ThaiPublica > สู่อาเซียน > เรียนรู้ “เชียงตุง” จากวัน “กาดเก่า”

เรียนรู้ “เชียงตุง” จากวัน “กาดเก่า”

1 เมษายน 2022


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

บรรยากาศวัน “กาดเก่า” เมื่อ 26 มีนาคม 2565 ซึ่งนอกจากจะได้เดินเลือกซื้อสินค้าที่วางขายแล้ว ผู้มาเที่ยวงานยังมีโอกาสได้ขึ้นไปสักการะกู่เจ้าฟ้าเชียงตุงอีกด้วย ที่มาภาพ: เพจรักเชียงตุง

วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม 2565 คณะกรรมการเมืองเชียงตุงได้จัดงานวัน “กาดเก่า” หรือวัน “กาดเจ้าฟ้า” ขึ้นมาอีกครั้ง หลังต้องหยุดจัดไป 2 ปี เพราะเกิดการระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 และบรรยากาศการเมืองในเมียนมาที่ตึงเครียดจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

ปีนี้ หลายสิ่งหลายอย่างเริ่มทรงตัว บรรยากาศการเมืองในเชียงตุงที่เงียบสงบกว่าหลายพื้นที่ในเมียนมา การระบาดของโควิด-19 ที่แม้ยังไม่อาจเรียกได้เต็มปากว่าปลอดสนิท แต่จำนวนผู้ป่วยที่พบในเชียงตุงจัดอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ คณะกรรมการจึงตัดสินใจฟื้นประเพณีนี้ขึ้น

……

วัน “กาดเก่า” หรือ “กาดเจ้าฟ้า” เป็นประเพณีเก่าแก่ ที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นจุดขายสำคัญด้านการท่องเที่ยวของเชียงตุง ที่ชาวเชียงตุงจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ติดต่อกันมาแล้วกว่า 80 ปี เพื่อระลึกถึงคุณูปการของอดีตเจ้าฟ้าเชียงตุงในอดีต และเป็นการอนุรักษ์วิถีดั้งเดิม อันเป็นอัตลักษณ์เด่นของชาวเชียงตุงไว้ไม่ให้สูญหาย

ที่มาของ “กาดเก่า” หรือ “กาดเจ้าฟ้า” ต้องย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ.1893 ในสมัยที่ “เจ้าเจ็ดพันตู” โอรสของพญาผายู (พ.ศ. 1879-1898) กษัตริย์ลำดับที่ 5 แห่งอาณาจักรล้านนาในราชวงศ์มังราย ได้ขึ้นเป็นเจ้าฟ้าเชียงตุง

เจ้าเจ็ดพันตูได้สร้างคุณูปการไว้แก่เมืองเชียงตุงหลายประการ ทั้งทางด้านศาสนจักรและอาณาจักร

หนึ่งในนั้น คือการดำริให้มีวันกาดหลวงหรือวันตลาดนัดใหญ่ขึ้น เพื่อให้พ่อค้า แม่ค้า เกษตรกร ได้มีโอกาสและสถานที่สำหรับนำสินค้าและผลผลิตของตนมาวางขาย ในบริเวณลานด้านหน้าวัดเจียงจั๋น (วัดเชียงจันทร์) ทางทิศตะวันออกของหอคำหลวงเชียงตุง

ที่มาภาพ: เพจรักเชียงตุง

เจ้าเจ็ดพันตูยังได้ริเริ่มพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก่อนต้องออกเดินทางไปนอกเมืองเชียงตุง ไม่ว่าเพื่อเป็นการปฏิบัติกิจการบ้านเมือง หรือเพื่อทำศึกสงคราม โดยให้ทหาร ข้าราชบริพารทุกคนมารวมตัวทำพิธีกัน ณ ลานหน้าวัดเจียงจั๋น บริเวณเดียวกับถูกใช้เป็นสถานที่จัดกาดหลวง ลานแห่งนี้ต่อมาถูกเรียกชื่อเป็น “ลานแห่งชัยชนะ”

