ThaiPublica > สัมมนาเด่น > จาก SDGs ถึง COP21 ทิศทางและความท้าทายของธุรกิจไทย: โลกกำลังไปสู่จุดที่เรียกว่า result-oriented

จาก SDGs ถึง COP21 ทิศทางและความท้าทายของธุรกิจไทย: โลกกำลังไปสู่จุดที่เรียกว่า result-oriented

6 กรกฎาคม 2016


เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย และสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ร่วมจัดประชุมระดมความคิดเห็น “ร่วมมือกันผลักดันสู่เป้าหมาย” เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและยุติความยากจน “Mobilizing Collective Action” to achieve the SDGs of a “Zero Carbon, Zero Poverty” world

(จากซ้ายไปขวา)นายศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)นางสุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ (ประเทศไทย) จำกัด  น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด
(จากซ้ายไปขวา)นายศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)นางสุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ (ประเทศไทย) จำกัด น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

ในงานมีการจัดวงเสวนาเรื่อง “จาก SDGs ถึง COP21 ทิศทางและความท้าทายของธุรกิจไทย” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นางสุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย และนางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

โลกกำลังไปสู่จุดที่เรียกว่า result-oriented

นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ ป่าสาละ จำกัด กล่าวว่า Sustainable Development Goals (SDGs) เป็นทิศทางการพัฒนาใหม่ ถือว่ามาแทนหรืออีกแง่คือการต่อยอดจาก Millennium Development Goals (MDGs) ที่สิ้นสุดไปเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา SDGs จึงกลายเป็นเป้าหมายใหม่

“ถือว่าเป็นแนวโน้มที่น่าตื่นเต้น เพราะว่าถ้าย้อนกลับไปที่ MDGs ประเทศที่ได้รับการกล่าวขานว่าอยู่ในประเทศรายได้ปานกลาง ก็อาจจะรู้สึกว่าเราอาจจะเกี่ยวหรือไม่ค่อยเกี่ยว เพราะเป็นเรื่องของการมุ่งเน้นเรื่องการแก้ปัญหาความยากจนเรื้อรัง เรื่องของการทำอย่างไรให้คนมีสุขภาพดีขั้นพื้นฐาน อัตราการรู้หนังสือ เป็นปัญหาใหญ่ที่ประเทศด้อยพัฒนาหรือประเทศยากจนประสบค่อนข้างเยอะ ก็จะคิดว่า แล้วประเทศปานกลางจะอย่างไร แต่พอมาเป็น SDGs ก็เป็นที่ชัดเจนว่าเป็นเรื่องของทุกๆ คน เพราะจะเพิ่มประเด็นเรื่องลดปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีเรื่องการส่งเสริมการผลิต-การบริโภคที่ยั่งยืน คือพ้นไปจากมุมมองว่าเป็นปัญหาพื้นฐานแล้ว จึงคิดว่าเป็นทิศทางการพัฒนาที่ประเทศมีส่วนร่วมมากขึ้น”

ต่อคำถามว่าเป้าหมายใหม่นี้จะเดินหน้าไปได้แค่ไหน นางสาวสฤณีให้ความว่า โดยส่วนตัวนั้นตนเห็นว่า SDGs อยู่ในระหว่างการพัฒนาตัวชี้วัดในแต่ละด้านทั้ง 17 ข้อ ซึ่งมีความหลากหลายมาก ขณะนี้ยังไม่มีตัวชี้วัดที่เป็นทางการ มีเพียงเอกสาร และความคิดริเริ่ม

ทั้งนี้ ได้ยกตัวย่างประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) ว่ากลุ่มดังกล่าวได้สร้างตัวชี้วัดที่เรียกว่า SDGs Dashboard เป็นแผงหน้าปัดเพื่อดูว่าใน 17 ข้อ จะวัดจากอะไร ใช้ตัวเลขอะไร ในแต่ละเรื่องได้พยายามจะแบ่งระดับ ดีมาก-สีเขียว, ปานกลาง-สีเหลือง และค่อนข้างแย่หรือต่ำกว่ามาตรฐาน-สีแดง จึงใช้ Dashboard ของ OECD มาตั้งต้น เพราะท้ายที่สุดตัวชี้วัดคงมีรูปร่างประมาณนี้(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ยูนิลีเวอร์-สฤณี

