวของร้าน ของอาหาร ของชุมชนที่ตั้งร้าน ส่งเข้าประกวด “จานโปรด Episode ลับ” ของธนาคารกรุงเทพกันดีกว่า

“ราเชนทร์ ลิ้มตระกูล” ผู้กำกับมือทอง เจ้าของผลงาน โลกทั้งใบให้นายคนเดียว เป็นคนที่มีร้านลับอยู่ในตลาดบ้านเกิด จังหวัดชัยภูมิ แค่เปิดประตูหลังบ้านออกไป ก็จะเจอร้านบะหมี่เฮียกุ่ย ร้านบะหมี่ทำเอง ด้วยมือนวดของคนในครอบครัว เป็นส่วนผสมที่ทำให้เส้นบะหมี่ที่ออกมาไม่เหมือนที่ใดในประเทศไทย แน่นอนต้องอร่อย แถมไปช้าอาจจะอดกิน เพราะนวด ๆ ไป เกิดเมื่อยขึ้นมา ได้บะหมี่วันนั้นแค่ 2 กิโลกรัม ก็ขายหมดเร็ว บางวัน มือขึ้น นวดทีได้ถึง 4 กิโลกรัม ขายหมดช้าได้กินบะหมี่สมใจ แต่บางวันร้านเฮียกุ่ย ปิด ไม่ขายซะเฉย ๆ … อดกิน

“ธนิตย์ จิตนุกูล” ผู้กำกับชื่อดัง จาก บางระจัน บอกว่า คลิปที่ส่งเข้าประกวด ถ้าเล่าเรื่องได้อย่างที่ ราเชนทร์ เล่าเรื่องบะหมี่เฮียกุ่ย รับรองเข้ารอบแน่

“ปรัชญา ปิ่นแก้ว” ผู้กำกับสายบู๊ จากบางระจัน ให้เคล็ดลับอีกหน่อยว่า ความน่าสนใจของคลิป คือการเขียนบท เหมือนพ่อครัวทำอาหาร ถ้าเป็นอาหารที่มีประโยชน์ แต่รสชาติไม่ได้ ก็ไม่มีใครกิน หนังดีแค่ไหน ถ้าไม่สนุกก็ไม่มีคนดู การเขียนบทหนังจึงต้องสนุกด้วย

นอกเหนือจาก 3 ผู้กำกับคนดังนี้แล้ว ยังมี บัณฑิต ทองดี ผู้กำกับเรื่อง พุ่มพวง และ ณภัทร ตั้งสง่า ผู้กำกับหนังสั้น เจ้าของรางวัลชนะเลิศหลายเวที ที่จะมาร่วมกันคัดเลือกคลิปวิดีโอ ความยาวไม่เกิน 3 นาที เป็นคลิปที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์การถ่ายภาพหรูหราราคาแพง แค่โทรศัพท์มือถือในมือก็ใช้ได้แล้ว พร้อมทั้ง story บอกเล่าเกี่ยวกับ อาหารจานโปรด ร้านเด็ดในชุมชน ทั่วประเทศไทย คลิปไหนที่อร่อยจริง ชวนให้คนไปปักหมุด เช็คอินได้ ก็จะได้รับการคัดเลือกรวม 50 ทีม จะส่งแบบเดี่ยว หรือรวมทีมไม่เกิน 5 คนก็ได้ และมี 2 ประเภท คือ ประเภทเยาวชน สำหรับนักเรียน นักศึกษา และประเภทประชาชนทั่วไป ใครสนใจหารายละเอียดได้ที่ www.จานโปรด.com ภายในวันที่ 6-20 พฤษภาคมนี้

ทีมที่ได้รับการคัดเลือก 50 ทีมนี้ จะได้รับสิทธิพิเศษ คือ เข้าร่วมอบรมหลักสูตร ผู้กำกับน้อย เพื่อเรียนรู้หลักการและประสบการณ์การจัดทำหนังสั้นอย่างเข้มข้น จาก 5 ผู้กำกับคนดัง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่ต้องการเป็นนักสื่อสารมืออาชีพ

สำหรับธนาคารกรุงเทพ 2 ปีเศษหลังการระบาดของโรคโควิด -19 ทำให้ต้องงดการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไปโดยปริยาย “จานโปรด Episode ลับ” จึงเป็นโปรเจกต์เปิดตัวที่สร้างความคึกคักให้กับธนาคารกรุงเทพ และชุมชนทั้งในเมืองและท้องถิ่น ให้ตื่นตัวขึ้นอีกครั้ง หลังจากซบเซามานาน จนร้านอาหารหลายร้านต้องปิดตัวไปจากปัญหายอดขายหายไปกว่าครึ่ง บางรายแทบไม่มีลูกค้าเข้าร้านเลย โดยเฉพาะร้านเล็ก ๆ ในซอกหลืบชุมชนตามต่างจังหวัด

“ชาติศิริ โสภณพนิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ

“ชาติศิริ โสภณพนิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ บอกว่าเมื่อทิศทางสถานการณ์และเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว พื้นที่ต่าง ๆ เริ่มเปิดขึ้น นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศเริ่มกลับคืนมา เป็นเรื่องที่ดีหากธนาคารกรุงเทพจะเป็นอีกหนึ่งพลัง อีกหนึ่งแรงที่ช่วยส่งเสริมให้ทุกคน ทุกชุมชนฟื้นกลับมาได้แข็งแรงอีกครั้ง