ในหนังสือ “พงศาวดารเมืองเชียงตุง” ซึ่งแปลและเรียบเรียงขึ้นจากปั๊บสาที่จารึกไว้เป็นภาษาขืนโดย “ทวี สว่างปัญญางกูร” ได้เขียนไว้ในตอนหนึ่งว่า เมื่อเจ้าเจ็ดพันตูยังอยู่ที่เชียงใหม่ โหรทำนายว่าท่านจะถึงแก่พิราลัยเมื่ออายุได้ 15 ปี พญาผายูจึงส่งท่านขึ้นมากินเมืองเชียงตุงตั้งแต่อายุยังน้อย เพียง 12 ปี กินเมืองนาน 17 ปี พอถึงอายุ 29 ปี ก็ถูกสังหารโดยข้าเก่าที่ชื่อ “เลาหยอม” ที่ใช้มีดพกแทงท่านจนถึงแก่พิราลัย ในบริเวณที่เป็นกาดหลวงเชียงตุงนั่นเอง

ข้าราชบริพารในเชียงตุงได้นำร่างของเจ้าเจ็ดพันตูฝังไว้ยังลานแห่งชัยชนะ และสร้างหอบูชาเพื่อให้ประชาชนชาวเชียงตุงได้มากราบไว้ ทุกวันนี้ชาวเชียงตุงเรียกหอแห่งนี้ว่า “หอเจ้าหลวงกาด”

นับแต่นั้นมา ในเชียงตุงก็มีประเพณีไหว้หอเจ้าหลวงกาดขึ้น ณ ลานแห่งชัยชนะแห่งนี้ เป็นประจำทุกปี

กระทั่งถึงยุคของเจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง (พ.ศ. 2439-2478) ซึ่งเป็นเจ้าฟ้าที่ได้นำความทันสมัยหลายประการมาสู่เมืองเชียงตุง ในยุคที่เป็นรัฐภายใต้การอารักขาของอังกฤษ

เจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลงเห็นว่ากาดหลวงเดิมที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยเจ้าเจ็ดพันตูนั้น มีขนาดเล็กเกินไปและไม่ถาวร พ.ศ. 2478 ท่านจึงดำริให้สร้างตลาดแห่งใหม่ขึ้นทางทิศใต้ของหอคำหลวงเชียงตุง โดยย้ายพ่อค้า แม่ค้า ทั้งหมดจากกาดหลวงเดิมให้ไปขายยังตลาดที่สร้างขึ้นใหม่

ตลาดแห่งนี้ปัจจุบันคือกาดหลวงเมืองเชียงตุง ตลาดหลักที่ผู้คนทั้งชาวเชียงตุง และนักท่องเที่ยว ต่างต้องไปจับจ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค เมื่อยามที่อยู่ในเชียงตุง

เนื่องจากก่อนหน้านั้น ชาวเชียงตุงมีประเพณีไหว้หอเจ้าหลวงกาดซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีต่อเนื่องมานานนับร้อยปีแล้ว เจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลงเห็นว่า เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรม และวิถีการค้าดั้งเดิมของชาวเชียงตุงไว้ไม่ให้สูญหาย ในแต่ละปี เมื่อถึงวันที่จัดพิธีไหว้หอเจ้าหลวงกาด ก็ให้พ่อค้า แม่ค้า เกษตรกร นำผลผลิตของตนมาตั้งขายในบริเวณซึ่งเคยเป็นที่ตั้งกาดหลวงเก่าด้วย ปีละ 1 วัน

จึงเป็นที่มาของประเพณีวัน “กาดเก่า” หรือ วัน “กาดเจ้าฟ้า” ที่จัดต่อเนื่องมานานกว่า 80 ปี ก่อนต้องหยุดจัดไปชั่วคราวเมื่อ 2 ที่แล้ว

……

วัน “กาดเก่า” กำหนดจัดขึ้นในเดือนมีนาคมของทุกปี ไม่ระบุตายตัวว่าต้องเป็นวันใดวันหนึ่ง โดยแต่ละปี คณะกรรมการเมือง พระเถระชั้นผู้ใหญ่ และผู้อาวุโสของเมืองเชียงตุง จะร่วมกันหาวันที่ฤกษ์ดีที่สุดของเดือนมีนาคม เพื่อจัดเป็นวัน “กาดเก่า”