ยูนิลีเวอร์-สฤณี1

หากใช้เกณฑ์ดังกล่าวกับประเทศไทย บางเรื่องค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะอยู่ในแถบสีเหลือง หรือเหลืองเกือบจะตกแดง หรือแดงไปเลย เช่น เป้าหมายที่ 7 เรื่องพลังงาน ซึ่งพลังงานเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความยั่งยืนหรือไม่ยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม จากเปอร์เซ็นต์การใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานนิวเคลียร์ในส่วนของพลังงานสะอาด ไทยอยู่ที่ 18 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากมีค่าต่ำกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ก็จะตกไปอยู่ในแถบสีแดง หมายความว่าสิ่งที่ทำยังไม่ค่อยดีนัก หากให้อยู่ในแถบเขียวเลยต้องได้มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์

สำหรับเรื่องพลังงานสะอาดก็เป็นอีกความท้าทายของการขับเคลื่อนสู่ SDGs เพราะ SDGs เองก็มีแนวคิดหลากหลาย เช่น การใช้พลังงานนิวเคลียร์ที่มีความเห็นว่าหากใช้พลังงานดังกล่าวจะไปประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และก็มีความเสี่ยงอื่น ในแง่ของการจัดการ การกำจัดของเสีย ต้องมีหน่วยด้านความมั่นคงกำกับดูแล เพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้าของกลุ่มผู้ไม่หวังดี

แม้พลังงานนิวเคลียร์จะมีความเสี่ยงหลายประการ แต่มีความพยายามอนุโลมเพื่อนำมาใช้ เพราะหลายประเทศ ได้นำเสนอในเวที COP21 (Conference of Parties: การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21) เรื่องคอมมิตเมนต์ที่เรียกว่า National Determine ในแง่ที่พลังงานนิวเคียร์เป็นพลังงานทางเลือกที่น่าจะอยู่ในชุดนโยบายระดับชาติ ซึ่งยังไม่ได้ลงถึงระดับธุรกิจ

ยูนิลีเวอร์-สฤณี2

สำหรับเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นางสาวสฤณีกล่าวว่า ต้องไม่ลืมว่า SDGs ไม่ใช่แค่เรื่องพัฒนาทางสังคม หรือสิ่งแวดล้อมอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่มีเรื่องเศรษฐกิจ หรือแนวคิดตามหลักกำไรสุทธิเข้ามาควบคู่ด้วย ดังนั้น ตัวชี้วัดบางตัวก็คาดหวังให้ภาคธุรกิจหรือภาครัฐเข้ามามีบทบาทในการปรับทิศนโยบาย ปรับทิศทางการลงทุน ส่วนในการวิจัยหรือพัฒนาเรื่องการส่งเสริมเรื่องความยั่งยืน และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มีตัวชี้วัดที่ดูจากงบวิจัยพัฒนาแล้วพบว่าไทยอยู่ในระดับต่ำมาก เพียง 0.5 เปอร์เซ็นต์

ถ้าดูเรื่องความเป็นอยู่ของประชากรในเมืองหรือคุณภาพชีวิตแล้ว เมืองมีความสำคัญ โลกในศตวรรษนี้ สุดท้ายทุกคนจะเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น เพราะเมืองคือแหล่งโอกาส แหล่งการหางาน หรือแหล่งนวัตกรรมต่างๆ มีความหลากหลายของความคิด จะเห็นว่าประชากรโลกเกินครึ่งของทั้งโลกอาศัยในเมือง ดังนั้น หากจะกล่าวถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนก็ต้องพูดเมืองที่ยั่งยืน ซึ่งตัวชี้วัดหนึ่งที่ใช้คือ ค่าการสะสมของฝุ่นละออง โดยฝุ่นละอองที่ระดับ 0.5 ไมครอน จะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจได้ จุดนี้ไทยอยู่ในเกณฑ์สีแดง

