ThaiPublica > คอลัมน์ > คนมีโชคเพราะโชคดีหรือ

คนมีโชคเพราะโชคดีหรือ

16 มีนาคม 2022


วรากรณ์ สามโกเศศ

ที่มาภาพ : https://www.psychologytoday.com/intl/contributors/gina-vild

“ขอให้โชคดี” “หมานๆๆ” “โชคดีนะเพื่อน” ข้อความที่พูดเพื่อขอให้มีโชคนี้ได้ยินกันทุกวันเนื่องจากเชื่อว่าการมีโชคเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมจนต้องให้พรกัน อย่างไรก็ดี มีนักวิชาการในโลกตะวันตกเชื่อว่าการมีโชคอยู่ในการควบคุมโดยขึ้นอยู่กับทัศนคติ ความเชื่อ อุปนิสัย และพฤติกรรมของบุคคล

ความโชคดีเป็นสิ่งที่มนุษย์พร่ำหามาตลอดประวัติศาสตร์ เมื่อ 4-5 พันปีก่อนคนอียิปต์โบราณใช้ซากแมลงปีกแข็งเป็นเครื่องรางของขลังเพราะเชื่อว่าจะนำมาซึ่งความโชคดี สังคมตะวันตกนิยมใช้ขากระต่ายเล็กๆ เป็นตัวนำโชค ไม่ว่าจะแขวนไว้ที่กระจกรถหรือใช้เป็นพวงกุญแจ ความนิยมนี้มีอยู่ในวัฒนธรรมจีนด้วยเพราะเชื่อว่าจะนำมาซึ่งการมีลูกดก คนไทยนั้นยิ่งแล้วใหญ่ แขวนพระกันเพื่อคุ้มครองป้องกันภัย ให้มีโชคลาภ เกิดเมตตามหานิยม และอีกสารพัด ซึ่งล้วนแล้วก็เพื่อให้มีโชคทั้งสิ้น

ในปัจจุบันนักวิชาการศึกษาสังคมเชื่อว่าโชคมิได้เกิดอย่างสุ่มๆ อย่างคาดคะเนไม่ได้ และอย่างอธิบายไม่ได้ หากการมีโชคเป็นผลพวงจากการเปิดกว้างต่อประสบการณ์ใหม่ๆ และความกล้าที่จะเสี่ยง Stephen Mark ได้พบจากการศึกษาว่า คนที่มองตนเองว่าเป็นคนโชคดีมีทางโน้มที่จะมีพฤติกรรมแตกต่างอย่างมากจากคนที่มองว่าชีวิตของตนเองประสบแต่ความไร้โชค คนโชคดีมีพฤติกรรมร่วมกันคือมักมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เคยทำอยู่เป็นประจำ หาสิ่งแวดล้อมใหม่ และเข้าสังคมกับคนอื่นๆ อย่างกว้างขวางเสมอ มีความคิดในด้านบวก มีทัศนคติที่ดีต่อการกระทำสิ่งใหม่ๆ ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ และเกิดความกระตือรือร้นที่จะหาประโยชน์

พูดง่ายๆ ก็คือ การเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่ทำอยู่เป็นประจำทำให้มีโอกาสพบสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น เป็นการเปิดตัวเองให้มีโอกาสต่างๆมากยิ่งขึ้น เกิดศักยภาพสูงขึ้นที่จะได้รับสิ่งดีๆ ซึ่งก็คือการเปิดประตูรับโชคนั่นเอง

Richard Wiseman นักวิชาการอีกคนหนึ่งซึ่งเริ่มชีวิตด้วยการเป็นนักเล่นกลอาชีพ และมีโชคได้เรียนหนังสือสูงขึ้นจนเป็นนักวิชาการมีชื่อเสียง เห็นว่าการมีโชคหรือการไร้โชคโดยพื้นฐานแล้วถูกกำหนดโดยอุปนิสัยของคน เขามีทฤษฎีว่าคนมีโชคมักมีทางโน้มเป็นคนประเภทมีบุคลิกเปิดเผย (extrovert) ซึ่งมักเกี่ยวพันกับการกระทำหลากหลายเรื่องจนทำให้มีศักยภาพสูงขึ้นในการได้รับผลลัพธ์ในด้านบวกหรือโชคนั่นเอง

สำหรับคนอับโชคนั้นมีทางโน้มที่จะเป็นคนเครียด มีความกระวนกระวายใจมากกว่าคนมีโชค เนื่องจากอุปนิสัยทำให้มีความสามารถในการมองเห็นโอกาสต่างๆ น้อยกว่าจนมีความสามารถในการหาประโยชน์จากมันได้น้อยกว่าตามไปด้วย คนอับโชคมักมองโลกในด้านลบ ดังนั้นจึงมักมองประสบการณ์ที่ได้รับไปในด้านลบ และมักคิดสงสารตนเองที่มีแต่ความผิดหวังอยู่เสมอ

นักวิชาการศึกษาสังคมพบว่า เมื่อคนมีโชคประสบโชคร้าย หรือไม่ได้รับผลลัพธ์ตามที่ต้องการ มักรักษาการมองโลกในด้านดีไว้ และสู้กับสิ่งไม่พึงปรารถนาที่เกิดขึ้นโดยใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ตนเองมี พวกเขามีทางโน้มที่จะเป็นพวกมองเห็นน้ำเต็มครึ่งแก้ว (แทนที่จะเห็นว่าเป็นน้ำที่เหลืออยู่เพียงครึ่งแก้ว) และพร้อมที่จะรับมือกับความล้มเหลวและเรียนรู้จากมันเสมอ