เมื่อถึงวัน “กาดเก่า” บรรดาพ่อค้า แม่ค้าในกาดหลวงปัจจุบัน ตลอดจนร้านรวงต่างๆทั่วเมืองเชียงตุง พร้อมใจกันปิดร้าน หยุดขาย เพื่อให้พ่อค้า แม่ค้า เกษตรกร นำสินค้าและผลผลิตมาวางขายที่กาดเก่า

ถนนซึ่งถูกใช้จัดงานวัน “กาดเก่า” ยาวตั้งแต่หน้าวัดพระเจ้าหลวงเชียงตุง มาจนถึงประตูป่าแดง ที่มาภาพ: เพจรักเชียงตุ
ที่มาภาพ: เพจรักเชียงตุง
แนวถนนเซตานหลวง ซึ่งใช้เป็นสถานที่จัดงานวัน “กาดเก่า”

ตลอดแนวถนนเซตานหลวง จากด้านหน้าวัดพระเจ้าหลวงเชียงตุง (วัดมหาเมียตมุนี) ยาวไปถึงประตูป่าแดง มีพ่อค้า แม่ค้า เกษตรกร นำสินค้าและผลผลิตมาวางขาย ชาวเชียงตุง คนต่างเมือง ตลอดจนนักท่องเที่ยว สามารถเดินชม และเลือกซื้อสินค้าได้ตามใจชอบ

แต่สำคัญที่สุด การมาเดินเที่ยวชมตลาดในวัน “กาดเก่า” นอกจากได้เดินซื้อสินค้า ดูวิถี วัฒนธรรม ประเพณีของชาวเชียงตุงแล้ว ยังมีโอกาสได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เรื่องราวต่างๆของเมืองเชียงตุง ผ่านสถานที่ซึ่งตั้งอยู่ตามรายทางที่ถูกจัดเป็นกาดเก่า

  • วัดพระเจ้าหลวงเชียงตุง วัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่บริเวณใจกลางเมืองเชียงตุง เพิ่งมีพิธีทำบุญในวาระครบรอบ 100 ปีไปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565
  • วัดเจียงจั๋น ที่มีอายุมากกว่า 6 ศตวรรษ ภายในเต็มไปด้วยพระพุทธรูปตามแนวศิลปะ “ขืน” ภาพวาดบนผนังในวิหาร เต็มไปด้วยเรื่องราวทางพุทธศาสนา และวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวเชียงตุง
  • ประตูป่าแดง 1 ใน 12 ประตูเมืองเชียงตุง ทางทิศบูรพา(ตะวันออก) ซึ่งถูกสร้างมาแล้วประมาณ 200 ปี และเป็น 1 ใน 2 ประตูเมืองที่ยังคงสภาพเดิมอยู่ โดยอีกแห่งหนึ่งคือประตูหนองผา ประตูเมืองทางทิศอุดร (เหนือ)

  • ประตูป่าแดง ที่มาภาพ: เพจรักเชียงตุง

    อีก 2 สถานที่สำคัญที่บอกเล่าความเป็นมาของเชียงตุงได้อย่างดี ได้แก่ “กู่เจ้าฟ้าเชียงตุง” และอนุสาวรีย์ “เจ้าฟ้ามหาขนาน”

    กู่เจ้าฟ้าเชียงตุง เป็นที่ตั้งของเจดีย์บรรจุอัฐิของเจ้าฟ้าเชียงตุง 9 องค์สุดท้าย ก่อนระบอบเจ้าฟ้าต้องถูกยกเลิกไป เมื่อนายพลเนวินปฏิวัติพม่าใน พ.ศ. 2505 และนำพม่าเข้าสู่การปกครองระบอบเผด็จการทหารต่อเนื่องยาวนานเกือบ 50 ปี

    กู่เจ้าฟ้าเชียงตุงอยู่ตรงข้ามวัดเจียงจั๋น ซึ่งเป็นที่ตั้งของกาดหลวงเก่า ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกเพื่อบรรจุอัฐิของเจ้าฟ้ามหาขนาน ซึ่งถึงแก่พิราลัยเมื่อ พ.ศ. 2400 จากนั้นได้กลายเป็นสถานที่สำหรับบรรจุอัฐิของเจ้าฟ้าอีก 8 องค์ ที่ได้ขึ้นปกครองเชียงตุงต่อมาในภายหลัง