ด้านการจัดการขยะ ตัวชี้วัดคือปริมาณที่นำไปรีไซเคิลและปริมาณการบำบัดน้ำเสียว่ามีกี่เปอร์เซ็นต์ พบว่าไทยต้องปรับปรุงอีกมาก เนื่องจากบำบัดน้ำเสียได้ 16 เปอร์เซ็นต์ และมีปัญหาเรื่องขยะหายไปจากระบบ

สำหรับตัวชี้วัดด้านความเป็นธรรมทางสังคม ส่วนหนึ่งคือการดูคุณภาพชีวิต และการลดความเหลื่อมล้ำ การเพิ่มระดับความเป็นธรรม หรือลดระดับความอยุติธรรมทางสังคม และหนึ่งในนั้นคือการดูจำนวนนักโทษต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งประเทศไหนที่มีนักโทษมากจะสะท้อนไปถึงทัศนคติของคนในสังคม ประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมาย และในหลายมิติประกอบกัน ซึ่งประเทศไทยมีประชากรในคุกสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก

“นี่เป็นตัวอย่างที่บอกว่าโลกกำลังเข้าสู่ยุคที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น คือการพัฒนาที่ยั่งยืน 20 ปีที่ผ่านมา อาจจะพูดในเชิงวิธีคิด ปรัชญา แต่ว่าวันนี้เลิกพูดเรื่องความหมาย เรื่องปรัชญา แต่ไปดูว่าวัดผลจากอะไรบ้าง ตัวอย่างเช่น มีการวัดว่ารายได้ของประชากรในกรุงเทพฯ รายได้ไม่ได้มาก แต่กลับมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างสูงใกล้เคียงลอนดอนหรือปารีส ทั้งที่เราเป็นประเทศปานกลาง ไม่ได้ปล่อยก๊าซสูงมากในระดับสูงของโลก แต่ว่ามีความเหลื่อมล้ำสูงมากของการใช้ทรัพยากรระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองอื่นๆ”

และตอนนี้เราเป็นประเทศที่มีเรื่องขยะในทะเล เรายังไม่เคยจัดการเรื่องขยะพลาสติกอย่างจริงจัง เรื่องพลังงาน หลายท่านก็เริ่มรับรู้ถึงความไม่มั่นคงของแหล่งพลังงานที่เรามีอยู่ อาจจะต้องพึ่งพาต่างประเทศมากขึ้น ในขณะเดียวกันกับที่เราต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น เราใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง เมื่อเทียบระหว่างไทยกับอินโดนีเซียพบว่าใช้พลังงานใกล้เคียงกัน ขณะที่อินโดนีเซียมีประชากรจำนวนมากกว่าเรา 3 เท่า

ยูนิลีเวอร์-สฤณี3

“สำหรับเรื่องพลังงานหมุนเวียน ทางหนึ่งรัฐอาจจะบอกว่าสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน นโยบายรัฐยังคงอุดหนุนพลังงานฟอสซิลผ่านกลไกต่างๆ เช่น ยกเว้นภาษีให้ เช่นนี้ถือว่าเป็นอุปสรรคของการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น จุดเริ่มต้นที่เรามาคุยเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยนัยเราก็ยอมรับกันแล้วว่าที่ผ่านมามันไม่ยั่งยืน วันนี้ก็มีการเรียบเรียงหรือการเชื่อมโยงให้เห็นชัดเจนขึ้น ก็จะพบว่า ปัญหาที่มองว่าเป็นแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม จริงๆ แล้วสัมพันธ์กับปัญหาสังคมและสัมพันธ์กับเรื่องเศรษฐกิจ ผลกระทบเป็นลูกโซ่”