“โครงการ “จานโปรด Episode ลับ” จึงเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของธนาคารกรุงเทพ ที่จะช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวและอาหารของชุมชนต่างๆ ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น อาศัยพลังของคนรุ่นใหม่ ที่จะช่วยค้นหา ทดลอง และช่วยบอกเล่าความน่าสนใจของแหล่งท่องเที่ยว และอาหารจานเด็ด ที่ซ่อนอยู่ในมุมต่างๆ ของประเทศ ไปสู่ทุกคน ในประเทศไทย และไปสู่ต่างประเทศ โดยอาศัยพลังของเทคโนโลยี ที่ช่วยทำให้การร้อยเรียง ถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ออกมาเป็นคลิป เป็นภาพยนตร์สั้น เป็นเรื่องง่าย ที่ทุกคนสามารถทำได้ ด้วยโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว อาศัยพลังของสื่อดิจิทัล มาเป็นช่องทางช่วยแนะนำกระจายสิ่งที่น่าสนใจของชุมชน ไปสู่วงกว้างอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนได้เริ่มรู้จัก เพิ่มความสนใจ ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนต่างๆ ทั่วไทย”

“กอบศักดิ์ ภูตระกูล” กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เจ้าของไอเดียโปรเจ็คนี้ และยังจับเอา 5 ผู้กำกับมือทองมาร่วมโครงการ บอกเล่าว่า การสร้างเรื่องราว หรือ Story Telling เป็นอีกหนึ่งวิธีการสำคัญที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และช่วยให้ลูกค้าเกิดการบอกต่อ ประเทศไทยมีธุรกิจเอสเอ็มอีที่เป็นร้านอาหารอยู่มากกว่า 3 แสนราย แต่พ่อค้าแม่ค้าจะถนัดการทำอาหารมากกว่า มีไม่กี่รายที่สามารถต่อยอด สร้างเรื่องราวให้กับสินค้าของตนเองได้ โครงการนี้จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าและคนรุ่นใหม่ มาช่วยสร้างเรื่องราวให้แทนพ่อม่ค้าแม่ค้าเหล่านั้น ช่วยนำเสนออาหารจานโปรดที่อยากจะแนะนำให้คนอื่น ๆ ได้ลองมาตามหาร้านเด็ดเหล่านี้ดูบ้าง

“เวทีนี้ยังเป็นเวทีแห่งโอกาสสำหรับคนที่สนใจการสร้างภาพยนตร์ โดยเฉพาะน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษาที่มีใจในงานเหล่านี้ สามารถเข้ามาเรียนรู้และหาประสบการณ์จากผู้กำกับชั้นนำระดับประเทศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะมีโอกาสได้เรียนรู้โดยตรงจากผู้กำกับทั้ง 5 ท่านนี้”

“ธนิตย์” ในฐานะตัวแทน 5 ผู้กำกับที่ร่วมโครงการ แสดงความเชื่อมั่นว่า โครงการนี้จะช่วยจุดประกายความสนใจงานด้านการกำกับภาพยนตร์ให้กับเยาวชน เป็นเวทีแห่งการเรียนรู้และความสามารถของนักศึกษา ที่จะได้เรียนรู้จากการทำงานจริง และยังเป็นพื้นที่เติมเต็มความฝัน สำหรับคนที่มีใจรักด้านงานกำกับภาพยนตร์ แต่ยังไม่มีโอกาสได้ทำอาชีพนี้ เพราะหน้าที่ของผู้กำกับภาพยนตร์ จำเป็นต้องรอบรู้หลายด้าน พื้นฐานความรู้เหล่านั้นถูกจัดเตรียมไว้ในหลักสูตรอบรมเข้มข้น สำหรับ 50 ทีมที่เข้ารอบ ตั้งแต่การเริ่มคิดเรื่องที่มีไอเดียแปลกใหม่ การเตรียมงานที่รัดกุม จนถึงขั้นตอนการถ่ายทำ

ธนิตย์ จิตนุกูล

“เป็นเรื่องที่ดีมากที่ธนาคารกรุงเทพทำโครงการนี้ขึ้นมา เพราะจากประสบการณ์การเดินทางไปถ่ายทำภาพยนต์ มักจะเจอร้านเล็ก ๆ อาหารอร่อย ที่คนต่างถิ่นไม่รู้ แต่คนในพื้นที่รู้จักกันดี จึงขอเชิญชวนให้คนที่สนใจมาเข้าร่วมทำคลิปแนะนำ หรือช่วยกันส่งต่อเรื่องราวอาหารจานโปรดของคุณ เพื่อให้ร้านอาหารในชุมชนของคุณเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น เชื่อว่าแค่ช่วยกันคนละไม้ละมือ บางครั้งอาจจะดูเหมือนเรื่องเล็ก ๆ แต่จะมีส่วนช่วยให้ประเทศของเราเดินหน้าต่อไปได้”