    เจ้าฟ้ามหาขนานถือเป็นกษัตริย์นักรบผู้มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อเชียงตุง ท่านยืนหยัดต่อสู้ ทำศึกสงครามหลายครั้ง เพื่อให้เชียงตุงดำรงอยู่และคงไว้ซึ่งความเป็นเมืองของชาว “ขืน”

    ท่านเป็นผู้สร้างประตูเมืองเชียงตุง สร้างวัดวาอารามหลายแห่ง และเป็นผู้วางระบบการศึกษายุคใหม่ให้แก่พระสงฆ์ในเชียงตุง

    ที่สำคัญท่านเป็นผู้นำอักษรธรรมล้านนามาพัฒนา สร้างขึ้นเป็นตัวอักษรภาษาขืน ซึ่งถูกใช้เป็นภาษาหลักของชาวขืนในเชียงตุง มาจนถึงทุกวันนี้

    ด้านหน้าลานอนุสาวรีย์เจ้าฟ้ามหาขนาน ที่มาภาพ: เพจรักเชียงตุง

    เนื้อหาต่อจากนี้เป็นประวัติเจ้าฟ้ามหาขนาน ที่สรุปความจากคลิปเสียง ซึ่งพระมหาแสงแดง พระนักเทศน์ที่ชาวเชียงตุงเคารพศรัทธา ได้อ่านเป็นภาษาขืนและบันทึกไว้ในเพจ Light of Wisdom Foundation…

    เจ้าฟ้ามหาขนาน หรือ “เจ้าฟ้าหลวงเขมรัฐ มหาสีงหะ บวรสุธรรมราชาธิราช” เกิดใน พ.ศ. 2324 เป็นบุตรเจ้าเมืองสาม และเป็นอนุชาของเจ้าฟ้ากองไต

    เมื่อยังเล็ก เจ้ามหาขนานมีชื่อว่าเจ้าดวงแสง และเข้าบวชเรียนในพระพุทธศาสนา

    ยามนั้น เชียงตุงตกอยู่ท่ามกลางศึกสงคราม ทั้งศึกกับพม่า ศึกเชียงใหม่ และกรุงเทพ ที่หวังยึดครองเชียงตุง เจ้าดวงแสงได้สึกจากพระมาช่วยเจ้ากองไตผู้เป็นเชษฐาสู้รบกับฝ่ายต่างๆ ด้วยความกล้าหาญ

    ผู้คนทั้งหลายได้รู้จักท่านในนามเจ้ามหาขนาน เพราะท่านเป็นทั้งผู้มีความรู้ในทางศาสนา และเป็นนักรบที่เก่งกล้า เหล่าเสนาอำมาตย์และชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลายต่างให้การยอมรับ

    เมื่อเจ้ากองไตได้ขึ้นเป็นเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุง ใน พ.ศ. 2344 ตรงกับช่วงเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมืองของล้านนา ทางเชียงใหม่ได้ยกรี้พลขึ้นมาเกลี้ยกล่อมเจ้าฟ้ากองไตให้โยกย้ายไพร่พลไปอยู่เมืองเชียงใหม่ เจ้าฟ้ากองไตยินยอมนำบุตร ธิดา ข้าราชบริพารย้ายลงไปอยู่เชียงใหม่ แต่ตัวเจ้าฟ้ากองไตได้ขอไปอยู่ที่เชียงแสน

    มีเพียงเจ้ามหาขนานที่มิได้ย้ายตามลงมาด้วย ยังคงอยู่รักษาเมืองเชียงตุง และทำศึกกับพม่าต่อเนื่องไปอีก 11-12 ปี แต่ไม่สามารถเอาชนะได้

    ในที่สุดเชียงตุงได้ตกไปอยู่ใต้อิทธิพลของพม่า

    เจ้ามหาขนานได้นำพาไพร่พลลงมาอยู่กับเจ้ากองไตที่เชียงแสน

    ทางเชียงใหม่เมื่อทราบข่าว ต้องการให้เจ้ามหาขนานไปอยู่เชียงใหม่ ท่านไม่ยินยอม เพราะเห็นว่าถ้าไปอยู่ยังเชียงใหม่แล้ว ชนชาติและวัฒนธรรมขืนจะสูญหาย ท่านจึงตัดสินใจกลับขึ้นไปเชียงตุงอีกครั้ง