นางสาวสฤณีกล่าวไปถึงผลกระทบลูกโซ่จากปัญหาการจับปลาเกินขนาด มีการใช้ทรัพยากรมาก เมื่อปลาลดลงก็ต้องลงแรงมากขึ้นในการจับปลา ชาวประมงรายย่อยลำบากมากขึ้น พอประมงท้องถิ่นลำบากขึ้น ก็มีแนวโน้มสูงที่ต้องไปเป็นแรงงานราคาถูกหรือถูกละเมิดในประเทศอื่น เป็นปัญหาสังคมตามมา เพราะเจ้าของเรือเองเมื่อออกไปหาปลายากขึ้น ก็มีแรงจูงใจที่จะลดต้นทุนด้วยการใช้แรงงานราคาถูกมากขึ้น สัมพันธ์กับการละเมิดสิทธิ สุดท้ายก็ไปสัมพันธ์กับปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้คนจนก็จนมากขึ้น ตามมาด้วยผลผลิตของราคาอาหารทะเลก็แพงขึ้น ซึ่งต่อไปนี้จะเห็นงานวิจัยที่ให้ภาพโยงประเด็นปัญหาต่างๆ เช่นนี้มากขึ้น

ส่วนความท้าทายของธุรกิจไทยมีจำนวนมาก แต่ในความท้าทายทุกเรื่องมีโอกาสทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น CSR ในหลายบริษัทเริ่มเปลี่ยนจากกิจกรรมที่เรียกว่า After Process หรือกิจกรรมธุรกิจก็เหมือนเดิม เนื่องจากพบว่าสิ่งที่ทำอาจไม่ได้ยั่งยืน หรือไม่ต่อเนื่อง แล้วไปทำกิจกรรมการกุศล หรือ การปลูกป่า ทำไมเราต้องมาพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บางท่านก็อาจจะมองว่าเป็นการกีดกันทางการค้า ขณะเดียวกันในสภาพความเป็นจริงวิกฤติรุนแรงขึ้น ฉะนั้น ประเด็นนี้ก็จะทวีความสำคัญ

ทั้งนี้ ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ธุรกิจของไทยเองหลายบริษัทที่มีขนาดใหญ่ ห่วงโซ่อุปทานจะลึกและกว้างขึ้น อาจจะไม่ได้รู้จักกับทุกคนที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน จึงมีความเสี่ยงในการละเมิดหรือทำลายสิ่งแวดล้อมในส่วนของต้นน้ำมากๆ โดยที่เราอาจจะไม่เคยมอง รวมถึงธุรกิจที่ลงทุนในต่างประเทศ ก็เกิดเป็นคำถามว่า ถ้าไปในประเทศที่มีมาตรฐานไม่ดีเมื่อเทียบกับไทย แล้วจะรักษามาตรฐานในการดูแลได้อย่างไร

“ที่หลายๆ บริษัทประสบ หลายเรื่องเกิดจากการตระหนัก เช่น ตระหนักจากที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร้องเรียนมา หรือผู้บริโภคตั้งคำถาม อย่างกรณีของบริษัทไนกี้ที่ถูกเปิดโปงว่ามีการใช้แรงงานเด็กและละเมิดสิทธิแรงงานในประเทศกำลังพัฒนา ไนกี้ก็ถูกโจมตี แล้ว ณ วันที่ถูกโจมตี ไนกี้เองก็บอกว่าเขาไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าจริงๆ โรงงานเหล่านั้นอยู่ที่ไหนบ้าง เพราะในห่วงโซ่อุปทานเขาก็รู้จักแต่ผู้ค้าหลัก เพราะเครือข่ายทั่วโลกมีเป็นแสน เพราะฉะนั้น ครั้งแรกสุดที่รู้ ไนกี้ปฏิเสธ แต่สุดท้ายไนกี้ก็รับผิดชอบด้วยการออกมาตรฐานเกี่ยวกับผู้ค้าที่ดี วางกลไกในการตรวจสอบ และเพื่อสร้างความโปร่งใส ไปถึงจุดที่เขาให้ เอ็นจีโอรายงานการละเมิดสิทธิแรงงานแล้วไนกี้ก็ไปจัดการ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใช้เวลา แต่ถือว่าเขาได้ดูแลแรงงานแล้ว ไปสู่จุดที่บอกว่าเขาจะผลิตรองเท้าที่ยั่งยืนกว่าเดิม ขณะนี้ไนกี้ก็ไปไกลถึงขั้นออกแอปพลิเคชันฟรีไปวัดเรื่องผลกระทบของวัสดุทำรองเท้าทั้งหมด และให้คะแนนในเรื่องวัสดุของสิ่งแวดล้อมว่าได้คะแนนเท่าไร การดูแลแรงงานให้คะแนนเท่าไร ถึงขั้นทำ life cycle assessment หรือการวัดตลอดวงจร”

