ThaiPublica > เกาะกระแส > ก.ล.ต. สรุป IPO ปี ’64 สูดสุดในรอบ 4 ปี 1.37 แสนล้าน

ก.ล.ต. สรุป IPO ปี ’64 สูดสุดในรอบ 4 ปี 1.37 แสนล้าน

31 ธันวาคม 2021


จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ปัจจุบันประชาชนมีโอกาสเข้าถึงวัคชีน ได้มากขึ้น และภาคธุรกิจหลายแห่งเริ่มกลับมาเปิดดำเนินการได้ตามปกติ สะท้อนในสภาวะเศรษฐกิจรวมถึง ตลาดทุนของไทยที่เริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยเห็นได้จากจำนวนบริษัทที่ระดมทุนผ่านการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO)[1] และบริษัทที่ยื่นคำขออนุญาตเสนอขายที่เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา

ในปี 2564 มีบริษัทที่ออก IPO มากถึง 41 หลักทรัพย์ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงสุดในรอบ 4 ปี และเพิ่มขึ้น 52% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 ที่มีจำนวน IPO 27 หลักทรัพย์ รวมทั้งบริษัทที่ยื่นคำขออนุญาตเสนอขาย IPO ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ในปี 2564 ก็พบว่ามีจำนวนเพิ่มเช่นกันซึ่งมี 45 บริษัท (ข้อมูล ณ วันที่ 27 ธันวาคม 2564) เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีจำนวน 39 บริษัท แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของผู้ลงทุนที่มีสภาพคล่องส่วนเกินพร้อมที่จะลงทุน และยังแสดงให้เห็นมุมมองเชิงบวกของผู้ประกอบธุรกิจต่อเศรษฐกิจและตลาดทุนไทย รวมทั้งเป็นสัญญาณว่าผู้ประกอบธุรกิจสามารถพึ่งพาตลาดทุนเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับเพิ่มสภาพคล่องและความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตได้

หากพิจารณาในด้านมูลค่าการเสนอขาย IPO ของปี 2564 ก็สูงถึง 1.37 แสนล้านบาท ซึ่งสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นรองเพียงแค่ประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น[2] นอกจากนี้ ยังมีอีก 23 หลักทรัพย์ที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาคำขออนุญาตฯ หรือได้รับอนุญาตแล้วแต่ยังไม่ได้เสนอขาย IPO

เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของบริษัทที่เสนอขาย IPO ในปี 2564 โดยแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการระดมทุนสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มทรัพยากร (จำนวน 3 บริษัท, คิดเป็นมูลค่าการเสนอขายรวม 42.6%) กลุ่มธุรกิจการเงิน (จำนวน 3 บริษัท, 29.1%) และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (จำนวน 11 บริษัท, 12.3%) ตามลำดับ โดยในช่วงปีที่ผ่านมาแม้ว่าจะยังอยู่ในช่วงสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 แต่สถานการณ์เริ่มผ่อนคลายมากขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่งผลให้หลายบริษัทมองถึงการกลับมาฟื้นตัวของอุปสงค์ระยะยาวในอนาคต เช่น อุปสงค์ความต้องการด้านพลังงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น[4]จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาขยายตัวและการขนส่งและเดินทางที่เพิ่มขึ้น และเมื่อเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การจับจ่ายใช้สอยและการขยายตัวของสินเชื่อก็จะโต ตามไปด้วย

นอกจากนี้ สถานการณ์ COVID-19 ยังส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป เช่น อุปสงค์ของที่อยู่อาศัย ในแนวราบที่เพิ่มขึ้น[5] เนื่องจากในช่วงการระบาดของโรคดังกล่าว ผู้อยู่อาศัยจะใช้เวลาเฉลี่ยต่อวัน ในการอยู่บ้านมากขึ้นจากแนวโน้มการทำงานจากที่บ้าน (work from home) ซึ่งที่อยู่อาศัยแนบราบแบบบ้านเดี่ยวหรือทาวน์โฮมสามารถตอบโจทย์ในเรื่องพื้นใช้สอยของผู้อยู่อาศัยได้มากกว่า

จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดทุนของประเทศไทยเป็นแหล่งระดมทุนรูปแบบหนึ่งที่มีประสิทธิภาพและโดดเด่นในสายตาของนักลงทุน และ ก.ล.ต. มุ่งมั่นที่จะพัฒนาตลาดทุนให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงได้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ภาคธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

หมายเหตุ:
1 “หลักทรัพย์” หมายความรวมถึงบริษัทจดทะเบียนและทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

2 ในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2564 ประเทศอินโดนีเซียมีการระดมทุนผ่าน IPO เป็นจำนวนมากถึง 15 หลักทรัพย์ โดยมีมูลค่า IPO ที่ค่อนข้างสูง เช่น (1) DAYAMITRA TELEKOMUNIKASI TBK มูลค่า IPO กว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2) AVIA AVIAN TBK PT มูลค่า IPO กว่า 402 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ (3) CISARUA MOUNTAIN DAIRY PT TB มูลค่า IPO กว่า 256 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น

3 ปี 2563 มีมูลค่าการเสนอขายรวม 1.64 แสนล้านบาท เนื่องจากในปี 2563 มีการระดมทุนของบริษัทขนาดใหญ่หลายบริษัท เช่น บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น, บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง และ บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) เป็นต้น

4 อ้างอิงจาก การคาดการณ์การใช้และราคาพลังงาน จัดทำโดยกระทรวงพลังงาน เผยแพร่ ณ วันที่ 22 กันยายน ปี 2564 ระบุว่า
ทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) และ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 100 ล้านบาร์เรล/วัน ภายในไตรมาส 2 ของปีหน้า ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปี 62 ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19

ทั้งนี้ หลังการฉีดวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้น

5 อ้างอิงข้อมูลจาก DDproperty Thailand Property Market Index ประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2564 พบว่าอุปทานสำหรับบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น 10% และทาวน์เฮ้าส์เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่อุปทานสำหรับคอนโดมิเนียมทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า

อ่านเพิ่มเติม

ป้ายคำ :