    พ.ศ. 2358 กษัตริย์พม่าที่กรุงอังวะได้เกลี้ยกล่อมเจ้ามหาขนาน พร้อมแต่งตั้งให้เจ้ามหาขนานให้ขึ้นเป็นเจ้าฟ้าเชียงตุง ได้ชื่อว่า “เจ้าฟ้าหลวงเขมรัฐ มหาสีงหะ บวรสุธรรมราชาธิราช”

    พ.ศ. 2362 เชียงตุงอยู่ในความสงบร่มเย็น ไม่มีศึกสงครามใดๆ เจ้าฟ้ามหาขนาน ได้เริ่มพัฒนาเมืองเชียงตุง สร้างประตูเมือง วัดวาอาราม และวางระบบการศึกษาให้กับพระสงฆ์

    ท่านได้นำอักษรธรรมล้านนามาพัฒนาสร้างขึ้นเป็นภาษาขืน และได้ถูกใช้เป็นภาษาหลักของชาวเมืองเชียงตุงมาจนถึงทุกวันนี้

    เจ้าฟ้ามหาขนานเป็นเจ้าฟ้าเชียงตุงได้ 44 ปี สร้างบ้านแปงเมือง รักษาเชื้อชาติ วัฒนธรรม ภาษาขืนให้คงอยู่ รวมถึงทนุบำรุงพุทธศาสนาในเชียงตุงให้เจริญรุ่งเรือง

    ท่านถึงแก่พิราลัยเมื่อแรม 11 ค่ำ เดือน 8 พ.ศ. 2400 สิริอายุได้ 76 ปี…

    อนุสาวรีย์ครึ่งตัวของเจ้าฟ้ามหาขนาน ที่ประดิษฐานไว้ด้านหน้าประตูป่าแดง

    กู่เจ้าฟ้าเชียงตุงประกอบด้วยเจดีย์ 9 องค์ แต่ละองค์บรรจุอัฐิของเจ้าฟ้าแต่ละท่าน รวมถึงมีจารึกเนื้อหาบอกเล่าประวัติของเจ้าฟ้าองค์นั้น เริ่มจาก

    องค์ที่ 1 บรรจุอัฐิเจ้าฟ้ามหาขนาน

    องค์ที่ 2 บรรจุอัฐิเจ้าหนานมหาพรหม โอรสองค์โตของเจ้าฟ้ามหาขนาน

    องค์ที่ 3 บรรจุอัฐิเจ้าน้อยแก้ว ซึ่งขึ้นเป็นเจ้าฟ้าเชียงตุงได้เพียงปีเดียวก็ถึงแก่พิราลัย

    องค์ที่ 4 บรรจุอัฐิเจ้ากองไต หรือเจ้าฟ้าเจียงแขง โอรสของเจ้าฟ้ามหาขนาน

    องค์ที่ 5 บรรจุอัฐิเจ้ากองคำฟู โอรสของเจ้ากองไต หลานของเจ้าฟ้ามหาขนาน

    องค์ที่ 6 บรรจุอัฐิเจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง อนุชาเจ้ากองคำฟู หลานของเจ้าฟ้ามหาขนาน เป็นกู่ที่มีความสวยงามโดดเด่นที่สุด เพราะถูกสร้างขึ้นโดยนายช่างชาวอินเดีย

    องค์ที่ 7 บรรจุอัฐิเจ้ากองไต โอรสของเจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง ซึ่งถูกลอบยิงจนถึงแก่พิราลัย

    องค์ที่ 8 บรรจุอัฐิเจ้าพรหมลือ อนุชาของเจ้ากองไต

    องค์ที่ 9 บรรจุอัฐิเจ้าจายหลวง โอรสของเจ้ากองไต และเป็นเจ้าฟ้าองค์สุดท้ายของเชียงตุง