ยูนิลีเวอร์-สฤณี4

สำหรับธุรกิจไทย แม้แต่ละธุรกิจจะเผชิญกับความท้าทายที่ต่างกัน แต่สามารถย้อนมองไปยังจุดเริ่มต้นของแต่ละปัญหา แล้วนำภาพทั้งหมดมาประกอบกันได้โดย

  1. รู้ตัวเองก่อนว่าธุรกิจของของเรานั้นส่งผลกระทบอย่างไร แล้วมันมีปัจจัยใดบ้างที่เป็นความเสี่ยงทางธุรกิจ ทั้งผลกระทบที่เราสร้าง และสิ่งที่มากระทบกับเรา
  2. ฟังเสียงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) มากขึ้น จากเมื่อก่อน เราอาจจะไม่รู้จักห่วงโซ่อุปทานของเราเลย เพราะว่าเราใหญ่มาก เราอาจจะต้องไปรู้จักแล้ว เพื่อให้รู้ว่าผลกระทบคืออะไร เขาต้องการอะไร จึงจะเริ่มมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ ที่มีได้หลายทาง สรุปสั้นๆ ว่าลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ ลดผลกกระทบ การจัดการความเสี่ยง
  3. สร้างตลาดใหม่ เช่น ยูนิลีเวอร์ บุกเบิกสู่ตลาดคนจน หรือว่าฐานพีระมิดในหลายๆ ประเทศ ก็เห็นโอกาสทางธุรกิจตรงนี้ ว่าเราจะมีวิธีผลิตสินค้าหรือบริการ ที่ไม่แค่ไปช่วยเหลือไปทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น แต่เขาก็เป็นฐานลูกค้าของเราด้วย ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี แต่ละอุตสาหกรรมก็อาจจะต่างกันไปบ้าง เช่น ธุรกิจด้านอาหาร ความท้าทายก็อาจเป็นเรื่องห่วงโซ่อุปทานต้นน้ำ สิ่งแวดล้อม หรือเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงาน หากมีโอกาสไปดูตรงนี้ได้ สร้างกลไกตรวจสอบ หรือในบางผลิตภัณฑ์ก็อาจจะเข้าสู่ตลาดผู้บริโภค หรือสร้างแบรนด์แบบสตาร์บัคส์ที่บอกว่าเขาก็เป็นกาแฟที่ไม่ได้ราคาถูก แต่ก็มีเหตุผลที่มีราคาแพง ก็สร้างของโอกาสทางการตลาดได้

“ธุรกิจบริการ อย่างธนาคาร ที่ไม่ได้ผลิตอะไรออกมา แต่ในความเป็นจริง ธนาคารเป็นฟันเฟืองในระบบเศรษฐกิจ ที่จะปล่อยสินเชื่อให้ทั้งประชาชนและธุรกิจ ความท้าทายก็คือ ลองดูไหมว่าที่ปล่อยสินเชื่อไปมีการดูแลผู้บริโภครายย่อยมากน้อยแค่ไหน วิธีการทำการตลาดต่างๆ ทำให้ไม่มีวินัยทางการเงินหรือเปล่า เราเปลี่ยนตรงนี้ ถ้าเราสามารถสอดแทรก Financial Education หรือให้ความรู้เข้าไป จะทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างไร นี่ก็เป็นการฉายภาพสั้นๆ ว่าแต่ละธุรกิจก็มีความท้าทายต่างกัน โอกาสก็ไม่เหมือนกัน”

นางสาวสฤณีได้กล่าวสรุปประเด็นทั้งหมดว่า ขณะนี้ “โลกกำลังไปสู่จุดที่เรียกว่า result-oriented ดังนั้น มี 3 ประเด็นที่ต้องจับตาดู ที่ตนคิดว่าสามารถตอบคำถามได้ แม้จะยังไม่มีคำตอบชัด คือ