Wiseman ทดสอบทางจิตวิทยากับผู้เข้าร่วมศึกษาโดยให้บรรยายความรู้สึกหากถูกยิงขณะมีการปล้น กลุ่มคนมองโลกในแง่ดี (พวกมองเห็นน้ำเต็มอยู่ครึ่งแก้ว) บรรยายว่าเป็นความโชคดีที่ไม่ถึงกับตาย ส่วนพวกมองโลกด้านร้าย (พวกมองเห็นน้ำเหลืออยู่เพียงครึ่งแก้ว) มองว่าตนเองตกเป็นเหยื่อและโชคร้ายที่ถูกยิง

Wiseman ศึกษาวิจัยเรื่องโชคเป็นเวลา 10 ปี กับคนอายุระหว่าง 18-84 ปี รวม 400 คนทั้งหญิงและชายจากหลากหลายอาชีพและพื้นฐานชีวิต ผลการศึกษายืนยันว่าคนมีโชคมีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้เกิดผลลัพธ์ตามที่ตนเองต้องการ สรุปอุปนิสัยของคนมีโชคมีดังนี้ (1) ตื่นตัวกับโอกาส และความเป็นไปได้ มีความสามารถในการสร้างโอกาสและมองเห็นโอกาสที่เกิดขึ้นเสมอ (2) ไว้วางใจสัญชาตญาณของตนเองและลงมือปฏิบัติ (3) ลงมือทำตามเป้าหมายในชีวิตของตนเอง (4) มีทัศนคติที่ยืดหยุ่นและพร้อมที่จะสู้ให้ฟื้นตัวกลับได้ (resilient attitude) กล่าวคือ ยอมรับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาและสู้กับความผิดหวังและวิกฤติการณ์ และหาประโยชน์จากความโชคร้ายที่มาเยือน

ทั้งหมดนี้สามารถเอามาสรุปเพื่อหาทางเพิ่มความมีโชคได้ดังต่อไปนี้

(1) พูดว่า “ทำไมถึงจะไม่ใช่ฉันล่ะ” เมื่อความโชคร้ายมาเยือน อย่าโวยวายว่า “ทำไมถึงต้องเป็นฉันล่ะ” จงยอมรับว่ามันเป็นบทเรียนชีวิต คนมีโชคมักมีวิธีคิดที่ลดความร้ายแรงของโชคร้าย โดยคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอาจเลวร้ายกว่านี้ก็ได้ ที่เกิดขึ้นแค่นี้นับว่าเป็นโชคแล้ว

(2) ขยายวงสังคม มีเพื่อนใหม่มากขึ้น มีสังคมที่กว้างขึ้น เช่น เป็นอาสาสมัคร เล่นกีฬา มีงานอดิเรก พบปะพูดจากับผู้คนหลากหลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม การพบคนใหม่ๆ จะทำให้ตนเองเปิดกว้างกับความคิดใหม่ๆ และประสบการณ์ใหม่

(3) ตอบรับบ่อยขึ้น ตอบรับ คำเชิญที่อยู่นอก “comfort zone” (พื้นที่คุ้นเคยที่ทำให้สบายใจ) และทดลองสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารใหม่ สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ฯลฯ

(4) ยิ้ม คนไทยรู้จักดีและทำกันเป็นประจำมายาวนาน มันเป็นประตูไปสู่มิตรภาพเสมอ การยิ้มทำให้เกิดความสุขทั้งผู้ยิ้มและผู้รับ

วัตถุดิบในวันนี้ได้มาจากข้อเขียนของ Gina Vild เรื่อง“How to Improve Your Luck” ในนิตยสารPsychology Today เดือนกุมภาพันธ์ 2022 ตอนท้ายบทความ ผู้เขียนอ้าง Tennessee Williams นักเขียนมีชื่อชาวอเมริกัน ที่เคยกล่าวไว้ว่า “Luck is believing you’re lucky.” (การมีโชคมาจากการเชื่อว่าตนเองเป็นคนโชคดี) เพื่อสรุปว่าความมีโชคมิได้เกิดขึ้นนอกการควบคุม หากขึ้นอยู่กับความเชื่อ ทัศนคติและอุปนิสัยของบุคคลนั้นๆ

อย่างไรก็ดี หลายคนอาจเห็นว่าสิ่งที่พบเชิงวิชาการนี้เป็นจริงในระดับหนึ่งเท่านั้นเอง การมีโชคขึ้นอยู่กับความบังเอิญและสิ่งที่อธิบายไม่ได้อีกมาก เช่น จากการพบคนบางคน หรือจากการได้ยิน หรือการได้อ่าน หรือการรับทราบข้อมูลบางอย่างในจังหวะซึ่งนำไปสู่โชค แต่บางคนอาจโต้ว่าการได้พบสิ่งต่างๆ ตามที่กล่าวมานี้ก็ล้วนเป็นผลพวงจากสิ่งที่นักวิชาการเหล่านี้ได้กล่าวถึงไว้คือให้พยายามเปิดกว้างให้ตนเองได้พบปะผู้คน พบสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ เพื่อเปิดประตูรับโชคมิใช่หรือ

ไม่ว่าจะเชื่อว่า “คนโชคดีเพราะทำตัวให้โชคดี” หรือ “คนโชคดีเพราะบังเอิญมีโชค” ก็ตามความจริงของการมีโชคอาจอยู่กึ่งๆ ระหว่างสองประโยคนี้ก็เป็นได้ โอเค ดังนั้นเราจงปรับตัวกันเพื่อให้เกิดโชคตามคำแนะนำของงานวิจัยของโลกตะวันตกพร้อมกับอธิษฐานและแขวนพระกันต่อไปครับ

หมายเหตุ :ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 1 มี.ค. 2565