    ……

    พิธีทำบุญถวายทานที่เรียกว่า“ตานคาวสี่เผิน”ซึ่งจัดขึ้นในตอนเช้าของวันที่ 26 มีนาคม 2565 “ตานคาวสี่เผิน”คือการถวายภัตตาหารที่บรรจุไว้บน“เผิน”หรือภาชนะลักษณะคล้ายกับโตกของล้านนา แด่พระภิกษุสงฆ์เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับอดีตเจ้าฟ้า เทวดา อารักษ์ ที่คอยปกป้องเมืองเชียงตุง ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก “จายหลวงเชียงตุง” https://www.facebook.com/kyawyemyint.aung.9

    วันที่ 9 มิถุนายน 2563 กลุ่มอนุรักษ์ประวัติศาสตร์มรดกวัฒนธรรมเมืองเชียงตุง ได้จัดพิธีสงฆ์เพื่อเริ่มขั้นตอนการประดิษฐานอนุสาวรีย์เจ้ามหาขนาน ณ ลานด้านหน้าวัดเจียงจั๋น ตรงข้ามกู่เจ้าฟ้าเชียงตุง

    กลุ่มอนุรักษ์ประวัติศาสตร์มรดกวัฒนธรรมเมืองเชียงตุง ให้ช่างจากมัณฑะเลย์เป็นผู้สร้างอนุสาวรีย์เจ้าฟ้ามหาขนานขึ้น 2 องค์ กำหนดจุดประดิษฐานไว้ 2 แห่ง

    จุดแรก ด้านหน้าประตูวัดป่าแดง เป็นรูปแกะสลักครึ่งตัว มีพิธีประดิษฐานเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563

    จุดที่สอง ที่ลานด้านหน้าวัดเจียงจั๋น ตรงข้ามกู่เจ้าฟ้าเชียงตุง ที่ตั้งของกาดหลวงเก่าเชียงตุง และเป็นสถานที่จัดงานวัน “กาดเก่า” เป็นรูปหล่อเต็มตัวขนาดความสูง 9 ฟุต ฐานกว้าง 8 ฟุต มีแท่นจารึกประวัติเจ้าฟ้ามหาขนานไว้ 4 ภาษา ได้แก่ภาษาขืน ภาษาไทใหญ่ ภาษาพม่า และภาษาอังกฤษ มีพิธีประดิษฐานเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563

    ……

    ปัจจุบัน เยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในเชียงตุงหลายคนกำลังพยายามรณรงค์ รื้อฟื้นความเป็น “ขืน” ให้แพร่หลายอีกครั้ง เยาวชนกลุ่มนี้แสดงตัวตนผ่านทางเสื้อผ้าที่สวมใส่ บางคนเคยมาเรียนอยู่ในเชียงใหม่ ทุกคนช่วยเผยแพร่เนื้อหาที่เป็นเรื่องราวในแง่มุมต่างๆ ของเชียงตุงผ่านทางสื่อออนไลน์

    หากมองจากภาพข่าวที่ปรากฏ หลายคนอาจเข้าใจเพียงว่า งานวัน “กาดเก่า” หรือ “กาดเจ้าฟ้า” คือตลาดนัดที่เปิดโอกาสให้พ่อค้า แม่ค้า เกษตรกร สามารถนำสินค้า และผลผลิตของตนมาวางขายได้ในวาระพิเศษ

    แต่ความจริงแล้ว ประเพณีวัน “กาดเก่า” มีความหมายที่กว้างไกลไปกว่านั้น!

    การฟื้นประเพณีวัน “กาดเก่า” ขึ้นมาอีกครั้งของคณะกรรมการเมืองเชียงตุง นอกจากผู้ที่มาเดินเที่ยวงาน จะได้จับจ่าย เลือกซื้อสินค้าภายใต้บรรยากาศและวิถีดั้งเดิมของเชียงตุงแล้ว

    ยังเป็นโอกาสที่เปิดให้ชาวเชียงตุงและทุกคนที่มาเดินเที่ยวชมงาน สามารถศึกษา เรียนรู้เรื่องราวของเชียงตุงจากสถานที่สำคัญต่างๆที่มีอยู่ตลอดแนวเส้นทาง และยังมีโอกาสได้กราบไหว้กู่บรรจุอัฐิของอดีตเจ้าฟ้าหลายพระองค์ ผู้ที่มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อเชียงตุง…