  1. ความจริงใจของภาคธุรกิจเป็นส่วนสำคัญ ทุกวันนี้ถ้าเราดูแทบทุกบริษัทจะประกาศพันธกิจเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว แต่ว่าความจริงใจหรือธุรกิจจะทำอย่างไรมากน้อยแค่ไหน คิดว่าจุดเริ่มต้นธุรกิจก็ต้องประกาศเป้าหมายที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม ปลายปี ซึ่งนี่คือสิ่งที่ยูนิลีเวอร์ทำมาหลายปีแล้ว ประกาศเลยว่าจะลดอะไรเท่าไร จะสร้างอะไรเท่าไร และทำได้-ไม่ได้ ในแต่ละปี ก็รายงาน อธิบายเหตุผลที่ถูกต้อง
  1. แม้จะทราบว่าความไม่ยั่งยืนหรือปัญหาคืออะไร แต่เรื่องของวิธีการก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยต้องไม่เลือกวิธีการที่จะสร้างปัญหาใหม่ หรือแก้ปัญหาเดิมแต่ทำให้ปัญหาอื่นเลวร้ายลง เช่น เรื่องป่าไม้ ถ้าอยากจะแก้ปัญหาป่าต้นน้ำถูกทำลาย ในมุมแคบคือการเอาคนออกจากป่า หรือไปทวงคืนมาโดยไม่คิดว่าเขาจะอยู่อย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นในระยะยาว อาจได้สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น แต่ถ้าคนยากจนลง ปัญหาก็ยังอยู่ เขาก็จะบุกรุกป่าต่อไป

ดังนั้น ต้องแก้ปัญหาที่ทำทั้ง 2 เรื่องไปพร้อมกัน มีระยะการเปลี่ยนผ่าน มีวิธีการรองรับ จะสร้างแรงจูงใจให้เขาดูแลป่าอย่างไร นี่คือประเด็น และเรื่องพลังงาน ตอนนี้พลังงานหมุนเวียน พลังงานทางเลือกต่างๆ ก็เป็นกระแสโลกที่เข้มข้นขึ้น หรือถ้าทำฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ เราจะสนับสนุนให้มีบริษัทใหญ่ๆ ทำฟาร์มแล้วส่งไฟขายการไฟฟ้าส่วนผลิต (กฟผ.) หรือสนับสนุนการกระจายศูนย์อำนาจ ให้ชาวบ้านผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ เป็นระบบที่มีความเท่าเทียมกัน มีการกระจายมากขึ้น แน่นอนว่าไม่ได้แค่เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่จะได้เรื่องของการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วย นี่คือตัวอย่างสั้นๆ ที่ให้เห็นว่าวิธีการแก้ปัญหา การปรับปรุงเรื่องความไม่ยั่งยืนมีหลายวิธีการ ต้องระวังไม่ให้เลือกวิธีที่อาจจะมองแคบเกินไป ซึ่งก็นำมาสู่ประเด็นสุดท้ายที่อยากจะทิ้งก็คือ

  1. การสร้างหลักประกันว่าเราจะสามารถมองเห็นทางเลือกต่างๆ ได้อย่างรอบด้าน หัวข้องานสัมมนาวันนี้คือ Collective Action ซึ่งธุรกิจรู้เรื่องธุรกิจแน่นอน แต่อาจจะไม่รู้เรื่องประเด็นสังคม ประเด็นสิ่งแวดล้อม ภาคประชาสังคมหรือ NGO ทำงานกับปัญหาสังคม รัฐมีหน้าที่โดยตรงที่ดูแลพลเมือง แน่นอนว่าต้องอาศัยทั้ง 3 ภาคส่วนมาร่วมมือกันอย่างจริงจัง ร่วมมือกันให้ลึกกว่ามานั่งอยู่ในคณะกรรมการเดียวกัน ก็อาจจะประชุมกันแค่ปีละครั้ง แต่อย่างไรก็ดี เรียกว่า 3 ประเด็นนี้มันอยู่ในระยะเริ่มต้นของประเทศ