ThaiPublica > เกาะกระแส > กรมวิชาการเกษตร พัฒนาวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ “พลูคาว” ต่อยอดพืชเศรษฐกิจในอนาคต

กรมวิชาการเกษตร พัฒนาวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ “พลูคาว” ต่อยอดพืชเศรษฐกิจในอนาคต

9 กุมภาพันธ์ 2022


พลูคาว

สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร พัฒนาวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ “พลูคาว” ให้ปลอดโรคต้นกล้าแข็งแรงทนทาน ใส่สูตรสารอาหารกระตุ้นสารสำคัญที่เป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อาหารเสริม เล็งยกระดับเป็นพืชเศรษฐกิจ พัฒนาสินค้าต้นแบบใช้พลูคาวเป็นส่วนผสมอาหารสร้างมูลค่าเพิ่ม

นางสาวมัลลิกา แก้ววิเศษ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่าสำนักวิจัยฯ ศึกษา นำเทคโนโลยีชีวภาพการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไปช่วยในการเพาะต้นกล้า เพื่อช่วยให้เกษตรกรได้ต้นกล้าที่ปลอดโรค แข็งแรง ล่าสุดนางสาววรารัตน์ ศรีประพัฒน์ นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการพบว่าพลูคาวเป็นพืชที่มีศักยภาพ สามารถนำไปต่อยอดสร้างรายได้ อีกทั้งศึกษาสูตรอาหารที่เหมาะสมในการกระตุ้นให้ต้นพลูคาวสร้างสารสำคัญเพิ่มขึ้น เพื่อประโยชน์ในอุตสาหกรรม จึงได้ศึกษาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพลูคาว

ด้านนางสาววรารัตน์ กล่าวว่า ได้ทำการวิจัยพลูคาว ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกได้ทางภาคเหนือเนื่องจากมีข้อมูลจากต่างประเทศระบุว่า มีพฤกษเคมี หรือสารสำคัญหลายชนิดที่มีความน่าสนใจทางการแพทย์ เช่น ฟลาโวนอยด์ สเตอรอล แอลคาลอยด์ กรดอินทรีย์ กรดไขมัน กรดอะมิโน และน้ำมันหอมระเหย ซึ่งฟราโวนอยด์ พบอยู่ใน เคอร์ซิตริน และรูติน ที่สกัดได้จากพลูคาว สามารถนำไปเป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อาหารเสริม

โดย สาร “เคอร์ซิตริน” มีส่วนช่วยลดริ้วรอย ทำให้ผิวพรรณอ่อนเยาว์ ต้านอนุมูลอิสระ มีผลต่อการลดการตายของเซลผิวจากรังสี UVB และสามารถลดจำนวนโปรโตซัว ในเชื้อโรคที่มีแมลงเป็นพาหะได้ 50% ส่วน “รูติน” พบมากในพืชหลายชนิด เช่น แอปเปิล ชาดำ หน่อไม้ฝรั่ง หัวหอม ชาเขียว ผลไม้รสเปรี้ยว สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลมะเร็ง Anti Cancer ใช้ในเครื่องสำอาง และเป็นอาหารเสริม มีสารลดการเกิดอัลไซเมอร์ Anti Alzheimer และโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) จึงเริ่มศึกษาสาร 2 ชนิดนี้เป็นการเฉพาะ

“แต่เนื่องจากการปัญหาการใช้ต้นพันธุ์จากแหล่งที่มีการสะสมของเชื้อโรค เช่น เชื้อรา โรคแอนแทรก โรคใบจุด ใบไหม้ ทำให้เกิดการกระจายของเชื้อรา เกษตรกรผลิตพลูคาวได้ปริมาณและคุณภาพลดลง จึงต้องหาแนวทางในการจัดการโรค นำเทคโนโลยีชีวภาพการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไปช่วยในการเพาะปลูก เพิ่มสารกระตุ้น เคอร์ซิติน และรูติน เข้าไปในสูตรอาหารเพาะเลี้ยง เพื่อให้ต้นกล้าพันธุ์ที่แข็งแรงได้สารสำคัญสูง เป็นการเพิ่มมูลค่า” นางสาวมัลลิกากล่าว

ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นศึกษาเฟสแรกในการเพาะเนื้อเยื่อ โดยมีแผนแจกต้นกล้าพลูคาวปลอดโรค ที่ได้จากการวิจัยนี้ให้กับเกษตรกรปีนี้ 50 ต้น และแจก 100 ต้นในปีหน้า มีแผนนำองค์ความรู้ไปเผยแพร่ผ่านสถาบันวิจัยพืชสวน จ.เชียงราย ที่นี่มีฐานเกษตรกรเพาะเลี้ยงพลูคาวอยู่แล้ว โดยจะนำต้นกล้าปลอดโรคไปแจกให้เกษตรกลุ่มนี้ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพและผลผลิตดีขึ้น อย่างไรก็ตามถ้ามีงานวิจัยรองรับมากกว่านี้ พลูคาวอาจเป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคต นำไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม


พร้อมกันนี้มีโครงการวิจัยสร้างมูลค่าเพิ่มจากพลูคาว โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นสินค้าต้นแบบ เนื่องจากพลูคาวมีกลิ่นคาว จึงต้องนำไปแปรรูปอบให้กลิ่นจางลงเพื่อใช้เป็นส่วนผสมของขนม ทำคุกกี้ นมอัดเม็ด มีทั้งโปรตีนและสารสำคัญ หรือทำเป็นพลูคาวฟรีซดราย นำมาแจกให้กลุ่มเกษตรกร ภาคเอกชน นำไปต่อยอดสร้างมูลค่าให้กับสินค้า

ส่วนผลงานวิจัยเพาะต้นกล้าสมุนไพรอื่นๆ อาทิ ฟ้าทะลายโจร เป็นการบูรณาการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขปรับปรุงพันธุ์ที่มีสารแลคโตน (lactone) สูงได้ 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์พิจิตร 4-4 และพันธุ์พิษณุโลก 5-4 นำต้นกล้ามอบให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ แจกให้เกษตรกรปลูกสร้างรายได้เพื่อนำมาพัฒนาเป็นยาต้านโควิด-19 นอกจากนี้ อยู่ระหว่างศึกษาพืชชนิดอื่นที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดในการรักษาโควิด-19 หรือรักษาโรคอื่นได้อีก เช่น ขมิ้นชัน

ในส่วนของกัญชา อยู่ในช่วงพัฒนางานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เอาเทคนิคไปตรวจสอบพัฒนาพันธุ์และสกัดสาร รวมถึงเทคนิคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อให้ได้พันธุ์กัญชาที่มีสารสำคัญ ซึ่งกระบวนการค่อนข้างล่าช้าเพราะยังติดกฎหมายสารเสพติด การปลูกหรือทดลองต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีการตรวจสอบสถานที่ทดสอบ ให้ผู้มีหน้าที่เท่านั้นสามารถเข้าออกบริเวณดังกล่าวได้ ขณะนี้ผ่านขั้นตอน อย.แล้ว อยู่ระหว่างการวางระบบ เริ่มเพาะเนื้อเยื่อ และหากกฎหมายเปิดช่องก็จะผลิตแจกเกษตรกรเหมือนฟ้าทะลายโจร ขณะนี้มีบางหน่วยขออนุญาต อย.ผ่านแล้ว เช่น ที่จ.สกลนคร และทางภาคเหนือ