ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำไมมนุษย์มีเซ็กส์

ทำไมมนุษย์มีเซ็กส์

11 ธันวาคม 2021


วรากรณ์ สามโกเศศ

“Why We Really Have Sex?” ชื่อบทความในนิตยสารชั้นนำ Psychology Today ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2021 (Eric Haseltine) สร้างความฮือฮาและความสนใจ ตลอดจนให้ความรู้ในเรื่องที่ไม่รู้มาก่อนจนอดไม่ได้ที่จะนำมาสื่อสารต่อ

เชื่อหรือไม่ว่าสิ่งมีชีวิตหลายสปิชีส์สามารถมีลูกสืบเผ่าพันธุ์ของตนเองได้โดยไม่มีการผสมพันธุ์ หรือมีกิจกรรมทางเพศ เช่น บางพันธุ์ของนก ปลาฉลาม ผึ้ง แมลง หมัด พืช ฯลฯ หากผลิตผ่านกระบวนการที่เรียกว่า parthenogenesis ซึ่งหมายถึงการมีลูกด้วยตนเองโดยไม่มีเชื้อมาผสมแต่อย่างใด

คำว่า parthenogenesis มีรากมาจากภาษากรีกโบราณ คือผสมระหว่าง parthenos (บริสุทธิ์) กับ genesis (การเกิด) ดังนั้น parthenogenic animals จึงหมายถึงสัตว์ที่พัฒนาไข่ขึ้นมาเป็นตัวอ่อนโดยปราศจากการผสมด้วยเชื้อตัวผู้ลูกของสัตว์ประเภทนี้บางตัวเป็นโคลน (clones)ของแม่ กล่าวคือมียีนส์เหมือนแม่ทั้งหมด แต่บางตัวมียีนส์ที่แตกต่างจากแม่ออกไปบ้างและเป็นได้แม้กระทั่งเพศผู้

ความรู้เรื่องสัตว์ใดเป็นแบบนี้เป็นเรื่องใหม่ ถึงแม้จะมีการกล่าวถึงกันมานับพันปีแล้ว ในศาสนาคริสต์ความเชื่อว่าการเกิดของพระเยซูจากแม่ที่เป็นสาวบริสุทธิ์คือหลักฐาน การศึกษาเรียนรู้จากธรรมชาติทำให้ทราบว่า หลายพันธุ์ของผึ้ง ปลาหางยกยูง ไก่งวง มด งู กุ้ง สัตว์เลื้อยคลาน ปลา นก (อีแร้งพันธุ์คาลิฟอเนียร์) ฉลาม (พันธุ์ bonnethead/white-spotted bamboo/zebra) เป็นสัตว์ที่มีลูกได้โดยไม่ต้องมีการผสมพันธุ์

ข้อได้เปรียบของ parthenogenesis เหนือการผสมพันธุ์ก็คือใช้พลังงานน้อยกว่า (ไม่ต้องเสียเวลาหาตัวผู้หรือเสียเวลาจีบกัน) เสี่ยงน้อยกว่า (ไม่ถูกทำร้าย หรือติดเชื้อจากตัวผู้) ไม่ถูกทำร้ายด้วยศัตรูขณะผสมพันธุ์ ฯลฯ ที่น่าสนใจก็คือสัตว์บางสปีชีส์ในกลุ่ม parthenogenesis นี้มีความสามารถพิเศษที่เรียกว่า facultative parthenogenesis กล่าวคือเลือกได้ว่าจะมีเซ็กส์ (ผสมพันธุ์) เพื่อให้มีลูก หรือใช้กระบวนการ parthenogenesis คือมีลูกด้วยตัวเอง

นักสัตววิทยาศึกษาสัตว์ประเภทมีเซ็กส์หรือไม่มีเซ็กส์ก็มีลูกได้ พบว่าตัวเมียเลือกการพัฒนาไข่เป็นตัวอ่อนด้วยตนเองยามเมื่อไม่มีตัวผู้ให้ผสมพันธุ์ หรือเมื่อไม่มีสิ่งแวดล้อมที่คุกคาม (ไม่ขาดอาหาร มีภูมิอากาศที่เหมาะสม) แต่เมื่อสิ่งแวดล้อมเลวร้าย เช่น มีสารเคมีรั่วลงน้ำ หรือมีตัวผู้จำนวนมากให้เลือก มันก็จะเลือกการผสมพันธุ์

นักวิจัยเชื่อว่าการมีเซ็กส์ในยามเลวร้ายนี้ก็เพื่อต้องการยีนส์ใหม่ ๆ จากตัวผู้เพื่อให้ลูกสามารถต่อสู้กับสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายและสามารถอยู่รอดเพื่อสืบเผ่าพันธุ์ต่อไปได้ดีกว่า พูดอีกอย่างว่าวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต “สั่ง” ให้ยีนส์ใหม่จากตัวผู้เข้ามามีบทบาทในการอยู่รอดของสปิชีส์ ซึ่งจะดีกว่าการออกลูกเองซึ่งยีนส์เก่าก็จะวนเวียนอยู่แค่นั้น

ตรงนี้แหละที่นักวิชาการสมัยใหม่พบว่ามนุษย์นั้นโดยแท้จริงแล้วเป็นสัตว์ชนิด facultative parthenogenesis คือสามารถเลือกที่จะสืบทอดลูกได้เองโดยการตกไข่และพัฒนาเป็นตัวอ่อนเอง หรือโดยการมีเซ็กส์หรือผสมพันธุ์ แต่มนุษย์เลือกที่จะมีเซ็กส์เพราะมีความเป็นไปได้สูงกว่าที่ลูกจะอยู่รอดจากการขาดแคลนอาหาร การแพร่ระบาดของโรค การถูกศัตรูทำร้าย สภาพอากาศแปรเปลี่ยน ฯลฯ ด้วยการมียีนส์ใหม่ ๆ เข้ามาจากการผสมพันธุ์

อีกเหตุผลสำคัญที่มนุษย์ไม่เลือกเส้นทางตกไข่และมีลูกเองก็เพราะกลไกการทำงานของร่างกายมนุษย์มีความซับซ้อนเกินกว่าที่ไข่จะพัฒนาขึ้นมาเป็นตัวอ่อนได้เองโดยไม่มีการผสมของยีนส์พ่อและแม่ นอกจากนี้เมื่อสิ่งมีชีวิตหนึ่งพัฒนาเกินจุดเปลี่ยนของความซับซ้อนดังเช่นมนุษย์แล้ว (เช่นขนาดของระบบประสาท) กระบวนการ parthenogenesis ไม่สามารถพัฒนาตัวอ่อนขึ้นมาเป็นตัวตนที่สมบูรณ์ได้ ดังนั้นมนุษย์จึงมีทางเลือกเดียวในการสืบทอดเผ่าพันธุ์คือการมีเซ็กส์เท่านั้น

นักสัตววิทยายืนยันการมี 2 ทางเลือกของมนุษย์โดยชี้ให้เห็นกรณีการตกไข่และพัฒนาขึ้นเป็นตัวอ่อนโดยไม่มีการผสมกับสเปิร์มแต่อย่างใด แต่ตัวอ่อนนั้นก็ไม่สามารถพัฒนาขึ้นกว่านั้นได้ และกลายเป็นเนื้องอกในมดลูกชนิดที่เรียกว่า teratoma

ใน terotoma บางครั้งพบฟัน เส้นผม กระดูก ฯลฯ ซึ่งอยู่ในขั้นต้นของการพัฒนาตัวอ่อน และเป็นหลักฐานว่ามนุษย์นั้นสามารถตกไข่และเกิดเป็นตัวอ่อนได้แต่ไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นตัวตนสมบูรณ์ได้ หากจะมีตัวอ่อนและพัฒนาขึ้นได้สมบูรณ์ก็มาจากการมีเซ็กส์คือไข่สุกผสมกับสเปิร์มเท่านั้น

ที่กล่าวมาทั้งหมดอธิบายได้ว่าเซ็กส์เป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาเผ่าพันธุ์เอาไว้ แต่ตอบไม่ได้ว่าเหตุใดเซ็กส์ของมนุษย์ที่มิได้มุ่งมีลูกจึงเป็นเรื่องประจำอย่างแตกต่างจากสัตว์อื่น ๆ ที่มีเซ็กส์เป็นบางเวลาตามฤดูกาลเท่านั้น

มนุษย์ปัจจุบันมีปัญหาปวดหัว ปวดใจ ฆ่าฟันกันตายทุกวันเพราะเรื่องเซ็กส์ ความรัก ความโลภ ความโกรธแค้น และการเสพสุขจากการเล่นการพนัน การดื่มเหล้าและเสพยา คำถามที่น่าคิดก็คือสมมุติว่าถ้าสามารถทำให้เซ็กส์ของมนุษย์เป็นไปตามฤดูกาลเท่านั้น ปัญหาโดยรวมจะเบาบางลงไปหรือไม่ หรือตัวอื่นจะขึ้นมาแทนที่เพื่อให้เป็นปัญหาของมนุษย์ชาติอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้เผ่าพันธุ์นี้นี้ตื่นตัวอยู่เสมอจนไม่สูญพันธุ์

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 7 ธ.ค. 2564